เกษตรวิถีพุทธเป็นกระบวนการที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับหลักอริยสัจ 4 ของพระพุทธเจ้า เป็นแนวคิดของวิทูร หนูเสน ในการนำมาเป็นสมมติฐานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน อันนำไปสู่ความหลุดพ้นความยากจนของเกษตรกร
สังคมไทยเป็นเมืองพุทธ ทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก วันนี้โลกเปลี่ยนไป สังคมการเกษตรเปลี่ยนตาม เกิดการแข่งขันสร้างผลผลิตทางการเกษตรป้อนให้โรงงานอุตสาหกรรม การเกษตรบ้านเราวันนี้จึงมีเป้าหมายเพียงเพื่อความมั่งคั่งละเลยที่จะฟื้นฟูผืนดินและผืนป่า ไม่ต่างอะไรกับคนที่กำลังเดินหลงทาง
เกษตรวิถีพุทธเป็นกระบวนการที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติกับหลักอริยสัจ 4 ของพระพุทธเจ้า เป็นแนวคิดของวิทูร หนูเสน ในการนำมาเป็นสมมติฐานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน อันนำไปสู่ความหลุดพ้นความยากจนของเกษตรกร
หนึ่งแนวทางที่น่าสนใจและเคยคว้ารางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2553 คือ เกษตรวิถีใหม่ที่มาจากหลักคิดของ คุณลุงวิฑูร หนูเสน ชาว ต.เขาหัวช้าง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง จากการสนับสนุนของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะชุมชน สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้นำแนวหลักธรรมในศาสนาพุทธมาเปลี่ยนการเกษตรให้เป็น “เกษตรวิถีพุทธ” หรือ วนเกษตรป่ายาง
โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2541 แต่เดิมคุณลุงวิฑูร ปลูกยางพาราอย่างเดียวเหมือนกับเกษตรกรอื่นๆ ก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นการนำพืชป่าต่างๆ เข้ามาปลูกแซมร่วมกับต้นยางพารา เพื่อสร้างป่าในพื้นที่ทำการเกษตร หรือการเกษตรที่เลียนแบบธรรมชาติ
หลักการคือเมื่อมีพืชแต่ละชนิดที่เจริญเติบโตเพิ่มขึ้นมาในสวนยาง กระบวนการพึ่งพาอาศัยกันตามธรรมชาติก็เกิดขึ้น พืชคลุมดินก็จะช่วยการกักเก็บชุ่มชื้นในดินให้กับพืชยืนต้น พืชล้มลุกเปลี่ยนสภาพตัวเองกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เป็นอาหารให้พืชด้วยกัน ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สิ่งที่ปรากฏให้เห็นตามมา คือการเพิ่มขึ้นของสัตว์ตามธรรมชาติและนกชนิดต่างๆ เข้ามาหากิน เกิดความสมดุลในระบบนิเวศเพิ่มเข้าไปอีก พื้นที่เกษตรที่เคยให้ประโยชน์แก่มนุษย์ฝ่ายเดียว เริ่มแปรสภาพมาเป็นพื้นที่ป่า ทั้งคนและธรรมชาติเริ่มได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทั้งยังสามารถใช้ทรัพยากรพืชพรรณที่งอกเงยขึ้นมา
กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ การจัดการระบบวนเกษตรป่ายางคือแนวคิดแบ่งการบริหารจัดการออกเป็น 7 โซน
โซน 1 ป่ายางพาราเนื้อที่ 7 ไร่ ปล่อยให้ต้นไม้ พืชผัก และสมุนไพร ขึ้นอยู่รวมกันกับต้นยางพารา
โซน 2 สวนยางพาราเนื้อที่ 6 ไร่
โซน 3 ป่าไส หรือที่ซึ่งเคยปลูกข้าวไร่มาก่อน แต่ปัจจุบันปล่อยพื้นที่ให้ธรรมชาติจัดการกันเอง เพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ป่าเนื้อที่ 10 ไร่
โซน 4 นาข้าว เนื้อที่ 3 ไร่ การทำนาข้าวจะเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ทดแทน
โซน 5 บ่อเลี้ยงปลา 2 ไร่ นอกจากมีปลาที่ได้จากธรรมชาติแล้วก็มีปลาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงมาปล่อยในบ่อปลาด้วย เช่นปลานิล ปลาตะเพียน อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาก็จะเป็นอาหารที่ได้จากธรรมชาติ
โซน 6 ที่อยู่อาศัย 2 ไร่ การสร้างที่อยู่อาศัยจะใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกเอาไว้ส่วนบริเวณบ้านก็จะปลูกผักสวนครัวและผลไม้ไว้บริโภค และ
โซน 7 พื้นที่ปศุสัตว์ สามารถใช้พื้นที่ได้ทุกโซน มีการเลี้ยงไก่พื้นเมืองแบบปล่อยลาน โดยการให้ไก่หากินตามธรรมชาติ
