บ้านทุ่งนางครวญเป็นหมู่บ้านชาวอีสานที่ย้ายมาตั้งหลักแหล่งอยู่ในพื้นที่กลางป่าสมบูรณ์ ของตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพดเป็นหลัก ในช่วงเวลา ๓๐ ปี ที่ผ่านมา ใช้พื้นที่ในการเพาะปลูกไปหลายหมื่นไร่ พร้อมการใช้สารเคมีในการบำรุงพืชเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี แต่ยิ่งนานวันเข้าผลผลิตก็ตกต่ำลง แต่ปริมาณต้นทุนกลับเพิ่มสูงขึ้น สุดท้ายชาวบ้านกลับมีหนี้สินล้นพ้นตัว และยังเคยมีผู้เสียชีวิตจากการใช้สารเคมีอีกด้วย
“ผู้ใด๋คิดฟันป่าใหม่ ทำไร่ข้าวโพด เลิกเสียเด้อ” แม่เฒ่าผู้หนึ่งเอ่ยขึ้นในวงประชุม
“เจ้าอย่างเห็นแก่ตัวเด้อ หมู่เฮามาอยู่แถวนี้ ฟ้าฝนก็ดี ยิ่งฟันป่า ฝนจะบ่มี น้ำก็จะแห้งลง”
แม่เฒ่าคนเดิมพูดให้หลายคนได้คิดถึงสิ่งนี้ แม้จะเป็นคำพูดธรรมดา แต่กลับทำให้ผมรู้สึกถึงความเป็นจริงที่มิต้องแปลเลย
“บ่ไหวแล้วพี่น้อง ปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ลูกหลานเราซิตายเด๊”
“ถ้าไม่ฉีดยา ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี แล้วจะเฮ้ดได้บ่อหนอ”
“เฮาต้องทดลอง”
สิ้นเสียงของผู้ใหญ่บ้าน ก็มีชาวบ้านหลายคนอาสาที่จะร่วมกันทดลอง ด้วยความตั้งใจดี คิดดีของชาวบ้าน ทำให้คณะทำงานกองทุนเพื่อสังคม (Social Investment Project – SIF) เข้ามาสนับสนุนทั้งในด้านงบประมาณและองค์ความรู้ จึงได้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านทุ่งนางครวญ” เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นสถานที่ทดลองสาธิตการทำเกษตรธรรมชาติเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรธรรมชาติแบบพึ่งตนเองได้
ในความคิดของเกษตรกรทั่วไป มักถูกการปฏิวัติเขียวฝังรากให้ใช้สารเคมีอย่างชุ่มโชก เพื่อเร่งผลผลิตให้มากขึ้น มันทำให้ชาวบ้านมองไม่เห็นทางออกจากสิ่งเหล่านี้ได้เลย
“เราต้องเปิดสมอง บ่งหนองความคิด คืนชีวิตให้แผ่นดิน” ด้วยคำพูดของ อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร แห่งโรงเรียนชาวนา ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ทำให้ชาวบ้านทุ่งนางครวญ ก้าวทะลุกำแพงอันสูงใหญ่ มาทำการทดลองปลูกข้าว พืชผักชนิดต่างๆ โดยการพลิกแผ่นดิน ๑๕ ไร่ ที่เลวที่สุดให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เมื่อดินดีปลูกอะไรก็งาม จิตใจคนก็พลอยมีความสุขไปด้วย พืชผักที่ได้ก็แจกจ่ายกันกินในชุมชน
