ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงชุมชนบ้านสารภี

27 พฤศจิกายน 2558 แหล่งเรียนรู้ 0

ชุมชนบ้านสารภี ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในชื่อ “ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงชุมชนบ้านสารภี” โดยศูนย์ดังกล่าวมีการสร้างกิจกรรมอย่างเข้มข้นเพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ แนวทางการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกรเพื่อให้มีความแข็งแกร่ง อันเป็นการสร้างรากฐานต่อยอดในแต่ละอาชีพ

คุณสุชล สุขเกษม ประธานศูนย์เรียนรู้ฯ ในฐานะเกษตรกร Smart Farmer ต้นแบบด้านเกษตรผสมผสาน ได้กล่าวว่า เป็นคนที่สนใจแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้มองเห็นว่าหากนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมจะทำให้สร้างอาชีพ มีรายได้อย่างมั่นคง

ด้วยแรงบันดาลใจ จึงทำให้ คุณสุชล เดินหน้ามุ่งมั่นศึกษาหาความรู้ ตลอดจนเดินทางไปดูงานของศูนย์เรียนรู้หลายแห่งทั่วประเทศ พร้อมกับนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม และนับจาก ปี 2547 คุณสุชล จึงเริ่มทดลองด้วยการปลูกพืชผสมผสาน ทั้งนี้เขามองว่าควรทำความเข้าใจและรู้จักกับดิน น้ำ ลม ไฟ ในพื้นที่ของตัวเองให้ดีเสียก่อน เพื่อจะได้พิจารณาว่าควรปลูกพืชหรือทำเกษตรกรรมแบบใดที่เหมาะสมอย่างแท้จริงนำทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า

soonsalapees

ประธานศูนย์เรียนรู้ฯ เผยว่า แนวคิดที่จะสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในท้องถิ่นที่ดีที่สุดคือ ควรนำทรัพยากรที่โดดเด่นในแต่ละท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า ดังนั้น กิจกรรมที่เริ่มเป็นสิ่งแรกคือ ได้นำผลผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า ด้วยการแปรรูป เพื่อทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น

“อย่างเช่น กล้วยหักมุก ที่ปกติขายส่ง ร้อยละ 40 บาท หรือลูกละ 40 สตางค์ มาคิดว่าถ้านำมาฉาบ แล้วขายได้ถึงลูกละ 5 บาท ครั้นพอทำไปขายแล้วเกิดขายดีมาก จนทำให้ชาวบ้านมีความกระตือรือร้น มีกำลังใจ และทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ และไม่นานชาวบ้านเองกลับเกิดแนวคิดนำสาเกมาทอดกรอบ มีเผือก มีมันสำปะหลัง ใช้แปรรูปได้อีกหลากหลาย จนกระทั่งทางราชการแนะให้จดเป็นวิสาหกิจชุมชนในลักษณะกลุ่ม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคง ไม่นานจึงมีหน่วยงาน ตลอดจนสถาบันการศึกษาหลายแห่งเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้เข้ามาสนับสนุนทั้งความรู้ เทคโนโลยี อุปกรณ์ต่างๆ” คุณสุชล กล่าว

คุณสุชล กล่าวว่า จุดที่สนใจครั้งแรกคือ ได้เห็นโครงการพระราชดำริของในหลวง ที่มีอยู่จำนวน 4,300 กว่าโครงการ แต่จะหยิบมาทำเพียง 3 โครงการ เท่านั้น ได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียง พลังงานทดแทน และการดูแลสุขภาพชุมชน ดังนั้น ในศูนย์จึงกำหนดให้มี 4 หัวข้อหลัก ในการเรียนรู้ ได้แก่

