ว่านตะขาบหิน แก้ร้อนใน แก้พิษ

25 ธันวาคม 2557 ไม้พุ่มเตี้ย 0

ตะขาบหินหรือทางเหนือเรียกว่าว่านตะขาบ ส่วนคนจีนเรียกแงกังเช่า มีสรรพคุณ แก้ร้อนใน แก้พิษต่างๆ พิษเลือด พิษร้อน แก้ฝีในปอด แก้ไอเนื่องจากปอด แก้เจ็บคอ ใช้ภายนอก ระงับปวด แก้โรคผิวหนังเจ็บผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Muehlenbeckia platyclada (F.Muell.) Meisn.[2] หรือ Muehlenbeckia platyclada (F.v.Muell.) Meissen.
วงศ์ POLYGONACEAE
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่านตะขาบ (เชียงใหม่), ตะขาบหิน (คนเมือง), เพว เฟอ (กรุงเทพฯ), ว่านตะเข็บ (ภาคเหนือ), ตะขาบปีนกล้วย (ภาคกลาง), ว่านจะเข็บ (ไทลื้อ), ตะขาบบิน ตะขาบทะยานฟ้า ผักเปลว (ไทย), แงกังเช่า (จีน) เป็นต้น

พรรณไม้ชนิดมักขึ้นตามพื้นที่ป่าทั่วไป โดยจะกระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย ออกดอกและติดผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม

takabbinyodon

ลักษณะของตะขาบหิน
ต้นตะขาบหิน มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะทางภาคตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านจำนวนมาก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ต้นอ่อนแบนเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและกลมขึ้น

  • ใบตะขาบหิน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ หลุดร่วงได้ง่าย ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปใบหอกแกมเส้นตรงมีขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายลำต้น ออกใบน้อยหรือไม่มีเลย ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบอ่อนนิ่ม หลังใบและท้องใบเรียบ ไม่มีก้านใบ
  • ดอกตะขาบบิน ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ดอกเป็นช่อกระจุกเล็กๆ ตามข้อของลำต้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กมากเป็นสีเขียวอ่อน กลีบดอกรวมเป็นสีขาวแกมสีเขียว มี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ก้านดอกสั้น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ก้านชูดอกมีขนาดสั้นมาก มีเกสรเพศผู้ล้อมรอบเกสรเพศเมียอยู่จำนวน 7-8 อัน
  • ผลตะขาบบิน ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ฉ่ำน้ำ เป็นพู 5 พู ผิวผลเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง มีรสหวาน ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เมล็ดเดี่ยว เมล็ดเป็นสีเหลือง ลักษณะของเมล็ดเป็นสัน 3 สัน

takabbinkor takabbindoktakabbinton

สรรพคุณของตะขาบหิน

  • ทั้งต้นมีรสหวานสุขุม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนใน ดับพิษต่างๆ พิษเลือด พิษร้อน พิษฝี พิษฝีในปอด (ทั้งต้น)
  • ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าข้าว แล้วคั้นเอาน้ำใช้หยอดหู เพื่อรักษาหูเป็นน้ำหนวก (ใบ)
  • ช่วยแก้อาการเนื่องจากปอด แก้อาการเจ็บคอ เจ็บอก (ทั้งต้น)
    ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนังเจ็บ ผื่นคัน น้ำเหลืองเสีย งูสวัด ฝีมะตอย (ทั้งต้น)
  • ใบนำมาทุบใช้ทาแผลจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)
  • ทั้งต้นใช้ภายนอกเป็นยาระงับอาการปวด (ทั้งต้น)
  • ต้นและใบสดนำมาตำผสมกับเหล้า นำมาพอกหรือเอาแต่น้ำมาใช้ทารักษาอาการฟกช้ำบวม เคล็ดขัดยอกได้ดี (ต้นและใบ)
  • ต้นและใบสด นำมาตำผสมกับเหล้าพอกหรือคั้นเอาน้ำใช้เป็นยาทาถอนพิษตะขาบและแมงป่อง (ต้นและใบ)

ประโยชน์ของต้นตะขาบหิน นิยมยำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกเลี้ยงได้ง่าย เจริญเติบโตเร็ว

takabbinbai

ขยายพันธุ์ ด้วยวิธีการปักชำ

takabbinyod

ที่มา
หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). ว่านตีนตะขาบ. หน้า 712-713. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). ตะขาบหิน (Ta Khap Hin). หน้า 120.
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้พุ่มเตี้ย

แสดงความคิดเห็น