ลัภย์ หนูประดิษฐ์ ?ผู้ชูธง?การออม?เป็นทุน หนุนนำชีวิต?เกษตร?แบบพอ?เพียง

รู้จักอยู่ รู้จักกิน รู้จักใช้ มีเท่าไหร่ก็ออมไว้ เหลือก็ใช้จ่าย คือ สรุปว่า รู้ฐานะของตัวเอง คนเราลำบากเพราะไม่รู้สถานะตัวเองว่าจนหรือรวย ก็ฟุ้งเฟ้อไปตามตลาด ตามสิ่งที่ยั่วยวน ก็เดือดร้อน แต่ถ้ารู้ว่าเรามีทุน เท่าไหร่จะซื้ออะไร มีภูมิคุ้มกันหรือไม่ มีเหตุมีผลหรือไม่ ก็อยู่รอด

ลัภย์ หนูประดิษฐ์ เกิดที่จังหวัดสงขลา ชีวิตในวัยเด็กยากจน ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่ได้เรียนต่อ นายลัภย์ฯ เป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในภาคการเกษตร 60 ปี ทำการเกษตรแบบผสมผสาน เริ่มต้นชีวิตด้วยการทำนา ทำสวนยางพารา เลี้ยงผึ้ง ปลูกบัว ใช้ชีวิตแบบพอมีพอกิน ดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีความเสียสละชอบช่วยเหลือสังคม เป็นผู้นำในการพัฒนาด้านอาชีพและสังคม ยึดหลัก 5 ร่วม ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ อุทิศตนช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน รณรงค์ให้เกิดการร่วมกลุ่มช่วยเหลือซึ่งกันและกันในรูปสหกรณ์ อาทิ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มส่งเสริมสุขภาพ กลุ่มกองทุนยาง กลุ่มปรับปรุงคุณภาพยาง เป็นต้น สร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มสหกรณ์ มีเงินทุนของตนเองจากกลุ่มออมทรัพย์ ขยายไปยังสหกรณ์การเกษตร จนเติบโตเป็นชุมนุมสหกรณ์การเกษตรระดับจังหวัด

นายลัภย์มุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพให้แก่ชาวบ้าน โดยการส่งเสริมให้ทำสวนยาง กิจกรรมยางแผ่น การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และอาชีพอื่นๆ แต่ปรากฏว่า ชาวบ้านก็ยังมีภาระหนี้สิน แม้ว่าจะมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ของกรมการพัฒนาชุมชนแล้วก็ตามแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะวิธีและนโยบายของทางราชการและชาวบ้านนั้นแตกต่างกัน นายลัภย์ฯ จึงสังเกตเห็นว่าทางราชการไม่ฝึกให้ชาวบ้านบริหารเงิน ไม่แทรกความรู้ และกระตุ้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมอันเป็นสิ่งสำคัญของการยึดโยงจิตใจในเรื่องการออมทรัพย์ และประการที่สำคัญก็คือ ราชการไม่สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน

นายลัภย์ใช้ความสามารถเชิงวัฒนธรรมและเชิงสังคม ในการชักชวนชาวบ้านให้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองหวะขึ้นในปี พ.ศ. 2520 โดยเริ่มต้นจากการมีสมาชิกจำนวน 47 คน และเงินทุน จำนวน 2,500 บาท ในการดำเนินงานของกลุ่มจะดำเนินการปล่อยกู้เอง ควบคุมเงินฝากของสมาชิก ยอดเงินสะสม รวมทั้งกำไรจากดอกเบี้ยเอง โดยให้เงินหมุนเวียนอยู่ภายในกลุ่ม หากสมาชิกต้องการกู้เงินในจำนวนที่น้อยกว่ายอดเงินของตนเอง กลุ่มจะเน้นให้สมาชิกถอนเงินไปลงทุนโดยให้มีเงินคงเหลือในสมุดบัญชีไว้ไม่น้อยกว่า 5,000 บาท แล้วสะสมต่อไปทุกๆ เดือนจนมียอดสะสมสูงขึ้นเป็นเงินก้อนโตพอที่จะนำไปขยายกิจการของตนเองได้ ด้วยวิธีการเช่นนี้ชาวบ้านก็จะไม่เป็นหนี้ แต่จะมีเงินทุนในการพัฒนาครอบครัวของตนเองเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้อยู่รอดแก่ชาวบ้าน

จากการบริหารกลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองหวะของนายลัภย์ ช่วยให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากหนี้สิน และต่อมาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสหกรณ์การเกษตรอำเภอหาดใหญ่ แต่ในปี พ.ศ. 2525 สหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่ดำเนินกิจการประสบภาวะขาดทุน สาเหตุเนื่องมาจากการบริหารผิดพลาดและปัญหาดอกเบี้ยค้างชำระ ทำให้เงินทุนลดน้อยลง การบริหารเงินทุนหยุดชะงัก จึงใช้วิธีการบริหารของกลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองหวะมาปรับประยุกต์ใช้แก้ปัญหาการบริหารกองทุนในสหกรณ์การเกษตร โดยให้สมาชิกสะสมเงินคนละเล็กละน้อย แต่เพิ่มสมาชิกจำนวนมาก ให้สมาชิกถอนเงินน้อยครั้งเพราะการถอนเงินมีผลกระทบต่อเงินฝาก การกู้ระยะสั้น ผ่อนส่งดอกเบี้ยและเงินต้นเป็น รายเดือน ด้วยวิธีการแก้ปัญหานี้ทำให้สหกรณ์เริ่มมีเงินหมุนเวียนดีขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนได้ ทำให้สหกรณ์มีผลกำไรติดต่อกันทุกปี สมาชิกเริ่มได้รับเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนตามแนวทางอุดมการณ์ของสหกรณ์ได้อย่างแท้จริง การพัฒนาระบบสหกรณ์การเกษตรของนายลัภย์จึงกลายเป็นแนวทางให้กับสหกรณ์การเกษตรอื่นๆ ได้ปฏิบัติตามทั่วประเทศ

lapnooact

สิ่งที่ทำให้การดำเนินการบริหารสหกรณ์การเกษตรของนายลัภย์ได้ผลดี เนื่องมาจากนายลัภย์มีกลวิธีให้สมาชิกได้เรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการใช้ระบบสัจจะรายเดือน การรณรงค์ให้สมาชิกสหกรณ์ฝากสะสมกับสหกรณ์เป็นรายเดือน เพื่อให้สหกรณ์กับสมาชิกได้มีโอกาสพบปะและแก้ปัญหาร่วมกัน โดยในแต่ละหมู่บ้านนั้นต้องมีสหกรณ์ในพื้นที่ มีบุคลากรทำงาน ณ ที่ทำการสหกรณ์ทุกแห่งเพื่อคอยดูแลสมาชิก วิธีการบริหารกลุ่มออมทรัพย์ในรูปแบบนี้ ทำให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ที่สำคัญ คือ เป็นการเชื่อมโยงและบูรณาการเงิน จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ผลกำไรจากกองทุนยังเพียงพอที่จะนำมาสร้างความเจริญให้แก่ส่วนรวม ในแต่ละปีได้มีการหักผลกำไร เพื่อเป็นเงินพัฒนาหมู่บ้านทางด้านสาธารณูปโภค เช่น การจัดทำถนน ประปา ไฟฟ้า หรือรวมกับรัฐบาลสร้างความเจริญให้กับหมู่บ้าน

จากกลุ่มออมทรัพย์บ้านคลองหวะของนายลัภย์ ได้มีการประยุกต์หลักการต่างๆ เข้าสู่การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เป็นสถานที่ดูงานของสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ เกิดประโยชน์แก่สมาชิกทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การให้สินเชื่อ ซึ่งมีความคล่องตัวสมาชิกนำไปประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร การรับฝากเงิน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักออมทรัพย์ การออมเงินของสมาชิก เป็นการเพิ่มทุนให้กับสหกรณ์ ส่วนงานการซื้อขายนั้นสหกรณ์ได้จัดซื้อวัสดุการเกษตร สิ่งจำเป็นต่างๆ มาขายให้แก่สมาชิกในราคาประหยัดและมีคุณภาพ

lapnoopradity

การดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรหาดใหญ่ที่นายลัภย์เป็นประธาน ยังให้ความรู้กับสมาชิกเกี่ยวกับความจำเป็นและความสำคัญของสหกรณ์ ทำให้สมาชิกเพิ่มขึ้นโดยตลอด กิจการสหกรณ์การเกษตรยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในระยะยาว ผลกำไรจากการดำเนินงานส่วนหนึ่งนำมาจัดเป็นสวัสดิการให้สมาชิก เช่น ค่ารักษาพยาบาล ฌาปนกิจ ทุนการศึกษา ทุนโครงการอาหารกลางวัน การช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติในด้านต่างๆ ของสมาชิก นอกจากนี้ ยังมีงานส่งเสริมอาชีพ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของสหกรณ์การเกษตร โดยเฉพาะในด้านการเกษตรเพื่อส่งเสริมอาชีพให้สมาชิกกินดีอยู่ดี

ลัภย์ หนูประดิษฐ์ ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ นักสหกรณ์ดีเด่น ครูภูมิปัญญาไทย เกษตรกรชั้นนำ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปราชญ์สหกรณ์ และล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกนักสหกรณ์แห่งชาติ คัดเลือกให้นายลัภย์ หนูประดิษฐ์ เป็นนักสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2555 สาขาบริหารและส่งเสริมพัฒนาสหกรณ์.

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น