ยางพาราเป็นพืชยืนต้นใช้เวลาในการปลูกนานถึง 6 ปี จึงจะสามารถกรีดน้ำยางได้ปกติ ผลผลิตยางพาราจะออกสู่ตลาดเกือบทั้งปี โดยจะออกสู่ตลาดมากในช่วงปลายปีต่อเนื่องจนถึงต้นปี เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูฝน ดินมีความชุ่มชื้น หลังจากนั้นผลผลิตจะลดลงในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนที่ต้นยางผลัดใบจะได้น้ำยางน้อยกว่าปกติ เนื่องจากสภาพอากาศก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง ชาวสวนจึงหยุดกรีดยางและผลผลิตจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน จนกระทั่งในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน การกรีดยางก็จะทำให้ยากลำบาก ประกอบกับน้ำฝนทำให้น้ำยางที่ได้มีคุณภาพต่ำ ดังนั้นชาวสวนยางจึงไม่นิยมกรีดยางในช่วงดังกล่าว ดังนั้นในปีหนึ่งๆ ชาวสวนจะกรีดยางได้เฉลี่ยประมาณ 120-180 วัน
ชื่อสามัญ (Common name): para rubber
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Hevea brasiliensis Mull-Arg.
ลำต้น เป็นพวกไม้ยืนต้น ถ้าปลูกจากเมล็ดจะมีลักษณะเป็นรูปกรวย แต่ถ้าปลูกโดยใช้ต้นติดตาจะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก ความสูง 30-40 เมตร ต้นอ่อนเจริญเร็วมากทำให้เกิดช่วงปล้องยาว เมื่ออายุน้อยเปลือกสีเขียว แต่เมื่ออายุมากขึ้นสีของเปลือกเปลี่ยนเป็นสีเทาอ่อน เทาดำ หรือน้ำตาล เปลือกของลำต้นยางพาราแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ
1. cork เป็นส่วนที่เป็นเปลือกแข็งชั้นนอกสุด
2. hard bark เป็นชั้นถัดเข้ามา ประกอบด้วย parenchyma cell และ disorganized sieve tube มีท่อน้ำยาง (latex vessel) ที่มีอายุมากกระจัดกระจายอย่างไม่ต่อเนื่อง
3. soft bark เป็นส่วนในสุดของเปลือกติดกับเนื้อเยื่อ cambium ประกอบด้วย parenchyma cell และ sieve tube มีท่อน้ำยางซึ่งเวียนขึ้นจากซ้ายไปขวาทำมุม 30-35 องศากับแนวดิ่ง ดังนั้นในการกรีดเพื่อเอาน้ำยาง จึงต้องกรีดลงจากซ้ายไปขวา เพื่อตัดท่อน้ำยางให้ได้จำนวนมากที่สุด
เปลือกของลำต้นที่ให้น้ำยางคือ hard bark และ soft bark มีความหนารวมกัน 10-11 มิลลิเมตร น้ำยางที่ได้เป็น cytoplasm ที่อยู่ในท่อ หลังจากกรีดแล้วเปลือกจะเจริญได้เหมือนเดิมโดยใช้เวลา 7-8 ปี
ใบ เกิดเวียนเป็นเกลียว เป็นกลุ่มและท่อกลุ่มเรียกว่า ฉัตรใบ (leaf storey) ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ มีต่อมน้ำหวานที่โคนก้านใบ แต่ละใบรูปร่างแบบ ovate หรือ elliptical ยางพาราจะผลัดใบในช่วงต้นฤดูแล้ง ในภาคใต้จะผลัดใบในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ส่วนภาคตะวันออกจะผลัดใบในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ราก มีระบบรากแก้ว (tap root system) เมื่อยางอายุ 3 ปี รากแก้วจะหยั่งลงดินมีความยาวประมาณ 2.5 เมตร มีรากแขนงที่แผ่ไปทางด้านข้าง ยาว 7-10 เมตร
ช่อดอกและดอก ยางพารามีช่อดอกเกิดตามปลายกิ่ง เป็นแบบ panicle มีกิ่งแขนงมาก ช่อดอกเกิดขึ้นพร้อมกับใบใหม่ที่ผลัดหลังจากผลัดใบ มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียแยกกันแต่อยู่บนช่อเดียวกัน
ผลและเมล็ด ผลเป็นแบบ capsule โดยทั่วไปมี 3 เมล็ด เมื่อแก่ผลจะแตกออก เกิดเสียงดัง เปลือกหุ้มเมล็ดจะมีลาย เมล็ดมีทั้งส่วนของเอนโดสเปิร์มและใบเลี้ยง ใบเลี้ยงมีโปรตีนประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ และมีน้ำมันสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์
พันธุ์ยางพารา
หลักในการเลือกใช้พันธุ์ยาง
