ลูกท้อ ลูกพีช

13 ตุลาคม 2558 ไม้ผล 0

ลูกพีช หรือ ลูกท้อ ภาษาอังกฤษ Peach มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus persica จัดอยู่ในวงศ์กุหลาบ (Rosaceae) ในตระกูลพรุน ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับเชอร์รี่ พลัม อัลมอนด์ บ๊วย ซากุระ และนางพญาเสือโคร่ง และยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆในบ้านเราอีกเช่น มะฟุ้ง, มักม่น, มักม่วน, หุงหม่น, หุงคอบ เป็นต้น โดยต้นท้อจัดเป็นไม้เมืองหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน และในบ้านเราเองก็มีการปลูกท้อเช่นกัน ในพื้นที่ทางภาคเหนือที่มีอากาศเย็น ลักษณะของต้นท้อ เป็นไม้เมืองหนาวที่ขึ้นได้ดีในพื้นที่ๆ มีความสูงตั้งแต่ 3,000 ฟุตขึ้นไป และมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 10 องศาเซลเซียส และทนแล้งได้ดี ท้อจัดเป็นไม้พุ่มผลัดใบ ลักษณะของใบเป็นไม้ใบเดี่ยว เรียงสลับ คล้ายรูปหอก ดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุก กลีบดอก 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีสีขาว สีชมพู สีแดง ส่วนลักษณะของผลเป็นผลสดเมล็ดเดี่ยว มีขนปกคลุมทั่วบริเวณผิว

torpon

โครงการหลวง ได้ริเริ่ม นำท้อพันธุ์ดี หรือท้อฝรั่ง เข้ามาทดลอง เป็นจำนวนมาก และได้ คัดพันธุ์ที่ดี แนะนำให้ ชาวเขาปลูก ท้อพันธุ์ดี จะมีผลใหญ่ เนื้อมาก หวานฉ่ำ ใช้รับประทานสด หรือทำเป็น ลอยแก้ว ได้ดี ผิดจากท้อ พื้นเมือง ซึ่งต้องใช้ ดองหรือ แปรรูป เท่านั้น ท้อพันธุ์ดี ที่แนะนำ ให้ปลูก อยู่ในขณะนี้ ได้แก่ Earli Grande, Flordabelle และ Flordasun ฤดูท้อสุก จะอยู่ใน ช่วงเดือน มีนาคม ถึง พฤษภาคม

ชื่อสามัญ : Nectarine, peach
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Prunus persica Batsch.
วงศ์ : ROSACEAE
ชื่ออื่น ๆ : หุงหม่น, หุงคอบ (เชียงใหม่), มักม่วน, มักม่น (ภาคเหนือ), มะฟุ้ง (ชาน), ท้อ (จีน-แต้จิ๋ว)

ลักษณะทั่วไป
ท้อจัดอยู่ในพวกไม้ผลที่ชอบอากาศหนาวเย็น เป็นไม้พุ่มผลัดใบ ท้อมีทั้งพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีผลขนาดเล็กและเปรี้ยวกว่าท้อพันธุ์ต่างประเทศ ท้อเป็นพืชในสกุล Rosaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus persica

  • ต้น : เป็นพรรณไม้ผลัดใบ มีขนาดสูงประมาณ 8 เมตร ลักษณะลำต้นและกิ่งอ่อนจะมีผิวเปลือกเกลี้ยงไม่มีขน เป็นสีน้ำตาลแดง หรือสีเขียวอ่อน
  • ใบ : มีลักษณะเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลมเรียว ริมขอบใบจักตื้นเล็กน้อย ขนาดของใบกว้างประมาณ 1-1.2 นิ้ว ยาวประมาณ 3-6 นิ้ว และความยาวของก้านใบประมาณ 7-12 มม.
  • ดอก : ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวตามบริเวณกิ่ง ลักษณะของดอกมีกลีบเป็นสีชมพูอ่อน ดอกหนึ่ง มี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปมนรีที่โคนดอกมีกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก มีสีแดง ผิวนอกกลีบมีขน ตรงกลางดอกมีเกสรทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นเส้นฝอยจำนวนมาก ขนาดของดอกเมื่อบานเต็มที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 นิ้ว
  • ผล : ผลมีลักษณะเป็นรูปมนรี ปลายแหลม เปลือกนอกของผลมีสีเขียวออกเหลือง ๆ และมีขนสั้น ๆ นิ่มปกคลุม ภายในผลมีเมล็ด อยู่ 1 เม็ด มีลักษณะเป็นรูปมนรี คล้าย ๆ กับรูปหัวใจ เปลือกเมล็ดแข็ง มีร่องลึก