เมื่อมีข้าว มีผักกินแล้ว โจทย์ต่อมาก็คือ ข้าวโพดจะทำอย่างไรกันดี จึงเกิดแนวความคิด ที่จะใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก มาทดแทนสารเคมี ในแปลงทดลอง เมื่อได้ดำเนินการไปปรากฏว่าผลที่ได้ดีเกินคาด ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนลดลง เมื่อชาวบ้านเห็นประโยชน์กับสิ่งที่เกิดขึ้นก็เอาอย่างตามกัน ทำให้ขี้วัวขี้หมูที่เคยทิ้งขว้างไร้คนสนใจ กลายเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาลขึ้นมาทันที ชาวบ้านรวมกลุ่มกันมาผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพที่ศูนย์ฯ เพื่อใช้กันเองในชุมชนโดยมิต้องให้หน่วยงานไหนมารับรองคุณภาพ เพราะพวกเขาได้รับรองคุณภาพกันเองแล้ว
ล่วงมาถึง พ.ศ. ๒๕๔๖ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เข้ามาต่อยอดงาน ในขณะที่สมาชิกศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ได้ส่งเสริมและขยายแนวคิดไปสู่ชุมชนอื่นๆ ก็ได้มีแนวคิดเพิ่ม คือ การปลูกไผ่ เพื่อทดแทนพืชเชิงเดี่ยว เพราะไผ่จะช่วยป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รักษาความชุ่มชื่น อีกทั้งยังให้ผลในทางเศรษฐกิจที่ไม่ต้องลงทุนมาก มีหน่อไม้ไว้กิน มีไม้ไผ่ไว้ใช้ประโยชน์ ลดพื้นที่การปลูกข้าวโพด ข้อสำคัญยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศได้ด้วย
ป่าชุมชนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชุมชนเห็นความสำคัญ ชาวชุมชนได้ช่วยกัน หมายแนวเขตป่าหัวไร่ปลายนาให้เป็นบริเวณป่าชุมชน ได้ป่าชุมชนมา ๖ ป่า (ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติลำคลองงู) หลังจากหมายแนวเขตอุทยานแล้ว ได้ช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่ม พร้อมทั้งยังช่วยกันดับไฟป่าตลอดมาทุกปี
สิ่งต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นในบ้านทุ่งนางครวญ ล้วนได้เกิดมาจากการจุดประกายความคิดเพื่อลุกขึ้นมาพิสูจน์ตัวเองให้สังคมได้เห็นว่าชาวทุ่งนาวครวญ มิใช่เป็นผู้ทำลายธรรมชาติ หากแต่เพียงขออยู่อาศัยและรักษาธรรมชาติอย่างเกื้อกูลกันตลอดไป ดังคำที่ว่า “เสืออยู่ได้ ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้”
ซึ่งผมก็ได้เฝ้าดูและร่วมคิด ร่วมทำกับพี่น้องชาวบ้านทุ่งฯ ในการพิสูจน์ตัวเองครั้งนี้ตลอดมา แต่จะเป็นเช่นนี้ตลอดไปหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องชาวทุ่งนางครวญ จะต้องเป็นผู้กำหนดเอง
การทำกสิกรรมธรรมชาติมีหัวใจสำคัญ ๒ อย่างคือ หนึ่ง ไม่ใช้สารเคมี และสอง ไม่เปลือยดิน
พงษ์ศักดิ์เริ่มต้นเล่าถึงวิธีการทำกสิกรรมธรรมชาติให้ฟัง ในระหว่างพาเดินไปดูแปลงผักซึ่งมีลุงพล ลำเลา กับป้าจุฬา ลำเลา กำลังก้มๆ เงยๆ รอบแปลงผักอยู่ก่อนแล้ว พอเห็นคนฟังทำหน้างงเมื่อได้ยินคำว่าไม่เปลือยดิน พงษ์ศักดิ์ก็รีบอธิบายต่อทันที
