มูลนิธิชัยพัฒนา

12 สิงหาคม 2557 ศาสตร์พระราชา 0

มูลนิธิชัยพัฒนา เป็นมูลนิธิซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจ และสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้

การดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา จะเน้นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการของรัฐที่มีอยู่แล้ว แต่จะพยายามสนับสนุน ส่งเสริม และ ประสานงานให้โครงการต่างๆ เกิดความสมบูรณ์และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่โครงการของรัฐถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของระเบียบต่างๆ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เช่นในกรณีที่อาจต้องจัดซื้อที่ดินจากราษฎรบางส่วน แต่รัฐมีปัญหางบประมาณ หรือถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของระเบียบต่างๆ มูลนิธิชัยพัฒนาจะช่วยเหลือตามความเหมาะสม เพื่อให้โครงการนั้นดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรกในการจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา และผู้มีจิตศรัทธาได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมทบ

มูลนิธิชัยพัฒนาก่อตั้งเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 105 ตอนที่ 109 วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งนายกมูลนิธิ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานบริหารมูลนิธิ โดยมี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นเลขาธิการมูลนิธิ และมีอาคารสำนักงานตั้งอยู่ภายในสวนหลวงพระราม 8 เขตบางพลัด ซึ่งเดิมเคยเป็นสถานที่ตั้งโรงสุราบางยี่ขัน มาก่อน

วัตถุประสงค์

  • เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและโครงการพัฒนาอื่นๆ
  • เพื่อส่งเสริม การพัฒนาสงเคราะห์และช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น และให้สามารถช่วยตัวเองและพึ่งตนเองได้
  • ดำเนินการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติเป็นส่วนรวม
  • ร่วมมือกับส่วนราชการและองค์กรการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือดำเนินการเพื่อเน้นในการสนับสนุนสาธารณประโยชน์
  • ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง

เป้าหมาย
เป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนให้มีความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ คือ ชัยชนะแห่งการพัฒนา

chaipattanalogo

กิจกรรมหลักของมูลนิธิชัยพัฒนา

ด้านการพัฒนาการเกษตร
“การอาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูก ก็จะไม่มีวัตถุดิบที่จะมาเป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้น ต้องทำการกสิกรรม”
(พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 11 พฤษภาคม 2521)

1. การแก้ไขปัญหาเรื่องดิน
ดิน เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์จะทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้เช่นเดิม ปัญหาของดินที่มักพบอยู่เป็นประจำ คือ ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ซึ่งแต่ละสภาพปัญหาของดิน มีวิธีการแก้ไขที่แตกต่างกันออกไป

พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาทดลอง เพื่อหาวิธีการแก้ไขในรูปแบบต่างๆ บนที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวาย จากสถานที่ที่มีความแตกต่างกัน อาทิ

พื้นที่ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็น โครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นที่ดินที่มีความเสื่อมโทรมอย่างรุนแรงอันเกิดจากการใช้ดินอย่างผิดวิธี จนไม่สามารถทำประโยชน์ใดได้ การพัฒนาและฟื้นฟู ณ ผืนดินแห่งนี้ จากสภาพดินลูกรัง ตอไม้ที่ถูกตัดทิ้งไว้ กลายเป็นลำต้นที่งอกใหม่ ความอุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื้นเกิดขึ้น งอกงามเป็นป่าเบญจพรรณดังเช่นที่เป็นมา ที่แห่งนี้จึงเป็นที่มาของพระราชดำริที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นจากความเป็น จริงที่ปรากฏได้ ว่า “อย่ารังแกป่า” “อย่ารังแกธรรมชาติ” และ ทฤษฎี “การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก”