tordib torhor torleg

คุณค่าอาหารและสรรพคุณ
ลูกท้อ มีวิตามินเอบำรุงสายตา วิตามินซีป้องกันโรคหวัด โรคเลือดออกตามไรฟัน แคลเซียมและฟอสฟอรัสช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน เมล็ด ใช้แก้ไอ บำรุงโลหิต ช่วยให้ลำไส้และหัวใจทำงานเป็นปกติ ดอก กินเป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ใบ ช่วยขับพยาธิ

สรรพคุณ :

  • ราก เปลือกรากหรือต้น ใช้สดประมาณ 30-60 กรัม แล้วนำไปต้มกิน หรือใช้สำหรับภายนอก โดยต้มเอาน้ำชะล้าง ราก เปลือกรากหรือต้นนั้น จะมีรสขม ใช้รักษาโรคดีซ่านและตาเหลือง โดยใช้รากหั่นเป็นฝอย ต้มกินตอนอุ่น ๆ ขณะที่ท้องว่าง ใช้รักษาเยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ ใช้รากอ่อนสีขาว ผสมน้ำตาลแดงพอประมาณ แล้วตำพอกตามบริเวณที่เจ็บ นอกจากนี้ยังเป็นยารักษาประจำเดือนไม่ปรกติ ปวดข้อแผลบวม อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด เป็นแผลมีหนองเรื้อรัง และโรคริดสีดวงทวาร
  • ใบ ใช้สดประมาณ 30-60 กรัม นำไปต้มน้ำกินหรือใช้สำหรับภายนอก โดยการตำพอก และต้มเอาน้ำชะล้างใบ นั้นจะมีรสขม ใช้รักษาอาการปวดหัวจากลมร้อน ใช้ใบตำพอก เป็นในรูจมูก ให้ใช้ใบอ่อนตำ แล้วอุดรูจมูกที่เป็น บริเวณตาบวม ใช้ใบคั้นเอาแต่น้ำทา ตามบริเวณที่บวมเป็นกลากตามบริเวณหน้าและตัว ให้ใช้ใบคั้นเอาแต่น้ำทา รักษาโรคริดสีดวงทวาร ใช้ใบต้มเอาน้ำชะล้างบ่อย ๆ หรือจะใช้รากก็ได้ รักษาโรคอหิวาตกโรค ปวดท้อง อาเจียนให้ใช้ใบหั่นเป็นฝอย นำไปต้มกินตอนอุ่น ๆ เป็นปัสสาวะขัดหรือท้องผูก ให้ใช้ใบคั้นเอาน้ำกิน ครั้งละครึ่งชาม และยังใช้รักษาอาการไข้ โรคมาลาเรีย โรคผิวหนังเรื้อรังมีหนอง เป็นผื่นคันน้ำเหลือง และฆ่าหนอนแมลงที่แผล ใบมีสารจำพวก glycoside ที่มีสูตรโครงสร้างเป็น C22H24O11, naringenin, guinic acid, lycopene มีแทนนินประมาณ 100 มก.% และกลัยโคซัยด์เล็กน้อย
  • ดอก ใช้แห้งประมาณ 3-6 กรัม นำไปต้มน้ำกินหรือใช้บดเป็นผงผสมกิน ใช้สำหรับภายนอก โดยการตำพอก หรือบดให้ละเอียดเป็นผงทา ดอกนั้นจะมีรสขม ใช้รักษาอาการท้องผูก ให้ใช้ดอกต้มน้ำกินบ่อย ๆ แทนน้ำชาได้ บรรเทาอาการปวดเอวและสะโพก ใช้ดอก รากเข็ก และข้าวสาร ต้มรวมกันให้สุก เอากากออก แล้วกินวันละ 3 เวลา โรคกระเพาะปัสสาวะ ขาบวมน้ำ ปวดเอว และไตมีน้ำคั่ง ใช้ดอกตากให้แห้ง ในที่ร่ม แล้วนำไปบดเป็นผงผสมกับเหล้าอุ่นกินครั้งเดียวหมด เป็นแผลหัวล้าน