คนโบราณเปรียบดินเหมือนแม่พระธรณี การเปลือยดินก็เหมือนจับแม่ไปยืนตากแดดแก้ผ้า เมืองไทยเป็นเมืองร้อนชื้น จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อดินชอบอากาศร้อนชื้น แต่คนส่วนใหญ่เวลาปลูกผักก็มักจะถากหญ้าจนเตียนเปิดดินให้โล่ง พอดินโดนแดดเต็มๆ จุลินทรีย์ที่อยู่บนผิวดินจะลงไปอยู่ด้านล่างหมด ทีนี้พอถึงหน้าหนาวก็จะมีปัญหาว่าจุลินทรีย์ก็จะไม่ขึ้นมาที่ผิวดิน เพราะอยู่ใต้ดินอบอุ่นกว่า
จริงๆ แล้วจุลินทรีย์ก็คือแม่พระธรณี ให้นึกถึงรากไทรเจาะหิน เคยสงสัยหรือเปล่าว่าทำไมรากไทรเจาะหินได้ จริงๆ แล้วต้นไม้หรือรากพืชไม่ได้เป็นตัวหาอาหารเองอย่างที่เราเคยได้ยินมา บริเวณปลายรากของพืชทุกชนิดจะมีจุลินทรีย์อยู่รอบๆ จุลินทรีย์พวกนี้ทำหน้าที่ย่อยธาตุอาหารอินทรียวัตถุต่างๆ ที่อยู่โดยรอบ และนี่คือคำตอบว่าทำไมรากไทรถึงเจาะหินได้ ดังนั้นที่มักพูดกันว่า การทำให้ดินสมบูรณ์คือ จริงๆ แล้วก็คือทำให้ดินมีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์นั่นเอง
พงษ์ศักดิ์เปรียบเทียบกับคนที่ได้กินอาหารครบทั้ง ๕ หมู่ ก็จะมีร่างกายที่สมบูรณ์เช่นกัน หากเกิดแผลก็จะมีน้ำเหลืองออกมาทำให้เลือดไหลหยุดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับรากพืชหากเจริญเติบโต ยาว และแข็งแรง จุลินทรีย์ก็จะทำงานได้เต็มที่ เมื่อมีหนอนมากัดใบ พืชก็จะหลั่งสารชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายยางมีฤทธิ์เป็นพิษต่อหนอน ถ้าหนอน มากัดก็จะหยุดกินทันที แต่กระบวนการเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากมีการใช้สารเคมี
จากเรื่องดิน พงษ์ศักดิ์อธิบายต่อว่า หลักสำคัญของกสิกรรมธรรมชาติที่ต้องคำนึงอีก ๒ อย่างคือ พืช และแมลง เป็นการสร้างระบบนิเวศที่สมดุลย์ในแปลงผัก เพราะการปลูกพืชหลายชนิดจะทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแหล่งอาหารที่หลากหลายของแมลงจึงมีแมลงหลายชนิดมาอาศัยอยู่ร่วมกัน ในจำนวนแมลงเหล่านี้จะมีทั้งแมลงที่เป็นศัตรูพืชและแมลงที่เป็นศัตรูธรรมชาติที่จะช่วยควบคุมแมลงศัตรูพืชให้คล้ายคลึงกับธรรมชาติในป่าที่อุดมสมบูรณ์นั่นเอง
เมื่อถามว่า แล้วเขาสร้างระบบนิเวศนี้ได้อย่างไร พงษ์ศักดิ์บอกว่า ต้องเริ่มจากทำความรู้จักกับหนอนก่อน หนอนเป็นสัตว์ไม่มีตา ความสามารถในการมองเห็นมีแค่ ๒๐ ๒๕% หนอนจึงใช้วิธีการดมกลิ่นเพื่อหาอาหารกิน
เคยสังเกตไหมว่าหนอนที่กินไผ่ก็จะไม่กินพืชชนิดอื่น หนอนที่กินกะหล่ำปลีก็จะไม่กินต้นหอม เพราะพ่อแม่ของหนอนจะสั่งสอนลูกมันว่า เกิดมาเป็นหนอนกะหล่ำปลีอย่าริอาจไปกินอย่างอื่น จริงๆ แล้วก็คือการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