เนื่องจากผลผลิตน้ำยางหรือเนื้อไม้ที่ได้จากการปลูกยาง จะมากน้อยเพียงใดนั้น จะขึ้นกับปัจจัย 3 ประการ คือ พันธุ์ สภาพแวดล้อม และการปรับตัวของพันธุ์เข้ากับสภาพแวดล้อมนั้น ๆ ดังนั้นการจะ ตัดสินใจว่าจะเลือกปลูกยางพันธุ์ใดนั้น ควรยึดถือหลักการว่า จะต้องเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดและมี ความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของเกษตรกรผู้ปลูก ซึ่งควรมีการพิจารณาตามขั้นตอน ดังนี้
1. พิจารณาว่าพื้นที่ปลูก มีสภาพแวดล้อมใดที่ไม่เหมาะสม เป็นข้อจำกัดที่มีความรุนแรงมาก น้อยเพียงใด สามารถแก้ไขได้หรือไม่ และส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิตมากน้อยเพียงใด เช่น เป็น พื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใดรุนแรง พื้นที่ที่มีลมแรง หรือพื้นที่มีความลาดชันสูง หน้าดินตื้น
2. พิจารณาลักษณะประจำพันธุ์แต่ละพันธุ์ จากเอกสารคำแนะนำพันธุ์ยางของสถาบันวิจัยยาง โดยเฉพาะลักษณะที่อ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมที่เป็นข้อจำกัด แล้วคัดเลือกพันธุ์ที่สามารถปลูกในพื้นที่ นั้น ๆ ได้
3. ลำดับที่ของพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง จากเอกสารคำแนะนำพันธุ์ยาง แล้วเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิต สูงสุด ถือว่าเป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนี้แล้ว ในการปลูกยางในพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ ควรปลูกยางหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ไม่ น้อยกว่า 14 ไร่หรือ 1 แปลงกรีด เนื่องจากเมื่อเกิดการระบาดของโรค การปลูกยางเพียงพันธุ์เดียว จะทำให้การระบาดของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น
ปัจจัยสภาพแวดล้อมที่นำมาใช้เป็นข้อพิจารณาในการเลือกพันธุ์ยาง
สภาพแวดล้อมของการปลูกยาง จะรวมทั้งการเขตกรรม และสภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูก ซึ่ง การเขตกรรม ตั้งแต่การปลูกถึงการกรีดเก็บเกี่ยวผลผลิตยางนั้น เป็นปัจจัยที่สามารถแก้ไขและ เปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นเกษตรกรจึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อสร้างผลสำเร็จในการปลูกยาง ส่วน สภาพแวดล้อมในพื้นที่ปลูก จัดเป็นปัจจัยบังคับหรือปัจจัยที่ไม่มีโอกาสเลือก แก้ไขและเปลี่ยนแปลง ได้ยาก แต่มีอิทธิพลต่อการให้ผลผลิต ดังนั้นการคัดเลือกพันธุ์ยางจึงต้องนำปัจจัยนี้ มาใช้ในการ พิจารณาการเลือกพันธุ์ยางปลูก ดังนี้
1. ดินและสภาพพื้นที่
ชนิดและสมบัติของดิน ดินแต่ละชนิดจะมีสมบัติทางเคมี และกายภาพที่แตกต่างกัน ทำให้ มีความเหมาะสมต่อการปลูกยางแตกต่างกัน พันธุ์ยางบางพันธุ์ให้ผลผลิตได้ดีในดินที่มี ความอุดมสมบูรณ์สูง แต่เมื่อนำไปปลูกในดินที่มีความอุดมสมบรูณ์ของดินต่ำ ผลผลิต ลดลงหรือมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของพันธุ์ ในขณะที่บางพันธุ์การให้ผลผลิตไม่ เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมมากนัก ดังนั้นจึงจำต้องรู้ว่าดินที่ปลูกมีความอุดม สมบูรณ์มากน้อยเพียงใดและปรับปรุงได้หรือไม่ ในกรณีที่แก้ไขไม่ได้ควรเลือกพันธุ์ยาง ใดที่เหมาะสมกับพื้นที่ปลูก เช่น การปลูกยางในสภาพพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นดินเหนียว มี การระบายน้ำเลว ควรเลือกปลูกพันธุ์ยางที่มีทรงพุ่มเล็กหรือปานกลาง ความลึกของหน้าดิน โดยปกติต้นยางต้องการดินที่มีหน้าดินลึกมากกว่า 1 เมตร เพื่อให้ รากสามารถยึดเกาะได้อย่างมั่นคง การปลูกยางในพื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น