ใช้ดอกที่ตูมตากให้แห้งในที่ร่ม กับผลหม่อน บดเป็นผงใส่ไขมันหมูแล้วผสมให้เข้ากัน ใช้น้ำขี้เถ้าชะล้างตามบริเวณที่เป็นก่อน แล้วจึงเอายาที่เตรียมไว้ ใช้ทาบริเวณที่เป็น รักษาอาการปวดแน่นหน้าอก ตามบริเวณหัวใจ ให้ใช้ดอกที่แห้งแล้วบดเป็นผงกิน เป็นแผลผื่นคันที่ขา ให้ใช้ดอกผสมกับเกลือ แล้วบดเป็นผงผสมกับน้ำส้มสายชูพอก เป็นโรคพรรดึก ที่มีก้อนอุจจาระแห้งอุดลำไส้อยู่ หรือถ่ายไม่ออก ให้ใช้ดอกสดประมาณ 30 และลูกต๋าวประมาณ 90 กรัม นำไปต้มให้สุก แล้วกินตอนท้องว่าง 2 เวลา เช้าและหลังเที่ยง ท้องลั่นโครกครากแล้วถ่ายของเสียออกมา ในดอกนั้นจะมีสาร kaempferol, coumarin, trifolin ส่วนดอกตูมจะมี naringenin
  • ก้านอ่อน ใช้สดประมาณ 30-60 กรัม นำไปต้มน้ำกิน ใช้สำหรับภายนอก โดยการต้มเอาน้ำอมบ้วนปาก หรือชะล้าง ก้านอ่อนนั้นจะมีรสขม ใช้รักษาอาการปวดตามบริเวณหน้าอก และหัวใจ ใช้ก้านหั่นแล้วแช่กับเหล้า แล้วต้มให้เหลือครึ่งชามแล้วตุ๋นกิน ใช้รักษาแผลในช่องปาก ให้ใช้ก้านสดเคี้ยวอมไว้ แล้วจึงบ้วนทิ้ง
  • ผลสุก ใช้กิน เป็นผลไม้ จะมีรสเปรี้ยว ชุ่ม ช่วยกระตุ้นน้ำลาย ขับสิ่งคั่งค้าง และช่วยหล่อลื่นในลำไส้ ในผลสุกประมาณ 100 กรัมนั้น จะมีสารพวก คาร์โบไฮเดรต ประมาณ 7 กรัม โปรตีนประมาณ 0.8 กรัม ไขมันประมาณ 0.1 กรัม แคลเซียมประมาณ 8 มก. เหล็กประมาณ 1 มก. ฟอสฟอรัสประมาณ 20 มก. วิตามินประมาณ 6 มก. กรดนิโคตินิคประมาณ 0.7 มก. แคโรทีนราว ๆ 0.01 มก. และไทยอามีนประมาณ 0.01 มก. นอกจากสารนี้แล้วยังพบว่ามีน้ำมันระเหย กรดอินทรีย์ ที่มีตัวหลักคือ กรดซิตริค และกรดมาลิค ส่วนในพวกน้ำตาลนั้นได้แก่ fructose, glucose, xylose, sucrose เป็นต้น
  • เมล็ด ใช้แห้งประมาณ 5-10 กรัมหรือจะทำเป็นยาเม็ดหรือยาผงกินก็ได้ ใช้สำหรับภายนอกโดยการตำพอก เมล็ดนั้นจะมีรสขมและชุ่ม ใช้เป็นยารักษาอาการประจำเดือนมาไม่ปรกติหลังคลอด ใช้เมล็ด เอาเปลือกและส่วนที่แหลมออก และรากบัว นำไปต้มน้ำกินเป็นยาขับน้ำคาวปลาหลังคลอด ใช้เมล็ดประมาณ 10 กรัม โกฐเชียงประมาณ 10 กรัม เซียะเจียก เปลือกอบเชยจีน อย่างละประมาณ 1.5 กรัม และน้ำตาลประมาณ 10 กรัม นำไปคั่วให้เป็นถาน แล้วต้มเอากากออก อุ่นเอาแต่น้ำกิน สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนไม่ปรกติ ไม่ใช่เกี่ยวกับโลหิตจาง ให้ใช้เมล็ดร่วมกัน ดอกคำฝอย โกฐเชียง รากพันงู ชนิดละเท่า ๆ กัน นำไปบดเป็นผงให้ละเอียดกิน