ดังนั้น เมื่อรู้แล้วว่า หนอนมองไม่เห็น ใช้วิธีการดมกลิ่นหาอาหาร และหนอนกินพืชชนิดใดก็จะกินพืชชนิดนั้นตลอดไปชั่วชีวิต ทีนี้เขาก็รู้แล้วว่าจะเล่นงานหนอนอย่างไรไม่ให้มากินผักของเขา
พอหนอนออกจากไข่มาเป็นตัว ตามที่มันถูกสั่งสอนมาว่าต้องกินแต่กะหล่ำปลีเท่านั้น แต่เนื่องจากตามองไม่เห็น ก็ใช้วิธีดมกลิ่น พอได้กลิ่นกะหล่ำปลีมันก็จะไปตามทิศทางที่ได้กลิ่นทันที จากจุดอ่อนนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้หนอนมากินกะหล่ำปลีก็ใส่กลิ่นอื่นลงไปในต้นกะหล่ำปลี
กลิ่นที่จะนำใส่ในต้นกะหล่ำปลีนั้น ส่วนมากจะใช้สมุนไพร แต่สิ่งที่ต้องจำให้ได้ก็คือ สมุนไพรไม่ได้เป็นตัวฆ่าหนอน หน้าที่ของมันคือเปลี่ยนจากกลิ่นกะหล่ำปลีเป็นกลิ่นอื่นแทน
อาจใช้ยาสูบ ใบกะเพราะ หรือกลิ่นอื่นๆ มารดน้ำในแปลงกะหล่ำปลี หรือเป็นกลิ่นอะไรก็ได้ บางครั้งเคยเอาสปรย์ระงับกลิ่นกายของผู้ชายมาฉีด หนอนก็ไม่มากินเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าเมื่อเปลี่ยนกลิ่นพืชแล้วหนอนจะไม่มากินตลอดไป หนอนจะงงกับกลิ่นพืชเต็มที่ไม่เกิน ๓ วัน เพราะหลังจากนั้น หนอนจะใช้วิธีเอาตัวเข้าสีกับใบพืชเพื่อให้เซลล์ของพืชแตก พอเซลล์พืชแตกกลิ่นพืชที่แท้จริงจะออกมา ดังนั้น พอครบ ๓ วันก็จะต้องเปลี่ยนกลิ่นอีก เพื่อให้หนอนงงอีก แต่วิธีการนี้ใช้เต็มที่ได้ไม่เกิน ๖ วัน ซึ่งถึงตอนนั้นพืชก็โดนกินไปแล้วประมาณ ๕๐ %
พงษ์ศักดิ์บอกว่า ยุทธวิธีการเปลี่ยนกลิ่นพืชไม่ได้มีเป้าหมายแค่ทำให้หนอนงงจนเดินมากินกะหล่ำปลีไม่ถูกเท่านั้น แต่จริงๆ เป็นการถ่วงเวลาเพื่อให้ เพื่อน มาฆ่าหนอน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการซ่อนกลไว้อีกชั้นหนึ่ง
เปรียบเทียบกับบ้านที่ต้มเหล้า จะมีคนไปหาทุกวัน วันนี้มีไม่มีไม่รู้แต่ไปก่อนเผื่อจะได้กิน เราก็ต้องหาวิธีทำให้แปลงผักของเราเหมือนโรงงานต้มเหล้า เพื่อให้เพื่อนของเรามากินหนอนมาทุกวัน
เพื่อน ที่พงษ์ศักดิ์พูดถึงมีหลายชนิด เช่น นก แต่เพื่อนของเขาตัวนี้ก็มีความสามารถกินหนอนได้จำกัด หากหนอนซุกลึกเข้าไปด้านในของใบกะหล่ำปลี นกก็ตามเข้าไปกินไม่ได้ ทีนี้ก็ถึงคราวที่เพื่อนอีกชนิดหนึ่งของเขาต้องออกโรงแล้ว คือ แมลง นั่นเอง
เราต้องรู้ก่อนว่า แมลงเพื่อนของเรานี้ต้องการอะไรบ้าง โดยสิ่งที่เพื่อนต้องการมากที่สุดคือ สี การปลูกดอกไม้ในแปลงผักก็เพื่อให้ตาของแมลงเพื่อนเราสะท้อนสีของดอกไม้
พงษ์ศักดิ์บอกว่า สีที่ดีที่สุดคือสีฟ้า โดยดอกไม้ที่มีสีฟ้าก็เช่น ดอกอัญชัน รองลงมาคือสีเหลือง เช่น ดอกดาวเรือง ดาวกระจาย หรือทานตะวัน เป็นต้น
