วลิต เจริญสมบัติ ศูนย์ข้าวชุมชนปลดหนี้ชาวนา

วลิต เจริญสมบัติเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์ข้าวชุมชนและจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนพัฒนาอย่างต่อเนื่องในด้านคุณภาพเมล็ดพันธุ์ การปรับปรุงบำรุงดิน กระบวนการโรงเรียนเกษตรกร (ข้าว) ในพระราชดำริ และส่งเสริมเกษตรกรในระบบเศรษฐกิจพอเพียงตามครรลองวิถีชีวิตแห่งชุมชน จัดตั้งเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และนำเงินตามโครงการจัดตั้งเป็นกองทุนเครือข่ายต่างๆ จำนวน 960,000 บาท ซึ่งการพัฒนาในด้านนี้ส่งผลให้ได้รับรางวัล
ความสำเร็จและความเข้มแข็งของศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลเจดีย์หักยังได้รับการยกย่องและยอมรับจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีรางวัลประกาศเกียรติคุณต่างๆ เป็นเครื่องการันตีอย่างมากมาย อาทิ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตข้าวชุมชนดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2551 เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสามารถจัดตั้งเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนในระดับอำเภอได้อีกถึง 6 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลเจดีย์หัก ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ในการทำนา เช่น การเตรียมดิน การกำจัดพันธุ์ข้าวปน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์
ขณะที่ ตำบลหินกอง ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท 1 ตำบลเกาะพลับพลา เป็นผู้ผลิตข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ตำบลเขาแร้ง เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ชัยนาท 1 ตำบลห้วยไผ่ เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท 1 และตำบลคูบัว เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 1
แต่กว่าจะมาเป็นศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลเจดีย์หักที่ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง บุคคลที่ถือว่ามีบทบาทและเป็นผู้นำ ผู้ผลักดันที่สำคัญคือ ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลเจดีย์หัก คุณวลิต เจริญสมบัติ

ศูนย์ฯ ข้าวชุมชนตำบลเจดีย์หัก จัดตั้งขึ้น เมื่อปี 2554 มีสมาชิกเริ่มต้น 24 ราย วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ และได้ดำเนินงานมาจนประสบความสำเร็จ เป็นศูนย์ฯ ข้าวชุมชนตัวอย่าง ที่ผู้สนใจต้องเดินทางมาเรียนรู้ดั่งเช่นในทุกวันนี้

walitcrsba
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ นอกจากสมาชิกทุกคนจะช่วยเหลือกันและไปในแนวทางเดียวกันแล้ว ผู้นำกลุ่มก็เป็นคนสำคัญ เพราะจะต้องเป็นผู้คิด ผู้นำพาทุกคนไปสู่เป้าหมายตามที่วางไว้ให้ได้ ซึ่งสิ่งที่ผู้นำต้องมีคือ คุณธรรม และจริยธรรม เพราะคุณจะอยู่กับผลประโยชน์มากมาย แต่ที่ผมสามารถก้าวเข้ามาได้ เพราะผมตั้งใจที่จะใช้หนี้แผ่นดิน โดยมีในหลวงเป็นต้นแบบ ซึ่งพระองค์ได้ทรงทำทุกอย่างให้กับคนไทย ผมคิดแล้วว่า ผมต้องทำ คุณวลิต กล่าว

จบช่างเชื่อมไม่เคยทำนา แต่มาเป็นชาวนา
คุณวลิต บอกว่า ชีวิตไม่เคยทำนามาก่อน ครอบครัวไม่ได้ทำนา และเรียนจบสาขาช่างเชื่อมมาด้วยซ้ำ
ผมมารู้จัก ตำบลเจดีย์หัก เพราะตามเพื่อนมาเที่ยวสมัยบวชเป็นพระ ชอบที่วิถีชีวิตความเป็นชนบท ชีวิตจึงผูกพันกับตำบลเจดีย์หัก มาตั้งแต่ ปี 2523
เมื่อสึกออกมาจากการบวชเป็นพระ และได้ทำงานเป็นวิทยากรให้กับศูนย์ฝีมือแรงงานจังหวัดราชบุรี สอนเกี่ยวกับการทำดอกไม้ประดิษฐ์ ตระเวนสอนไปทุกจังหวัดในเขตภาคตะวันตก

จากที่ผมเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทำให้ผมได้รับรู้ถึงจุดด้อยจุดแข็งของชุมชนแต่ละพื้นที่ ซึ่งได้กลายมาเป็นสิ่งหนึ่งของการนำมาใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ตำบลเจดีย์หักในโอกาสต่อมา