ความ เปรี้ยวของดินสามารถส่งผลเสียต่อการเพาะปลูกได้ ดังนั้น ที่ดินที่ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ที่มีสภาพเป็นดินเปรี้ยว ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ จึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริใน การแก้ไขให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืช ผืนดินแห่งนี้จึงเป็น โครงการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวได้ศึกษาทดลองด้วยกัน 3 วิธี คือ การแก้ไขด้วยวิธีการทางธรรมชาติโดยใช้น้ำฝน การจัดทำแปลงทฤษฎีใหม่และทดลองใช้ปูนมาร์ลและน้ำจากภายนอกมาเจือจาง และวิธีสุดท้ายใช้เถ้าลอยลิกไนต์ที่เป็นส่วนประกอบในการก่อสร้างเขื่อนคลอง ท่าด่านมาศึกษาทดลองด้วย ซึ่งผลสำเร็จของการศึกษาทดลองจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เกษตรกรที่จะนำไปใช้แก้ ปัญหาดินในพื้นที่ของตนเอง

ส่วน ปัญหาเรื่องดินเค็มนั้น ได้ศึกษาทดลองที่ตำบลตาจั่น อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา โครงการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเค็มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยเน้นการเพาะปลูกพืชที่มีความเหมาะสมกับลักษณะของดิน เช่น มะพร้าว ปรับปรุงดินโดยการปลูกปอเทือง และถั่วต่างๆ หลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว และทำคันดินเพื่อยกร่องปลูกไม้ผล พืชผักต่างๆ ควบคู่ไปด้วย

2. ทฤษฎีใหม่
เมื่อปี พ.ศ. 2535 พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิด “ทฤษฎีใหม่” เพื่อเป็นแนวทางในการทำการเกษตร ที่เน้นในเรื่องการบริหารจัดการที่ดินและน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยทรงตระหนักถึงปัญหาที่เกษตรกรมีที่ดินในจำนวนจำกัด มีความเสี่ยงสูงต่อความเสียหายที่เกิดจากความแปรปรวนของดิน ฟ้า อากาศ และฝนทิ้งช่วง รวมทั้งไม่มีหลักเกณฑ์ในการปลูกพืช และส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียว
“ทฤษฎีใหม่ ตาม แนวพระราชดำริ เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาทางการเกษตรสำหรับเกษตรกรที่ยากจน มีที่ดินทำกินน้อย และหลักการที่สำคัญ คือ เป็นระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้
การ ศึกษาทดลองจึงเริ่มขึ้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีชื่อโครงการว่า โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสระบุรี หรือ ทฤษฎีใหม่วัดมงคล และที่แห่งนี้จัดเป็นระบบทฤษฎีใหม่ที่สมบูรณ์ เพราะมีระบบการจัดการน้ำ จากอ่างใหญ่ สู่อ่างเล็ก และส่งต่อไปยังสระเก็บน้ำของราษฎร คือ มีน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไปเติมให้แก่ “อ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว” ซึ่งอยู่ในพื้นที่ จากนั้นจึงส่งน้ำไปยังสระน้ำในแปลงของเกษตรกร ทำให้มีน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งอย่างพอเพียง

ใน ขณะเดียวกันนั้น ได้มีการศึกษาทดลอง ทฤษฎีใหม่เขาวง หรือ โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน บ้านแดนสามัคคี และขุดสระเก็บน้ำตามทฤษฏีใหม่ ที่ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเน้นการจัดการพื้นที่และการขุดสระเก็บกักน้ำให้ราษฎรมีน้ำใช้อย่าง พอเพียง ราษฎรที่นี่ยากจนและมีความยากลำบากในการปลูกข้าวและได้ผลผลิตน้อย ซึ่งที่แห่งนี้เป็นที่มาของพระราชกระแส “ทางดิสโก้”เพราะทางเข้าสู่หมู่บ้านมีแต่หลุมบ่อเป็นอุปสรรคแก่การเดินทางสัญจรของชาวบ้าน

นอกจาก นี้ ที่ดินที่ราษฎรน้อมเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยมีวัตถุประสงค์ที่จะสนองพระราชดำริทฤษฎีใหม่หลายแห่ง ซึ่งที่ดินที่มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ ทฤษฎีใหม่ปักธงชัย หรือ ทฤษฎีใหม่บ้านฉัตรมงคล ณ ผืนดินที่ตำบลปักธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

