ศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลข่าวสารความรู้ของชุมชนที่จะนำไปสู่การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้สำหรับประชาชน ในชุมชน เป็นแหล่งเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรม ค่านิยม และเอกลักษณ์ของชุมชน อีกทั้งเป็นแหล่งบริการชุมชนด้านต่าง ๆ เช่น การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการเรียนรู้ ของชุมชน โดยเน้นการกระบวนการเรียนรู้เพื่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม ก่อให้เกิดชุมชนแห่ง เรียนรู้ และมุ่งการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง เป็นศูนย์ฯ ของประชาชน ที่ดำเนินการโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
จากความหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า ศูนย์เรียนรู้ชุมชนในความคาดหวังของกรมการพัฒนาชุมชน ไม่ใช่ศูนย์ฝึกอบรมประจำหมู่บ้านที่รอรับการนัดหมายจากวิทยากรภายนอก แต่จะเป็นสถานที่ที่จะสร้างความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับเรื่องราวของเขาเองเป็นสำคัญ
หลักการสำคัญของศูนย์เรียนรู้ชุมชน
- เป็นแหล่งเรียนรู้ทุกด้าน ทุกรูปแบบไม่เน้นการเรียนการสอนในห้องเรียน
- เป็นศูนย์กลางที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ ค้นคว้าหาความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้และ
- ประสบการณ์ รวมทั้งการพบปะ สังสรรค์ เพื่อสร้างความเข้าใจ ความร่วมมือในการพัฒนาตนเองและชุมชน
- เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน
ภารกิจของศูนย์เรียนรู้ชุมชน
- จัดให้มีกิจกรรมการเรียนรู้ การถ่ายทอด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและการเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ของประชาชนในชุมชน
- เป็นศูนย์รวมของข้อมูล เช่น ข้อมูล จปฐ. กชช.2ค.แหล่งน้ำ กลุ่มอาชีพ ฯลฯ รวมทั้งข่าวสาร สาระความรู้ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เท่าทันสถานการณ์โลก
- รวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน องค์ความรู้ที่มีอยู่กระจัดกระจายในชุมชน และจัดการให้เป็นหมวดหมู่ มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม ที่ประชาชนสามารถเข้าไปสืบค้นศึกษาและ เรียนรู้ได้ทุกเวลา
- เป็นศูนย์กลางในการจัดการความรู้ ที่ดำเนินการโดยประชาชนและเพื่อประชาชน
- เป็นศูนย์ประสานและบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ภาคประชาชน ได้แก่ ผู้นำ กลุ่ม/องค์กร เครือข่าย ภาคเอกชน และภาคีการพัฒนาภาครัฐ
- เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน เป็นสถานที่ที่มีโครงสร้างเป็นอาคาร หรือสถานที่ใด ๆ ก็ได้ ที่มีองค์ความรู้ สามารถให้การเรียนรู้แก่ประชาชนที่ต้องการความรู้ สามารถเข้าถึงได้
องค์ประกอบศูนย์เรียนรู้ชุมชน
1) วิธีการก่อเกิด
ศูนย์เรียนรู้ชุมชน จะเกิดขึ้นได้ต้องเป็นความต้องการของประชาชนในชุมชน เพราะจะเป็นสมบัติของชุมชน จึงควรนำแนวคิดเข้าเวที ประชุมประชาคมของหมู่บ้าน เผยแพร่ความคิด โน้มน้าวสร้างการยอมรับ และชี้ให้เห็นความสำคัญของการมีแหล่งเรียนรู้ของชุมชน การจัดเก็บองค์ความรู้ ประวัติชุมชน และภูมิปัญญาของชุมชนอย่างเป็นระบบ การแสดงข้อมูลข่าวสารของชุมชนให้ได้เรียนรู้กันอย่าง ทั่วถึง รวมทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สม่ำเสมอ โดยเริ่มจากการจัดระเบียบแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในชุมชน และให้เป็นไปตามกำลังที่ชุมชนจะสามารถดำเนินการได้ อีกทั้งให้มีขอบเขต และลักษณะตามความเห็นของชุมชน
2) โครงสร้าง ของศูนย์เรียนรู้ชุมชน ประกอบด้วย
คณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนจากผู้นำชุมชน กลุ่ม/องค์กร เครือข่ายองค์กรชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน อาสาสมัคร ฯลฯ โดยมาจากการคัดเลือกของชาวบ้านเอง และชาวบ้านให้การยอมรับ ซึ่งคณะกรรมการจะร่วมมือกันวางแผน และดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ที่ได้ร่วมกันกำหนด เพื่อระดมพลังให้เกิดการเรียนรู้และบริหารจัดการในศูนย์เรียนรู้ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
- ที่ปรึกษา เป็นภาคีการพัฒนาภาครัฐ เช่น พัฒนาชุมชน การศึกษานอกโรงเรียน เกษตร สาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ระเบียบข้อบังคับ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้จัดทำขึ้นที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารศูนย์ฯ
- สถานที่ เล็กใหญ่ไม่สำคัญ อาจจะอยู่ในห้องของอาคาร อบต. บ้านผู้ใหญ่บ้าน บ้านผู้นำ บ้านปราชญ์ชาวบ้าน ศาลาวัด ใต้ต้นไม้ ศาลากลางบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ให้พบปะ ประชุม ทำงานกันได้ตลอดเวลา ให้เป็นสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัวกัน เพื่อการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องหางบประมาณมาก่อสร้างศูนย์ใหม่
- การบริหารจัดการศูนย์ฯ คณะกรรมการฯ ที่ได้รับการคัดเลือก มีการบริหารจัดการเพื่อให้ศูนย์ฯ สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม
- งบประมาณ เพื่อพัฒนาคณะกรรมการของศูนย์เรียนรู้ชุมชนให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน
โครงสร้างทั้งหมดนี้ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นมาครบถ้วนในระยะเริ่มแรก ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมในแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งอยู่ในบทต่อไป
3) กิจกรรมการเรียนรู้ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
3.1 สถานที่จัดกิจกรรมเรียนรู้ อาจดำเนินการได้ทั้งในอาคารศูนย์ฯ และนอกอาคารศูนย์ฯ โดยมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน เช่น บ้านปราชญ์ชาวบ้าน ในไร่นา เพื่อสาธิตกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ
3.2 กิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ การเรียน/การสอน การจัดการความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาติพันธุ์ ขนบประเพณี วัฒนธรรม การรับความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน การจัดเวทีประชาคมเพื่อการเรียนรู้และการตัดสินใจร่วมกัน การเรียนรู้ผ่าน E-Learningการสาธิต การจัดนิทรรศการ การจัดสัมมนา อภิปราย ฯลฯ
4) เนื้อหาสาระข่าวสารความรู้ ประกอบด้วย
4.1 ข้อมูล ได้แก่ ข้อมูล จปฐ. กชช.2ค ทะเบียนผู้นำ กลุ่ม/องค์กร ข้อมูลผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น อัตลักษณ์ของชุมชน แผนชุมชน โครงการกิจกรรม ฯลฯ
4.2 ข่าวสาร (สารสนเทศ) ได้แก่ *สารสนเทศชุมชน 13 องค์ประกอบ ได้แก่ ประวัติหมู่บ้าน แผนที่ตั้ง ลักษณะภูมิประเทศ (ภูมิอากาศ/ฤดูกาล) ลักษณะของประชากร (อัตราความหนาแน่น/โครงสร้างประชากร) ลักษณะการประกอบอาชีพของชุมชน (เกษตร/อุตสาหกรรม/รับจ้าง ฯลฯ) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของหมู่บ้าน ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของหมู่บ้านศิลปะ/วัฒนธรรม/ภูมิปัญญาของหมู่บ้าน สถานที่ท่องเที่ยว/สถานที่บริการ การคมนาคม(การเดินทางไปยังหมู่บ้าน) ประเพณี/เทศกาลประจำปี ทักษะ/ฝีมือ/แรงงานของหมู่บ้าน อื่น ๆ
4.3 ความรู้ ได้แก่
ความรู้ด้านวัฒนธรรม การประกอบอาชีพ/ผลิตภัณฑ์ชุมชน
องค์ความรู้ที่ชุมชนต้องการ เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ชุมชน ความรู้ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ความรู้ข่าวสารจากภายนอก
เป้าหมายการเรียนรู้และพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน
- ชุมชนอยู่ดีมีสุขสมดุล/มั่นคง/ยั่งยืน
- ศูนย์การเรียนรู้อยู่ในชุมชน
- ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง
- แหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
- ขยายหมู่บ้านศูนย์เรียนรู้ชุมชนในอำเภอ/จังหวัด/ต่างจังหวัด/ต่างประเทศ/อนุภมิภาค/ภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก
กระบวนการเรียนรู้ยึดหลักอริยสัจ/เศรษฐกิจพอเพียง
- ศึกษาปัญหาตามต้องการ (พอประมาณ)
- ศึกษาสาเหตุปัญหา (มีเหตุผล)
- กำหนดทางแก้/มีเหตุผล/แผนฯ
- การแก้ไขปัญหา ภูมิคุ้มกันที่ดี การเรียน/ปฏิบัติจริง
หลักการจัด กิจกรรม
- ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
- เอาชุมชนเน้นฐาน
- เอาวิถีชีวิตเป็นโจทย์/เนื้อหา
- เรียนรู้/ปฏิบัติจริง/ใช้ได้จริง
- บูรณากิจกรรมการเรียนกับวิถีชีวิต
- ยึดหลักร่วมคิด/ตัดสินใจ/เรียนรู้/ปฏิบัติจริง/รับผลประโยชน์/ประเมินผล/ปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
- ภาคีเครือข่ายร่วม/ส่งเสริม
- ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง
กิจกรรมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- การลดรายจ่าย โดยได้ปลูกผัก การลดสุรา รณรงค์การใช้รถยนต์คันเดียวกัน หากไปทางเดียวกัน และการส่งเสริมการใช้รถจักรยาน เพื่อประหยัดพลังงาน รวมทั้งการลดการใช้พลังงาน อาทิเช่น ใช้ฟืน ถ่านในการประกอบอาหาร
- การเพิ่มรายได้ โดยมีอาชีพเสริม ซึ่งปลูกผัก และเลี้ยงหมู วัว ไก่ ปลา ไว้เพื่อบริโภคและหากผลผลิตเหลือก็จะจำหน่าย รวมทั้งการใช้ปุ๋ยชีวภาพ การรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งกลุ่มอาชีพเลี้ยงโค และการใช้เศษวัสดุต่าง ๆ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ (นวัตกรรม) เช่น การสร้างโรงสีชุมชน การจัดทำปุ๋ยหมัก/ชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต โดยเริ่มจากการแจกจ่ายให้คนในครัวเรือนและชุมชน
- การประหยัด
สนับสนุนกลุ่มอาชีพต่าง ๆ
การรวมกลุ่มเลี้ยงสุกรแบบครบวงจร โดยใช้มูลสุกรเป็นปุ๋ย เพื่อใส่พืชไร่ และลดมลพิษ
- การเรียนรู้
มีการถ่ายทอดความรู้หลังจากอบรมให้ชาวบ้านรู้ และมีการใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่น การเรียนรู้เรื่องการจัดทำปุ๋ยชีวภาพ การจัดทำบัญชีครัวเรือนทุกครัวเรือน จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สนับสนุนการเกษตรเพื่อเป็นต้นแบบของตำบล และการใช้เศษวัสดุต่าง ๆ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ (นวัตกรรม) เช่น การจัดทำปุ๋ยหมัก/ชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต โดยเริ่มจากการแจกจ่ายให้คนในครัวเรือนและชุมชน
- การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
- การเอื้ออารีต่อกัน โดยส่งเสริมความสัมพันธ์กัน ดังนี้
รวมกลุ่มเพื่ออนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมของตำบล โดยสนับสนุนการแห่ต้นเทียนพรรษาของตำบลเป็นประจำทุกปี การปฏิบัติธรรม การทำบุญเลี้ยงพระ การเดินเทิดพระเกียรติ และการไม่เที่ยวนอกบ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดการเกิดอุบัติเหตุ
ลงแขกทำงาน เพื่อช่วยเหลือกัน โดยไม่คิดค่าจ้าง/ค่าแรง
ส่งเสริมและสนับสนุนเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ โดยขอรับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล
จัดสรรเงินทุนการศึกษา จากสวัสดิการกองทุนหมู่บ้าน
สนับสนุนเงินช่วยเหลือสมาชิกที่เข้าโรงพยาบาลยามเจ็บป่วยของกองทุนสตรี
– ส่งเสริมและจัดหาทุนเพิ่มโดยได้จัดกิจกรรมในการจัดเลี้ยงของกองทุนต่าง ๆ
มีการร่วมบริจาคเงินเพื่อเป็นเจ้าภาพงานศพของชาวบ้าน และมีการจัดทำฌาปนกิจของหมู่บ้านและตำบล
ในกรณีที่ขอกู้เงินจากกองทุนต่าง ๆ จะห้ามกู้เงินสำหรับผู้ที่ติดยาเสพติด
จัดและร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา การรักษาและคงเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณี เช่น การทำบุญเลี้ยงพระ การไหว้ครูพ่อแก่ เป็นต้น
– ปลูกฝังค่านิยมในการพึ่งพาตนเอง และขยายความรู้สู่ชุมชน