ศูนย์ค้ำคูณ แหล่งรวมปราชญ์อีสาน

3 ตุลาคม 2556 แหล่งเรียนรู้ 0

ศูนย์ค้ำคูณพัฒนาขึ้นจากความคิดเรื่องประชาคมตำบลที่เสนอโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ว ่า หากคนรวมตัวกันในรูปพหุภาคีมาร่วมคิดร่วมเรียนรู้สู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจนสามารถพัฒนาเกษตรที่พึ่งตนเองได้ จนมีเหลือกินเหลือใช้ ได้แจก ช่วยให้มีเพื่อน เมื่อมีมากพอจนเหลือกินเหลือใช้ได้แจกได้ขาย จะช่วยให้มีเงินจะทำให้มีกินมีเพื่อนและมีเงินเป็นสภาพมั่งมีศรีสุข ของที่เหลือก็นำมาแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมชุมชนจะได้กินและใช้ ได้นานยิ่งขึ้น เหลือกิน เหลือใช้เหลือแจกได้ขายในราคาที่ดีขึ้น นอกจากนี้สินค้าเกษตรกรรมและสินค้าแปรรูปที่มีต้นทุนไม่มากก็สามารถนำมาบริหารจัดการเป็นธุรกิจชุมชนใน 2 รูปแบบ รูปแบบแรกรวมกันส่งไปขายและ รูปแบบที่สองคือ หาสิ่งดึงดูดให้คนเข้ามาท่องเที่ยวแล้วมากิน และใช้ในท้องถิ่น เช่น ทำวังปลา สร้างป่าชุมชน สร้างพิพิธภัณฑ์ของชุมชน จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มีรายได้ในชุมชน สามารถอดออมเป็นการเงินการคลังชุมชน ที่สามารถจัดสวัสดิการต่างๆ มากมายแก่คนในชุมชน

kamkoonact

ด้วยวิธีคิดดังกล่าวศูนย์ค้ำคูณจึงเกิดขึ้นโดยบุคคลากรสาธารณสุขกลุ่มหนึ่งได้ช่วยกันออกเงินซื้อที่แปลงนี้ไว้ เดิมที่ที่ดินแปลงนี้เป็นไร่มันและไร่อ้อยที่ทำมาแรมปีจนดินเสื่อมสภาพ ถ้า ไม่ใช้ปุ๋ยเรียกว่าเก็บเกี่ยวได้น้อยมาก บุคคลากรสาธารณสุขกลุ่มนี้ซื้อที่แล้วตกลงกันว่าจะปลูกต้นไม้ยืนต้นสร้างบ้านได้และจะบริจาคที่ดินด้านหน้าส่วนหนึ่งให้มูลนิธิฯ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์ ค้ำคูณทำทฤษฎีของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ให้เป็นจริง

การดำเนินการในช่วงแรกเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะขาดทั้งเงินทุนและความรู้เรื่องเงินทุนมีปัญหาลดลงทันที เมื่อคิดได้ว่าจะทำจากเล็กไปหาใหญ่ ตามกำลังโดยไม่ต้อง รีบร้อนค่อยเป็นค่อยไป ส่วนความรู้กลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่ดินทั้งหมดกว่า 60 ไร่ กลายเป็นทุกข์ทันที เมื่อคิดถึงการเกษตรแผนใหม่ที่ต้องใช้ระบบชลประทาน ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า มาต่อสู้กับสภาพดินเลว น้ำแล้ง ป่าหมด ในพื้นที่เช่นนี้ การทดลองรูปแบบต่างๆ จึงเกิดขึ้นนับตั้งแต่การ ปลูกมะละกอ ปรากฏว่ามะละกอตายกับที่ ทีแรกเข้าใจว่าเป็นเพราะร้อน คนงานจึงเอาใบมันสำปะหลังมาเป็นร่มให้มะละกอ จากนั้นรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ปรากฏว่ามะละกอตาย เพราะดินแข็งจัดรอบต้นมะละกอ แต่มันสำปะหลังเจริญเติบโตอย่างสวยงาม ในที่สุดความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นช่วยให้ปัญหาการฟื้นฟูสภาพป่าของศูนย์ค้ำคูณหายไปอย่างรวดเร็ว โดยนำหลักการต่างๆ ของภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ โดยเริ่มจากการปลูกพืชพี่เลี้ยง เช่น กล้วยเพราะกล้วยมีใบมากมายไว้ช่วยบังแดดและลมแก่ต้นไม้อื่นๆ ลำต้นของกล้วยมีน้ำมากมายช่วยยืดอายุต้นไม้อื่นๆ ในหน้าแล้ง แถมยังมีปลีกล้วย ให้กินเป็นอาหารและใช้เป็นยาได้ มีใบกล้วยและหยวกกล้วยไว้ใช้งานได้ ไม้ที่คัดเลือกมาปลูกก็ใช้ไม้พื้นเมืองที่โตเร็วและทนโรค ทนแล้ง เช่น สะเดา ขี้เหล็ก ตีนเป็ด ยางนา มะม่วงป่า ประดู่ ต้นแดง ต้นกุง ต้นจิก ต้นมะเหลื่อม ฉำฉา สลับกับไม้ที่อยากปลูก เช่น มะพร้าว มะม่วง กระท้อน ขนุน แล้วใส่ขี้ทุกอย่างลงไป ยกเว้นขี้เกียจให้ตัดออก รวมทั้งหาเพื่อนให้ต้นไม้โดยชวนผู้ติดเชื้อโรคเอดส์มาปลูกสมุนไพรลงข้างต้นไม้ยืนต้น พร้อมทั้งรดน้ำพรวนดินอย่างสม่ำเสมอ ช่วงหลังช่วยกันเติมน้ำหมักชีวภาพสัปดาห์ละครั้ง คนมาดูงานที่ศูนย์ค้ำคูณกลับไปล้วนมีกำลังใจ เพราะขนาดฝีมือผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ยังทำให้ศูนย์ค้ำคูณสวยงามขนาดนี้ พวกเขาต้องกลับไปทำให้สุดฝีมือและจะเกิดผลดีขนาดไหนและแน่นอนผลตอบแทนจากงานคือความสุขต้องมีขึ้นอย่างแน่นอน แล้วเงินจะไปไหนเสีย

