วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นักกิจกรรมทรัพยากรชีวภาพและเกษตร

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อํานวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) คือคนไทยผู้เป็นแกนนำคัดค้านไม่ให้อเมริกาจดสิทธิบัตรพันธุ์ข้าวหอมมะลิได้สำเร็จเมื่อปี 2540

ระบบการศึกษาไม่ได้สอนให้คนเรียนรู้เพื่อไปเป็นเกษตรกร มันให้ทางเลือกเราไม่กี่ทาง รับราชการหรือไม่ก็ทำงานบริษัทเอกชน ขายปุ๋ย ขายยา ขายเมล็ดพันธุ์ ปรัชญาเกษตรไม่ได้สอนให้เราออกมาทำการเกษตร หรือรับใช้ชาวบ้าน เรารับรู้ได้ทันทีว่า มันไม่ได้สอนให้เราเป็นชาวนา ชาวไร่ ขณะเดียวกัน พ่อแม่ก็มีค่านิยมเดียวกัน คือ ไม่อยากให้ลูกหลานกลับมาเป็นชาวไร่ชาวสวน ผมเองก็มาจากสังคมเกษตรกรเหมือนกันนะ เป็นชาวสวน ซึ่งพ่อแม่เราก็ไม่อยากให้เราไปทำสวน สิ่งเหล่านี้สะท้อนปัญหาเกษตรกรรมของประเทศทั้งระบบ

ชายหนุ่มในสนาม “งานชุมชนไม่พอต้องต่อสู้เชิงนโยบาย”

พันธุ์พืชตัดต่อพันธุกรรมเริ่มนำเข้ามาทดลองปลูกตั้งแต่ปี 2536 ช่วงปีนั้นเป็น “มะเขือเทศ ทำให้มะเขือเทศสุกงอมช้า” ตอนนั้นคนสนใจยังน้อย และมะเขือเทศนั้นก็ไม่เป็นที่นิยมในระดับโลก ต่อมาปี 2538 บริษัทข้ามชาติสหรัฐเริ่มนำเข้า “ฝ้าย บีที” เข้ามาปลูกทดสอบ เริ่มมีคนสงสัยว่ากระบวนการเหล่านี้คืออะไร เราเห็นว่ามันเป็นกระบวนการใหญ่ที่มีการรับลูกกันระหว่างข้าราชการระดับสูงบางคนกับบรรษัทข้ามชาติ มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมการปลูกฝ้ายจีเอ็มโอ มีการเตรียมการกันโดยตั้งงบประมาณ ของรัฐเพื่อเอาภาษีของเราไปซื้อเมล็ดฝ้ายจีเอ็มโอแจกชาวบ้าน มีการตั้งราคาเมล็ดพันธ์ฝ้ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 600 บาท หากเทียบกับฝ้ายพันธุ์พื้นเมืองแล้วจะแพงกว่ากัน 40 เท่าตัว กรรมการ 3 คนในคณะกรรมการชุดนั้นมาจากบรรษัทข้ามชาติ ประธานซึ่งเป็นข้าราชการก็เป็นเพื่อนสนิทกับผู้จัดการของบรรษัทข้ามชาติ มันโยงกันอย่างนี้

พืชตัดต่อพันธุกรรมเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาอันเกิดจากการ “ปฏิวัติเขียว” เมื่อระบบเกษตรเคมีเริ่มส่งผลกระทบหนัก ทางออกของบรรษัท คือ การนำเสนอรูปแบบพันธุ์พืชใหม่ที่ผ่านการตัดต่อยีน พวกเขาอ้างว่านี่เป็นการเพิ่มผลผลิตให้แก่ระบบเกษตรกรรม แก้ไขการขาดแคลนอาหาร และลดการใช้สารเคมีการเกษตรลง มันเป็นวาทกรรมเดิมๆ ที่เคยใช้มาในสมัยปฏิวัติเขียวนั่นเอง ทั้งๆ ที่ในทางความเป็นจริง ผลมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันจะทำลายทุกอย่าง

การสร้างพืชตัดต่อพันธุกรรม เรียกว่า เป็นการพัฒนาระบบชีวิตที่ไม่เคยเกิดขึ้นในธรรมชาติ เช่น มนุษย์ผสมกับสัตว์ หรือเชื้อโรคผสมกับคน จีเอ็มโอ คือการสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้น ผ่านการตัดต่อยีนหรือหน่วยพันธุกรรม ซึ่งเป็นหน่วยที่กำหนดลักษณะของสิ่งมีชีวิต ทุกสิ่งมีชีวิตมียีนซึ่งมีลักษณะการทำงานเหมือนกัน ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงสามารถเคลื่อนย้ายยีนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่นได้ แต่ผลมันจะออกมาเช่นไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