พอ ตำบลเจดีย์หัก มีการจัดตั้งเป็น อบต. ขึ้น ผมก็ได้รับคัดเลือกจากชาวบ้านให้เข้ามาเป็นสมาชิก อบต. เป็นอยู่ 2 สมัย 8 ปี ซึ่งในช่วงนี้ผมก็มาเรียนรู้เรื่องการทำนาไปด้วย จนวันนี้มีนาที่เน้นการปลูกข้าวพันธุ์เป็นหลักของตนเอง ประมาณ 20 ไร่ คุณวลิต กล่าว

8 ปี กับบทบาทสมาชิก อบต. คุณวลิตได้ทุ่มเทให้กับการทำงานการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ทำให้วิถีชีวิตของชายผู้นี้เปลี่ยนไปอีกครั้งคือ ผลแห่งการพัฒนา มองไม่เห็นเป็นรูปธรรม

ปัญหาอาจมาจากที่มีการถ่ายโอนอำนาจมายังท้องถิ่นนั้นเร็วเกินไป ชาวบ้านยังขาดความพร้อม ความไม่รู้ถึงสิทธิพึงมี พึงได้ ที่ชาวบ้านต้องได้รับ รวมไปถึงการต้องเจอกับธุรกิจการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำให้น่าเบื่อ

ตอนนั้นมีคำถามกับตัวเองว่า ทำไม การพัฒนาทุกอย่างที่ทำลงไปกลับไม่มีอะไรดีขึ้น ชาวบ้านยังเป็นหนี้เยอะมาก ผมสำรวจพบว่า ในครัวเรือน 33 ครอบครัว เป็นหนี้รวมกันถึง 21 ล้านบาท ทีเดียว ปัญหาสุขภาพที่เป็นผลกระทบจากการใช้สารเคมี และอื่นๆ อีกมากมาย ผมกลับมาคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมุ่งหาหนทางการพัฒนาที่ถูกต้อง สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และที่สำคัญคือ ถึงเวลาต้องใช้หนี้แผ่นดิน

สิ่งที่ทำคือ การประมวลนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับชุมชน จากประสบการณ์ของการเดินทางไปในพื้นที่ต่างๆ ของภาคตะวันตก ซึ่งได้เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง ของทุกชุมชน ทุกอย่างถูกนำมาคิดเป็นองค์รวมปรับแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตำบลเจดีย์หัก

ปลายปี 2544 จุดประกายของการพัฒนาได้ก่อเกิดขึ้น โดยเริ่มจากการทำแผนแม่บทชุมชน โดยการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่

จากแผนแม่บทชุมชน ได้กลายเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานพัฒนา โดยมุ่งเป้าไปยังเรื่องของการประกอบอาชีพ สภาพชีวิตความอยู่ สิ่งแวดล้อมรอบตัว

walitcrsbs

การมีแผนแม่บทชุมชน ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของการก้าวไปสู่ความสำเร็จ เพราะทำให้ชุมชนรู้ว่าจะเดินทางไปบนเส้นการพัฒนาได้อย่างไร เป้าหมายคืออะไร
พอเรามีแผนแม่บทแล้ว ต้องถือว่าเป็นโชคดีของคนในตำบลเจดีย์หัก เพราะได้มีการจัดตั้งศูนย์ฯ ข้าวชุมชนแห่งนี้ขึ้นมา โดยการสนับสนุนของสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี ศูนย์แห่งนี้ตรงกับความต้องการของชาวบ้านตามแผนแม่บทที่กำหนดขึ้น ซึ่งมีสมาชิกก่อตั้งเริ่มต้น 25 ราย
แต่ที่นี่ก็เหมือนกับการรวมกลุ่มของเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมาก ที่ช่วงแรกไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะมีปัญหาในการรวมตัวที่แท้จริง แต่ด้วยความทุ่มเทและทำงานอย่างเต็มที่ของคุณวลิต จึงทำให้ ในปี 2546 เริ่มเป็นปีของการก้าวสู่ความสำเร็จ บนเส้นทางของการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขาย และคุณภาพเป็นที่ยอมรับ และมีการพัฒนาเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

walitcrsbjag

โดยในวันนี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 1 และชัยนาท 1 ของศูนย์ฯ ข้าวชุมชนแห่งนี้ได้กลายเป็นที่ต้องการของชาวนาโดยทั่วไป
สิ่งที่คนทั่วไปอาจบอกว่า ศูนย์ฯ ข้าวชุมชนตำบลเจดีย์หัก ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ในมุมมองของประธานกลุ่มเองกลับมองว่าสิ่งที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายนั้น เขาให้คะแนนความสำเร็จว่า ทำมาได้แค่ 40 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