kamkoontrain

ศูนย์เผยแพร่ความคิด และรูปธรรม
ศูนย์ค้ำคูณเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งต้นไม้ในศูนย์และชื่อเสียงที่สื่อต่างๆ มีเมตตาช่วยกันเสนอออกไป ทั้งนี้เพราะภารกิจของศูนย์ค้ำคูณวางอยู่บนความสุขเป็นตัวตั้ง โดยเชื่อทฤษฎีของท่านพุทธทาสที่ว่า งานคือความสุข ความสุขคืองาน ถ้าอยากมีความสุขก็จงทำงาน แล้วเงินทองจะไปไหนเสีย พร้อมด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์ด้วยความรักความเอื้ออาทรต่อกัน คนในศูนย์ค้ำคูณจะไม่ทำร้ายสัตว์ต่างๆ ผู้ติดเชื้อมีอากาศบริสุทธิ์จากร่มเงาของต้นไม้ยืนต้น มีพืชผักปลอดสารเคมีที่ปลูกไว้กิน แพทย์พื้นบ้านมีสมุนไพรไว้อบและประคบผู้ป่วยโดยจัดแปลงแยกส่วนจากแปลงของผู้ติดเชื้อ ได้นวดบำบัด ผู้ที่มีอาการเคล็ด ขัด ยอก ปวดเมื่อยตามตัว รวมทั้งผู้ที่เป็นอัมพาตจนมีอาการดีขึ้นมาหลายท่าน แม่บ้าน ผู้นำเกษตรกร เครือข่ายพระธรรมรักษ์พิทักษ์สิ่งแวดล้อม ชมรมแพทย์พื้นบ้าน อบต.ทุ่งโป่ง เครือข่ายเกษตรกร ชมรม อสม.เครือข่ายมิตรไหม ฝ้ายงาม ชมรมผู้ติดเชื้อ ได้มารวมตัวกัน เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันเรียนรู้และช่วยกันทำเพื่อสร้างธุรกิจชุมชนที่เกื้อหนุนครอบครัวที่อบอุ่นและชุมชนที่เข้มแข็ง สู่อำเภออุบลรัตน์ที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันและพัฒนาต่อยอดเป็นอำเภอที่น่าอยู่ที่สุดในโลก

kamkooncon

ปัจจุบันศูนย์ค้ำคูณได้นำความรู้ที่มีร่วมกับความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านที่ทำวิจัยและพัฒนามาตลอดชีวิต พัฒนาเป็นหลักสูตรต่างๆ ตั้งแต่หลักสูตรดูงาน 1 วัน หลักสูตรวิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองภาคประชาชน หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้นๆ วปอ.ภาคประชาชน ซึ่งเป็นหลักสูตรพาคนคิดวิเคราะห์ถึงภาพสุดท้ายของความทุกข์ และวิธีดับทุกข์ให้หมดไป พร้อมทั้งวางแผนปฏิบัติระดับปัจเจกและระดับกลุ่ม ผลการดำเนินการที่ผ่านมาในปี 2553 มีผู้มาศึกษาดูงานประมาณ 6,000 คน มีการฝึกอบรมหลักสูตร วปอ.ภาคประชาชนไปแล้ว 178 รุ่น จำนวน 8,750 คน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรในอำเภอ อุบลรัตน์ได้จำหน่ายแก่ผู้มาดูงานและผู้มารับการฝึกอบรม ช่วยให้มีรายได้จากการทำอาหารปลอดสารเคมีอย่างต่อเนื่อง

อนาคตของศูนย์ค้ำคูณ
ศูนย์ค้ำคูณได้วางแผนบทบาทตนเองในอนาคตให้เป็นสถาบันฝึกอบรมและหน่วยงานจัดการความรู้และหน่วยงานจัดการเครือข่ายที่เป็นอิสระ เครือข่ายของมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทอีสานคืนถิ่น โดยเป็นทั้งที่ดูงานและที่ประสานงานของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน เป็นที่ให้กำลังใจคนและสร้างความสุขแก่ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สนใจกิจกรรมที่มีไปอย่างต่อเนื่องคือวารสารค้ำคูณ การคัดเลือกคนมารับรางวัลคนค้ำคนคูณ รวมทั้งการระดมทุนเพื่อให้คนมาร่วมคิดร่วมเรียนรู้การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

kamkoonpah

ท้ายที่สุด ศูนย์ค้ำคูณจะเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมที่เน้นตัวอย่างการสร้างความสุขจากการมีหลักประกันในชีวิต ความสุขจากการมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ความสุขจากการมีครอบครัวที่อบอุ่น จากชุมชนเข้มแข็ง จากสิ่งแวดล้อมดี จากอิสรภาพ จากความภาคภูมิใจ และจากการอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมที่ดำเนินการ
๑. ปลูกพืชสมุนไพร
๒. นวดแผนไทยและอบสมุนไพร
๓. มีสวนสาธิตสมุนไพร

ศูนย์ค้ำคูณ
บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ตำบลทุ่งโป่ง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ๔๐๒๕๐
โทรศัพท์: ๐๔๓๔๔-๖๑๑๒-๓

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น