หรือจะใช้ผสมกับเหล้าอุ่นกินขณะที่ท้องกำลังว่าง มีอาการตกเลือด ให้ใช้เมล็ด แกะเอาเปลือกและส่วนที่เหลือออก นำไปต้มแล้วใช้เซียะเจียก เปลือกอบเชยจีน โป่งรากสน และเปลือกต้นโบตั๋นชนิดละเท่า ๆ กัน นำไปบดเป็นผงนำมาผสมกับน้ำผึ้ง แล้วทำเป็นยาเม็ดเท่าปลายนิ้วก้อย กินครั้งละ 3 เม็ด รักษาไข้มาลาเรีย ให้ใช้เมล็ดประมาณ 100 เม็ด ให้เอาเปลือกและส่วนที่แหลมออก ใส่นมแล้วบดให้เป็นของเหลวข้นใส่อึ่งตัง มี (Pb3o4 34.9%) 9 กรัม แล้วปั้นเป็นเม็ดเท่าถั่วเขียวกินครั้งละประมาณ 3 เม็ด ก่อนจับไข้ หรือเริ่มจับไข้กับเหล้าอุ่น ถ้าไม่กินเหล้าก็ให้กินกับน้ำแช่ดอกไม้แทนได้ บรรเทาอาการปวดฟัน ให้ใช้เมล็ดนำไปเผา แล้วเอาไปกัดไว้ที่ฟันซี่ที่ปวด เป็นลมพิษ บวม ชัก หรือปวดท้อง ปวดเอว ให้ใช้เมล็ด คั่วจนมีควันสีดำ แล้วเอาไปบดจนเป็นของเหลวข้น ผสมเหล้ากิน แล้วนอนห่มผ้าให้มีเหงื่อออก ท้องผูก ใช้เมล็ด รากโงวจูยู้ เกลือแกง คั่วให้สุก แล้วแยกเอาเกลือกับโงวจูยู้ออก เอาเมล็ดท้อกินก่อนอน ตกเลือด และตกขาว ใช้เมล็ดเผาเป็นถ่าน แล้วบดให้เป็นผง แล้วใช้กินกับเหล้าวันละ 3 เวลา มีอาการไอและหอบ ใช้เมล็ดใส่น้ำ แล้วบดเอาแต่น้ำ ใส่ข้าวสารแล้วต้มเป็นข้าวต้มกิน เป็นแผลที่ช่องคลอด เจ็บคันคล้ายกับถูกแมลงกัด หรือมีอาการคันแทบจะทนไม่ได้ ใช้เมล็ดและใบในปริมาณเท่ากัน นำไปตำให้ละเอียด ใช้สำลีชุบสอดไว้แล้วเปลี่ยนวันละประมาณ 3-4 ครั้ง นอกจานี้ในเมล็ดยังมีสาร amygdalin ประมาณ 3.6% น้ำมันระเหยประมาร 0.4% และไขมันประมาณ 45% ในไขมันนั้นยังประกอบด้วย glyceride folinic aci, oleic acid และ glyceride ที่มี folinic acid จำนวนน้อย และยังมี emulsin เป็นต้น
  • ยางจากต้น ใช้แห้งประมาณ 5-10 กรัม นำไปต้มกินหรือทำเป็นยาเม็ด หรือยาผงกิน ยางจากต้นนั้นจะมีรสขมชุ่ม เป็นยารักษานิ่ว ปวดเจ็บ ใช้ยางจากต้น ในฤดูร้อนใช้กินกับน้ำเย็นฤดูหนาวกินกับน้ำแกงจืดวันละ 3 เวลา จนมีก้อนนิ่วหลุดออกมาจึงหยุดยา เป็นโรคบิดถ่ายเป็นมูกเลือดหลังคลอด ใช้ยางจากต้น นำไปผิงไฟให้แห้ง ไม้กฤษณา เกสรตัวผู้ดอกกกช้าง นำไปคั่วให้แห้ง ชนิดละเท่า ๆ กัน บดเป็นผง กินครั้งละ 6 กรัม หลังอาหาร โรคเบาหวาน ใช้ยางจากต้น โดยใช้น้ำอุ่นล้างให้สะอาด ต้มใส่เกลือเล็กน้อยกิน เป็นจุดด่างดำบนผิวหนัง ใช้ยางจากต้นต้มกิน คอแห้ง ใช้ยางจากต้น อมไว้ ยางจากต้นยังมีส่วนประกอบหลักคือ มีสาร galactose, rhamnose, glucuronic acid เป็นต้น

ข้อห้ามใช้ :
สารพิษพวกไซยาไนด์ จะมีอยู่ในใบ ดอก ผลดิบและเมล็ด ห้ามกินสดฉะนั้นก่อนที่ จะนำมากินต้องนำไปต้ม หรือดองก่อน จึงจะใช้กินได้
ใบ ดอก เมล็ด ราก เปลือกราก หรือต้น ห้ามหญิงที่มีครรภ์นำไปกิน อาจเป็นอันตรายได้

torsoog

สภาพดินฟ้าอากาศ
ท้อเป็นไม้ผลเมืองหนาวที่ขึ้นได้ดีบนพื้นที่ที่มีความสูงตั้งแต่ 3,000 ฟุตขึ้นไป สามารถปลูกได้ดีบนภูเขาทางภาคเหนือ อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 10 เซลเซียส และทนความแห้งแล้งได้ดี

พันธุ์ท้อ
การปลูกท้อในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือมีมานานพอสมควร แต่ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมืองเรียกว่า แปะมุงท้อ ซึ่งให้ผลผลิตต่ำ ผลเล็กในปัจจุบันมีพันธุ์ที่เหมาะสมและปลูกได้ผลดี ให้ผลผลิตสูงรสชาติดี พันธุ์ต่างประเทศจากสหรัฐฯ คือ ฟลอดาซัน ฟลอดาเรด และฟลอดาเบลล์ และจากไต้หวันคือหญิงคู

การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ท้อนิยมเตรียมต้นตอ โดยใช้ท้อพันธุ์พื้นเมืองเป็นต้นตอ แล้วจึงติดตาหรือต่อกิ่งด้วยพันธุ์ดี โดยอาจจะเพาะต้นตอด้วยเมล็ดในแปลงเพาะชำแล้วย้ายปลูกก็ได้ ซึ่งการย้ายปลูกควรทำในฤดูหนาวซึ่งกำลังอยู่ในระยะพักตัว พอถึงฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อนท้อก็จะเจริญอย่างรวดเร็ว