จะทำให้ต้นยาง โค่นล้มง่าย ดังนั้นการปลูกยางในพื้นที่ดังกล่าว ควรจะเลือกพันธุ์ยางที่มีทรงพุ่มเล็กหรือ ปานกลาง แตกกิ่งสมดุลย์ ระดับน้ำใต้ดิน ในสภาพพื้นที่เหมาะสมสำหรับการปลูกยาง ระดับน้ำใต้ดินควรลึกไม่น้อย กว่า 1 เมตร แต่มียางบางพันธุ์ที่เกษตรกรสามารถเลือกปลูกได้ ความลาดชันของพื้นที่ พันธุ์ยางโดยทั่วไปไม่เหมาะสมที่จะนำไปปลูกในพื้นที่ลาดชันมาก สูงกว่า 16 องศา เช่น พื้นที่เป็นควนเขา เพราะจะทำให้ต้นยางโน้มเอียง เนื่องจากแตกกิ่ง และทรงพุ่มในระดับสูง ทำให้ต้นยางโค่นล้มได้ง่าย ดังนั้นยางบางพันธุ์จึงไม่เหมาะสม สำหรับปลูกในพื้นที่ลาดชัน แต่มียางบางพันธุ์เหมาะสมหรือพอจะปลูกได้ ในสภาพพื้นที่ ดังกล่าว
2. โรค
ในแต่ละพื้นที่ ชนิดและความรุนแรงในการระบาดของโรค จะแตกต่างกันออกไป ตามสภาวะ ที่เหมาะสมต่อการแพร่กระจาย ดังนั้นก่อนที่จะปลูกยางควรจะศึกษาและพิจารณาดูก่อนว่า มีโรคอะไร ระบาดบ้าง ระบาดอยู่ในระดับรุนแรงมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะได้ตัดสินใจเลือกพันธุ์ยางที่ต้านทาน โรคนั้นๆได้ถูกต้อง
3. ความรุนแรงของลม
ลมเป็นสาเหตุสำคัญของการฉีกขาด การหักโค่นและถอนรากของต้นยาง ในพื้นที่ปลูกยางที่มี ความแรงของลมมากกว่า 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (8 beavfort scale) เป็นระยะเวลาหลายวันในแต่ละปี ถือว่าเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดจากลมได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ในพื้นที่ปลูกยางของประเทศไทย ความแรงของลมที่เกิดขึ้นตามปกติ จะมีผลทำให้ต้นยางเสียหายเล็กน้อย ยกเว้นพื้นที่ในบางจังหวัดของ ภาคใต้ เช่น ตรัง ภูเก็ต และบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น สุรินทร์ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อุดรธานี และอุบลราชธานี ที่มีความรุนแรงของลมในระดับปานกลาง อาจจะทำให้ต้นยาง เสียหายได้ ดังนั้นการเลือกพันธุ์ยางปลูกในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องพิจารณาเลือกพันธุ์ที่ ต้านทานลมได้ดี
ลักษณะประจำพันธุ์
ลักษณะประจำพันธุ์ที่จะต้องนำมาพิจารณาควบคู่กับสภาพแวดล้อม เพื่อหาความเหมาะสมใน การกำหนดพันธุ์ยางที่จะปลูกมีหลายประการ เช่น
1. ผลผลิต
การพิจารณาผลผลิตว่าดีมากน้อยเพียงใดจะพิจารณาเป็นช่วง ตามอายุของการเปิดกรีด แนวโน้มของการเพิ่มและลดในช่วงอายุ และฤดูกาลต่าง ๆ กล่าวคือ ผลผลิตในช่วง 2 ปีแรกหลังเปิดกรีด ซึ่งเป็นช่วงต้นของการเก็บผลผลิตยาง บางพันธุ์ อาจจะให้ผลผลิตต่ำในช่วงแรก แต่ระยะต่อมาให้ผลผลิตสูงได้ ผลผลิตในช่วง 3 –10 ปีหลังเปิดกรีด เป็นช่วงที่ต้นยางให้ผลผลิตได้ดี ถือว่าเป็นช่วงหลัก ในการได้รับผลตอบแทนจากการปลูกยาง ผลผลิตในช่วงผลัดใบ การกรีดยางในช่วงผลัดใบ เป็นช่วงทีมีวันกรีดเต็มที่เนื่องจากไม่มี อุปสรรคจากฝน ควรจะเป็นพันธุ์ที่ผลผลิตลดลงไม่มากนักในช่วงนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรจะงดกรีดยางในช่วงที่ต้นยางผลิใบอ่อน เพราะจะทำให้กระทบต่อการให้ ผลผลิตและการเจริญเติบโตของต้นยางในระยะต่อมา ผลผลิตเมื่อใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง ควรเป็นพันธุ์ที่เพิ่มผลผลิตได้มากเมื่อมีการใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง
2. การเจริญเติบโตของต้นยาง
พันธุ์ยางที่มีการเจริญเติบโตเร็วในระยะก่อนเปิดกรีด ก็หมายถึงว่าจะได้รับผลตอบแทนเร็วขึ้น ส่วนการเจริญเติบโตระยะระหว่างกรีด จะเกี่ยวพันกับการให้ผลผลิตเพิ่มในระยะต่อมา ดังนั้นการ เจริญเติบโต จึงต้องพิจารณาทั้งก่อนและระหว่างกรีด
