ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวนี้เป็นประเพณีไทยที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจที่มีการช่วยเหลือซึ่่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมและการขับร้องเพลงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผู้ที่ประกอบอาชีพทำนา
ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีที่เจ้าของนาจะบอกเพื่อนบ้านให่รู้ว่าจะเกี่ยวข้าวเมื่อใด และเมื่อถึงวันที่กำหนดเจ้าของนาก็จะต้องปักธงที่ที่นาของตนเพื่อให้เพื่อนบ้านหรือแขกที่รู้จะได้มาช่วยเกี่ยวได้ถูกต้องทั้งนี้เจ้าของนาจะต้องจัดเตรียมอาหาร คาวหวาน สุรา บุหรี่ น้ำดื่ม ไว้รองรับด้วย และในการขณะเกี่ยวข้าวก็จะมีการละเล่นร้องเพลงเกี่ยวข้องระหว่างหนุ่มสาวเป็นที่สนุกสนานและเพลิดเพลินเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อยได้
ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นประเพณีไทยอีกอย่างหนึ่งของชาวนาไทย ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากในสภาพปัจจุบัน ชาวอีสานส่วนใหญ่ จะเป็นผู้มีน้ำใจไมตรี ดังนั้นในการทำกิจการ งานใดๆ ไม่ว่างานเล็กงานใหญ่ จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเพราะทุกคนต่างมีน้ำใจให้กันและกัน ช่วยงานกันคนละมือละไม้ใช้เวลาไม่นานงานก็สำเร็จลุล่วงไปได้สมปรารถนา การทำงานแบบนี้ คนอีสานเรียกว่า ลงแขก การลงแขกในภาคอีสานก็คือการบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหาย ให้มาช่วยทำงานนั่นเอง งานที่จะลงแขกกันนั้นอาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้ สำหรับงานส่วนตัวนั้นส่วนมากมักจะเป็นงานใหญ่สุดกำลังคนในครอบครัวจะทำได้ หรืออาจจะเป็นงานหนักแต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว จึงต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จสิ้นไปงานที่มักลงแขก เช่น การลงแขกทำนา ซึ่งมีการลงแขกดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกตีข้าว (นวดข้าว) เป็นต้น
นอกจากจะมีประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวแล้ว ยังมีประเพณีลงแขกทำนา ด้วยการทำนาเป็นงานหนักและในรอบปีหนึ่งต้องใช้ แรงงานมากถึง 4 วาระด้วยกันคือช่วงการดำนา การเกี่ยว การตี และเอาข้าวขึ้นเล้า ดังนั้นการทำงาน ทุกๆ ระยะ ชาวนาส่วนมากจะใช้วิธีการลงแขก อาศัยแรงจากญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยกัน เมื่อลงแขกในนาตนเสร็จก็เปลี่ยนไปลงแขกนาของคนอื่นๆ ต่อไปเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็น การแสดงน้ำใจที่มีให้กันและกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันลูกหลานคนหนุ่มสาวไปทำงานต่างถิ่น ปล่อยให้พ่อแม่และคนแก่อยู่บ้าน การลงแขกจึงยังมีความจำเป็นสำหรับชาวนา
ลงแขก เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งความเอื้อเฟื้อและเกื้อกูลกันของสังคมคนในอดีต ที่นับวันจะสูญหายไปเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนด คนไทยในสมัยนี้รู้จักคำว่า ลงแขก ในความหมายที่เป็นการกระทำผิดอาญา แต่สำหรับคนอีสานแล้ว ลงแขก มีความหมายถึงน้ำใจที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ในการช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วประเพณีเอามื้อเอาแรงนี้จึงเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคี ทำให้งานเสร็จอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องอาศัยการว่าจ้าง และยังถือเป็นโอกาสที่ทำให้หนุ่มสาวได้รู้จักอุปนิสัยใจคอและพบรักกันได้อีก ด้วย
เนื่องจากชีวิตของเกษตรกรไทยเกี่ยวพันกับอาชีพด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำนา การทำไร่ ทำสวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของฟ้าและฝน จะต้องเร่งรีบในการเพาะปลูก ปักดำ เก็บเกี่ยว ในครอบครัวใดมีแรงงานมากก็จะทำได้เร็วและทันเวลา แต่ครอบครัวที่มีคนน้อยก็จะทำสำเร็จได้ยาก ณ จุดนี่เองที่ก่อให้เกิดประเพณี ลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทนมีเพียงน้ำใจเลี้ยงอาหารข้าวปลาตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น หมุนเวียนกันไปจากครอบครัวหนึ่งสู่อีกครอบครัวหนึ่ง ทำให้กิจการงานสำเร็จลุล่วงมีอาหารเพียงพอไม่ขาดแคลน
เมื่อเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาสู่ชุมชนพร้อมกับการส่งเสริมให้มีการปลูกเพื่อขาย ยุคเศรษฐกิจเงินตราเป็นใหญ่จึงทำให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอดีต กลายมาเป็นการว่าจ้างแรงงานแทน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอย่าง การลงแขก จึงพลอยสูญหายไปด้วย และยิ่งมาถึงยุคสมัยที่ลูกหลานวัยรุ่น หนุ่ม-สาวของเราหนีความแห้งแล้งไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ การทำไร่ไถนาของบรรพบุรุษก็ยิ่งขาดแคลนแรงงานหนัก ก็ได้อาศัยเงินทองที่ลูกหลานส่งมาให้มาจ้างแรงงานในหมู่บ้านใกล้เคียงมาช่วยเหลือ ก็ยิ่งทำให้การลงแขกถูกลืมเลือนเด็ดขาดไปเลย เพราะการช่วยงานต้องมีค่าจ้างตอบแทน เลี้ยงข้าวปลาอาหารอีก นี่จึงต้องมีการฟื้นฟูและกล่าวถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม การลงแขก ให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ป้ายคำ : นาข้าวอินทรีย์