ท่าบริหารร่างกายฤาษีดัดตนนเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทยซึ่งมีมาช้านาน นอกจากท่าฤาษีดัดตนจะช่วยบำบัดตน รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย ซึ่งท่าส่วนใหญ่ของฤาษีดัดตนนั้น เป็นการเลียนแบบท่าทางหรืออิริยาบทของไทย ขณะเดียวกันก็ใช้หลักการเคลื่อนไหวร่างกาย ให้สอดคล้องกับลมหายใจเข้าออก
ประวัติความเป็นมา “ฤาษีดัดตน “
ฤาษี หรือฤษี ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายถึง นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ
ปรากฏหลักฐานครั้งแรกในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ใน พ.ศ.2331 เมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม (ปัจจุบัน คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ) และข้อมูลของโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน ระบุว่า มีเขาฤาษีดัดตน ซึ่งก็คือ สวนสุขภาพแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้พระวิหารทิศใต้ เป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 1 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปะวิทยาการครั้งกรุงศรีอยุธยาไว้ ทรงพระราชดำรินำเอาท่าดัดตนอันเป็นการพักผ่อนอิริยาบถแก้เมื่อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และประยุกต์กับคติไทยที่ยกย่องฤษีเป็นครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิทยาการต่างๆ เป็นรูปฤาษีดัดตน แสดงท่าไว้ที่วัดเพื่อให้ราษฎรทั่วไปได้ศึกษาเล่าเรียนและรักษาโรคได้อย่างกว้างขวาง สมัยแรกสร้างนั้นปั้นด้วยดิน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งวัด และโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นณรงค์หริรักษ์ (พระราชโอรสในรัชกาล ที่ 1 พระนามเดิม พระองค์เจ้าดวงจักร) เป็นแม่กอง กำกับช่าง หล่อรูปฤาษีแสดงท่าดัดตน ด้วยสังกะสีผสมดีบุก (เรียกว่า ชิน) จำนวน 80 ท่า เสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสนาอำมาตย์ และนักปราชญ์ราชบัณฑิต ร่วมกันแต่งโคลงประกอบรูปฤาษีดัดตน โดยพระองค์เองก็ทรงพระราชนิพนธ์ด้วย และจารึกโคลงเหล่านั้นลงบนแผ่นศาลาติดไว้ตามผนังศาลารายรอบวัด (ก่องแก้ว วีระประจักษ์ สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร)
ท่าฤาษีดัดตน
ท่าฤาษีดัดตน ตามแบบดั้งเดิมมีประมาณ 127 ท่า แต่ในปัจจุบันนี้มีหลายสถาบันที่นำองค์ความรู้นี้มาพัฒนาเป็นท่าออกกำลังกาย เช่น สถาบันการแพทย์แผนไทย โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) เป็นต้น ซึ่งแต่ละสถาบันจะมีรูปแบบและ สไตล์ที่ต่างกัน
คำว่า ดัดตน หมายถึงการทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายน้อมไปตามต้องการ เช่น ให้ยืด ให้หด ให้งอ ให้บิด ฯลฯ ได้ตามต้องการแล้วแต่ความชำนาญที่ได้ฝึกฝนมาจนเกิดความคล่องตัว