3. ขนาดของทรงพุ่ม
พันธุ์ยางแต่ละพันธุ์จะมีลักษณะการแตกกิ่งและขนาดทรงพุ่มที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมี ความสัมพันธ์โดยตรงกับการกำหนดระยะปลูก โดยพันธุ์ยางที่มีลักษณะการแตกกิ่งเป็นมุมกว้างและ ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ ไม่ควรใช้ระยะปลูกระหว่างต้นชิด
4. ความหนาเปลือก
เปลือกจัดเป็นส่วนที่สำคัญของต้นยาง เพราะเป็นแหล่งให้ผลผลิตโดยตรง ต้นยางควรมีความ หนาความเหมาะสมที่เหมาะสม ทั้งเปลือกเดิม (เฉลี่ย 6.0 – 6.5 มม. ในระยะเปิดกรีด) และเปลือกงอก ใหม่ สำหรับเปลือกงอกใหม่ ควรพิจารณาความเร็วในการงอกประกอบ (เฉลี่ย 5.7 – 6.2 มม. ในปีกรีด ที่ 3) เนื่องจากมีความสัมพันธ์โดยตรงกับรอยแผลกรีด ตามปกติพันธุ์ยางที่เปลือกบางในเวลากรีดมักจะ เกิดบาดลึกถึงเนื้อไม้ได้ง่าย
5. รอยแผลกรีด
การเกิดรอยแผลจากการกรีดยางลึกถึงเนื้อไม้ในยางแต่ละพันธุ์จะแสดงความเสียหายแตกต่าง กัน บางพันธุ์จะแสดงความเสียหายรุนแรง จนไม่สามารถกลับมากรีดซ้ำได้อีก แต่บางพันธุ์อาจจะไม่ รุนแรงมากนัก
6. ความต้านทานโรค
โรคที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปลูกยาง คือ โรคใบร่วง ใบจุด เส้นดำ และราสีชมพู ดังนั้นควรเลือกพันธุ์ที่ต้านทานโรคที่ระบาดรุนแรงในพื้นที่ปลูกให้ถูกต้อง ความต้านทานลม ลักษณะทรงพุ่ม และความแข็งแรงของเนื้อไม้ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสำคัญต่อการต้านทานลม ตามปกติลักษณะทรงพุ่มที่มีขนาดใหญ่ พุ่มใบหนาแน่น และการแตกกิ่งก้านไม่สมดุล จะอ่อนแอต่อ การกรรโชกของลม ที่ทำให้กิ่งฉีกขาด หรือต้นโค่นล้มได้ง่าย
7. การปลูกในพื้นที่จำกัด
ในกรณีที่ต้องการปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมบางประการ เช่นพื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น พื้นที่ที่ มีระดับน้ำใต้ดินสูง และพื้นที่ลาดชัน จะต้องเลือกพันธุ์ยางที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ที่ไม่ เหมาะสมนี้ได้ เพราะสภาพพื้นที่เหล่านี้จะมีผลต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตโดยตรง
8. การตอบสนองต่อจำนวนต้นปลูกในแปลง
ในกรณีที่ต้องการปลูกต้นชิด ซึ่งมีจำนวนต้นหนาแน่นมากกว่าปกติจะต้องไม่มีผลต่อการ เจริญเติบโตและผลผลิตมากนัก แต่ถ้ามีมากก็จะต้องหลีกเลี่ยงพันธุ์ยางที่ไม่ตอบสนองต่อการปลูกต้นชิด
9. อาการเปลือกแห้ง
ซึ่งเป็นความผิดปกติทางสรีระวิทยาของต้นยาง ที่หลังจากกรีดมีน้ำยางไหลออกมาเพียง เล็กน้อยหรือไม่ไหลเลย และอาจเกิดกับต้นยางที่ยังไม่ได้เปิดกรีด โดยเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น พันธุ์ ยาง ระบบกรีด การใช้สารเคมีเร่งน้ำยาง สภาพแวดล้อมและสภาพดินที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น ใช้ระบบกรีดที่มีความถี่สูงกับพันธุ์ยางที่เป็นเปลือก แห้งง่าย
พันธุ์ยางพาราในภาคใต้
ภาคใต้เขตฝั่งตะวันตก ได้แก่จังหวัดระนอง ภูเก็ต พังงา ส่วนใหญ่ของจังหวัดกระบี่ ตอน เหนือของจังหวัดตรัง และทางตอนใต้ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่ในเขตนี้มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 2,000 – 5,000 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตก 161 – 227 วันต่อปี อาจจะมีลมแรงที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อต้นยางในบางพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการเลือกพันธุ์ยางเพื่อปลูกใน เขตนี้ คือโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา โรคเส้นดำ และโรคใบจุดนูน ที่โดยส่วนใหญ่เกิดกับต้นยางอายุน้อย
