อิหม่ามวินัย สะมะอุน แห่งมัสยิดกมาลุลอิสลาม ผู้จุดประกายความใสให้คลองแสนแสบบริเวณเขตคลองสามวา โดยการใช้หลักศาสนาบูรณาการกับหลักวิทยาศาสตร์ ในการถ่ายทอดความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม และสร้างศรัทธาในการสร้างความมีส่วนร่วม ใช้งานประชาสัมพันธ์ถ่ายทอดเสียงตามสายเพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยง เน้นหลักการ “พัฒนาคน พัฒนาสังคม” จนทำให้เครือข่ายชุมชนมัสยิดกมาลุลอิสลาม กลายเป็นต้นแบบการรักษาสิ่งแวดล้อมในเมือง ทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสและจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม
คลองแสนแสบเคยเป็นเส้นเลือดสำคัญของของกรุงเทพฯ เป็นทั้งเส้นทางยุทธศาสตร์และเส้นทางคมนาคม คลองแสนแสบเป็นคลองที่ขุดขึ้นในมาสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง ให้เป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงและยุทโธปกรณ์ เมื่อครั้งที่สยามยังมีศึกกับเวียดนาม
พื้นที่ที่ขนานสายน้ำที่มีความยาว 29 กม. (เขตมีนบุรี-สะพานผ่านฟ้าลีลาศ) นี้ เป็นแหล่งปลูกข้าว และเมื่อกว่าร้อยปีก่อน แถวนี้ก็คือป่าทึบ ยุงป่าตัวโต โดนกัดเป็นแสบไปหลายวัน ชาวบ้านริมน้ำจึงเรียกคลองยาวสายกันว่า “คลองแสนแสบ” ถึงจะแสบ แต่สายน้ำเมื่อร้อยกว่าปีก่อนก็ใสสะอาด เป็นทั้งแหล่งน้ำดื่ม แหล่งน้ำการเกษตร และเป็นแหล่งอาหาร
เมื่อกรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านวัตถุอย่างต่อเนื่อง ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอาศัยหนาแน่น การปล่อยน้ำเสียจากสถานประกอบการและบ้านเรือนริมคลอง เป็นต้นเหตุทำให้น้ำเน่าเสีย และผักตบชวาที่ขยายตัวเต็มลำคลองเป็นอีกปัญหาหนึ่ง เล่ากันว่าความแน่นขนัดของกอผักตบชวาบางจุดในคลอง ถึงขนาดคนเดินข้างฟากไปหากันได้
แต่คลองแสนแสบก็ใช่ว่าจะเน่าสนิทตลอดสายน้ำ หากได้ไปเยือนเขตคลองสามวา บริเวณชุมชนในเครือข่ายมัสยิดกมาลุลอิสลาม (รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 9 ปี 2550 ประเภทชุมชน) ก็ยังได้เห็นวิถีชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลอง เก็บผักบุ้ง ตกปลา และเล่นน้ำในคลองแสนแสบ มีแพสำหรับให้อาหารปลา เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านและแขกผู้มาเยือน เห็นแล้วก็ชื่นใจ
เมื่อคลองแสนแสบเป็นวิถีของคนชุมชนในเครือข่ายมัสยิดกมาลุลอิสลาม แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ชาวบ้านจึงร่วมใจกันรักษาคลองสายนี้ โดยมี นายวินัย สะมะอุน อิหม่ามมัสยิดกมาลุลอิสลาม เป็นแกนนำ ใช้หลักศาสนากับวิทยาศาสตร์บูรณาการร่วมกันเพื่อรักษาเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว
นายวินัย สะมะอุน หรือ มัรวาน สะมะอุน (ชื่อภาษาอาหรับ) เป็นทั้งอิหม่ามของมัสยิดกมาลุลอิสลาม และประธานคณะกรรมการบริหารมัสยิด เริ่มเข้ามาทำงานให้มัสยิดตั้งแต่ปี 2513 หลังจากจบการศึกษาจากภาคใต้ โดยสอนหนังสือในโรงเรียนซาลีมุนยีนาน ประจำชั้น ป. 4 และทำหน้าที่ติดต่องานราชการในด้านกฏหมาย
