โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

1 พฤษภาคม 2557 ศาสตร์พระราชา 0

เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรบริเวณอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และได้มีพระราชเสาวนีย์สรุปความว่าให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งศูนย์พัฒนา การเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ซึ่งประกอบอาชีพทำนาไม่ได้ผล และให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินงานศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ ในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๓ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านวนาสวรรค์ อำเภอ ภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ สรุปความว่า ที่นี้มีปัญหาเรื่องดินเป็นดาน จึงขอให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดินพิจารณาช่วยเหลือราษฎร และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร การดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ และมีพระราชกระแสให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านบริเวณพื้นที่รอบศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ให้มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภคอย่างเพียงพอ รวมทั้งให้พิจารณาช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรเพื่อให้มีรายได้เสริมและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วันที่ 26 ธันวาคม 2548 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านพนมชัย ตำบลห้วยตามอญ อำเภอภูสิงห์ และมีพระราชดำริให้พิจารณาจัดหาแหล่งน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหินแตก และลำห้วยไผ่ เพื่อช่วยเหลือราษฎรซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมทั้งให้พิจารณาจัดหาพื้นที่เพื่อทดลองทำโครงการโดยส่งเสริมอาชีพเพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าโดยไม่ทำลายป่า

pusingplan

โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ใช้แผนแม่บทฉบับที่ ๑ ปี พ.ศ.๒๕๔๑-๒๕๔๔ เป็นกรอบแนวทางการพัฒนามาจนหมดวาระแล้ว สำนักงาน กปร.ได้ติดตามประเมินผลโครงการร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยได้นำผลการประเมินผลโครงการมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาจัดทำแผนแม่บท ฉบับที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๙ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาช่วงต่อไป และใช้สำหรับการติดตามเร่งรัดให้กิจกรรมต่างๆ บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินงานโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ มีผลการดำเนินงานโดยสรุปดังนี้

อาคารที่ทำการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เป็นศูนย์กลางการประสานงานของส่วนราชการต่างๆ

pusingbann

สำหรับให้บริการแก่ราษฎรแบบเบ็ดเสร็จในที่จุดเดียว ในลักษณะเช่นเดียวกันกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๑. การดำเนินงานภายในพื้นที่ศูนย์ฯ
พื้นที่ของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์มีทั้งหมดประมาณ ๕๔๐ ไร่ ได้แบ่งพื้นที่เพื่อดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ สำหรับเป็นการสาธิตและฝึกอบรมให้แก่ราษฎรซึ่งราษฎรสามารถนำไปเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพต่อไป โดยกิจกรรมต่างๆในพื้นที่ศูนย์ที่ดำเนินงานประจำปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ได้แก่ กิจกรรมพืช

  1. บำรุงรักษาแปลงสาธิตการปลูกหม่อน การปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ เพื่อเป็นต้นแบบให้ราษฎรและผู้สนใจเข้าศึกษาดูงาน
  2. ปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิเพื่อสาธิตโดยสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ย ๔๐๗ กิโลกรัมต่อไร่
  3. ปลูกพืชไร่แซมในแปลงไม้ผล เช่น ถั่วลิสง ปอแก้ว และอ้อย ซึ่งสามารถให้ผลผลิตเป็นการเสริมรายได้จากไม้ผล
  4. ปลูกพืชไร่หลังนา เพื่อสาธิตการบำรุงรักษาดินและยังมีผลผลิตเป็นรายได้อีกด้วย
  5. ฝึกอบรมวิชาการเกษตรด้านพืชและข้าวให้แก่ราษฎรและนักเรียน

pusingplang

กิจกรรมประมง

  1. ผลิตพันธุ์ปลา จำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ ตัว เพื่อสาธิตและส่งเสริมสนับสนุนให้ราษฎรเลี้ยงปลา รวมทั้งนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำต่อไป
  2. ฝึกอบรมการเลี้ยงสัตว์น้ำแก่ราษฎรและนักเรียน