แปลงปลูกผักที่นี่มีป่าล้อมรอบ ป่าเหล่านี้ก็คือบ้านของแมลงเพื่อนของเรา ประเด็นก็คือว่า ในป่าก็มีของกินดีอยู่แล้ว เพื่อนเราก็คงไม่อยากจะออกมาหากินข้างนอก สีของดอกไม้ในแปลงผักจะช่วยล่อให้แมลงออกมา
และนอกจากสร้างโรงต้มเหล้าแล้ว พงษ์ศักดิ์บอกว่าเขาต้องสร้างโรงแรมให้แมลงเพื่อนของเขาได้พักผ่อนไม่ต้องบินกลับเข้าไปในป่าให้เหนื่อย
ก็เหมือนคนนั่นแหล่ะ พอได้กินเหล้าติดใจก็ไม่อยากกลับบ้าน เราก็ต้องหาที่พักให้เขานอน แต่ถ้าไม่มีที่พักพอกินเสร็จก็กลับไปนอนในป่า พรุ่งนี้กว่าจะบินมาถึงหนอนก็กินไปเยอะแล้ว ก็ต้องหาบ้านให้เขานอนในแปลงผัก โดยการจำลองป่ามาไว้ในแปลง ถ้าเขามาอยู่ที่นี่ หมายความว่าพอเช้าขึ้นมาเขาก็กินหนอนได้เลย
นอกจากนกและแมลงแล้ว พงษ์ศักดิ์บอกว่า เพื่อนของเขายังมีอีกหลายชนิด เช่น แมลงปอ ตั๊กแตน แมงมุม ตัวห้ำ ตัวเบียน และเต่าทอง
อย่างไรก็ตาม หากจะอาศัยเพื่อนของเขาให้กำจัดหนอนเพียงอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอ พงษ์ศักดิ์ยังมี วิธีกล เป็นแผนสำรอง
หนอนจะมีนิสัยกินเป็นเส้นตรง ไม่เลี้ยวกลับไปมา วิธีกลก็คือ การปลูกพืชสลับแปลง โดยเมื่อหนอนเจอกะหล่ำปลีในแปลงแรกก็ปล่อยให้กินไป แต่แปลงต่อมาก็เปลี่ยนเป็นพืชชนิดอื่น หนอนก็ไม่สามารถกินต่อไปได้ เพราะไม่ใช่กะหล่ำปลีอย่างที่พ่อแม่มันสอนมาให้กิน
วิธีการที่นำมาใช้อีกอย่างคือ สร้างกำแพงป้องกันตั้งแต่ด้านนอกแปลงผัก
หากไร่ข้างๆ ปลูกผักกาดขาว ใช้ยาฆ่าแมลงเต็มที่ ทั้งหนอนทั้งแมลงระบาดเต็มไปหมด ที่นี้ถ้ามันจะเคลื่อนมากินแปลงเรา ถ้าเราปลูกตะไคร้หอมไว้ ทั้งกลิ่นฉุนและใบที่คม จะทำให้หนอนไม่สามารถผ่านกำแพงนี้มาได้เป็นการยับยั้งการระบาดของแมลงจากแปลงข้างเคียงได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หากใช้ต้นกล้วยเป็นกำแพง ก็จะช่วยยับยั้งสารเคมีจากที่อื่นที่จะเข้ามาในแปลง เพราะจะปะทะกับต้นกล้วยก่อน
ตลอดระยะเวลาเกือบชั่วโมงที่เดินรอบแปลงผักไร้สารภายในศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านทุ่งนางครวญ พงษ์ศักดิ์ยังได้บอกเล่ากลวิธีในการหลอกล่อทั้งเพื่อนและศัตรูของเขาอีกมากมาย พร้อมๆ กับการแหวกฟางในแปลงผักและหงายใบพืชเพื่อแนะนำให้รู้จัก ตัวจริง ของเพื่อน และหากเขาพบเพื่อนของเขาหล่นลงมาจากใบพืช เขาก็จะค่อยๆ หยิบเพื่อนของเขากลับไปวางไว้ที่เดิมอย่างทนุถนอม
