ถ้ากล่าวถึงเรื่องมีด หลายๆประเทศมักมีมีดเป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ชนชาวพื้นเมืองใช้สอยกันหรือนิยมใช้เป็นประจำ เช่น มีดกรูข่า ที่ใช้ในประเทศอินเดีย กริชของประเทศอินโดนีเซีย หรือมีดตระกูลโบวี ที่ใช้ในประเทศทางตะวันตก สำหรับประเทศไทยมีดที่เป็นเอกลักษณ์คงหนีไม่พ้น มีดเหน็บ อีเหน็บ หรือ มีดปาดตาลที่ไม่มีของประเทศใดเหมือน เป็นเอกลักษณ์ที่ลงตัวและใช้ประโยชน์ได้สูงสุดในการพกพาหรือนำติดตัวไปต่างแดนหรือเข้ารกเข้าพง การออกแบบรูปทรงมีดอาจจะแตกต่างกันบ้าง ก็เป็นเพียงรูปลักษณ์ที่ช่างแต่ละคนจะสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปแต่ยังคงเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านที่ตัวมีดตีขึ้นจากเหล็กกล้าผ่านกระบวนการตีจนได้รูปมีดที่สวยงาม ปลายแหลมต่ำลงเล็กน้อยตรงกลางของมีดป่องออกแล้วไปคอดกิ่วตรงด้าม กั่นของมีดเรียวเล็กยาวพอประมาณเพื่อเป็นแกนต่อกับด้ามมีด มองโดยรวมก็สามารถ
บอกได้ถึงขุมพลังที่ซ้อนอยู่ภายใน ที่สามารถแล่ ฟัน แทง รวมไว้ในมีดเหน็บเพียงเล่มเดียว ซึ่งต่างจากมีดของประเทศอื่นๆ ที่มีคุณสมบัติในการใช้งานเพียงหนึ่งหรือสองอย่างเท่านั้น การชุบแข็งของช่างชาวบ้านสามารถชุบแข็งที่แกนกลางของมีดแต่ผิวมีความแข็งน้อย ทำให้มีดมีความคงทนต่อการใช้งานหนัก เนื่องจากเหล็กในส่วนที่แข็งเปราะถูกหุ้มด้วยเหล็กที่อ่อนเหนียว ในขณะเดียวกันก็สามารถลับคมง่าย กล่าวได้ว่ามีดที่ผลิตจากเครื่องจักรสมัยใหม่ทำได้ยาก ทรงของมีดในแต่ละท้องถิ่นก็เรียกแตกต่างกันไป เช่น ทรงปลาตะเพียน ทรงกรีกุ้ง ทรงปลาหมอโค้ ทรงปลากัด ฯลฯ ขึ้นอยู่กับชาวบ้านจะมีมุมมองรูปทรงของมีดให้เหมือนอะไรเพื่อสื่อความหมายระหว่างช่างตีมีดกับผู้ใช้งาน
ในปัจจุบันกระแสแห่งโลกาภิวัตน์ ค่านิยมของความเป็นตะวันตกกำลังรุ่งเรือง ทำให้มีดเหน็บของไทยด้อยโอกาสในการใช้งาน อีกทั้งช่างตีมีดในปัจจุบันเริ่มล้มหายตายจากไป ช่างตีมีดที่เกิดขึ้นใหม่ก็มักลืมนึกถึงคุณค่าของความเป็นเอกลักษณ์ไทย ทำให้มีดเหน็บที่มีออกสู่ท้องตลาดมีดมักเป็นมีดที่เน้นกำไรเพื่อความอยู่รอดในอาชีพ และมักขาดคุณภาพของความเป็นมีดที่ดี คือหุ่นสวยประณีต คมนาน ลับคมง่าย คงทนในการใช้งาน คุณสมบัติที่ขาดไปส่วนใหญ่คือความคมนานลับคมง่ายและความคงทนในการใช้งานของมีด ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการลดต้นทุนในการผลิต หรือเกิดจากช่างขาดความรู้ในการชุบคมมีด ทำให้มีดขาดความคม หรือลับคมเท่าไหร่ก็คมไม่สนิท ใช้งานเพียงเล็กน้อยความคมก็หายไป เป็นปัญหาที่เกิดจากช่างไม่ได้ทำการชุบแข็งหรือชุบแข็งเพียงเล็กน้อยและอาจเกิดจากการใช้เหล็กที่มีคาร์บอนต่ำเนื่องจากมีราคาถูก บางเล่มลับคมยากบ่งบอกถึงความแข็งของมีดแต่ลับเท่าไหร่ก็ไม่คม เกิดจากช่างขาดความเข้าใจในการชุบคมมีดทำให้มีดมีความแข็งเฉพาะผิว แกนกลางของมีดยังไม่ได้ผ่านการชุบแข็งลับเท่าไหร่ก็ไม่คม ใช้งานเล็กน้อยความคมก็หายไปต้องลับคมใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความมักง่ายในการทำมีดของช่างสมัยใหม่ ช่างมีดในปัจจุบันนี้เขาไม่ตีมีดกันแล้ว หากตีก็เพียงเล็กน้อย แล้วนำมาแต่งคมขึ้นรูปชุบอีกนิดหน่อย ใส่ด้าม ขัดเงาลงน้ำมัน เท่านั้น มีดที่ออกมาจึงเป็นมีดเหล็กแต่งคมแล้วชุบ ไม่ใช่มีดตี ที่มีการตีให้เหล็กมีความแน่นตัว แกร่ง และ เหนียวขึ้นเนื่องจากการเรียงอณูของเหล็กใหม่