พันธุ์ยางที่แนะนำ กลุ่ม 1 สถาบันวิจัยยาง 251 สถาบันวิจัยยาง 226 BPM 24
กลุ่ม 2 PB 235 PB 260 RRIC 110
ภาคใต้เขตตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดชุมพร พื้นที่ทางด้านตะวันออกและส่วนกลางของจังหวัด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ด้านตะวันออกของจังหวัดกระบี่ ตรัง (ยกเว้นทางตอนเหนือ) พัทลุง สงขลา (ยกเว้นบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย) พื้นที่ในเขตนี้มีปริมาณน้ำฝน ระหว่าง 1,800 – 2,600 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตก 159 – 174 วันต่อปี เป็นเขตที่ไม่มีข้อจำกัด ในการเลือก พันธุ์ยาง สามารถปลูกได้ทุกพันธุ์ที่แนะนำ
ภาคใต้เขตตอนใต้ ได้แก่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส (ยกเว้นบริเวณที่อยู่ติดเขต ชายแดนของประเทศมาเลเซีย) พื้นที่ในเขตนี้มีปริมาณน้ำฝน ระหว่าง 2,000 – 3,000 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตก 159 – 174 วันต่อปี เขตนี้อาจมีปัญหาการระบาดของโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอป โทรา โรคเส้นดำ และโรคจุดนูนในบางปีที่มีปริมาณน้ำฝนมาก และบางพื้นที่ในจังหวัดยะลา และ นราธิวาสอาจมีปัญหาเนื่องจากสภาพลมแรง
พันธุ์ยางที่แนะนำ กลุ่ม 1 สถาบันวิจัยยาง 251 สถาบันวิจัยยาง 226 BPM 24
กลุ่ม 2 PB 235 PB 260
หมายเหตุ บางพื้นที่ในจังหวัดยะลา และนราธิวาส ที่มีลมแรงไม่ควรปลูกยางพันธุ์ สถาบันวิจัย ยาง 251
ภาคใต้เขตชายแดน ได้แก่จังหวัดสตูล บางส่วนของจังหวัดสงขลา ยะลา นราธิวาส และบริเวณ ชายแดนที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย พื้นที่ในเขตนี้มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 2,500 – 3,000 มิลลิเมตรต่อปี จำนวนวันฝนตก 165 – 175 วันต่อปี มีการระบาดของโรคราสีชมพู โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา และโรคเส้นดำ
พันธุ์ยางที่แนะนำ กลุ่ม 1 สถาบันวิจัยยาง 251 BPM 24 RRIC 110
กลุ่ม 2 PB 260
หมายเหตุ พื้นที่ปลูกจังหวัดยะลา และนราธิวาส ที่มีลมแรงไม่ควรปลูกยางพันธุ์ สถาบันวิจัย ยาง 251 และ RRIC 110
(ที่มา : สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง)
การปลูกพืชแซมยาง
การปลูกพืชแซมยาง เป็นการใช้เนื้อที่สวนยางพาราในขณะที่ยางพารายังมีอายุไม่มาก ก่อให้เกิดประโยชน์สวนยางพาราเอง ทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เจ้าของสวนในระยะ 3 ปีแรกในขณะที่ยางพารายังมีอายุไม่มากด้วย แต่การปลูกพืชแซมหากไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วนอาจเป็นผลเสียต่อต้นยางพาราที่ปลูกได้ จึงจำเป็นต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ดังนั้นในการปลูกพื้ชแซมจึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาดังนี้
1. ควรเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสั้น เช่น ข้าวไร่ ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น หรือพืชล้มลุกที่มีอายุมากกว่า 1 ปี เช่น สับปะรด กล้วย มะละกอ เป็นต้น
2. ไม่ควรปลูกพืชแซมยางติดต่อกันนานเกินกว่า 3 ปี เพราะเมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 ต้นยางจะมีร่มเงามากและจะปกคลุมพืชแซมที่ปลูกไว้ ส่งผลให้ผลผลิตของพืชแซมต่ำลง
3. พืชแซมที่ปลูก การปลูกจะต้องมีระยะห่างจากแถวยางไม่น้อยกว่า 1 เมตร โดยปกติควรปลูกห่างจากแถวยางในระยะ 1 เมตร รวมกับครึ่งหนึ่งของระยะปลูกพืชแซมยางของพืชนั้นๆ