การปลูกและการดูแล
การเตรียมพื้นที่ปลูกก็เหมือนกับไม้ผลทั่ว ๆ ไป โดยขุดหลุมขนาด 1x1x1 เมตร แล้วใช้ปุ๋ยคอก หรือเศษวัชพืชรองก้นหลุม โดยใช้ระยะปลูก6×6 เมตร จะได้ไร่ละ ประมาณ 40-45 ต้น

การให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ยท้อก็เหมือนกับการให้ปุ๋ยไม้ผลทั่ว ๆ ไปโดยจะให้ 2 ครั้งต่อปี ครั้งแรกให้เมื่อท้อเริ่มออกดอกโดยให้ปุ๋ย จะให้ปุ๋ยในอัตราแล้วแต่อายุของท้อ อาจจะแบ่งให้เป็นหลาย ๆ ครั้งก็ได้ อีกครั้งหนึ่งให้หลังเก็บเกี่ยวผลและตัดแต่งกิ่งโดยให้ปุ๋ย วิธีการให้โดยพรวนดินบริเวณรอบทรงพุ่มแล้วหว่านปุ๋ยตามแนวที่พรวนและภายในรัศมีทรงพุ่มด้วย หลังจากนั้นก็ให้น้ำตามบริเวณที่โรยปุ๋ยนั้น

torking

การตัดแต่ง
ทำในฤดูหนาวที่ท้อกำลังพักตัว โดยทำทรงต้นแบบตรงกลางโปร่ง เมื่อเริ่มปลูกต้องตัดยอดให้เหลือลำต้นสูง 60 เซนติเมตร ตัดกิ่งแนวด้านล่าง ๆ ออก ส่วนแนวบนตัดให้เหลือ 1-2 ตา เมื่อต้นแตกกิ่งก้านสาขาแล้วให้เหลือกิ่งที่ดี 3 กิ่ง ไว้เป็นกิ่งโครงสร้างต่อมาเมื่อต้นพักตัวให้ตัดทอนกิ่งโครงสร้างนี้ประมาณ 1/3 เพื่อให้แตกแขนงออกไปอีกและเป็นพุ่มแจ้

การปลิดผล
ทำในช่วงที่แน่ใจว่าท้อติดผลแล้ว คือประมาณ 5-8 สัปดาห์หลังดอกบานเต็มที่ การปลิดควรให้ผลเหลือบนต้นมีระยะห่างกัน 15-20 เซ็นติเมตร แต่ต้องดูถึงความแข็งแรงของต้นและต้องดูจำนวนใบด้วย

tor

การให้ผล
หลังจากปลูก 3 ปีจะเริ่มให้ผล โดยจะออกดอกตอนปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว และจะให้ผลในระหว่างเดือนเมษายน-กรกฎาคม แต่จะให้ผลดีเมื่ออายุ 4-5 ปีไปจนถึงอายุไม่น้อยกว่า 10 ปี

ศัตรูท้อ
โรค ได้แก่ peach leafcurl, Brown rot scab และ rust แต่ปกติท้อมักไม่ค่อยเป็นโรค
แมลง ที่สำคัญคือแมลงวันผลไม้ ซึ่งจะทำลายผลท้อเมื่อแก่หรือเริ่มสุก

ประโยชน์และตลาด
ท้อเป็นไม้ผลที่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกจากที่ใช้สำหรับรับประทานสดแล้ว ยังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์บางอย่างได้อีกด้วย เช่น ทำท้อดอง ท้อลอยแก้ว ท้อแห้งหรือแช่อิ่ม เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
โอฬาร ตัณฑวิรุณห์ การปลูกท้อ วารสารส่งเสริมการเกษตร 2520
เอกสารวิชาการ งานศึกษาไม้ผล สำนังานโครงการเกษตรที่สูง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กทม.
ปวิณ ปุณศรี แนะนำโครงการไม้ผลเมืองหนาว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กทม.

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น