ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งขึ้นโดยสืบเนื่องมาจากราษฎร หมู่ ๒ ตำบล เขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา น้อมเกล้าถวายที่ดิน ๒๖๔ ไร่ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๒ ต่อมาได้มีราษฎรถวายที่ดินเพิ่มเติมอีก ๔๙๗ ไร่ ผนวกกับที่ดินบริเวณสวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ รวม ๑,๒๔๐ ไร่เศษ
ผนวกกับพื้นที่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงพระราชทาน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ประมาณ ๖๕๕ ไร่ รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑,๘๙๕ ไร่ ดำเนินงานสนองพระราชดำริ ในด้านการศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาที่ดินเสื่อมโทรมให้กลับมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร
โดยดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ บริเวณพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ และหมู่บ้านรอบศูนย์ฯ วางแผนปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรและผู้สนใจสามรถมาชม ศึกษา ค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติมและนำไปปฏิบัติตามได้ เพื่อพัฒนาอาชีพ และพื้นที่ทำกินของตนให้เพิ่มผลผลิต มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมศิลปาชีพ หัตถกรรมพื้นบ้านเป็นอาชีพ
เสริมเพิ่มรายได้จากอาชีพหลักอีกทางหนึ่ง
แนวคิดและหลักการ : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มีหลักการสำคัญ ๆ ในการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้เป็นไปตามพระราชดำริ และบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนี้
หลักการที่หนึ่ง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความทุกข์ยาก เดือดร้อน ที่ราษฎรกำลังประสบ พระองค์พระราชทานพระราชดำรัสถึงความจำเป็นนี้ว่า “ถ้าปวดหัวก็คิดอะไรไม่ออก เป็นอย่างนั้นต้องแก้ไขการปวดหัวนี้ก่อน แต่ปวดหัว ใช้ยาแก้ปวด หรือยาอะไรก็ตามแก้ปวดหัวมันไม่ได้แก้อาการจริง แต่ต้องแก้ปวดหัวก่อน เพื่อที่จะให้อยู่ในสภาพที่คิดได้แล้วอีกอย่างก็คือ แบบ Macro นี้ เขาจะทำแบบรื้อทั้งหมด ฉันไม่เห็นด้วย อย่างบ้านคนอยู่ เราบอกบ้านนี้มันผุตรงโน้น ผุตรงนี้ ไม่คุ้มที่จะไปซ่อม เอาตกลงรื้อบ้านนี้ระเบิดเลย เราจะไปอยู่ที่ไหน ไม่มีที่อยู่ ต้องค้ำเสียก่อนแล้วค่อย ๆ ทำ จะไประเบิดหมดไม่ได้
หลักการที่สอง การพัฒนาต้องเป็นไปตามขั้นตอน ตามลำดับความจำเป็น และประหยัด : พระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้คำว่า ระเบิดจากข้างใน” นั่นคือทำให้ชุมชนหมู่บ้าน มีความเข้มแข็งก่อนแล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอก มิใช่การเอาความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชน หมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว ดังแนวพระราชดำรัสต่อไปนี้
” การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชน โดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจจะกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยะประเทศหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้ การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพ และตั้งตัวให้มีความพอกิน พอใจ ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงต่อไป โดยแน่นอนส่วนการถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นไปตามลำดับ ด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์ ”
หลักการที่สาม การพึ่งตนเอง : ต้องมุ่งพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพ และสามารถ “พึ่งตนเองได้” ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งซึ่งขออัญเชิญมา ความตอนหนึ่งว่า
…การเข้าใจถึงสถานการณ์ของผู้ที่เราจะช่วยเหลือนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การช่วยเหลือให้เขาได้รับสิ่งที่เขาควรจะได้รับตามความจำเป็นอย่าง เหมาะสม จะเป็นการช่วยเหลือที่ได้ผลดีที่สุด เพราะฉะนั้นในการช่วยเหลือแต่ละครั้งแต่ละกรณี จำเป็นที่เราจะพิจารณาถึงความต้องการและความจำเป็นก่อน และต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่เราจะช่วยให้เข้าใจด้วยว่าเขาอยู่ในฐานะอย่างไร สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างไร เพียงใด อีกประการหนึ่งในการช่วยเหลือนั้น ควรยึดหลักสำคัญว่า เราจะช่วยเขาเพื่อให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ต่อไป”
หลักการที่สี่ การส่งเสริมความรู้และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าควรที่จะสร้างเสริมสิ่งที่ชาวบ้านชนบทขาดแคลนซึ่งก็คือความรู้ในการทำมาหากิน การทำการเกษตรโดยให้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยทรงเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “ตัวอย่างของความสำเร็จ” และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฏรในชนบทมีโอกาสได้รู้ได้เห็นตัวอย่างของความสำเร็จนี้และนำไปปฏิบัติได้เอง จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาทดลอง วิจัยและแสวงหาความรู้ เทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่ราษฎร “รับได้” นำไป “ดำเนินการเองได้” และเป็นวิธีที่ “ประหยัด” เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฏรที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศนั้นๆ