แต่ที่ภูมิใจมากกว่ารางวัลที่ได้รับคือ ผมสามารถทำให้สมาชิกในปัจจุบันที่มีอยู่กัน 33 คน ในจำนวนนี้ 11 คน สามารถใช้เงินจากการปลูกข้าวพันธุ์ขายตามแนวทางของศูนย์ฯ ข้าวชุมชน จนสามารถมีรายได้มาซื้อที่นาเพิ่มให้กับครอบครัว โดยในระยะเวลา 2 ปี ทั้ง 11 ราย ซื้อที่นาเพิ่มรวมกันได้ถึง 70 ไร่ ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมภาคภูมิใจมาก

ทิศทางปฏิรูปข้าวไทย ต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปตนเองของเกษตรกร โดยสิ่งที่ควรทำคือ การทำให้เกษตรกรไทยพึ่งตนเองได้ ผลิตอาหารที่ปลอดภัย มีความรู้ความเข้าใจในบริบทชุมชน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยต้องเริ่มต้นที่การทำให้เกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์หัวเชื้อที่มีคุณภาพดี เพราะหมายถึงการได้ผลผลิตที่ดีตามมา ทั้งนี้รัฐอาจจัดตั้งกองทุนยืมเมล็ดพันธุ์ข้าว พัฒนาศูนย์ข้าวชุมชนให้เป็นหลักของเกษตรกรในการกระจายพันธุ์ข้าว หรือจัดตั้งกองทุนเพื่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนแก่เกษตรมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรเข้มแข็งและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

คุณวลิต เจริญสมบัติ การทุ่มเทความรู้ ความสามารถทำงานให้กับชุมชนตำบลเจดีย์หักก็เพื่อต้องการเห็นเกษตรกรที่นี่ ปรับเปลี่ยนความคิดในเรื่องของการพัฒนาที่ดินให้พลิกฟื้นคืนชีวิตขึ้นมา ตลอดจนการที่สมาชิกเปลี่ยนแปลงตัวเอง เกิดการเรียนรู้ต่างๆ เมื่อก่อนชุมชนที่นี่เป็นชุมชนปิด แต่วันนี้เป็นชุมชนเปิดและพร้อมที่จะรับความรู้ต่างๆ ด้วยความสมัครใจ

walitcrsbwaw
สิ่งที่คุณวลิตภาคภูมิใจที่สุดคือ วันที่ชุมชนแห่งนี้ สามารถพึ่งตนเองได้จริงโดยตัวตนของเขาเอง โดยหวังไว้ว่า อีก 10 ปีข้างหน้าจะมีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยกันพัฒนาชุมชนของตนเอง ทำอย่างไรให้ชุมชนอยู่กันอย่างมีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่มีหนี้สิน และมีสวัสดิการคุ้มครอง คุณวลิตมุ่งหวังให้เขาพึ่งตนเองให้ได้ในชุมชนสังคมชนบทแห่งนี้ เพื่อเหตุผลที่ว่า วันหนึ่งที่คุณวลิตจะต้องก้าวออกไป ชุนชนจะต้องเข้มแข็งและยืนหยัดได้ด้วยตนเอง หากชุมชนในเมืองไทยสามารถพึ่งตนเองได้ ประชาชนจะอยู่รอด ปลอดภัย ปราศจากหนี้สิน มีความสุขอย่างพอเพียงและยั่งยืน ดังเช่นชุมชนแห่งนี้

การขาดการรวมกลุ่มที่แท้จริง ปล่อยให้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของธุรกิจต่างๆ เข้ามามีอิทธิพล และยังหนีไม่พ้นระบบนายหน้า มีคนมาให้การสนับสนุนในเรื่องปุ๋ย ยา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวนาโดยทั่วไปและเป็นมาถึงปัจจุบัน ในกลุ่มตำบลเจดีย์หักของเรามาวันนี้ก็ต้องบอกว่าได้แก้ไขไปได้เพียงจุดหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าดีกว่าแต่ก่อนมาก คุณวลิต กล่าว

สิ่งที่คุณวลิตได้ทำและทำให้เกิดขึ้นจนกลายเป็นที่ยอมรับของสมาชิกในศูนย์ฯ ข้าวชุมชนคือ การเปิดกว้างให้ทุกคนได้เรียนรู้ได้สัมผัสของจริง

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น