ลังแข ผลไม้ถิ่นใต้

13 มีนาคม 2560 ไม้ผล 0

ลังแขเป็นพืชท้องถิ่นในมาเลเซีย เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียวและภาคใต้ของไทย ภาคกลางเรียกลังแขหรือลำแข ปัตตานีเรียกมะแค้ ลังแข ภาษาอินโดนีเซียเรียกตัมปุย ซายาหรือตัมปุย บูลัน ภาษามาเลย์เรียกตำปอย เงาะซาไกเรียกลารัก

ลังแข เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ จัดเป็นพืชในสกุลเดียวกันกับมะไฟ และละไม มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย และทางภาคใต้ของประเทศไทย เช่น ในจังหวัดยะลา ปัตตานี ตรัง และพังงา เป็นต้น พบเจริญเติบโตอยู่ในบริเวณป่าพรุ หรือตามที่ราบเชิงเขาที่มีสภาพดินร่วนซุย เป็นพืชพื้นเมืองที่ชาวบ้านในท้องถิ่นรู้จักกันดี และนิยมรับประทานกันมาเป็นเวลานานแล้ว

ชื่อสามัญ Balacuya, Giant Baccaurea, Malayan Baecaurea
ชื่อวิทยาศาสตร์ Baccaurea macrophylla Muell. Arg , Baccaurea macrocarpa
ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae, Phyllanthaceae
ชื่ออื่นๆ ลูกปุ มะแค้ เวาะแค(ภาษาถิ่นของมลายู) ตัมปุยซายา ตัมปุยบูลัน(อินโดนีเซีย) ตำปอย(มาเลเซีย) ลารัก(ชาวซาไก) ลูกปุย ลำแข หรือมะไฟควาย

ลังแข เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ใบเกลี้ยง ไม่มีขนอ่อน แผ่นใบเรียวเข้าหาโคน ไม่เว้า ช่อดอกยาวออกเป็นกลุ่มตามกิ่งหรือลำต้น ผลมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับพืชในสกุลเดียวกันทั้งหมด ผลกลม เปลือกหนามาก มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ก้านของผลยาว แข็ง ผลดิบสีชมพูอมม่วง มีขน เมื่อแก่กลายเป็นสีน้ำตาล ไม่มีขน เนื้อสีขาวขุ่น แต่เมื่อถูกอากาศจะกลายเป็นสีดำอย่างรวดเร็ว มี 3-6 เมล็ด รสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผลไม้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลค่อนข้างเรียบ มีเนื้อไม้ที่แข็งและเหนียว มีความสูงของลำต้นประมาณ 8-30 เมตร

ใบ
ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือรูปรีแกมขอบขนาน มีสีเขียวเข้ม ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันที่ปลายกิ่ง โคนใบมน ปลายใบแหลมเป็นติ่ง แผ่นใบและขอบใบเรียบ มีเส้นแขนงใบแบบขนนก สามารถมองเห็นเส้นกลางใบได้ชัดเจน ขนาดความกว้างของใบมีประมาณ 5-6.5 ซม. ยาวประมาณ 10-14 ซม.

ดอก
ลังแขจะออกดอกเป็นช่อกลุ่มลดหลั่นกันมาตามลำต้นและกิ่ง ช่อดอกยาว มีกลีบดอกสีเหลืองอมเขียวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะแยกอยู่คนละต้นกัน

ผลลูกลังแข
ลักษณะของผลกลมแป้น ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกจะกลายเป็นสีเหลือง หรือสีเหลืองอมน้ำตาล เปลือกผลหนาประมาณ 1 ซม. ผิวเรียบเป็นพู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของผลประมาณ 4-5 ซม. ภายในผลมีเนื้อนุ่มๆ เป็นกลีบสีขาวหุ้มเมล็ดอยู่ มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อปอกทิ้งไว้จะกลายเป็นสีดำอย่างรวดเร็ว มีก้านผลแข็งและยาว ผลจะมีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับพืชในสกุลเดียวกัน มักให้ผลในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน

เมล็ด
มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมแบนสีน้ำตาล ใน 1 ผล จะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 2-6 เมล็ด ด้านล่างเมล็ดจะมีแกนเป็นเยื่อหุ้มอยู่

การขยายพันธุ์
สามารถทำได้ด้วยการเพาะเมล็ด ติดตา ทาบกิ่ง และการเสียบยอด แต่วิธีที่นิยมจะเป็นการติดตา และทาบกิ่ง เนื่องจากได้ต้นใหม่ตามพันธุ์ที่ต้องการ และให้ผลผลิตได้รวดเร็วภายใน 4-5 ปี ควรมีการอนุรักษ์ต้นไม้ชนิดนี้ไว้ เพราะตามป่าธรรมชาติในปัจจุบันก็เหลืออยู่ไม่มากแล้ว

ลังแข เป็นไม้ผลที่ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและศัตรูพืชมารบกวน เป็นไม้ผลที่ไม่จำเป็นต้องดูแลอย่างพิถีพิถัน เพียงแต่ให้การดูแลรักษาด้วยการใส่ปุ๋ยให้บ้าง ก็จะทำให้ออกดอกออกผลมากมายสม่ำเสมอในทุกๆ ปี ในต้นหนึ่งๆ มักจะให้ผลผลิตได้มากกว่า 300-500 กก. ลังแขเป็นผลไม้พื้นบ้านที่มีรสชาติดี และมีราคาค่อนข้างสูง แม้จะไม่ได้จัดเป็นพืชทางเศรษฐกิจก็ตาม

การเก็บเกี่ยว
ลักษณะของผลที่เก็บเกี่ยวได้ต้องเป็นผลสุกที่มีลักษณะผิวผลเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ควรใช้ความระมัดระวังในการเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ผลบอบช้ำ เพราะจะทำให้เป็นรอยสีดำเมื่อกระทบกับอากาศ กลายเป็นผลที่ไม่มีคุณภาพ เก็บรักษาไว้ได้ไม่นาน

ประโยชน์ที่นำมาใช้

  • ผลสุก-รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย ใช้รับประทานเป็นผลไม้ หรือนำไปประกอบเป็นตัวยาเพื่อใช้ลดความดันโลหิต
  • เปลือกผล-นำไปปรุงเป็นแกงได้
  • เนื้อไม้-มีความแข็งแรงทนทาน และเหนียว สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้าง หรือทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ได้ดี

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น