การชุบในปัจจุบันก็ชุบครั้งละหลายเล่มในเตาอบที่ควบคุมความร้อนได้ ทำให้มีดมีความแข็งเท่ากันทั้งเล่ม มีดที่ออกมาจะเห็นได้ว่าใช้งานได้ไม่นาน หักและบิ่นหรือบิดงอได้ง่าย ทำให้คุณค่าของมีดเหน็บลดลง คนส่วนใหญ่จึงมองหามีดใช้งานของต่างประเทศที่มีรูปสวยแต่ใช้งานได้ไม่ดี ทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจของผู้เขียนว่า ทำไมเราไม่สร้างสรรค์มีดที่มีคุณภาพและให้ทั่วโลกรู้ว่ามีดเหน็บไทย เป็นมีดที่มีเอกลักษณ์ควรค่าต่อการใช้งานและเก็บสะสม แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการได้บอกเล่าตำนานการตีมีดเหน็บ ให้คนไทยด้วยกันรับรู้ถึงภูมิปัญญาที่สั่งสมกันมานานของบรรพบุรุษ ที่ผู้เขียนได้คลุกคลี่มาตั้งแต่เด็ก และได้เห็นผู้เป็นพ่อและพี่ชายยกค้อนขึ้นตีเหล็กครั้งแล้วครั้งเล่าไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย รวมถึงผู้เขียนเองเคยได้สัมผัสความเป็นช่างตีมีด แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็สามารถทำให้ผู้เขียนมีความรู้ความเข้าใจพอสมควร แม้จะเข้าใจได้ไม่เท่าผู้เป็นพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่มีความรู้และเข้าใจถึงวิธีการตี การชุบแข็ง การใส่ด้ามการทำฝัก ได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นวิธีการที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงวิธีการที่ได้เรียนรู้มาจากผู้เป็นพ่อ ซึ่งอาจไม่เหมือนช่างมีดอื่นๆ ให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความเป็นเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
รูปทรงที่แฝงพลังแห่งความหลากหลายในการใช้งาน
ย้อนไปในอดีตที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก เรามักจะเห็นภาพที่คุ้นตาคือ ผู้ชายมักจะมีมีดฝักไม้เหน็บอยู่ที่เอวเสมอมีดเหน็บ เป็นชื่อที่เรียกขานกันมาตั้งแต่สมัยใดผู้เขียนไม่สามารถบอกได้ ผู้ชายไทยในอดีตใช้มีดเหน็บนี้บุกป่าฝ่าดง เพื่อการดำรงชีพ หรือแม้แต่กระทั้งการสงคราม ใช้งานกันตั้งแต่งานเล็กน้อย เช่นจักตอก แล่เนื้อ ไปจนถึง ตัดต้นไม้ หากเราหันกลับมาพิจารณารูปทรงของมีดเหน็บ จะพบว่าสามารถแบ่งส่วนการใช้งานของตัวมีดได้เป็นส่วนๆได้ คือ
ส่วนปลาย เป็นส่วนที่แหลมที่สุด มีไว้ใช้ในการแทง มีดที่ใช้สำหรับฆ่าสัตว์ในอดีตก็ใช้มีดเหน็บนี้แทงคอสัตว์ญาติคนงานตีเหล็กของผู้เขียนเคยโดนมีดเหน็บแทง บาดแผลที่เกิดขึ้นยาวตั้งแต่ท้องไปจนเกือบถึงคอ กระดูก หน้าอกแตกออก นี้คือพลังของความชำนาญในการใช้มีดเหน็บ และพลังของรูปทรงมีดที่ออกแบบให้มีความสามารถแทงได้อย่างดี
ส่วนหน้า คือส่วนโค้งตั้งแต่ท้องมีดที่กว้างที่สุดไปจนถึงปลายมีด เป็นส่วนที่ใช้แล่เนื้อได้เป็นอย่างดี เทียบได้กับมีดแล่เนื้อตามตลาดสดทั่วไปคมมีดในส่วนนี้ช่างตีมีดจะตีให้บางและชุบให้แข็งกว่าส่วนอื่นๆ ผู้เขียนเคยเห็นคนอุบลราชธานีแล่วัวทั้งตัวโดยไม่ใช้มีดอื่นเลย สามารถเลาะกระดูกได้ทุกชิ้น และยังสามารถสับกระดูกที่เป็นชิ้นใหญ่ๆได้ดี และในส่วนนี้หากวางมีดบนฝ่ามือหันด้านคมไว้ทางนิ้วโป้งมือยังสามารถใช้จักตอกเหลาไม้