ทฤษฎี ใหม่ปากท่อ ณ โครงการพัฒนาที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลวันดาว อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ซึ่งผลของการดำเนินงานในผืนดินแห่งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่เกษตรกรในท้องถิ่นและจากที่อื่น
และ ทฤษฎีใหม่หนองหม้อ ที่โครงการพัฒนาที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ตำบลหนองหม้อ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ดำเนินการตามพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน รูปของแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ โดยคำนึงถึงเกษตรกรเป็นสำคัญว่าพืชที่ปลูกเป็นตัวอย่างและวิธีการต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่นั้น เกษตรกรจะต้องนำไปปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตัวเองได้จริง และที่สำคัญที่นี่จะไม่ใช้สารเคมีใดๆ เลย

3. การเกษตรแบบผสมผสาน
การ พัฒนาและจัดทำเป็นแปลงสาธิตทางการเกษตรในรูปแบบต่างๆ บนที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และอาชีพของราษฎรที่อาศัยทำมาหากินอยู่ในบริเวณนั้น เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ สามารถเข้ามาศึกษาหาความรู้และนำไปใช้ในการประกอบอาชีพของตนได้ ดังเช่น

สวน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี การดำเนินงาน ณ ที่แห่งนี้เป็นไปตามแนวพระราชดำริในรูปแบบที่เรียบง่าย เป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรนำไปปฏิบัติ หรือพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ในท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นในเรื่องเกษตรยั่งยืน

ที่ดิน ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จัดทำเป็น ศูนย์บริการวิชาการเกษตร แหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการเกษตร โดยยึดถือแนวทางการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน และให้เกษตรกรที่เช่าที่นาอยู่เดิม สามารถทำกินต่อไปได้ในลักษณะแปลงทฤษฎีใหม่ เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างแก่เกษตรกรอื่นๆ นำไปดำเนินการในที่ดินของตนเอง
โครงการ ศูนย์สาธิตพืชไร่พืชสวนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี นอกจากจะเป็นศูนย์สาธิตพืชไร่พืชสวนให้แก่เกษตรกรแล้ว ยังมีที่ดินส่วนหนึ่งขุดเป็นสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นที่รองรับน้ำที่ไหลล้นมาจากแม่น้ำเพชรบุรี เก็บไว้ใช้ทำนาปรัง ซึ่งทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ ไม่ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาที่ดินที่ตำบลสุขเดือนห้า กิ่งอำเภอเนินขาม จังหวัดชัยนาท จัดตั้งเป็น ศูนย์สาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้เกิดความหลากหลายในพื้นที่เป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรนำไปปรับใช้ใน พื้นที่ของตนเอง

โครงการ พัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านบางขอม ที่ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ได้พัฒนาพื้นที่เป็นแปลงผลิตพันธุ์ข้าวและพืชหลังนา เพื่อบริการและให้ความรู้แก่เกษตรกร

ผืนดิน 13 ไร่ ที่บ้านปากน้ำประแสร์ ตำบลคลองปูน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง จัดทำเป็น โครงการพัฒนาสวนไม้ผลแบบก้าวหน้า พืชสวนเหล่านี้ ได้แก่ มังคุด ทุเรียน และเงาะ เป็นต้น โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรในบริเวณภาคตะวันออก ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาหาความรู้และนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตน
โครงการ ส่งเสริมการลดละเลิกการใช้สารเคมีในการทำนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาในเขตพื้นที่ ๕ จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร และสระบุรี เพื่อทำเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกรได้เห็นจากสภาพจริง

โครงการพัฒนาที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาตำบลท่าไข่ อำเภอ เมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นการศึกษาทดลองวิจัยการเลี้ยงกุลาดำแบบระบบปิด ควบคู่ไปกับการทำการเกษตร เพื่อศึกษาหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพน้ำกร่อย ซึ่งเป็นรูปแบบของการเลี้ยงกุ้งและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วน ที่ดินบ้านเกาะกา ตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี ในอนาคตอันใกล้นี้จะได้รับการพัฒนาให้เป็น แหล่งเพาะพันธุ์ปลาธรรมชาติ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และการดำเนินชีวิตของราษฎร

ด้านการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาที่ขาดความสมดุล ซึ่งนับวันปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย การกำจัดขยะมูลฝอย และการนำกากของเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ใหม่ ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม อันเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น

