ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ

6 ธันวาคม 2556 แหล่งเรียนรู้ 0

ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ “สุขใจ” เป็นโครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคด้วยการ ผลิตพืชระบบอินทรีย์ ใน อ.สามพราน จ.นครปฐม ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในหลักสูตรการเรียนรู้ระบบการผลิตที่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ให้กับเกษตรกร ทำให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสามพรานเกิดการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจาก แบบเดิมที่ยังคงใช้สารเคมีมาเป็นการผลิตแบบอินทรีย์ ซึ่งส่งผลดีในระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมในการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน

sookjaiklong

ปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาสนใจแนวทางการบริโภคตามวิถีธรรมชาติบำบัดมากขึ้น เนื่องจากกระแสรักสุขภาพ (Health Conscious) และความใส่ใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าโดยคำนึงถึงสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดของประเทศผู้นำเข้าอาหาร ส่งผลให้เกิดระบบเกษตรกรรมที่คำนึงถึงระบบนิเวศเป็นหลัก ภายใต้แนวทางเกษตรอินทรีย์ (Organic crop products) เป็นผลให้ความต้องการบริโภคพืชและอาหารที่เพาะปลูกด้วยระบบอินทรีย์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งประเทศและต่างประเทศ นับเป็นช่องทางการตลาดที่ช่วยสร้างโอกาสปรับระบบการเพาะปลูกที่ปลอดภัยต่อสุขภาพให้กับเกษตรกรไทย แต่ปัญหาหลักของเกษตรกรไทย คือ ยังขาดความรู้ความเข้าใจระบบของการทำเกษตรแบบอินทรีย์ว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร ในขณะที่เทียบกับการใช้สารเคมีในภาคเกษตรนั้นจะเห็นผลผลิตเติบโตและดูแลง่ายกว่า คือ สามารถกำจัดศัตรูพืชได้รวดเร็วทันใจ ผลผลิตที่ออกมามีปริมาณมากและรูปลักษณ์สวยงาม หากเกษตรกรยังคงเคยชินกับการทำเกษตรแบบเดิมๆ ในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมและสามารถผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพเพื่อการส่งออกระดับโลกคงต้องสูญเสียประโยชน์จากส่วนแบ่งตลาดในระบบอินทรีย์นี้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ การถ่ายทอดและให้ความรู้เพื่อทำเกษตรในระบบอินทรีย์จากหน่วยงานต่างๆ นั้นยังคงประสบปัญหาขาดความต่อเนื่อง และบูรณาการเป็นองค์รวม จึงทำให้เกษตรกรไม่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดและพัฒนาให้เกิดผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

sookjaiplang

โครงการ ศูนย์พัฒนาเกษตรกร เกษตรอินทรีย์สุขใจ เกิดขึ้นจากการความร่วมมือของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในนามขององค์กรผู้ให้ทุนสนับสนุน ร่วมกับโครงการกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพราน(สามพรานริเวอร์ไซด์)ในนามขององค์กรผู้รับทุน และ บริษัทไบโอ-อะกรี จำกัดในนามขององค์กรที่ปรึกษาโครงการ โดยทั้ง 3 หน่วยงานได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญถึงการเสริมสร้าง สนับสนุน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงทัศนคติ ในเรื่องของการเกษตรแบบอินทรีย์ ให้เกิดขึ้นทั้งกับผู้บริโภคและกลุ่มผู้ผลิตหรือเกษตรกร ให้มีความตระหนัก และเข้าใจถึงการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง จนสามารถนำไปใช้และปฏิบัติได้ โดยร่วมกันนำองค์ความรู้ของระบบผลิตพืชผักอินทรีย์และกลุ่มเกษตรกรต้นแบบมาใช้ถ่ายทอดและขยายผลให้กับกลุ่มเกษตรกรในอำเภอสามพราน ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการโดยการดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรเกิดการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากแบบเดิมที่ใช้สารเคมีมาเป็นการผลิตแบบอินทรีย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน รวมทั้งให้เกิดการกระจายผลผลิตออกสู่กลุ่มผู้บริโภคในระดับบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่อไป