ที่เรียกว่า ฤาษีดัดตน คือ การพักผ่อนอิริยาบถ แก้เมื่อย แก้ขบ ระบบตามร่างกายของเหล่าฤาษี ชีไพร ผู้ได้บำเพ็ญพรต เจริญภาวนามานานวันละหลายชั่วโมง
การดัดตน เป็นการบริหารร่างกาย หรือกายกรรม เพื่อให้สุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งมีผลพลอยได้คือ เพื่อบำบัดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น แก้โรคลมทั้งสรรพางค์กาย แก้เมื่อย แก้ปวด เป็นต้น
ท่าฤาษีดัดตนตามแบบดั้งเดิม มีประมาณ 127 ท่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 ระบุว่ามี 80 ท่า แต่ในปัจจุบันนี้คงเหลือ 24 ท่า 25 ตน เหตุเพราะมีหลายสถาบันที่นำองค์ความรู้นี้มาพัฒนาเป็นท่าออกกำลังกาย เช่น สถาบันการแพทย์แผนไทย โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) กล่าวคือ
สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้คัดเลือกท่าฤาษีจาก 127 ท่า มาประยุกต์ให้เกิดความต่อเนื่องของการเคลื่อนไหว เป็นท่าหลักๆ 15 ท่า ซึ่งทั้ง 15 ท่า จะมีประโยชน์ในการปรับสมดุลโครงสร้างร่างกายเกือบทุกส่วน มีทั้งท่ายืน ท่านอน ท่านั่ง และปัจจุบันได้เผยแพร่ให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปเป็นท่าการ ออกกำลังกายสำหรับประชาชนทั่วไป
การคัดเลือกท่าพื้นฐาน
สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้ดำเนินการคัดเลือกท่าฤาษีดัดตนพื้นฐาน 15 ท่า จากท่าฤาษีดัดตนที่ได้รวบรวมไว้ทั้งหมด 127 ท่า โดยมีแนวคิดและหลักการคัดเลือก ดังนี้
ลักษณะท่าทาง
ในปัจจุบันท่าฤาษีดัดตนเป็นการนำท่าต่างๆ จากต้นฉบับที่มีการบันทึกไว้ที่วัดโพธิ์มาคัดเลือกท่าที่ปลอดภัยเหมาะสม มาเป็นท่าการออกกำลังกาย โดยเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆ ควบคู่กับ การหายใจ เข้า- ออก อย่างช้าๆ และมีสติ
ท่าที่ 1 ท่านวดกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า
ประกอบด้วย 7 ท่า คือ 1.1 ท่าเสยผม 1.2 ท่าทาแป้ง 1.3 ท่าเช็ดปาก 1.4 ท่าเช็ดคาง 1.5 ท่ากดใต้คาง 1.6 ท่าถูหูและถูหลัง 1.7 ท่าตบท้ายทอย ซึ่งท่านี้จะช่วยในเรื่องของการส่งเลือดไปเลี้ยงที่บริเวณใบหน้า รวมทั้งช่วยบำรุงสายตา และส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง
ท่าที่ 2 ท่าเทพพนม
วิธีการฝึกนั้นเริ่มตั้งแต่การพนมมือ หลังจากนั้นดันมือที่พนมไปทางซ้าย แล้วกลับมาที่จุดเดิมแล้วดันมือไปทางขวา ซึ่งจุดประสงค์การฝึกท่านี้คือ ต้องการส่งเลือดและลมไปตามแขน เพื่อแก้โรคลมในข้อแขน
ท่าที่ 3 ชูหัตถ์วาดหลัง
วิธีการฝึกเริ่มจากการชูมือทางข้างขึ้นเหนือศีรษะ จากนั้นประสานมือโดยให้มือทั้งสองจับกัน ต่อมากางมือทั้งสองข้างออกข้างลำตัว และลดระดับมือลงมาจับที่บริเวณเอว กำมือทั้งสองค่อยเข้าหากันและนำมาชนกันบริเวณด้านหลังของเอว
ท่าที่ 4 ท่าแก้เกียจ
เริ่มจากการประสานมือทั้งสองข้างเข้าหากัน จากนั้นเหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง โดยที่มือทั้งสองประสานกันในลักษณะเหยียดออก จากนั้นยืดแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะพร้อมด้วยมือที่ประสานกัน แล้ววางมือที่ประสานกันลงบนศีรษะ ท่านี้ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้