กังหันน้ำชัยพัฒนา : เครื่องกลเติมอากาศเพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ (เครื่องกลเติมอากาศแบบ RX-2) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรูปแบบเครื่องกลเติมอากาศให้กรมชลประทาน ศึกษา วิจัย ทดลอง สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อเป็นต้นแบบแก่หน่วยงานและประชาชนให้สามารถผลิตและใช้เองภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย

chaipattanak

กังหันน้ำชัยพัฒนา เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย ซึ่งได้รับสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 และมูลนิธิชัยพัฒนาได้ใช้เป็นเครื่องกลเติมอากาศในแหล่งน้ำเสีย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับวิธีทางธรรมชาติ คือ ใช้พืชน้ำเป็นตัวกรองน้ำเสีย การศึกษา วิจัย ทดลองการปรับปรุงคุณภาพน้ำได้ดำเนินการในหลายสถานที่ ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดเทพศิรินทราวาส โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค หนองสนม จังหวัดสกลนคร และวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกสิทธิบัตร เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ (เครื่องกลเติมอากาศแบบ RX-5C) ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงคิดค้นและออกแบบเครื่องกลเติมอากาศขนาดเล็ก เพื่อใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ ที่ไม่สามารถติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาได้ หรือนำไปใช้ควบคู่กับกังหันน้ำชัยพัฒนา
เครื่องกลเติมอากาศทั้ง 2 ประเภทนี้ เป็นการแสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงหาวิธีการแก้ไขและปรับปรุงคุณภาพ น้ำ ที่มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตมนุษย์ให้ดีขึ้น

แหลมผักเบี้ย : ต้นแบบการบำบัดน้ำเสียโดยวิธีธรรมชาติ เป็นการศึกษาและวิจัยเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะมูลฝอย ตลอดจนการฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนโดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติ 4 วิธี คือ การใช้ระบบบ่อผึ่งบำบัดน้ำเสีย การใช้ระบบกรองน้ำเสียด้วยหญ้า การใช้ระบบบำบัดน้ำเสียโดยใช้พื้นที่ชุ่มน้ำเทียม และการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียโดยใช้แปลงป่าชายเลน ซึ่งดำเนินการอยู่ที่ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

แล้วก็ต้องทำการเรียกว่า การกรองน้ำ ให้ทำน้ำนั้นไม่ให้โสโครก แล้วก็ปล่อยน้ำลงมาที่เป็นที่ทำการเพาะปลูก หรือทำทุ่งหญ้า หลังจากนั้นน้ำที่เหลือก็ลงทะเลโดยที่ไม่ทำให้น้ำนั้นเสีย

(พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 12 กันยายน 2533)

ณ วันนี้ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสามารถบำบัดน้ำเสียในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีได้ส่วนหนึ่ง และมีการพัฒนารูปแบบการกำจัดน้ำเสียและขยะที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สามารถป้องกันไม่ให้น้ำเสียในเขตเทศบาลไหลลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี เป็นการรักษาสมดุลทางธรรมชาติให้กลับสู่ภาวะปกติได้ดังเดิม โครงการนี้จะเป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่พื้นที่อื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันต่อไป

หญ้าแฝก : หญ้ามหัศจรรย์ ในอดีตประเทศไทยไม่ได้ให้ความสนใจในการนำ หญ้าแฝก มาใช้เป็น พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงศักยภาพของหญ้าแฝก จึงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 กับนายสุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาว่า ให้ศึกษาทดสอบการปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและอนุรักษ์ความ ชุ่มชื้นในดิน ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานเป็นวิธีการแบบง่ายๆ ประหยัด และที่สำคัญ คือ เกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ โดยไม่ต้องดูแลภายหลังการปลูกมากนัก

