วีระพันธ์ จันทรนิภา คืนชีวิตและจิตวิญญาณของดิน

วีระพันธ์ จันทรนิภา อดีตนักสำรวจธรณีวิทยา ผู้พาชีวิตหลังเกษียณ มาอยู่โดดเดี่ยวในป่า ที่เขาลงมือสร้างเอง ในมาบตาพุด จ.ชลบุรี ด้วยความรู้ที่สะสมมาทั้งชีวิต เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ทำให้เขารับรู้ความจริงหลายประการว่า สาเหตุที่แท้จริงเป็นอย่างไร เขาจึงเริ่มทำจากจุดเล็กๆ ที่ตัวเองสามารถทำได้ก่อน ด้วยการลงมือปลูกต้นไม้ทีละต้น ในพื้นที่ 34 ไร่ ปลูกหลากหลายพันธุ์ไม้ เพื่อช่วยเรื่องระบบนิเวศ สร้างจุลินทรีย์(ราใบไม้สีขาว)

ซึ่งจุลินทรีย์ตัวนี้ สามารถช่วยปรับสภาพผืนดินให้ดีขึ้นได้ และสามารถสร้างอ๊อกซิเจน 24 ชั่วโมง แล้วสิ่งที่เขาทำจะช่วยอะไรได้เมื่อการใช้สารเคมี เหมือนกับการโยนระเบิดปรมาณูลงผืนดิน ลุงวีระพันธ์จึงต้องสร้างทหารขึ้นมาต่อสู้กับสารเคมี ลุงจะใช้หนทางใดเพื่อคืนชีวิตให้ผืนดิน

ด้วยความตั้งใจของคนๆ หนึ่งที่ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างสีเขียวให้โลกจนเป็นสวนป่ามานานกว่า 20 ปี ระหว่างสร้างป่าก็สร้างชีวิตที่สนุกสนาน บนพื้นฐานของการทดลองด้านการเกษตรแบบพึ่งตนเองไปด้วย ได้ผลออกมา ก็ไม่อยากเก็บไว้คนเดียว เที่ยวแบ่งปันแจกจ่ายความรู้เพื่อเป็นวิทยาทาน ยามที่มีผู้มาเยี่ยมเยียนขอแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งนอกจากจะได้มาเยี่ยม “ห้องแล็ป” พื้นบ้านแห่งนี้แล้ว ยังได้ชิมอาหารที่ได้จากสวนป่า อันเป็นผลจากงานทดลองสนุกๆ
ของลุงจุกอีกด้วย

“อยากอยู่อย่างสงบ แล้วก็ตายอย่างมีเกียรติ การตายอย่างมีเกียรตินั้นลุงคิดว่าเหมือนมะม่วงสุกงอม พร้อมจะให้คนกิน ลุงอยากตายแบบมะม่วงร่วงลงมา ไม่ใช่มีสายระโยงระยางเต็มไปหมด จะเป็นความภาคภูมิใจว่าลุงไปสงบอย่างนั้น”

นี่คือความตั้งใจในบั้นปลายชีวิตของ วีระพันธ์ จันทรนิภา หรือ “ลุงจุก” ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ปราชญ์เดินดิน”*

แม้นัยยะของคำพูดจะแสดงถึงมรณังนุสติ แต่ในทางกายภาพ ลุงจุกในวัยนี้ ยังดูแข็งแรงเป็นผลมาจากการใช้ชีวิตที่ไม่อยู่เฉย แต่ปลูกต้นไม้และดูแลรักษาสวนป่าพื้นที่กว่า 29 ไร่ มาตลอด 20 ปี ทุกวันนี้ ลุงจุกยังเดินเหินสะดวก ปีนต้นตาลได้สบาย ลุงจุกเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำว่าเป็นสิ่งที่ดี การได้สร้างพื้นที่สีเขียว การได้แบ่งปันความรู้และผลผลิต ตลอดจนประสบการณ์ให้แก่ผู้อื่น ก่อเกิดปิติและความอิ่มเอิบใจส่งผลให้สุขภาพกายแข็งแรงและสุขภาพจิตเบิกบาน เป็นสองสิ่งที่ลุงจุกถือว่าเป็นองค์ประกอบของมนุษย์ที่สมบูรณ์