หลักการที่ห้า การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติจะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาการเกษตร จึงทรงมุ่งที่จะให้มีการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศในระยะยาว พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ในการทำนุบำรุงปรับปรุงสภาพของทรัพยากร ธรรมชาติต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพที่มีผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากที่สุด ทั้งนี้ ก็เพื่อจะเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนสู่สภาพเดิมและยังได้ส่งเสริมให้ราษฏรรู้จักการใช้ทรัพยากรที่มี อยู่อย่างจำกัดอย่างประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุด ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อประโยชน์ในระยะยาว
หลักการที่หก การส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม : ด้วยในช่วงแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๐ – ๒๕๓๔) ปรากฏว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่สูงและรวดเร็ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้เปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นหลัก มีผลทำให้สังคมไทย เริ่มเปลี่ยนจากสังคมชนบทสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ความเจริญส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในเมืองหลักๆ ในภูมิภาคต่างๆ และรอบกรุงเทพมหานคร ในขณะเดียวกันได้ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริ ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว
การดำเนินงาน : นอกจากแนวคิดและหลักการ ที่ต้องดำเนินไปอย่างเป็นไปตามขั้นตอน โดยที่จะต้องทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งเสียก่อน แล้วมีการพัฒนาต่อไป ให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้ ขณะเดียวกันก็จะต้องอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความรู้เทคนิค วิชาการสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กันอย่างไรก็ตาม ในการดำเนินงาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น จะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมทางด้านภูมิศาสตร์และสังคมวิทยาของแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันด้วยเสมอ ดังพระราชดำรัสที่ขออัญเชิญมา ความตอนหนึ่งว่า
…การพัฒนาจะต้องไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศ ตามสังคมวิทยาคือนิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปช่วย โดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการ อะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
แนวทางและวัตถุประสงค์ : การจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัส ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๖ ความตอนหนึ่งว่า
เป็นการสาธิตการพัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึง ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ทุกด้านของชีวิตประชาชนที่จะหาเลี้ยงชีพในท้องที่จะทำอย่างไร และได้เห็นวิทยาการ แผนใหม่ จะสามารถที่จะหาดูวิธีการ จะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ”
“ด้านหนึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของศูนย์ศึกษาก็เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้า วิจัยในท้องที่ เพราะว่าแต่ละท้องที่ สภาพฝน ฟ้า อากาศ และประชาชนในท้องที่ต่างๆ กันก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน”
“กรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้าน ได้สามารถแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น ปรดองดองกัน ประสานกัน ตามธรรมดาแต่ละฝ่ายต้องมีศูนย์ของตน แต่ว่าอาจ จะมีงานถือว่าเป็นศูนย์ของตัวเอง คนอื่นไม่เกี่ยวข้อง และศูนย์ศึกษาการพัฒนา เป็นศูนย์ที่รวบ รวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรม กอง ทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านหา งานการส่งเสริมการศึกษามาอยู่ด้วยกัน ก็หมายความว่าประชาชนซึ่งจะต้องใช้วิธีการทั้งหลาย ก็สามารถที่จะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกันในที่เดียว กันเหมือนกัน ซึ่งเป็นสองด้านก็หมายถึงว่าที่สำคัญปลายทางคือ ประชาชนจะได้รับประโยชน์และ ต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่จะให้ประโยชน์”
จากการเรียนรู้พระราชดำรัสข้างต้น จึงสรุปได้ว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนามีแนวทางและวัตถุประสงค์ ได้ดังนี้ คือ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย แลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างนักวิชาการ นักปฏิบัติ และประชาชน พัฒนาแบบผสมผสาน ประสานงานระหว่างส่วนราชการ เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One stop service)
หน่วยงานภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ประกอบด้วย งานพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่ งานพัฒนาที่ดิน งานพัฒนาชุมชน งานเพาะชำกล้วยไม้ งานวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา งานโยธาธิการ งานส่งเสริมและผลิตภัณฑ์พืชสวน งานวิชาการเกษตร งานปศุสัตว์ งานส่งเสริมสหกรณ์ งานสวนพฤกษศาสตร์ และงานประมงสาธิต
ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน มีหน่วยงานทั้งสิ้น 11 หน่วยงานดังนี้
การบริการภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ประกอบด้วย
ศูนย์ศีกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
7 ม.2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120 โทรศัพท์ 038-599105-6,โทรสาร 038-599117
ค่าพิกัดที่ตั้งหน่วยงาน 13.753498, 101.502289
http://www.khaohinsorn.com/
ป้ายคำ : พึ่งตนเอง
เว็บไซต์นี้ให้ความรู้ดีมากครับ เป็นความรู้ที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนด้วย แต่ที่น่าเสียใจคือความรู้ดีๆนี้นำไปใช้ในการบ้านของผมไม่ได้ครับ555+