ท่าที่ 5 ท่าดึงศอกไล้คาง
เริ่มจากการนำมือซ้ายมาแตะบริเวณปลายคาง และมือขวาจับที่บริเวณข้อศอก แล้วลูบปลายคางจากด้านซ้ายมาด้านขวา หลังจากนั้นเปลี่ยนข้างมาใช้มือขวาจบบริเวณปลายคาง แล้วมือซ้ายแตะที่ปลายศอกขวา แล้วลูบปลายคางจากขวามาด้านซ้าย จากนั้นเปลี่ยมมาใช้บริเวณหลังมือแทนฝ่ามือในการลูบปลายคาง โดยทำในลักษณะเดียวกับการใช้ฝ่ามือในขั้นตอนแรก โดยการสลับมือซ้ายและมือขวา
ท่าที่ 6 ท่านั่งนวดขา
เริ่มจากการนั่งเหยียดขา แล้วนำมือทั้งสองข้างมาจับบริเวณหน้าขา จากนั้นเลื่อนไปจับบริเวณปลายเท้า แล้วค่อย ๆ เลื่อนมาจับบริเวณหน้าขา
ท่าที่ 7 ท่ายิงธนู
เริ่มจากการนั่งโดยเหยียดขาข้างซ้ายออก ส่วนขาข้างขวานั้นพับงอไว้ มือทั้งสองข้างทำท่าเหมือนการยิงธนู จากนั้นสลับเปลี่ยนขาและทำเช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น
ท่าที่ 8 ท่าอวดแหวนเพชร
เริ่มต้นจากการนั่งชันเข่า จากนั้นเหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรง และกางฝ่ามือซ้ายขึ้น แล้วใช้มือขวาดัดที่บริเวณฝ่ามือซ้าย จากนั้นกางมือซ้ายออกแล้วค่อย ๆ พับนิ้วทั้ง 5 ลงที่ละนิ้วจนครบ จากนั้นสลัดข้อมือขึ้นลงในขณะที่กำลังกำมืออยู่ ทำสลับข้างกันไปเรื่อย ๆ จะช่วยป้องกันในเรื่องของการเกิดโรคนิ้วล็อกได้
ท่าที่ 9 ท่าดำรงค์กายอายุยืน
เริ่มจากลุกขึ้นยืนพร้อมกับกำมือทั้งสองข้าง โดยให้มือข้างซ้ายอยู่บนมือข้างขวาจากนั้นย่อเข่าลง พร้อม ๆ กับการขมิบท้องและแขม่วก้น จากนั้นจึงค่อย ๆ ผ่อนคลายลง และทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ
ท่าที่ 10 ท่านางแบบ
เริ่มจากการลุกขึ้นยืน จากนั้นใช้มือข้างขวาจับด้านหลัง มือข้างซ้ายจับที่ต้นขา แล้วเอียงคอไปทางด้านขวามือเช่นเดียวกับมือที่จับข้างหลัง หลังจากนั้นหันคอกลับมาที่เดิม ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วทำการเปลี่ยนสลับข้าง สำหรับท่านี้เรียกได้ว่าเป็นการบริหารร่างกายใน แนวบิด จะช่วยในเรื่องของการปวดเมื่อยบริเวณสะโพกได้เป็นอย่างดี
ท่าที่ 11 ท่านอนหงายผายปอด
ท่านี้ประกอบด้วย 2 จังหวะ โดยจังหวะที่ 1 นั้น เริ่มจากนอนหงายแล้วยังแขนขึ้น จากนั้นเหยียดแขนให้ตรงและแนบกับศีรษะ จากนั้นยกแขนกลับมาแนบบริเวณข้างลำตัว
ส่วนจังหวะที่ 2 นั้น เริ่มจากนอนหงายใช้มือข้างขวาวางบริเวณหน้าท้อง จากนั้นค่อย ๆ ยกมือทั้งสองข้างชูขึ้น แล้วเหยียดไปแนบข้างศีรษะ จากนั้นประสานมือทั้งสองข้างมาวางไว้บนหน้าผาก แล้วค่อย ๆ เลื่อนมือที่ประสานกันไว้มาอยู่ที่บริเวณหน้าท้อง โดยที่มือทั้งสองข้างยกสูง จากนั้นดึงมือที่ประสานกันทั้งสองข้างกลับมาวาง บนหน้าท้อง ซึ่งท่านี้จะช่วยในเรื่องของการบริหารหัวใจ และแก้โรคในทรวงอก
ท่าที่ 12 ท่าเต้นโขน
