ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก

15 กันยายน 2557 แหล่งเรียนรู้ 0

ศูนย์การเรียนรู้ ภูมิปัญญาชาวบก เป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเน้นการใช้ทุนทางธรรมชาติการเกษตรในวิถีชีวิตของชุมชนที่เกี่ยวเนื่องกับ โหนด-นา-เล ของคนบนคาบสมุทรสทิงพระ ทั้ง ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรบุคคล ที่เป็นภูมิปัญญาของชุมชน ชาวบก ที่สั่งสม และสืบทอดกันมานานหลายชั่วคน โดยการรวมกลุ่มกันเพื่อ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของท้องถิ่น ให้เป็น เครื่องอุปโภคบริโภค โดยยึดหลัก ภูมิปัญญาไทย เศรษฐกิจแบบพอเพียง

อำเภอสทิงพระ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒๐ ตารางกิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองเป็น ๑๑ ตำบล ๗๙ หมู่บ้าน โดยพื้นที่ประมาณ ๓ ใน ๔ ( ประมาณ ๓๓,๕๕๐ ไร่ ) เป็นพื้นที่ทำนา,ไร่นาสวนผสม และทำตาลโตนด เนื่องจากมีต้นตาลโตนดหนาแน่นมากทางฝั่งตะวันตกของถนนสายหัวเขาแดง ระโนด ประมาณ ๑ ล้านกว่าต้น ซึ่งนับว่ามีจำนวนต้นตาลโตนดมากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยและโดยเฉพาะอำเภอสทิงพระมีการใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของ ต้นตาลโตนด ทั้ง ราก ใบ กาบ ทาง งวง ผล จาว และลำต้น ควบคู่กับการทำนา ปัจจุบันมีการทำนากุ้งบ้างเล็กน้อย แถบริมฝั่งทะเลสาบสงขลา และฟาร์มเพาะพันธุ์แถบริมทะเลอ่าวไทย อาชีพส่วนใหญ่ของประชากรอำเภอสทิงพระ ยังคงอยู่กับการทำนา ทำการแปรรูปตาลโตนด ทำประมง เลี้ยงสัตว์ และทำไร่นาสวนผสม

choabogsad

การพัฒนาประเทศไทยในระยะศตวรรษที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาแบบทุนนิยมที่ถ่ายโอนทรัพยากรออกจากชุมชน จากหมู่บ้าน เพื่อเลี้ยงดูเมืองและเพื่อส่งออกต่างประเทศ เป็นการพัฒนาโดยทุนนิยมแบบที่มุ่งเพิ่มประสิทธิผลในกิจการอุตสาหกรรม ผลของการพัฒนาจึงตกเป็นของคนเพียงกลุ่มเดียว ชุมชนเมืองกับชนบทจึงเกิดความแตกต่างกันมาก เกิดความเจริญเป็นแบบกระจุก ในขณะที่ทรัพยากรของชุมชนในชนบทถูกทำลายไปเรื่อยๆ การพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมแบบที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาแต่เพียงส่วนเดียว คือส่วนหัว ละทิ้งส่วนล่าง คือชุมชนในชนบท ซึ่งอันประกอบด้วยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

choaboghong

ในการพัฒนาแผนใหม่ควรสนับสนุนให้มีความเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยง และช่วยเหลือกันเองในระดับท้องถิ่น รวมกลุ่มกันทำอาชีพและขยายเป็นเครือข่ายในระดับชุมชน สร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องอาชีพ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชองชุมชน โดยเฉพาะอาชีพสาขาการเกษตรและสาขาที่เกี่ยวเนื่อง อำเภอสทิงพระมีทุนจากธรรมชาติในพื้นที่นาและทะเลอันสมบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่จึงพึ่งพาทุนจากธรรมชาติในท้องถิ่น และภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาในการประกอบอาชีพ เลี้ยงสัตว์ ทำนา หาปลา และแปรรูปผลผลิตจากตาลโตนด

โดยวัตถุประสงค์ของกลุ่มฯ ที่ว่า

  • เน้นการพึ่งพิงพึ่งพาในชุมชนร่วมลงทุน ร่วมเป็นเจ้าของ และร่วมดำเนินการ
  • ใช้ภูมิปัญญาของชุมชนเป็นหลัก
  • ผลิตโดยใช้ทุนของชุมชน และทรัพยากรของชุมชนเป็นฐาน
  • สามารถบูรณาการใช้กับชีวิตจริง
  • หยิบยกภูมิปัญญา พัฒนาด้วยหลักวิชาการ
  • มีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญ
  • ก้าวสู่การสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมชุมชน

กิจกรรมสำคัญ

  • กิจกรรมการสำรวจ รวมรวบตำรับอาหาร และการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารพื้นบ้าน(เครื่องแกงทำมือและขนมพื้นบ้าน) รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

choabogchai

  • กิจกรรมสัมมนาปราชญ์ และนักวิชาการจากคณะอุตสาหกรรมการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ เครือข่ายนักโภชนาการจาก รพ.สทิงพระ ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจ เรื่องอาหารพื้นบ้าน (เครื่องแกงทำมือและขนมพื้นบ้าน) รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

choabogteam

  • กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสังเคราะห์ข้อมูลอาหารพื้นบ้าน (เครื่องแกงทำมือและขนมพื้นบ้าน) และจัดทำตำรา-เอกสารและเอกสารออนไลน์ผ่านเว็บไซต์เกี่ยวกับขนมพื้นบ้านอาหารพื้นถิ่นรอบลุ่ม

choabogdek

  • ทะเลสาบสงขลาโดยเฉพาะเน้นวิถี โหนด นา เลรอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา การผลักดันการใช้ขนมพื้นบ้านในศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 10 แห่ง

ที่ทำการ ศูนย์การเรียนรู้ ภูมิปัญญาชาวบก
ตั้งอยู่ที่ ๗/๔ หมู่ที่ ๗ ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ๙๐๑๙๐
หมายเลขโทรศัพท์ ๐๗๔-๓๙๗-๑๔๙ และ ๐๘-๗๙๓๑-๒๓๒๕

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น