chaipattanafag

ความสัมฤทธิ์ผลของหญ้าแฝกได้ปรากฏให้เห็นแล้ว อาทิ ช่วยป้องกันการพังทลายของดินขอบถนนบนพื้นที่สูง เช่น เส้นทางไปโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ช่วยพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพดินที่โครงการพัฒนาที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมา จากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี และดินดานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
การเกิดอุทกภัยน้ำท่วมหลากในปี 2538 ส่ง ผลให้เกิดน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นปริมาณมากและยาวนาน ทำให้ทรัพย์สินเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแต่เศรษฐกิจและสังคมในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังกระทบไปถึงประเทศชาติอย่างเป็นวงจรด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริในการป้องกันและแก้ไขปัญหา น้ำท่วม ซึ่งที่ดินชัยพัฒนาได้มีส่วนในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เช่น ที่ดินที่ตำบลคลองหก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จัดสร้างเป็น โครงการสระเก็บน้ำพระราม 9 เป็นสระเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ บนเนื้อที่กว่า 2,800 ไร่ ใช้ประโยชน์ในการรองรับน้ำที่ไหล่บ่ามาจากที่ราบลุ่มตอนบน นอกจากเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนใกล้เคียงมีน้ำใช้ ทั้งการอุปโภคบริโภค รวมถึงการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย

การ พัฒนาพื้นที่ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ได้จัดทำเป็นสวนป่ารุกขชาติ เพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและเป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ คือ โครงการสวนรุกขชาติอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ที่ดินประมาณ 11 ไร่ ที่บ้านสบกเขียว ตำบลศรีนาวา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จัดทำเป็นสวนสาธารณะชุมชนให้ราษฎรได้เข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลศรีนาวาเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงาน

ครงการป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด ตำบลตกพรม ตำบล ตกพรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี จัดทำเป็นป่าชุมชนที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และดูแลป่า ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

ด้านการพัฒนาสังคม
วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดแห่งแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นแบบอย่างในการก่อสร้างวัดที่มีขนาดเล็ก เน้นความประหยัด เรียบง่าย เป็นพุทธสถานในการประกอบศาสนกิจ เพื่อสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจและศรัทธาของประชาชน ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ด้านสังคมและจริยธรรมแก่เยาวชนและประชาชนในชุมชน เพื่อขัดเกลาให้มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม เน้นการมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมในลักษณะ บ-ว-ร คือ บ้าน วัด และโรงเรียน หรือหน่วยราชการ ซึ่งเป็นจุดเด่นของสังคมไทยในอดีตมาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน ทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัย เกื้อกูลกัน และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในที่สุด

อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ดิน ที่แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ที่มีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนค รินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระศรีนคริน ทราบรมราชชนนีเคยประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑสถานที่แสดงถึงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และเป็นแหล่งศึกษาที่แสดงถึงความสัมพันธ์กลมกลืนกันของสังคมชุมชนชาวไทย จีน ลาว และมุสลิม ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ไทยอีกด้วย

ใน วันนี้ ผืนดินแห่งนี้ นอกจากจะเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีแล้ว ยังเป็นสวนสาธารณะที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนย่านคลองสานที่ประชาชนได้เข้ามา ร่วมทำกิจกรรมสัมพันธ์ สร้างความรักใคร่สามัคคีระหว่างกัน ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม

โครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา ชุมชนบ้านโรงวัว จังหวัดเชียงใหม่ แต่เดิมผืนดินนี้มูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร เข้ามาอยู่อาศัยและทำสวนผลไม้ เช่น ลำไย ในระยะแรกเน้นให้ราษฎรสามารถดำรงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกิน เมื่อระยะเวลาผ่านไปราษฎรกลุ่มนี้ มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นชุนชนที่มีความเข้มแข็ง จนสามารถรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มในรูปของสหกรณ์

ผืนดินที่บ้านบึงแวง ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก จัดทำเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนาบ้านบึงแวง เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการทำนาให้แก่ราษฎรในโครงการ โดยลดการใช้สารเคมี ซึ่งในปัจจุบันราษฎรกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งในการดำรงชีวิตอีกชุมชนหนึ่ง

สหกรณ์โคนม จำกัด จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ เดิมสหกรณ์แห่งนี้ ได้ขอรับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา ในด้านการประกอบกิจการโคนม จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงวัว และโรงนม ซึ่งในปัจจุบันสหกรณ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง และสามารถพัฒนาไปถึงขั้นผลิตอาหารสัตว์ครบวงจร