4. ควรมีการใส่ปุ๋ยให้กับพืชแซมยางด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตของพืชแซมยาง และเพื่อต้นยางพาราจะได้ไม่แย่งปุ๋ย และปุ๋ยก็ยังมีประโยชน์สำหรับต้นยางโดยตรงด้วย
5. สภาพของดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ไม่ควรปลูกพืชแซมยางเพราะจะต้องใส่ปุ๋ยมาก และอาจไม่คุ้มทุน และหากไม่ใส่ปุ๋ยเลยหรือใส่น้อยเกินไป พืชแซมก็จะไปแย่งปุ๋ยยางพาราในสภาพดังกล่าว ดังนั้นจึงควรปลูกพืชคลุมตระกูลถั่วจะดีกว่า
6. การปลูกพืชแซมยางเป็นระบบหมุนเวียน เพื่อป้องกันโรคและแมลงระบาด นอกจากนี้การปลูกพืชแซมสลับกับการปลูกพืชตระกูลถั่ว ยังช่วยในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ตลอดจนเศษซากพืชตระกูลถั่วที่ปลูกเหลือยังใช้ประโยชน์โดยตรงต่อต้นยางด้วย
7. การใช้แรงงานในการปลูกพืชแซมยาง ควรเป็นแรงงานที่ไม่ต้องจ้างหรือควรจะเป็นแรงงานในครอบครัว โดยเฉพาะสวนยางพาราขนาดเล็ก เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต
8. สวนยางพาราที่ต้องการจะปลูกพืชแซมยาง ควรใช้ระยะระหว่างแถวยางพาราให้กว้าง ประมาณ 7.8 เมตร แต่ต้องมีจำนวนต้นยางพาราไม่ต่ำกว่า 64 ต้นต่อไร่
9. หลังจากการปลูกพืชแซมยางแล้ว ควรปลูกพืชคลุมทันทีเพื่อป้องกันการลุกลามของวัชพืชและเพื่อเป็นการรักษาความชื้นในดิน
10. พืชที่ไม่แนะนำให้เกษตรกรปลูกเป็นพืชแซมในสวนยางคือ มันสำปะหลัง
การนำไปใช้ประโยชน์
ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมยาง เนื่องจากเป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลกจึงมีโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปเบื้องต้นให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้ได้ รวมทั้งพัฒนาการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางในชั้นปลาย ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐได้สนับสนุนให้มีการใช้ยางธรรมชาติในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยให้มีการเพิ่มการผลิตยางที่มีศักยภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางให้มากขึ้นโดยมีเป้าหมายเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศเป็นร้อยละ 20 จากเดิมที่มีการใช้เพียงร้อยละ 11 ของผลผลิตทั้งหมด หรือประมาณ 3.2 – 3.4 แสนตันต่อปี ทั้งนี้ ในปี 2553 คาดว่าจะมีการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมในประเทศประมาณ 0.373 ล้านตัน โดยจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางส่วนใหญ่ เช่น จีน ญี่ปุ่น มีการขยายฐานการผลิตในไทยมากขึ้น การใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมภายในประเทศประกอบด้วย
1. ยางยานพาหนะ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดของประเทศในปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 68,726.08 ล้านบาทได้แก่ ล้อรถยนต์ ล้อเครื่องบิน ล้อรถจักรยายนต์ ล้อรถจักรยาน และล้อรถอื่นๆ ทั้งยางนอกและยางใน รวมถึงยางอะไหล่รถยนต์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มนี้มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบเกือบร้อยละ 50 โดยใช้ประมาณ ปีละ 158,883 ตัน
2. ยางยืดและยางรัดของ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางธรรมชาติจำนวนมากในส่วนผสมยางยืดใช้ใน อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ ส่วนยางรัดของก็ใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันใช้ยางธรรมชาติในการผลิตถึงปีละ 90,561 ตัน หรือร้อยละ 28.22