“การปลูกพืชแซมในสวนป่ายางนั้นประกอบไปด้วยพืชหลายชนิดที่เรียกว่าการปลูกพืช 9 ชั้น เริ่มตั้งแต่ชั้นล่างสุดคือพืชที่ใช้รากหรือหัวของพืชมาใช้เป็นสมุนไพรได้ มีรากสำหรับคลุมดินสูงขึ้นมาอีกก็เป็นพืชที่สามารถนำกิ่งก้านมาบริโภคได้ ถัดขึ้นไปเป็นพืชใช้สอยได้อย่างผลไม้และสูงขึ้นไปอีกก็เป็นพืชเศรษฐกิจ หรือไม้ต่างๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างได้ สิ่งที่เห็นชัดตอนนี้คือความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตของธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น”
นายวิฑูร หนูเสน เกิดเมื่อปี 2491 เป็นชาวตำบลตะโหมดโดยกำเนิด พออายุได้ 21 ปี ก็อุปสมบทที่วัดตะโหมด หลังจากบวชแล้วต้องการศึกษาเล่าเรียนภาษาบาลี จึงย้ายไปจำวัดที่วัดสตูลศรีตาราม จ.สตูล ระหว่าง ปี 2513-2515 จากนั้นย้ายไปอยู่วัดตีนเหมนวราราม จ.สงขลา ในช่วงปี 2515-2519 สอบได้นักธรรมเอก จึงได้มาเป็นอาจารย์สอนนักธรรมเอกและสอนราชภัฎ (บุคคลที่รับราชการแล้วมาบวช) จากนั้นไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จนจบเปรียญธรรมประโยค 3 เป็นแกนนำในการจัดตั้งชมรมทักษิณสัมพันธ์ ทำกิจกรรมอบรมเยาวชนที่บวชภาคฤดูร้อนทั่วพื้นที่ภาคใต้
หลังจากอยู่ในสมณะเพศ 18 พรรษา ได้ลาสิกขาบทเมื่อปี 2530 ขณะอายุ 39 ปี เมื่อออกมาเป็นฆราวาส “หลวงฑูร” (คำเรียกภาษาถิ่นทางนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา สำหรับคนที่บวชเรียนแล้ว) กลับมาช่วยพ่อแม่ทำสวนทำนาที่บ้านตะโหมด หลวงฑูรมองเห็นว่าพ่อแม่ทำงานหนักกว่าเดิม แต่ยากจนเหมือนเดิม ความคิดนี้ทำให้เริ่มมองปัญหาอย่างอริยสัจ 4 คือ เมื่อมีทุกข์ ต้องหาเหตุแห่งทุกข์ ก็พบว่าที่ชาวไร่ชาวนายากจนเพราะถูกเอารัดเอาเปรียบมาตลอด
สมมุติฐานนี้นำมาสู่แนวทางแก้ปัญหา หลวงฑูรเชื่อว่า “รากเหง้าและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ คือ ทางรอดของเกษตรกร” ความเชื่อนี้ทำให้หลวงฑูรค้นหาสิ่งที่เป็นรากเหง้าและภูมิปัญญาของคนเก่าแก่
“การทำสวนพ่อเฒ่า (หมายถึงสวนผสมผสาน) ของบรรพบุรุษที่ผ่านมา มีการปลูกพืชผสมผสาน ทั้ง ทุเรียน ลางสาด สะตอ มะปราง และมีการตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยไม่ต้องมีใครเข้าไปจัดการมากนัก พึ่งพารุกขเทวดาในการดูแลรักษา ทำไมถึงอยู่ได้” หลวงฑูรบอกว่านี่เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจ
“ครั้งหนึ่งคนเฒ่าคนแก่เคยบอกว่า ต้นไม้ต้นใหญ่จะมีรุกขเทวดารักษาอยู่ ใครไปทำลายจะเกิดโทษคนตะโหมดสมัยนั้นเชื่อถือคำบอกเล่านี้ ไม่มีใครกล้าตัดไม้ใหญ่”
นี่คือจุดแรกที่หลวงฑูรพบว่า เป็นทั้ง “รากเหง้า” และ “ภูมิปัญญา” ก่อเกิดความเคารพนับถือต่อ “รุกขเทวดา” เขาศึกษาเพื่อตีความจากความรู้ทางด้านภาษาบาลีที่มีบวกกับประสบการณ์ จนสามารถสรุปความหมายได้ว่า รุกขเทวดา คือ ผู้ดูแลต้นไม้ ควบคุมความสมดุลของธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ
“หมายถึง…พระสอง แม่สอง…คือ พระพาย พระอาทิตย์ แม่ธรณี และแม่คงคา ผู้ที่ให้ความเจริญเติบโตแก่ต้นไม้ ขณะเดียวกันต้นไม้ก็ต้องดูแลรักษาให้พระและแม่อยู่ในความสมดุล หากวันใดไม่มีต้นไม้ พระอาทิตย์และพระพาย จะทำร้ายแม่ทั้งสอง เมื่อแม่ทั้งสองถูกทำลาย รุกขเทวดาก็จะอยู่ไม่ได้ เมื่อรุกขเทวดาอยู่ไม่ได้ นั่นหมายถึงปัจจัยสี่ของมนุษย์ก็ขาดแคลน”
การค้นพบนี้เป็นแรงบันดาลใจให้หลวงฑูรสร้างสวนวนเกษตร หรือ “สวนศรัทธาธรรม” ในปี 2541 จากพื้นที่ที่เป็นสวนยางพารา และพอดีได้เวลาจะต้องตัดโค่นต้นยางเพื่อจะปลูกใหม่ หลวงฑูรสังเกตว่า สวนยางพาราแห่งนี้มีไม้เล็กๆ มากมาย เป็นไม้พื้นบ้านเหมือนกับสวนพ่อเฒ่า ถ้าโค่นยางพารา ไม้พื้นบ้านก็เสียหายไปด้วย แล้วคงใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นคืนให้เป็นป่า จึงตัดสินใจไม่โค่นไม้ยางพารา แต่ปรับพื้นที่ให้เหมาะสมด้วยการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สวนร่วม มีพื้นที่ 30 ไร่ ปลูกพืชเลียนแบบธรรมชาติสำหรับเป็นอาหาร และปลูกไม้ยืนต้นร่วมกับพืชเกษตรชนิดอื่น ๆ อีกส่วนหนึ่งคือ วนเกษตรป่ายาง เนื้อที่ 41 ไร่ ปล่อยเป็นป่ายางแบบธรรมชาติ
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง, ป่ายาง