ลุงจุกเคยเป็นอดีตข้าราชการในกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม นักธรณีวิทยาผู้นี้มาซื้อที่ดินบริเวณบ้านหมอนนาง ต.ทุ่งเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เมื่อปี 2533 ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น มีไม้ใหญ่ไม่เกิน 20 ต้น เป็นพวกมะเฟืองกับต้นนุ่น แรงบันดาลใจที่มาซื้อที่ก็ เพราะได้ยินเรื่องผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดสภาวะ “โลกร้อน” ต้องการมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ และคิดว่าการปลูกป่า ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ รวมทั้งการดูแลระบบนิเวศให้สมบูรณ์มากที่สุด ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตที่เล็กที่สุด จนไปถึงต้นไม้ใหญ่

“สภาพพื้นที่ตอนนั้นแย่มากๆ เนื่องจากเจ้าของคนเก่าใช้สารเคมีจนดินตาย แต่ที่ซื้อก็เพราะมีทั้งพื้นที่สูง และต่ำ สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย ทำนา ทำสวน ทำไร่ ทำได้ 3 อย่างในพื้นที่กว่า 29 ไร่”

werapanjan

ถึงจะเป็นนักธรณีวิทยา ซึ่งมีความรู้เรื่องดินเป็นอย่างดีแต่ก็ไม่ใช่เกษตรกรอาชีพ ลุงจุกเริ่มจากการ “อยากปลูกอะไรก็ปลูก” ผลก็คือส่วนใหญ่ไปไม่รอด ลุงจุกใช้เวลาช่วงเสาร์อาทิตย์เดินทางจากรุงเทพฯ มาปลูกต้นไม้ หอบหิ้ว “ป้าหนุ่ย” พรรณวดี จันทรนิภา คู่ชีวิตมาด้วย แรกๆ ป้าหนุ่ยก็ไม่ค่อยเห็นดีเห็นงาม เคยประชดประชันว่า “จะตายในนี้หรือไง” ลุงจุกตอกกลับ “ฉันตายไม่ได้หรอก ต้นไม้ฉันยังไม่โตเลย” แต่เพราะความอุตสาหะของลุงจุก ไม่นาน ป้าหนุ่ยก็คล้อยตาม

ปี 2542 ลุงจุกตัดสินใจเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด และย้ายมาอยู่บ้านเล็กในสวนป่า ส่วนป้าหนุ่ยยังต้องจัดแจงธุระ จึงย้ายตามมาในปี 2547 ลุงจุกให้เหตุผลในการลาออกว่า อยากจะเข้ามาพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มตัว โดยใช้ความรู้ทางด้านวิชาการบวกกับการทดลองด้วยตนเอง โดยเฉพาะการแก้โจทย์ที่ว่าปลูกอะไรก็ไปไม่รอด

ความรู้บวกงานทดลองชิ้นแรกของลุง คือการทำน้ำจุลินทรีย์ แล้วฉีดทั่วทั้งพื้นที่ หลังจากนั้นจึงปรับปรุงบำรุงดิน โดยเน้นปลูกพืช 3 อย่างให้ทั่วพื้นที่ คือ ปลูกพืชตระกูลถั่ว-ช่วยเพิ่มไนโตรเจน, ปลูกต้นงา-ช่วยเพิ่มฟอสฟอรัส และปลูกข้าวหรือข้าวโพด-ช่วยเพิ่มโพแทสเซียม ส่วนในบริเวณพื้นที่ ลุงจุกก็วางระบบการปลูกต้นไม้ ดังนี้ รอบพื้นที่ปลูกพืชเป็นแนวกั้นเหมือนกำแพงเพื่อป้องกันแมลง เชื้อรา ที่มากับลม แนวต้นไม้นี้ลุงจุก ตั้งชื่อว่า “พืชผู้ผลิต” เป็นไม้ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงไม้ยืนต้น และเน้นต้นตาล เพราะรากตาลลงลึก และสามารถดูดสารอาหารจากใต้ดินขึ้นมาได้ดี