3. ถุงมือยางทางการแพทย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกรองจากยางยานพาหนะ ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 2,274.9 ล้านบาท ถุงมือยางที่ผลิตในประเทศไทย ประกอบด้วย ถุงมือตรวจโรค และถุงมือผ่าตัด สำหรับวัตถุดิบยางธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตถุงมือยาง เป็นนํ้ายางข้น มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติปีละ 57,120 ตัน ต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ17.80 ของปริมาณการใช้ยางทั้งหมด
4. รองเท้าและอุปกรณ์กีฬา รองเท้ายางและพื้นรองเท้าที่ทำจากยางธรรมชาติรวมทั้งอุปกรณ์กีฬาบางชนิด มีส่วนผสมที่เป็นยางธรรมชาติและผลิตในประเทศไทยปีหนึ่งจำนวนไม่น้อย ในปี 2549 ใช้ยางธรรมชาติในการผลิตประมาณ 8,492 ตัน
5. สายพานลำเลียง ใช้งานในการลำเลียงของหนักชนิดต่างๆ มีขนาดตั้งแต่ 2-3 นิ้ว ไปจนถึง 1.5 เมตร ผลิตภัณฑ์ยางกลุ่มนี้มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก โดยในปี 2549 มีมูลค่าการส่งออก 1,057 ล้านบาท และนำเข้า 1,620 ล้านบาท ในการผลิตสายพานใช้ยางปีละประมาณ 1,318 ตัน เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 1,3,5 และยางแท่ง STR XL, 20
6. ผลิตภัณฑ์ฟองนํ้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนํ้ายางข้น ปี 2549 มีปริมาณการใช้ยางธรรมชาติ 364 ตัน ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ มีโรงงานผลิต 12 โรง
7. สื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ จะใช้วัสดุจำพวกยางและนำเข้าจากต่างประเทศ ให้ความรู้สึกในการปฏิบัติงานเหมือนของจริง ยางพาราสามารถนำไปใช้ผลิตสื่อการสอน การฝึกปฏิบัติงานได้เป็นอย่างเช่นกันโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากยางฟองนํ้า เช่น โมเดล ร่างกายมนุษย์, สัตว์ แขนเทียมสำหรับฝึกทางการแพทย์ เป็นต้น
8. ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างและวิศวกรรม
8.1 ยางรองคอสะพาน (Elastomeric Bearings for Bridges) หรือแผ่นยางรองคอสะพาน (Rubber Bridge Bearigs) แบ่งตามชนิดของยางที่ใช้ผลิตเป็น 2 ประเภท คือ ยางรองคอสะพาน ทำจากยางสังเคราะห์ Polychloroprene, (CR) or Neoprene และทำจากยางธรรมชาติ (Natural Rubber, NR) ซึ่งทั้ง 2 ประเภท มีทั้งแบบแผ่นยางล้วน (Plain) และแบบที่มีวัสดุเสริมแรง (Laminated) สำหรับการเลือกใช้ยางตามประเภท ชนิด และแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการกําหนดมาตรฐานของผู้ออกแบบและ / หรือของผู้ก่อสร้าง
8.2 แผ่นยางกันนํ้าซึม (Water Stop) ทำหน้าที่เหมือนปะเก็นของงานคอนกรีต ใช้ป้องกันการขยายตัว หรือ หดตัวของคอนกรีต เพื่อไม่ให้นํ้ารั่วซึมหรือผ่านได้ ในงานก่อสร้างทั่วไป เช่น คอนกรีต คานสะพาน อาคารชั้นใต้ดิน ดาดฟ้า เป็นต้น รวมทั้งงานก่อสร้างที่โครงสร้างต้องสัมผัสกับนํ้าตลอดเวลา เช่น แท้งค์นํ้า บ่อบำบัดนํ้าเสีย สระว่ายนํ้า คลองส่งนํ้า เขื่อนและฝาย เป็นต้น
8.3 ยางกันชนหรือกันกระแทก (Rubber of Rubber Bumper) ใช้เป็นเครื่องป้องกันการเฉี่ยวหรือการกระแทกของเรือ หรือรถเมื่อเข้าจอดเทียบท่า ใช้วัตถุดิบผลิตได้ทั้งยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์
8.4 ยางคั่นรอยต่อคอนกรีต (Rubber Hose for Joint of Rubber Sealant) มีลักษณะเป็นท่อยางขนาดเล็กมีรูกลางตลอดความยาว ใช้อุดรอยต่อด้านล่างของคอนกรีตของสะพาน หรือรอยต่อระหว่างคานสะพานกันตอม่อของสะพานก่อนการหยอดยางมะตอย วัตถุดิบที่ใช้ผลิตทั้งจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ แต่มักมีการกําหนดให้ใช้ยางสังเคราะห์