  1. การจัดการสุขภาพชุมชน ทั้งนี้คนในชุมชนจะได้รับการดูแลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.)
  2. เรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทน จำนวน 10 ฐาน ทั้งนี้ เป็นแนวคิดจากการนำสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันแล้วมาประยุกต์ใช้และปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น
  3. เรียนรู้ถึงโครงการพระราชดำริแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวันใกล้ตัวที่หลายคนมักมองข้าม และ
  4. การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่มีวัตถุดิบ ซึ่งอยู่ในแต่ละท้องถิ่นนั้น นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นใน 4 หัวข้อหลักนี้ จะกระจายอยู่ใน จำนวน 26 ฐานเรียนรู้” ประธานศูนย์เรียนรู้ฯ แจงจะต้องใช้ทุกอย่างในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์โดยไม่มีการทิ้ง

soonsalapeeoom

คุณสุชล ระบุว่า หัวใจของการทำการเกษตรแบบพอเพียงนั้น ทุกคนต้องอยู่บนฐานความคิดของการประหยัด เขาชี้ว่าจะใช้ทุกอย่างในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์โดยไม่มีการทิ้ง อย่างกรณี ถ้าเลี้ยงไก่ จะได้ไข่ไก่ แต่ที่ศูนย์ต้องได้มากกว่าไข่ที่มาจากไก่คือต้องได้แก๊ส ได้ปุ๋ย ได้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยอัดแท่ง เป็นต้น ซึ่งแนวคิดนี้เป็นการใช้ชีวิตแบบวงจร ตั้งแต่คน พืช และสัตว์ จากนั้น คุณสุชล ได้พาเดินชมกิจกรรมต่างๆ ในศูนย์เรียนรู้ฯ ที่เป็นองค์ความรู้ที่โดดเด่น อย่างสิ่งแรกคือ

กิจกรรมแบบเศรษฐกิจพอเพียง
เป็ดไข่หลุม แนวคิดนี้เป็นการประยุกต์มาจากหมูหลุมที่รู้จักกันดี แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ของเกษตรกรไม่เหมาะควรกับการเลี้ยงหมู ดังนั้น จึงหันมาเลี้ยงเป็ดไข่หลุมแทน สำหรับประโยชน์ที่ได้รับคือ จะได้มูลไก่ไข่ไว้เพื่อใช้ทำปุ๋ยหมักใส่พืชผลทางการเกษตร โดยไม่ต้องใช้สารเคมี แต่ถ้าต้องหารายได้เพิ่มอีก ก็ให้นำไปบรรจุใส่กระสอบสัก 30 กิโลกรัม ขายได้ราคากระสอบละ 50 บาท

หรือถ้าต้องการมากกว่านั้น ให้นำไปอัดเป็นแท่ง กิโลกรัมละ 20 บาท นอกจากจะเป็นปุ๋ยอัดแท่งแล้ว ยังนำไปใช้ทำเป็นถ่านปิ้งย่างด้วย มีข้อดีตรงที่ไม่ลุกเป็นไฟ แต่จะมีเพียงเปลวแดงร้อน ทำให้อาหารทุกชนิดไม่ไหม้ ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

soonsalapeepuis soonsalapeepui

การเลี้ยงไก่ไข่ขังเดี่ยวกับต้นมะพร้าว กิจกรรมนี้เกิดจากแนวคิดของ คุณสุชล ในการใส่ปุ๋ยคอกกับต้นมะพร้าว เขาคิดว่าไม่ควรเสียเวลากับการต้องคอยนำปุ๋ยที่ได้จากคอกไก่ไข่หลุมมาใส่ต้นมะพร้าว เลยสร้างคอกเลี้ยงไก่ไข่ไว้บนต้นมะพร้าวเสียเลย โดยเปลี่ยนจากคอกเป็นตะกร้า ต้นละ 2 ตะกร้า และมีไก่ตะกร้าละ 1 ตัว ทำให้ไก่ที่อยู่ในตะกร้าแบบสบายไม่เครียด สามารถเติบโตได้ดีแล้วยังออกไข่และถ่ายมูลทุกวัน ไข่นำไปใช้บริโภคหรือขายได้ ส่วนมูลไก่ที่หล่นโคนต้นมะพร้าวกลายเป็นปุ๋ยของมะพร้าวได้ทันที

การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามขังเดี่ยวในร่องน้ำสวนมะพร้าว กิจกรรมนี้เป็นการสร้างวิถีทางธรรมชาติในการทำสวนมะพร้าว เขาเล่าว่า สมัยก่อนที่เลี้ยงกุ้งมักปล่อยให้อยู่ตามลำน้ำ แต่เมื่อไปจับกลับหาไม่เจอ เลยนำกุ้งมาใส่ในกระชัง แต่เมื่อยกกระชังขึ้นมาแต่ละครั้งกลับพบว่า เหลือกุ้งอยู่จำนวนน้อย เพราะเวลาลอกคราบกุ้งมักจะกินกันเอง