ส่วนท้อง เป็นส่วนที่กว้างที่สุดของมีด หากจับด้ามมีดให้อยู่ในแนวระนาบจะเห็นว่าส่วนนี้จะต่ำที่สุด น้ำหนักของมีดส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณนี้ ทำให้เหมาะสำหรับในการฟันเช่นเดียวกับขวาน เพียงแต่มีคมบางกว่า ทำให้เหมาะสำหรับสับและหั่นได้ดีอีกด้วย คมมีดในส่วนนี้จะหนาและตูมกว่าส่วนหน้า การชุบจะแข็งน้อยกว่าส่วนหน้าเล็กน้อย ทำให้มีความแข็งเปราะน้อยลง เพื่อความคงทนในการใช้งาน
ส่วนเอว หรือส่วนโคนของมีดจะอยู่ถัดมาจากส่วนท้องมีดจนถึงด้าม ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่มีคมหนาที่สุดและมีการชุบแข็งน้อยที่สุดด้วย เพื่อป้องกันการหักในบริเวณนี้เนื่องจากเป็นส่วนที่แคบที่สุดอีกด้วย โคนมีดเหมาะสำหรับสับของที่มีความแข็ง เพื่อให้แตกออกได้ง่ายเช่น ผ่าไม้ ผ่ากะลามะพร้าว ฟันลวด หรือตะปู เป็นต้น
ส่วนกั่น เป็นส่วนที่อยู่ในด้ามมีด เพื่อยึดต่อกับด้าม มีขนาดเล็กกว่าส่วนเอวเข้ามาข้างละเท่าๆกัน แล้วเรียวเล็กลงไปยาวประมาณ 4-5 นิ้ว จะเป็นส่วนที่ไม่ได้ผ่านการชุบแข็ง เพื่อป้องกันการหักของกั่น เอกลักษณ์ของมีดเหน็บในส่วนนี้ในปัจจุบันได้กลายเป็นด้ามไม้ประกบ เพราะขาดความเข้าใจและเพื่อง่ายในการใส่ด้าม ถ้าเราหลงป่าปืนก็ไม่มีลูก เหลือเพียงมีดเหน็บเล่มเดียวจะล่าสัตว์ได้อย่างไร คนโบราณเขาถอดด้ามมีดออกแล้ว ตัดไม้ไผ่ยาวประมาณเมตรเศษ แล้วใส่มีดทางด้านโคนไม้ไผ่กลายเป็นหอกมีดเหน็บ ใช้แทนหอกได้ดี หากเป็นด้ามมีดประกบจะต่อด้ามให้แข็งแรงได้อย่างไร
ด้ามมีด โดยทั่วไปจะเป็นไม้เนื้ออ่อนเพื่อเวลาฟันแรงๆ จะไม่สะท้านมือ ที่ระหว่างตัวมีดกับด้ามจะมีปลอกโลหะกว้างประมาณ 1 นิ้ว รัดไว้ทำให้มีความแข็งแรงไม่หลุดและแตกง่าย ไม้ที่นิยมใช้คือ ไม้ไผ่ เป็นไม้ที่ทำด้ามมีดเหน็บง่ายที่สุดและดีที่สุดอีกด้วย เนื่องจากไม้ไผ่มีเสี้ยนตรงง่ายต่อการเหลา มีรูตรงกลางทำให้ไม่ต้องใช้สว่างในการเจาะรูเพื่อใส่กั่น และมีข้อที่แข็งทำให้ไม่แตกง่าย การใส่ด้ามของคนโบราณเขาจะเอากั่นเผาไฟให้เหล็กแดง แล้วใส่เข้าไปในด้ามไม้ที่มีรูอยู่แล้ว จับใบมีดตั้งขึ้นแล้วกระแทกลงกับพื้น หากยังไม่ลึกพอก็จะทำซ้ำอีกจนโคนมีดเกือบติดกับด้าม แล้วจับมีดพร้อมด้ามจุ่มน้ำ ดันมีดและตัวมีดไว้จนเย็น ความร้อนจะดันตัวมีดเคลื่อนออกมาเล็กน้อย จับกระแทกจนแน่นสนิท การใส่ด้ามวิธีนี้ด้ามจะไม่หลุดง่าย หากจะถอดออกก็เพียงหาไม้เคาะที่ด้าม สวนกลับมาในแนวของใบมีดด้ามก็จะหลุดออกได้ง่ายเช่นกัน
ฝักมีด ฝักมีดเหน็บจะมีความกว้างกว่ามีดอื่นๆ และใช้วัสดุแตกต่างกันไปตามความนิยมของท้องถิ่น เช่นไม้สัก ไม้มะค่าโมง ไม้ประดู่ ไม้ไผ่สานเป็นตะกร้อ เขาควาย ฯลฯ ในปัจจุบันนี้หาช่างทำยากมาก ส่วนใหญ่เดียวนี้เขาใช้ หนังวัวฟอกฝาด หนังเทียม หรือใช้ท่อพีวีซี แล้วแต่คนประดิษฐ์ (รูปฝักมีดลักษณะต่างๆ)
ที่มา
http://www.thailandoutdoor.com/ArtOfWeapons/E-Nab1/e-nab1.html
ป้ายคำ : เครื่องมือ