กิจกรรมปศุสัตว์

  1. เลี้ยงสุกรและเป็ดเทศ เพื่อสาธิตและผลิตพันธุ์ส่งเสริมสนับสนุนให้ราษฎรและโรงเรียนรอบศูนย์ฯ
  2. ฝึกอบรมการเลี้ยงสัตว์ให้แก่ราษฎรและนักเรียน

pusingpaipusingmoo

กิจกรรมพัฒนาที่ดิน

  1. ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ปลูกพืชเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด และปลูกหญ้าแฝกเพื่อสาธิตและส่งเสริมสนับสนุนให้ราษฎรนำแนวทางไปปฏิบัติ
  2. ฝึกอบรมการทำปุ๋ยและการอนุรักษ์ดินและน้ำให้แก่ราษฎรและนักเรียน

pusingtao

กิจกรรมป่าไม้

  1. บำรุงรักษาแปลงปลูกป่าและปลูกไม้เศรษฐกิจได้แก่หวายและไผ่ตง เพื่อสาธิตรวมทั้งเพาะกล้าไม้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้แก่ราษฎรและส่วนราชการนำไปปลูก
  2. ให้คำแนะนำและบริการแก่ราษฎรและนักเรียนในการศึกษาดูงานกิจกรรมป่าไม้ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ ๒๕๔๘ มีราษฎรและนักเรียน นักศึกษา เข้ามาศึกษาดูงานและรับการฝึกอบรมวิชาการด้านต่างๆ รวมทั้งสิ้น ๘๕ คณะ จำนวน ๔,๒๐๐ คน

pusingna

๒. การขยายผลสู่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ

  1. ส่วนราชการที่ดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ และพัฒนาที่ดินได้ให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ และพันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา รวมทั้งให้บริการคำแนะนำและคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบศูนย์ฯ ที่นำพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ และพันธุ์สัตว์ดังกล่าวไปดำเนินการ
  2. งานพัฒนาแหล่งน้ำทั้งการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ และการขุดสระน้ำประจำไร่ที่ได้จัดทำให้แก่ราษฎรไว้แล้วนั้น ส่วนราชการต่างๆ ได้ติดตามและคอยแนะนำเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ราษฎรมีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มตามศักยภาพ อันจะส่งผลให้ราษฎรมีผลผลิตและรายได้มากยิ่งขึ้น

ผลประโชน์ที่เกิดชึ้น

  1. มีศูนย์กลางการประสานงานของส่วนราชการต่างๆ ที่สามารถให้บริการแก่เกษตรกรอย่างเต็มรูปแบบ และเบ็ดเสร็จในจุดเดียวทั้งด้านวิชาการเกษตร ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง ด้านพัฒนาที่ดินและด้านป่าไม้ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการในรูปแบบวิธีการสมัยใหม่เป็นการบูรณาการแผนงาน/งบประมาณร่วมกันของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
  2. เกษตรกรมีโอกาสเรียนรู้จากการสาธิต การฝึกอบรมการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ตามหลักวิชาการที่เหมาะสม โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยากจนและด้อยโอกาสในชนบทให้ได้รับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่อันเป็นการลดต้นทุนการผลิตและช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตผลมากขึ้น ช่วยเสริมรายได้ของครอบครัวและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างเพียงพอสามารถดำรงชีวิตประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในท้องถิ่น ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินที่อื่น
  3. เกษตรกรในพื้นที่โครงการได้รับโอกาสการพัฒนา เพื่อให้สามารถพึ่งพาและช่วยเหลือตนเองได้ อันเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและอยู่ดีกินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรหมู่บ้านบริเวณรอบศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์จำนวน ๑๘ หมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งจะได้รับประโยชน์โดยตรง

แนวทางการดำเนินงานต่อไป

  1. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและผลสำเร็จด้านการเกษตรไปสู่ราษฎรโดยใช้รูปแบบ เกษตรกรต้นแบบ เพื่อให้ราษฎรได้เรียนรู้จากกันและกัน รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายการพัฒนาของโครงการในระยะยาว
  2. เพิ่มการศึกษา สาธิตและให้บริการด้านเกษตรที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น การปลูกผลไม้ การปลูกมะนาวนอกฤดู การเลี้ยงไก่พันธุ์ผสมพื้นเมือง เป็นต้น
  3. เตรียมความพร้อมด้านอาคารสถานที่และพื้นที่สาธิตการเกษตร เพื่อรองรับผู้เข้ามาใช้บริการที่มีจำนวนมากขึ้น

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น