โครงการทั้ง 3 โครงการนี้ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาจากวิถีชีวิต *พออยู่พอกิน* ไปสู่ *การพึ่งตนเอง ของตนเองได้ในที่สุด

chaipattanapat

ด้านพลังงาน
มูลนิธิชัยพัฒนาได้สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการจัดสร้างโรงงานต้นแบบในการหีบปาล์มน้ำมันขนาดเล็กตามแนวพระราชดำริ และ โรงงานผลิตไบโอดีเซลครบวงจร ณ โครงการชัยพัฒนา-แม่ฟ้าหลวง ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อเนื่องมาจากการดำเนินงานที่จังหวัดกระบี่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้จัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านไบโอดีเซลเพื่อการแข่งขันได้ โครงการวิจัยการทดสอบใช้น้ำมันปาล์มแบบต่างๆ ผสมกับน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับการเกษตร และ ไบโอดีเซลผสมน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ดีเซลสมัยใหม่สำหรับยานพาหนะ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และโครงการศึกษาทดลองการปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีในที่ดินของมูลนิธิ ชัยพัฒนาทั่วประเทศ เพื่อศึกษาหาสายพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่

ด้านอื่นๆ
การฟื้นฟูผู้ประสบภัย ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มูลนิธิชัยพัฒนาจะเข้าไปให้การช่วยเหลืออย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอน ระยะแรกเน้นการช่วยเหลือในด้านโครงสร้าง พื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย น้ำ ไฟฟ้า เป็นต้น จากนั้นจะดำเนินการในเรื่องของการฟื้นฟูอาชีพ เพื่อให้ราษฎรสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติให้เร็วขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมอย่างครบวงจร

ดังเช่น กรณี หมู่บ้านชัยพัฒนา-กาชาดไทย อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ซึ่งราษฎรในเขตอำเภอคุระบุรีประสบภัยพิบัติคลื่นยักษ์ มูลนิธิชัยพัฒนาได้ดำเนินงานตามพระราชกระแสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้าไปให้การช่วยเหลือในการจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ โดยการสร้างบ้านพัก จัดทำระบบสาธารณูปโภค น้ำ ไฟฟ้า ระบบบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะ จากนั้นจึงได้ฟื้นฟูอาชีพประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของราษฎร และมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนับสนุนให้มีการจัดทำ เรือประมงหัวโทงไฟเบอร์กลาส “ชัยพัฒนา-กาชาดไทย” โดยใช้ไฟเบอร์กลาสเป็นวัสดุสร้างเรือแทนไม้ เพื่อทดแทนเรือประมงเดิมที่สูญหายแจกจ่ายให้แก่ชาวประมง เน้นให้มีการจัดตั้งกลุ่มเรือประมงและกลุ่มอาชีพ เพื่อให้ราษฎรมีรายได้พอเพียงต่อการเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกัน มูลนิธิฯ ได้พัฒนาและปรับปรุงด้านสาธารณสุขและการศึกษาด้วย โดยการปรับปรุงสถานีอนามัยบ้านทุ่งรัก และโรงพยาบาลคุระบุรี ให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงโรงเรียนบ้านทุ่งรัก และโรงเรียนคุระบุรีพิทยาคม เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการศึกษาให้แก่เยาวชนอีกด้วย

chaipattanaum

การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ใช้วิธีการตามแนวพระราชดำริ ที่มีลักษณะประหยัด เรียบง่าย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และคำนึงถึงวิถีการดำเนินชีวิตของราษฎรเป็นสำคัญ เพื่อให้การพัฒนานั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรอย่างแท้จริง ทั้งในด้านความมั่นคงในการประกอบอาชีพและความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงและยั่งยืน

การเข้าเยี่ยมชมโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา

โครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการดังกล่าวข้างต้นนั้น สามารถเข้าเยี่ยมชม เพื่อศึกษาหาความรู้ และขอรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ได้
ติดต่อสอบถาม ได้ที่ สำนักบริหารโครงการ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โทรศัพท์ 0 2282 4425-8 โทรสาร 0 2282 3341

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น