เข้ารับตำแหน่งอิหม่ามในปี 2525 เริ่มพัฒนาบุคลากรของมัสยิด ส่งเสริมเยาวชนให้มารวมกันทำงานด้านสาธาณะให้กับมัสยิด ออกสำรวจสัปปุรุษประจำมัสยิด จัดการศึกษาให้เยาวชนรุ่นน้องในรูปแบบเข้าค่ายอบรม 10 วัน และจัดบรรยายธรรมศาสนาประจำเดือน
ปี 2530 เริ่มก่อตั้งศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชน เพราะตำบลทรายกองดินได้รับการพัฒนาจัดตั้งชุมชน ตามโครงการพัฒนาชุมชนในหมู่บ้านเขตชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 22 ปี
“อิหม่ามวินัยมีความตั้งใจจริงกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ทำเพื่อสร้างภาพเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรือทำไปตามนโยบายของรัฐ หรือเพื่อใช้จ่ายงบประมาณ เข้าทำนองหมดงานเมื่อหมดเงิน ท่านทำเป็นวิถีชีวิตของท่านอย่างถาวร แม้ไม่มีงบประมาณ ท่านก็ยังทำมาตลอด” นรินทิพย์ พุ่มอ่อน เลขานุการอิหม่าน กล่าวชื่นชม
มุสลิมทุกคนต้องเรียนรู้หลักคำสอนของศาสนาอิสลามจากอัลกุรอาน คำสอนของท่านศาสดาเรียกว่า “อัลหะดิษ” เมื่อเข้าใจแล้ว ต้องนำมาสู่การปฏิบัติ “มุสลิมทุกคนต้องเชื่อว่าพระเจ้าสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายเพื่อยังประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ” คำกล่าวนี้เป็นการเตือนใจว่ามนุษย์ได้รับประโยชน์จากสรรพสิ่งทั้งปวงด้วยความเมตตาของพระเจ้า มนุษย์จึงต้องช่วยกันดูแลรักษาสรรพสิ่งเหล่านั้น
อิหม่ามวินัยนำความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้เข้าใจ ยกสภาพปัญหาขึ้นมาหารือหลังเสร็จพิธีละหมาดทุกบ่ายวันศุกร์ และเรียกร้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยอธิบายผ่านเสียงตามสายของมัสยิดกว่า 700 ลำโพง และเน้นนโยบายท้องถิ่น คือการ “พัฒนาคน พัฒนาสังคม” ชาวบ้านจะฟังกันเป็นประจำทุกเช้า วันไหนไม่มีเสียงอิหม่ามวินัย ชาวบ้านมักจะถามถึง สุ้มเสียงและเรื่องราวมัดใจผู้คนขนาดที่ว่ามัสยิดใกล้ๆ ยังต้องให้อิหม่ามวินัยพูดก่อน พอจบแล้วเขาจึงจะพูดต่อ
“สิ่งแวดล้อมที่ท่านอธิบายถึงนั้น มีทั้งสิ่งแวดล้อมทางสังคม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ แล้วท่านก็เริ่มอธิบายถึงลำคลองแสนแสบที่ผ่านหน้าบ้านของทุกครอบครัวว่า มีความสำคัญสำหรับทุกคน ทั้งด้านสังคม และด้านศาสนา เช่น น้ำคือสิ่งที่ชำระทุกอย่างที่คนเราบริโภค เป็นเครื่องชำระร่างกายเพื่อปฏิบัติศาสนกิจอิสลาม ดังนั้น คลองแสนแสบจะต้องไม่มีวัชพืช และต้องไม่เน่า ตอนที่เริ่มรณรงค์ใหม่ๆ คลองแสนแสบเต็มไปด้วยผักตบชวาและขยะอื่นๆ ความหนาแน่นของผักตบชวาสามารถใช้กระดานพาดข้ามฟากคลองได้ และเริ่มเน่าเหม็น ใช้ประโยชน์ใดๆ ไม่ได้เลย”
เลขานรินทิพย์ ชี้แจงการทำงานของอิหม่ามวินัย
เมื่อประชาสัมพันธ์จนชาวบ้านยอมรับ ก็เริ่มโครงการแรก ด้วยการเชิญชวนนักเรียนที่เรียนศาสนาลงคลอง ช่วยกันลากผักตบและขยะต่างๆ ขึ้นบนสองฝั่งคลอง ชวนผู้ปกครองนักเรียน และชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมลงคลองด้วย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกครอบครัว ขณะเดียวกัน ก็ประสานงานกับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เช่น สำนักงานเขต โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ และหน่วยงานเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
การประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านเกิดสำนึกความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นที่อยู่อาศัย โดยเริ่มจากการรับผิดชอบครอบครัวตัวเอง นำไปสู่การรับผิดชอบคนรอบข้าง และรับผิดชอบสังคม นโยบายพัฒนาคน พัฒนาสังคม มีทั้งการให้ความรู้ทางศาสนา ส่งเสริมการเลี้ยงปลาในกระชังเพื่อลดการจับปลาที่มีปล่อยเพื่ออนุรักษ์คลอง มีการจัดสวนริมคลอง การเลี้ยงปลาในคลองหน้ามัสยิด การจัดกิจกรรมจัดตั้งทัวร์ 3 ศาสนา (อิสลาม พุทธ คริสต์) เพื่อส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวในชุมชน ในรูปแบบของการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและประวัติศาสตร์ เป็นการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวบ้านที่ต่างประเพณีวัฒนธรรมความเชื่อและศาสนา กิจกรรมนี้มีการตอบรับที่ดีจากประชาชนและนักท่องเที่ยวทั่วไป
นอกจากกระบวนการภายในชุมชนแล้ว ยังมีการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก อาทิ สำนักงานเขตคลองสามวา ให้การสนับสนุนจัดเรือเก็บขยะ และส่งเจ้าหน้าที่พัฒนาสิ่งแวดล้อมเข้ามาประสานงานร่วมกับชุมชน สำนักงานเขตมีนบุรีและสำนักงานเขตหนองจอก ให้ความร่วมมือในกิจกรรมของมัสยิด มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ช่วยประชาสัมพันธ์และส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาช่วยฝึกอบรมการทำน้ำหมักชีวภาพ สนับสนุนอุปกรณ์และวัตถุดิบในการทำน้ำหมักชีวภาพ และหนังสือพิมพ์มติชนก็ช่วยในการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมต่างๆ
ย้อนไปในปี 2536 ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในยุคนั้น ได้จัดทำโครงการขจัดสิ่งสกปรกในครองแสนแสบ ท่านเดินทางมาสำรวจเพื่อวางแผนถึงมัสยิดฯ ได้พบกับอิหม่ามย์วินัย และได้ทราบว่ามีนโยบายเกี่ยวกับคลองแสนแสบเหมือนกัน จึงร่วมโครงการด้วยกัน และตั้งชมรมอนุรักษ์คลองแสนแสบโดยตั้งชื่อว่า “ชมรมร่วมใจภักดิ์รักคลองแสนแสบ” และมอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยบริหารชมรมแบบคนกันเอง
เหตุที่ตั้งชื่อมีคำว่า “รวมใจภักดิ์” ด้วยนั้น ก็เพราะว่า ทางชมรมได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประพาสคลองแสนแสบ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการของกรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ อย่างสามัคคี ทุกคนมีความประทับใจ และชื่นชมในพระบารมี พร้อมทั้งรู้สึกปลามปลื้มที่พระองค์เสด็จมาในวันที่ 20 กันยายน 2537
วันนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงเสด็จเยี่ยมประชาชนที่รอเข้าเฝ้าเพื่อถวายพระพรอยู่ที่หน้ามัสยิดกมาลุลอิสลาม พร้อมทั้งทรงปล่อยปลา อิหม่ามวินัยนำเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงปล่อยปลาร่วมกับพสกนิกรมาเป็นจุดประชาสัมพันธ์ ให้ทุกคนช่วยกันรักษาปลาที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงปล่อย เรียกสั้นๆ ว่า “ปลาพระเทพ” และให้ทุกคนช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมของคลองแสนแสบให้เหมือนกับวันที่พระเทพ ฯ เสด็จ เพื่อแสดงความจงรักภักดีอย่างใจจริง ประชาชนสองฝั่งคลองแสนแสบจึงรักษาปลาหน้ามัสยิด และสภาพคลองแสนแสบเป็นอย่างดี และวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดี ทุกคนจะร่วมกันจัดงานอนุรักษ์คลองแสนแสบ ตามรูปแบบที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงริเริ่ม โดยกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และกรุงเทพมหานครเป็นแม่งาน ต่อมา วันที่ 20 กันยายน ก็ได้รับการประกาศจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นวันรักษาคูคลองแห่งชาติ
กติกาง่ายๆ ที่อิหม่ามวินัย ขอให้ชาวบ้านช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมริมคลองแสนแสบ มี 8 ข้อ
สำหรับการทำงานในกลุ่มเยาวชน มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศแก่เยาวชน เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนภาษาเพิ่มเติมอีก 2 ภาษา คือ ภาษาอาหรับ และภาษาอังกฤษ
อิหม่ามวินัยยังนำหลักศาสนา และหลักวิทยาศาสตร์ มาอธิบายกติกาเหล่านั้นอย่างบูรณาการ เช่น ในคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานบอกว่า สวรรค์มีธารน้ำและต้นไม้ ฉะนั้นอยากอยู่สวรรค์ต้องสร้างสวรรค์ สวรรค์ในชาติหน้าพระเจ้าสร้าง แต่สวรรค์ในชาตินี้เราสร้างเองได้ ส่วนคำสอนของอิสลามเรื่องสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของศรัทธา ถ้าใครไม่รักษาความสะอาดความศรัทธาก็จะหมดไป จึงทำให้ชาวบ้านเชื่อและปฏิบัติตาม ทั้งยังอธิบายว่า อาหารเป็นชีวปัจจัยที่พระเจ้าประทาน จึงต้องขอบคุณพระองค์ และต้องเลือกอาหารที่มีส่วนผสมอันมีประโยชน์ด้านโภชนาการอย่างแท้จริง ขอร้องให้ทุกคนปฏิบัติด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อพระเจ้า ท่านพูดบ่อยๆ จนทุกคนเกิดความรักในสิ่งแวดล้อมด้าน เมื่อมีใครสักคนที่มาจากต่างถิ่นวางเบ็ด ก็จะมีหูตาสัปปะรด โทรศัพท์ให้มัสยิดทราบ ทางมัสยิดจะออกเสียงตามสายขอร้องจตามมา
น้ำใส…จิตใจสะอาด
ปัจจุบัน มัสยิดกมาลุลอิสลามเป็นแหล่งดูงานด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการบริหาร ด้านพัฒนาท้องถิ่น และด้านบูรณาการหลักวิชาการกับศาสนา กับหน่วยท้องถิ่น อาทิ อบจ. อบต. มหาวิทยาลัย โรงเรียน องค์กรศาสนาต่างๆ ในหลายจังหวัด และนักศึกษาจากออสเตรเลีย เกาหลี มาเลเซีย จีน เป็นต้น
มัสยิดมัสยิดกมาลุลอิสลาม ได้รับเกียรติประวัติมากมายจากหลายสถาบัน เช่น กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และรางวัลลูกโลกสีเขียว เป็นต้น ส่วนอิหม่ามวินัย สะมะอุน ได้รับรางวัล “เพชรเกษมกรุงเทพ” จากกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาราชภัฎจันทรเกษมมอบรางวัล “เพชรสยาม” และมอบปริญญาบัตรกิตติมศักดิ์สาขานิเทศศาสตร์ และกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 4
นายวินัย สะมะอุน ชื่อภาษาอาหรับ มัรวาน สะมะอุน
ที่อยู่ บ้านเลขที่ 40 ซอยประชาร่วมใจ 14 แขวงทรายกองดินใต้ เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ 10510
ติดต่อ โทร. 0-2916-8779 โทรสาร. 0-2543-7369 มือถือ. 08-3711-2263
ป้ายคำ : น้ำหมักชีวภาพ, บำบัดน้ำเสีย, ปราชญ์