8.5 บล็อกยางปูพื้น (Rubber Block) ใช้ปูพื้นแทนอิฐบล็อกคอนกรีต บล็อกยางมีข้อได้เปรียบบล็อกคอนกรีตคือเบากว่า ผิวมีสปริง ยืดหยุ่นได้เวลาลื่นล้มจึงไม่บาดเจ็บมากและไม่เป็นแผล ส่วนใหญ่มักผลิตจากยางธรรมชาติผสมกับยางรีเคลมธรรมชาติหรือสังเคราะห์ ปัจจุบันยังไม่ค่อยนิยมใช้ยางบล็อกปูพื้นเพราะราคาค่อนข้างสูงกว่าบล็อกคอนกรีต
8.6 แผ่นยางปูอ่างเก็บนํ้า (Rubber Water Confine) เป็นผลิตภัณฑ์ยางที่สามารถใช้ยางธรรมชาติปูรองสระ เพื่อเก็บกักนํ้าบนผิวดินที่เก็บนํ้าไม่ได้ เช่น ดินปนทราย ดินลูกรัง โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2529 และสามารถพัฒนาได้กว้างขวาง ได้แก่ ใช้เก็บกักนํ้าสำหรับเกษตรกร ใช้งานในสนามกอล์ฟและรีสอร์ท ใช้ในงานชลประทาน บ่อบำบัดนํ้าเสียของโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถกักเก็บนํ้าได้ โดยทั่วไปวัตถุดิบที่ใช้ในการปูสระกักเก็บนํ้าสามารถใช้เป็นยางธรรมชาติ หรือยางสังเคราะห์ หรือ พลาสติก หรือผ้าใบเคลือบยาง
8.7 ฝายยาง (Rubber Dam) หรือเขื่อนยางส่วนใหญ่ผลิตจากยางสังเคราะห์แต่ผู้ผลิตให้ความเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการเคลือบชั้นนอกของตัวฝายยางด้วยยางสังเคราะห์ และภายในใช้ยางธรรมชาติแต่ความเป็นไปได้นี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใช้อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจของผู้ผลิตภายในประเทศ เพราะมีผู้ใช้จำกัดเพียงกรมชลประทานและมีราคาสูง แต่ข้อดีของฝายยางธรรมชาติ คือสามารถปรับระดับความสูงของฝายได้ตามความเหมาะสมของระดับนํ้า ซึ่งสามารถลดแรงกระแทกจากนํ้าหลากและช่วยระบายนํ้าป้องกันนํ้าท่วมล้มตลิ่ง อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดนํ้าล้นหน้าฝาย ป้องกันตะกอนทราย ตกตะกอนหน้าฝายได้ นอกจากนี้ในฝายที่อยู่บริเวณปากแม่นํ้าจะสามารถป้องกันนํ้าเค็มรุกลํ้าเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่อยู่อาศัยอีก ทั้งฝายยางยังทนทานต่อการกัดกร่อนของนํ้าเค็มได้ดีกว่าบานประตูระบายนํ้าที่ทำด้วยเหล็ก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ศึกษาสูตรผลิตแผ่นฝายยางโดยการใช้ยางธรรมชาติผสมยางสังเคราะห์ EPEM และทดลองติดตั้งฝายยางเมื่อปี 2537
8.8 แผ่นยางปูพื้น (Rubber Floor Mat) ส่วนใหญ่ผลิตจากยางธรรมชาติ ใช้ปูพื้นหรือทางเดินบนอาคารโรงงาน สำนักงาน สนามบินใช้ได้ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่ลาดเอียง เพื่อป้องกันการลื่น และลดเสียงที่เกิดจากการเดิน หรือการกระแทก
9. การใช้ยางพาราผสมยางมะตอยสำหรับทำผิวถนน ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งมีความสำคัญและมีการขยายตัวมาก โดยเฉพาะถนนถือเป็นปัจจัยหลักของการคมนาคมแลถนน แต่มักจะประสบปัญหาในเรื่องเกิดการชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ การปรับปรุงสมบัติของยางมะตอยให้ใช้ในงานทางให้ดีขึ้นจะช่วยให้ถนนมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยใช้ยางพาราผสมยางมะตอยในอัตราร้อยละ 5 ทำให้ยางมะตอยมีความแข็งมากขึ้นมีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้นถนนที่ราดยางมะตอยผสมกับยางพาราจะมีความแข็งแรงและทนทานมากขึ้น และมีการเกิดร่องล้อน้อยกว่าการใช้ยางมะตอยปกติ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม บำรุงรักษาและเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้นด้วย (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม)
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, วนเกษตร, เกษตรผสมผสาน