เริ่มจากการยืนกางขาทั้งสองข้างออก แล้วใช้มือทั้งสองข้างวางลงบนหน้าขาทั้งสองข้าง จากนั้นยกขาซ้ายขึ้น แล้ววางขาซ้ายลงกลับมาสู่ท่าเดิม จากนั้นยกขาขวาขึ้น แล้ววางขาขวาลงและกลับมาสู่ท่าเดิม ท่านี้จะช่วยในเรื่องของการทรงตัว
ท่าที่ 13 ท่ายืนนวดขา
เริ่มจากการยืนตรง จากนั้นก้มตัวลง และใช้มือทั้งสองข้างจับที่บริเวณหัวเข่า แล้วค่อย ๆ ไล่ลงมาถึงปลายเท้า จากนั้นก็เลื่อนมือทั้ง 2 ข้างกลับไปที่หัวเข่าเช่นเดียวกัน สำหรับท่านี้ผู้ที่ปวดหลัง หรือมีอาการเสียวแปลบที่หลัง รวมถึงอาการปวดร้าวและลงขาควรหลีกเหลี่ยงท่านี้
ท่าที่ 14 ท่านอนคว่ำทับหัตถ์
เริ่มจากการนอนคว่ำ โดยมือทั้งสองข้างวางทับกันอยู่ใต้บริเวณคาง หลังจากนั้นยกศีรษะขึ้น แล้วกระดกเข่าทั้งสองข้างขึ้น และกระดกขาและงอเท้าเข้ามายังบริเวณด้านหลังให้มากที่สุด ท่านี้จะช่วยขับลมเพื่อให้ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น
ท่าที่ 15 ท่าองค์แอ่นแหงนพักตร์
เริ่มจากการนอนตะแคง จากนั้นยกขาข้างขวาขึ้นและใช้มือจับบริเวณข้อเท้า จากนั้นเปลี่ยนทำสลับข้างกันและทำต่อไปเรื่อย ๆ
ขณะที่ฝึกท่าฤาษีดัดตนทั้ง 15 ท่านี้ ต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกไปพร้อม ๆ กับการออกท่าทางด้วย จึงจะทำให้การฝึกได้ผลดีกับผู้ฝึก โดยสูดหายใจเข้าให้ลึกที่สุด จากนั้นกลั้นลมหายใจไว้ก่อน แล้วจึงค่อยผ่อนลมหายใจออก
การฝึกลมหายใจ
การฝึกท่าฤาษีดัดตนนั้นในตำรามิได้มีการระบุชัดเจนเกี่ยวกับการหายใจ แต่อย่างไรก็ตาม ในศาสนาพุทธมีการนั่งสมาธิ โดยการฝึกการบริหารลมหายใจเช่นกัน ดังนั้นท่าฤาษีดัดตนจึงน่าจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดลมหายใจและการกลั้นลมหายใจ ดังนั้นก่อนที่จะบริหารร่างกายด้วยท่าฤาษีดัดตน ควรเริ่มต้นนั่งสมาธิและการฝึกการหายใจให้ถูกต้อง
กายบริหารแบบไทย ท่าฤาษีดัดตน เป็นการบริหารร่างกายของคนไทยที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งเน้นการฝึกลมหายใจและใช้สมาธิร่วมด้วย จึงเป็นทั้งการบริหารร่างกายและบริหารจิต รวมทั้งช่วยในการบำบัดอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ในระดับหนึ่ง
ประโยชน์
การบริหารร่างกายด้วยท่าฤาษีดัดตน นอกจากใช้เป็นท่าในการบริหารร่างกายแล้ว ทำให้ ร่างกายตื่นตัว แข็งแรง และเป็นการพักผ่อน ท่าต่าง ๆ ที่ใช้ยังมีสรรพคุณในการรักษาโรคเบื้องต้นได้อีกด้วย นับว่ามีประโยชน์เป็นอันมาก ได้แก่
จากการที่สถาบันการแพทย์แผนไทย ได้เผยแพร่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ถึงปัจจุบันยังไม่พบข้อเสีย หรืออันตรายจากการใช้ท่าฤาษีดัดตน และโดยลักษณะการเคลื่อนไหว เป็นการเคลื่อนไหวอย่างช้า และไม่ได้ตัด หรือฝืนท่าทางอย่างมากมาย ดังนั้นจึงมีความปลอดภัยกับผู้ที่จะใช้ออกกำลังกายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ
ป้ายคำ : สุขภาพ, สุขภาพพึ่งตน
มีคุณค่ามากมายคณานับ
คือตำหรับสร้างสรรค์ในวิถี
คือค่าคงยั่งยืนเนินนานปี
เป็นวิถีงดงามต้องจดจำ