พงษ์ศักดิ์อธิบายในตอนท้ายว่า ความรู้ในเรื่องการทำกสิกรรมธรรมชาติที่เขามีอยู่ในวันนี้ มาจากการพยายามศึกษาเรียนรู้ และไม่ยอมแพ้ต่อปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ไม่ท้อถอยแม้ว่าหลายครั้งที่ผักในแปลงที่เขาปลูกไว้ตายยกแปลง โดยเฉพาะในช่วง ๘ เดือนแรกที่เขาเริ่มต้นปลูกผักในศูนย์กสิกรรมธรรมชาติแห่งนี้ เขาไม่เคยได้กินผักที่ปลูกซ้ำแล้วซ้ำเล่าเลย เพราะเขารู้ว่า ดินที่ถูกทำลายนานเป็นสิบปี การจะฟื้นฟูดินไม่สามารถทำได้ในวันเดียว
ชาวบ้านบางคนบอกว่า ปลูกผัก ๘ เดือนไม่ขึ้น บ้าหรือเปล่า ก็ปลูกขึ้นมาได้หน่อยเดียวหนอนกินเรียบ พักไว้แป๊บนึง ก็ปลูกอีก คราวนี้ยืดได้ ๑๐ กว่าวัน ตอนหลังมาได้ประมาณหนึ่งเดือน ที่ต้องทำอย่างนี้เพื่อให้เพื่อนเรามา การฟื้นฟูต้องค่อยๆ ทำ ทีนี้พอปลูกไปได้ถึงเดือนที่แปด ผักที่ปลูกไว้ก็เริ่มได้กินแล้ว ต้นไม้ก็เริ่มมีฤทธิ์ที่จะต่อสู้
ความพยายามศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับระบบธรรมชาติที่อยู่รอบตัว นอกจากจะทำให้เขามีเพื่อนมากขึ้นแล้ว การดูแลเอาใจใส่เพื่อนอย่างใกล้ชิดให้เพื่อนสามารถอยู่ได้อย่างสุขสบายในแปลงผักของเขา วันนี้เพื่อนก็กำลัง ตอบแทนเขาด้วยเช่นกัน
ไม่ใช่แค่การทำให้เขามีผักปลอดสารพิษกินในแต่ละมื้อเท่านั้น แต่ยังทำให้ชาวบ้านทุ่งนางครวญและหมู่บ้านใกล้เคียงได้เห็นว่า การทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีสามารถเป็นจริงได้ เพราะถึงแม้วันนี้ยังไม่มีชาวบ้านทุ่งนางครวญหรือหมู่บ้านใกล้เคียงคนใดเปลี่ยนไร่ข้าวโพดมาทำเกษตรธรรมชาติแบบเขา แต่เพียงแค่ชาวบ้านทุ่งนางครวญและหมู่บ้านใกล้เคียงรู้ว่า พวกเขาสามารถหาซื้อผักปลอดสารพิษได้ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านทุ่งนางครวญ เพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านมองเห็นตัวตนของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านทุ่งนางครวญ ซึ่งเท่ากับว่าเริ่มเห็นด้วยกับแนวทางเกษตรธรรมชาติ หัวใจสำคัญของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านทุ่งนางครวญ
และท้ายที่สุด พงษ์เชื่อมั่นว่า วันนี้เมล็ดพันธุ์การทำเกษตรธรรมชาติจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านทุ่งนางครวญได้ถูกวางไว้ในใจของชาวบ้านแล้ว แม้อาจจะต้องรออีกหลายปีกว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะเติบโต แต่วันนั้น ต้องมาถึงอย่างแน่นอน เหมือนกับที่เขาเคยเฝ้ารอจนเมล็ดพันธุ์ผักในแปลงไร้สารของเขาสามารถเติบโตขึ้นมาได้ในที่สุด
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านทุ่งนางครวญ สำนักงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
ที่มา
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ป้ายคำ : ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