sookjaipag

พื้นที่ในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม รวม 249 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 16 ตำบล และ 137 หมู่บ้าน มีการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทำนา 7,728 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น 55,400 ไร่ พืชผัก 902 ไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ 3,645 ไร่ พื้นที่การเกษตรอื่นๆ 4,823 ไร่ รวมมีพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรทั้งหมด 72,498 ไร่ ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนผักและผลไม้ โดยมีเป้าหมายเพื่อการค้าและการบริโภคในครัวเรือน ประชาชนที่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรส่วนมากยังคงมีการใช้สารเคมีในการทำเกษตรเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้ได้ตามความต้องการของตลาด และยังคงใช้ในการเพาะปลูกติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากการแพ้สารเคมี อีกทั้ง ยังทำให้สัตว์หรือแมลงบางชนิดหายไปจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ระบบนิเวศเปลี่ยนไป และเกิดการดื้อยาของโรคและแมลงศัตรูพืชบางชนิด ทำให้ยากต่อการควบคุม
แนวทางแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรที่สนใจการผลิตพืชผักอินทรีย์ โดยยึดหลักบูรณาการด้านการผลิตพืชผักที่เกี่ยวข้องกับทุกศาสตร์ ได้แก่ การปรับปรุงดิน การจัดการชนิดพืชผัก เมล็ดพันธุ์ ระบบปลูกและอารักขาศัตรูพืช ปัจจัยการผลิต ตลอดจนการจัดการด้านการตลาด ทั้งนี้กระบวนการเรียนรู้ ยังเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ชีวภาพเป็นฟันเฟืองในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการผลิตพืช และบูรณาการบนพื้นฐาน ICM (I=Integrated C=Cropping M=Management) ดังที่เคยมีประสบการณ์ดูแลกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผักอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย และอำเภอบางใหญ่พบว่า หากเกษตรกรได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตพืชผักอินทรีย์ทั้งระบบ จะทำให้เกษตรมีศักยภาพและความสามารถในการจัดการทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตได้ ทั้งดิน ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภัณฑ์ ชนิดพืช การวางแผนการผลิต และที่สำคัญคือเกิดการรวมกลุ่มเกษตรการผู้ผลิตที่เข้มแข็งที่จะร่วมกันดำเนินงานกันเป็นเครือข่าย ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาคณะนักวิชาการและทีมงานจากบริษัท ไบโอ-อะกริ จำกัด ได้ลงดำเนินการในพื้นที่แปลงเกษตรของโรงแรมสามพรานริเวอร์ไซค์ อำเภอสามพราน จ.นครปฐม โดยช่วยให้คำปรึกษาและการจัดการ เพื่อให้โรงแรมสามพรานริเวอร์ไซค์ มีการผลิตพืชผักและไม้ผลอินทรีย์ในพื้นที่ รวมทั้งยังได้เตรียมพื้นที่แปลงผลิตตามมาตรฐาน IFOAM ของสำนักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(มกท.) ซึ่งสามารถใช้เป็นแปลงสาธิต/ศูนย์เรียนรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจได้

sookjaiicm

ด้วยเหตุนี้ โครงการกลุ่มธุรกิจเชิงคุณค่าสามพรานจึงได้ร่วมกับบริษัท ไบโอ-อะกริ จำกัด ในการนำองค์ความรู้ระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์และกระบวนการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรต้นแบบมาใช้ถ่ายทอดและขยายผลให้กับกลุ่มเกษตรกรในอำเภอสามพานและเครือข่ายตลาดสุขใจ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคในพื้นที่ อ.สามพรานให้ดีขึ้น ด้วยการอบรมและพัฒนาศักยภาพให้กับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องมาตรฐานการผลิตพืชผักอินทรีย์ทั้งระบบ มีการเรียนรู้ระบบการผลิตที่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ อันจะทำให้กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอสามพรานเกิดการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากแบบเดิมที่ยังคงใช้สารเคมี มาเป็นการผลิตแบบอินทรีย์ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม ในการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน รวมทั้งมีการเชื่อมโยงและพัฒนาช่องทางการตลาดต่างๆ เพื่อให้เกิดการกระจายผลผลิตพืชผักอินทรีย์ ของเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมดำเนินการไปสู่การบริโภคของประชาชนทั้งในระดับบุคคล องค์กร และหน่วยงานต่อไป

วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์
วิสัยทัศน์
เป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตร ผู้นำแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรอย่างยั่งยืน ยกระดับสินค้าการเกษตรสู่สากล โดยศูนย์รวมอยู่ที่ ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์สุขใจ

sookjaitalad

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ระบบการผลิตพืชอินทรีย์แบบบูรณาการและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายให้มีความสามารถในการผลิตพืชอินทรีย์
  2. เพื่อฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรและยกระดับคุณภาพชีวิตของเครือข่ายเกษตรกรที่เข้าร่วมดำเนินงานให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ลดการใช้ และลดค่าใช้จ่ายจากการใช้สารเคมี มีรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายผลผลิตอินทรีย์ รวมทั้งมีสุขภาพที่ดีขึ้น
  3. เพื่อเชื่อมโยงและพัฒนาช่องทางตลาดในการกระจายผลผลิตอินทรีย์ของเครือข่ายเกษตรกร ไปจำหน่ายให้กับประชาชนในระดับบุคคลและองค์กร
  4. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่

กรอบแนวคิดการดำเนินโครงการ (Conceptual Framework)

sookjaiflow

ศูนย์พัฒนาเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ สุขใจ
21 หมู่ 2 ต.ยายชา อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110
โทร. 034-322 203 มือถือ 081-648 6307 และ 081-179 7189 โทรสาร 034-225203
e-mail: organic.sukjai@gmail.com

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น