ชั้นต่อมาปลูก “พืชพี่เลี้ยง” เพื่อป้องกันแมลงและเชื้อราอีกเช่นกัน พืชที่ปลูก ได้แก่ มะรุม กะเม็ง โทงเทง ฯลฯ

ชั้นในสุดปลูก “พืชใช้ประโยชน์และไม้ใช้สอย” ได้แก่ พืชผักกินได้ และไม้ยืนต้นต่างๆ เช่น ยางนา ตะเคียน ปีบ พะยอม มะกล่ำตาช้าง ฯลฯ

20 ปีผ่านไป เป็นอันว่าการทดลองนี้ได้ผล “ข้อดีของการปลูกพืชทั้ง 3 ชั้น คือไม่ต้องใช้สารเคมีเลยให้พืชต่างๆ ช่วยดูแลกันเอง สารเคมีเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมีก็ช่วยลดโลกร้อนได้อีกเช่นกัน”

จากความอดทน พากเพียร ใช้ความรู้บวกการทดลองส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่กว่า 29 ไร่ กลายเป็นป่าที่มีความหลากหลาย ดินอุดมสมบูรณ์ ลุงจุกบอกว่า การปลูกป่านั้นมีหลักคิดคือ “มีต้นไม้ให้เยอะๆ เท่าที่จะมีได้ แต่ไม่ใช่ชนิดเดียว” สำหรับที่สวนป่าของลุง เน้นต้นยางนา เพราะไม้ยางใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง นอกจากนั้นก็ปลูกสมุนไพรที่เป็นยา ปลูกผักที่กินได้ และผลไม้ที่ไม่อ้อนปุ๋ยนัก การวางระดับต้นไม้ ก็เลียนแบบธรรมชาติ ลุงจุกใช้จุลินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น ดินนิ่ม ระหว่างเดินชม ลุงก็ลองเอาเหล็กแทงลงดินให้ดู เหล็กจมลึกลงไปถึง 2 เมตรโดยไม่ต้องออกแรงมาก

เมื่อไม่นานมานี้ ลุงจุกทดลองปลูกจอกและแหนแดงในนาข้าว ลุงบอกว่า ตอนแรกที่เริ่มปลูกข้าว ข้าวไม่งามเลยเพราะมีเชื้อรา พอจอกและแหนแดงขึ้นก็สังเกตเห็นว่าข้าวงาม แต่ละกอต้นข้าวขึ้นหนาแน่น พอโยนจอก และแหนแดงไปตรงไหน ดินแถวนั้นจะดี พืชก็งาม สันนิษฐานบวกค้นคว้าจากตำรับตำรา ก็สรุปตามประสานักทดลองลูกทุ่งว่า แหนแดงคงจะมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่ช่วยตรึงไนโตรเจน ส่วนจอกมีจุลินทรีย์บางตัวที่เป็นปรปักษ์ต่อเชื้อราที่ทำลายพืช ข้าวออกรวงเมื่อไร คงได้เห็นผลการทดลอง

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นงานทดลองล่าสุด ลุงจุกนำพบวิธีแก้ปัญหาโรคแคงเกอร์ เป็นโรคพืชที่มีลักษณะตามกิ่ง คล้ายมีแผลถูกหนอนเจาะ แล้วกิ่งก็เฉาตาย เกิดกับในต้นมะนาว พบวิธีแก้ ลุงก็ไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน

อยากจะลองเอาไปทำดูก็ได้…วิธีการก็ง่ายนัก หลักการเหมือนตำน้ำพริกแกง

แต่ส่วนผสมคือ ตะไคร้หอม ข่า มะกรูด กะปิ พริก ดีปลี พริกไทย เอาส่วนผสมที่ว่ามาตำให้ละเอียด ปั้นให้กลมประมาณลูกมะนาว แล้วเอาไปแช่น้ำมะพร้าวอ่อน (ลูกเดียวก็พอ) ทิ้งไว้คืนหนึ่ง พอจะใช้ก็ผสมกับน้ำอัตราส่วน 1 : 20 ฉีดพ่นต้นมะนาวสัปดาห์ละครั้ง