witoonleanpod

ในทางปฏิบัติวิทยาการเหล่านี้อยู่เพียงแค่ยุคเริ่มต้น นักวิทยาศาสตร์บางคนเรียกว่าเหมือนกับ เด็กที่กำลังเล่นกับปืน เรายังไม่อาจให้ฟังก์ชั่นของยีนแต่ละหน่วยแสดงพฤติกรรมของมันเองได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราเพียงแค่ทราบว่ายีนบางอย่างทำหน้าที่บางอย่างได้เท่านั้น เทคโนโลยีที่ว่า คือ การนำยีนที่เราต้องการมาใช้ถ่ายลงไปในสิ่งมีชีวิตเป้าหมายแบบ “สุ่ม” เช่น มะละกอจีเอ็มโอ ถูกสร้างขึ้นโดยการใช้ปืนยิงยีน ยิงชุดของยีนเข้าไปในเนื้อเยื่อของมะละกอ โดยหวังว่ายีนที่ใส่เข้าไปจะแสดงผลบางประการ เช่น มะละกออาจจะเกิดการต้านทานโรค เหล่านี้เป็นต้น

กระบวนการยิงยีนต้องใช้ยีนหลายชุดด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น มะละกอจีเอ็มโอ นักวิทยาศาสตร์จะถอดโค้ด ดีเอ็นเอโปรตีนของ ไวรัส ออกมาหนึ่งชุด อีกหนึ่งชุด เรียกว่า โปรโมเตอร์ยีน ซึ่งสกัดเชื้อโรคชนิดหนึ่งจากใบกะหล่ำ เรียกว่า ไวรัสใบด่างในกะหล่ำ ชุดที่สาม เรียกว่า เทอร์มิเนเตอร์ยีน ควบคุมการเปิดปิดยีน อีกชุดเรียกว่า มาร์กเกอร์ยีน เป็นยีนเครื่องหมายที่ต้านทานยาปฏิชีวนะ ประเด็น คือว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามะละกอที่ผ่านการยิงยีนแบบสุ่มเช่นนี้จะเป็นมะละกอที่ปลอดภัย

สมาคมการแพทย์ส่วนใหญ่ในโลก ระบุว่า ในระยะยาวผลที่เกิดขึ้นจากการรับประทานพืชจีเอ็มโอที่ใส่ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ จะทำให้ร่างกายมนุษย์เกิดการต้านทานยาปฎิชีวนะ สมาคมแพทย์แห่งอังกฤษ อเมริกา มีคำแนะนำให้รัฐบาลของตนจัดการทำลายยีนดังกล่าวออกไปจากกระบวนการตัดต่อพันธุกรรมเสียโดยเร็ว ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ 90% ของประเทศในโลกยังไม่พร้อมสำหรับเทคโนโลยีนี้

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญคิดว่าสังคมไทยต้องยุติการทดลองจีเอ็มโอโดยสิ้นเชิงแล้วเลือกว่า เราต้องการระบบการเกษตรแบบใด เพราะ ณ ขณะนี้ปัญหาเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอมีมากเกินไป นอกเหนือจากปัญหาต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และการปฏิเสธของตลาดแล้ว ยังมีปัญหาสิทธิบัตรและการผูกขาดอีก อธิบายอย่างนี้ว่าหากคุณปลูกพืชจีเอ็มโอคุณก็จะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร เหมือนกับว่าเมื่อใดก็ตามที่เรานำเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมมาแล้วลงแปลงปลูกในระดับไร่นา แทนที่จะเป็นมะละกอแขกดำ แขกนวล ของไทย ไม่ใช่ กลับเป็นมะละกอจดสิทธิบัตรของบริษัทเอกชน นี่ยังไม่ได้พูดถึงการผสมข้ามพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะมะละกอหรือพืชพื้นเมืองของเราที่ปลูกอยู่ดีๆ ก็อาจถูกฟ้องหรือดำเนินคดีได้หากเกิดการผสมข้ามจากการถ่ายเทละอองเกสร เป็นต้น

witoonlean

เราจะจัดการสภาพการณ์เหล่านี้อย่างไร หากเราปล่อยปละไม่จัดการอะไรลงไป จะเกิดอะไรขึ้นกับเกษตรกร ผู้บริโภค และอนาคตของการเกษตรทั้งระบบ

คำถามใหญ่ คือ เราจะต้องตกอยู่ใต้ภาวะความเสี่ยงอย่างนี้ไปทำไม ในเมื่อเรามีทางเลือกทางอื่นๆ ที่ดีกว่า เทคโนโลยีจำเป็นต้องเอื้อประโยชน์แก่สังคม เกษตรทางเลือกหรือเกษตรอินทรีย์เป็นทางออกแก่โลกและดีกว่าเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมมาก

ชายหนุ่ม กับทางเลือกใหม่ “ระบบเกษตรผสมผสาน คือ คำตอบ”
ลองคิดดูว่า การทำนาเพียงอย่างเดียวได้ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ประมาณ 40 ถัง/ไร่ ถอยหลังไปก่อนเกิดการปฏิวัติเขียวผลผลิตของเราจะอยู่ที่ประมาณ 30 ถัง/ไร่ เพิ่มขึ้น 10 ถัง/ไร่ มองเห็นหรือไม่ว่า 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา เราเพิ่มปริมาณการผลิตได้เพียง 30%
หากเราใช้วิถีการผลิตแบบเกษตรผสมผสานหรือ “ปลาในนาข้าว” เราจะได้ข้าวเพิ่มขึ้นมาอีก 30% จากระบบปฏิวัติเขียว รวมแล้วเราจะทำปริมาณการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 52 กิโลกรัม/ไร่ เราจะได้ปลาตกไร่ละประมาณ 20-60 กิโล แล้วแต่การจัดการ ที่สำคัญ เราไม่ได้ใช้ปุ๋ยและสารเคมีใดใดเลย เราใช้วัสดุในฟาร์มมาบำรุงดิน อาจจะมีเรื่องปุ๋ยคอกบ้าง

ขณะการทำการเกษตรแบบเดิม เราต้องหักค่าปุ๋ยและยาออกถึง 30% ปัจจุบันเราขายข้าวได้อย่างดีที่สุด 5,000 – 7,000 บาท แต่ข้าวที่เกิดจากวิถีเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์มีราคาม มีคุณค่ามากกว่านั้น

เราจำเป็นจะต้องรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของเราเอาไว้ และติดตามเรื่องไบโอเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด เพราะในอนาคตวิทยาการเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทสูงมากขึ้น เมื่อไรก็ตามที่เราทำลายฐานความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาของเรา เมื่อไรก็ตามที่ชุมชนและเกษตรกรของเราถูกทำลายสิทธิในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากพันธุกรรมต่างๆ หายนะจะเกิดขึ้นกับประชาชนของเรา และประเทศของเรา

พูดถึงรากของเกษตรอินทรีย์ ที่เราร่วมทำกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว ซึ่งเราเห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นจากเมื่อก่อนชาวบ้านต่างคนต่างทำไร่นาของตัวเอง แต่ตอนนี้เราเห็นชาวนา เกษตรกรรวมตัวกันเป็นเครือข่าย สามารถพัฒนาผลผลิตสู่ระบบตลาดเองได้

witoonleans

หากพูดถึงความสำคัญของเมล็ดพันธุ์นั้น ตนเห็นว่า มันเป็นรากของระบบอาหาร เป็นรากของระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหากขาดสิ่งเหล่านี้ไป อาจจะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น คือ กลุ่มทุนที่เข้ามาแสวงหากำไร ยึดครองระบบเกษตรและอาหาร เกิดการเปลี่ยนแปลงและเข้าไปอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่ อย่างกรณีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ เป็นบริษัทอาหารระดับ 1 ใน 5 ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งบริษัทดังกล่าวเติบโตมาจากการยึดครอง การควบคุมเมล็ดพันธุ์ หากเขาขายเมล็ดพันธุ์ของเขาได้ นั่นหมายถึง เกษตรกรเข้าไปสู่ระบบการตลาดของเขาอย่างไม่รู้ตัว ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงเมล็ดพันธุ์ข้าวเท่านั้น แต่เกษตรกรจะเข้าไปอยู่ในระบบตลาดอื่นๆของเขาด้วย เช่น หากใช้พันธุ์ข้าวของเขา ก็ต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยา ของบริษัทยักษ์ใหญ่นี้ด้วย หลังจากที่ธุรกิจเติบโตจากเมล็ดพันธุ์ บริษัทดังกล่าวก็หันไปเลี้ยงไก่ ซึ่งไก่ทุกตัว ทุกสายพันธุ์ เป็นของชาวเกษตรกรที่เลี้ยงกันมา แต่ด้วยเทคโนโลยีที่บริษัทยักษ์ใหญ่มี มันจึงเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และได้ประโยชน์จากพันธุ์ไก่ รวมถึงการได้รับรายได้จากการขายอาหารไก่พ่วงไปด้วย หากเกษตรกรทำหรือผลิตแบบนี้ จะทำให้ผลประโยชน์ 90 เปอร์เซ็นเป็นของเขา และเกษตรกรรายย่อยจะลดลงเรื่อยๆจนหายไปในสายระบบในที่สุด โดยระบบของนายทุนจะเข้ามาครอบงำหรือแทรกแทรงทันที หากเกษตรกรจะต้องต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่จะต้องต่อสู้ด้วยรากฐานระบบเกษตร เมล็ดพันธุ์ จัดการฐานรากของเมล็ดพันธุ์ของตัวเองก่อน เพราะในปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ 90 เปอร์เซ็นอยู่ในมือของบริษัทข้ามชาติ

ที่มา : ทีมงาน ThaiNGO มูลนิธิกองทุนไทย

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น