นอกจากนี้ ลุงจุกยังบอกวิธีปราบเพลี้ย ลุงบอกว่าเพลี้ยมีสารพัดชนิด แต่ถ้าแยกออกมาแล้วมีแค่ 2 ชนิดหลัก คือเพลี้ยปากดูดกับเพลี้ยปากกัด

เพลี้ยปากดูดจะกินน้ำหวานจากยอดพืช ลุงจุกใช้มะพร้าวขูด 2 ขีด ยาสูบ 1 ตั้ง เคล้าให้เข้ากัน เติมน้ำต้มสุก 1 ลิตร หมักทิ้งไว้คืนหนึ่ง เสร็จแล้วเอาผสมกับน้ำอัตราส่วน 1 : 200 ฉีดพ่นได้ประมาณ 5 ไร่

ส่วนเพลี้ยปากกัดชอบกินโปรตีนจากใบพืช รายนี้ต้องใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล 2 ขวด (ขวดละ 450 ซีซี) ขมิ้นบด 2 ขีด เปลือกมังคุด 1 ขีด (ไม่ต้องบด) ผงพะโล้ 2 ขีด นำส่วนผสมแปลกๆ นี้มาหมักรวมกันประมาณสัปดาห์หนึ่ง จากนั้นนำมากรองให้เหลือแต่น้ำ แล้วผสมกับน้ำในอัตราส่วน 1 : 20 ฉีดพ่นสัปดาห์ละครั้ง

งานทดลองในสวนป่าแห่งนี้ บางเรื่องก็มาจากการค้นคว้าของลุงจุก บางเรื่องก็ฟังเขามาแล้วนำมาทดลองต่อเพื่อหาผล

ทุกวันนี้ สองลุงป้าก็ใช้ชีวิตแบบสมถะ เรียบง่าย ข้าวของส่วนใหญ่ทำใช้เอง ไม่ต้องซื้อหาจากข้างนอก แม้กระทั่งยาสีฟัน ลุงจุกยังหาจากในสวนป่าผืนนี้

“เมื่อใดก็ตามที่เรารู้จักพอ มันก็เหมือนยกภาระออกจากเรา เราก็จะเป็นเสรีชนจริงๆ ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่เป็นเสรีชน เขาจะตกอยู่ภายใต้เงาทะมึนของอิทธิพลใดอิทธิพลหนึ่ง แต่ถ้าเราปลดตรงนี้ไปได้ เราก็จะเป็นเสรีชน มีเสรีภาพภายใน ไม่มีใครมาบงการได้ นั่นคือเป็นอิสระ”

ด้วยความตั้งใจของคนๆ หนึ่งที่ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างสีเขียวให้โลกจนเป็นสวนป่ามานานกว่า 20 ปี ระหว่างสร้างป่า ก็สร้างชีวิตที่สนุกสนานบนพื้นฐานของการทดลอง ด้านการเกษตรแบบพึ่งตนเองไปด้วย ได้ผลออกมา ก็ไม่อยากเก็บไว้คนเดียว เที่ยวแบ่งปันแจกจ่ายความรู้เพื่อเป็นวิทยาทาน ยามที่มีผู้มาเยี่ยมเยียนขอแบ่งปันประสบการณ์ ซึ่งนอกจากจะได้มาเยี่ยม “ห้องแล็ป” พื้นบ้านแห่งนี้แล้ว ยังได้ชิมอาหารที่ได้จากสวนป่า อันเป็นผลจากงานทดลองสนุกๆ ของลุงจุกอีกด้วย

แบบอย่างจากลุงจุกช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรหลายคน ทุกวันนี้เสียงโทรศัพท์บ้านลุงจุกดังไม่ขาดสาย เพราะมีผู้โทรมาปรึกษาและขอความรู้เรื่องการปลูกต้นไม้ และการดูแลรักษาพืชให้พ้นจากโรคและแมลง นอกจากนี้ ลุงจุกยังไปช่วยเป็นวิทยากรให้แก่หน่วยงานต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี โรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และศูนย์เกษตรกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นต้น

นายวีระพันธ์ จันทรนิภา
บ้านหมอนนาง ต.ทุ่งเหียง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
โทร.081 623 1003

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น