ดังนั้น จึงเกิดความคิดใหม่ด้วยการนำกุ้งมาเลี้ยงในตะกร้า จำนวนตะกร้าละ 1 ตัว เท่านั้น เพราะกุ้งจะไม่เครียด และมีอาหารให้กินตลอด กุ้งที่เลี้ยงในตะกร้าจะมีขนาดและน้ำหนักดีมาก จะขายได้ราคาดีมาก 3-4 ตัว ราคาพันกว่าบาท อย่างไรก็ตาม ในร่องสวนมะพร้าวยังได้เลี้ยงปลาไว้กับกุ้งตะกร้า เพราะปลาสามารถสร้างออกซิเจนให้กุ้ง ปลาอยู่ด้านนอก กุ้งอยู่ในตะกร้า พอให้อาหารกุ้ง ปลาได้กินด้วย จึงถือเป็นการเกื้อกูลกันเองตามธรรมชาติ

การทำแก๊สชีวมวลใช้เองจากมูลไก่ไข่ โดยนำมูลไก่มาผลิตเป็นแก๊สชีวมวล อันนี้เป็นการดัดแปลงมาจากการนำมูลหมูมาผลิตแก๊ส โดยจะติดตั้งเล้าไก่ให้อยู่ในระดับสูงกว่าพื้นทั่วไป แล้วหาแผ่นรางวางด้านล่างเล้าไก่ เพื่อรองรับมูลไก่ จากนั้นให้ต่อรางไปที่บ่อแก๊สเพื่อให้มูลไก่ไหลลงถังหมักแก๊ส เป็นการผ่านกระบวนการหมัก เวลาจะใช้มูลแต่ละครั้งจะใช้น้ำฉีดที่รางทุกวัน เพื่อให้มูลไก่ไหลลงไปที่บ่อหมัก

soonsalapeegas

ไข่เค็มกะเพรา, ไข่เค็มต้มยำ อันนี้เป็นเรื่องของสุขภาพ ซึ่งไข่เค็มทั่วไปก็จะเค็มเป็นหลัก คราวนี้หากคิดมูลค่าเพิ่มจะใช้วิธีนำเครื่องต้มยำหรือเครื่องปรุงกะเพรามาดองร่วมกับกระบวนการทำไข่เค็ม เมื่อได้กำหนดเวลาที่เหมาะสมจะได้ไข่เค็มที่มีรสชาติต้มยำและกะเพรา

ทั้งนี้ การเตรียมดองไข่อาจแตกต่างกับการทำไข่เค็ม เพราะจะใช้ฟองน้ำล้างไข่แต่ละใบ แต่การทำไข่เค็มต้มยำและกะเพราในขั้นตอนล้างไข่จะใช้สก๊อตช์-ไบรต์ (สีเขียว) ขัดถูที่ผิวเปลือก เพราะจะทำให้เปิดตาไข่ ทำให้เกิดการซึมซับกลิ่นได้ดีกว่าการใช้ฟองน้ำ ไข่เค็มทั้งสองชนิด จำหน่ายฟองละ 8 บาท

การคิดเรื่องผลิตไข่เค็มดังกล่าว จัดเป็นการสร้างมูลค่าและตีโจทย์ทางการตลาดที่ไม่ซ้ำแบบใคร และถือว่าคุณสุชลเป็นคนแรกที่คิดเรื่องนี้ กระทั่งทำให้ผู้คนจากทั่วประเทศต่างหลั่งไหลโทรศัพท์มาขอสูตรกันอย่างคับคั่ง ดังนั้น เขาจึงคิดแผนต่อไปไว้คือ จะคิดทำเป็นเฉพาะสูตรเครื่องปรุงจำหน่าย ทำให้สะดวกและรวดเร็ว เพียงซื้อชุดปรุงนำไปใส่หม้อต้มกับไข่ได้เลย

กิจกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงาน
ทางด้านพลังงานทดแทนนั้น คุณสุชล พาไปชมฐานการเรียนรู้ที่น่าสนใจ อย่าง แผงโซล่าเซลล์สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ มีประโยชน์มากสำหรับคนที่เข้าอบรมในศูนย์หากเกิดปัญหาแบตเตอรี่หมด สามารถชาร์จไฟได้โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ทำให้เกิดการประหยัดไฟได้มาก หรือ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้อบของสด อย่าง ปลาแดดเดียว หมูแดดเดียว ซึ่งชาวบ้านจะนำมาอบไว้ในตู้นี้เป็นเวลา ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำไปทอด หรืออาจเป็นการอบพืชสมุนไพรได้
แผงโซล่าเซลล์สำหรับใช้ดักแมลงศัตรูพืช เป็นการดัดแปลงจากไม้ตียุงไฟฟ้า เพื่อมาใช้สำหรับดักแมลงดำหนาม ที่เข้ามากินยอดมะพร้าว ทั้งนี้แนวทางนี้เป็นการกำจัดแมลงโดยเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ จักรยาน THREE IN ONE ที่นำจักรยานเก่ามาดัดแปลงต่อเข้ากับมอเตอร์เพื่อใช้ถีบปั่นน้ำเวลารดน้ำต้นไม้
เตาซุปเปอร์อั้งโล่ เป็นการดัดแปลงมาจากเตาสมัยเก่าที่สร้างไว้กว้าง สามารถใส่ถ่านได้คราวละมากๆ แต่สามารถตั้งหม้อต้มได้บางขนาดเท่านั้น สำหรับเตาซุปเปอร์อั้งโล่จะประดิษฐ์ให้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า เพื่อสำหรับไว้ตั้งหม้อขนาดใดก็ได้ ถึงแม้จะใส่ถ่านได้ไม่มากเท่ารุ่นเก่า แต่สามารถให้ความร้อนไม่สูงกว่าเดิม
คุณวิโรจน์ ชลวิริยะกุล เกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงบ้านสารภี ได้กำหนดองค์ความรู้ และวิชาความรู้ที่จะถ่ายทอดลงสู่เกษตรกร โดยใช้แนวทางการฝึกทำจริงจากสถานที่จริง ในจำนวน 12 ฐานความรู้
“ดังนั้น ภายหลังจากเสร็จสิ้นการฝึกแล้ว ทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสมุทรสงครามจะมีการมอบปัจจัยการผลิต ได้แก่ พันธุ์ไก่ไข่ เมล็ดพันธุ์ผัก ก้อนเชื้อเห็ดและปุ๋ยหมัก เพื่อให้เกษตรกรได้นำความรู้ที่ได้พร้อมกับปัจจัยที่มอบให้ไปประยุกต์ให้สามารถดำเนินชีวิตตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและประกอบอาชีพการเกษตรแบบผสมผสานให้มีอาหารบริโภคในครัวเรือนได้อย่างยั่งยืน และพัฒนาเป็นเกษตรกรปราดเปรื่องต่อไป”

ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงชุมชนบ้านสารภี ตั้งอยู่ เลขที่ 56 หมู่ที่ 7 ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยคุณสุชลใช้บริเวณบ้านพักที่มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ดัดแปลงจัดสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ภายใต้หลักความคิดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำรัสไว้ว่า 1 ไร่ 1 แสน

soonsalapeemag

ประธานศูนย์เรียนรู้ฯ เผยว่า คนที่เข้ามาร่วมอบรมของศูนย์ปีที่แล้ว (2556) จำนวนหมื่นกว่าคน สำหรับปีนี้เพียงไม่กี่เดือนจำนวนที่เข้าอบรมผ่านไปแล้วหลายพันคนที่มาจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และทางยุโรป เขาบอกต่อว่าจุดแข็งของศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้คือ การกำหนดหัวข้อหลัก 4 ด้าน ที่น่าสนใจและสามารถปรับใช้ได้กับชีวิตประจำวันอย่างง่ายดาย แต่ละฐานการเรียนรู้ ชาวบ้านสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจที่เหมาะกับทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น
“อยากให้ชุมชนอื่นได้เข้ามาเรียนรู้ แล้วนำความรู้มาปรับใช้กับพื้นที่ท้องถิ่นของแต่ละคน ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถนำมาปรับใช้ได้ เพียงแต่ขอให้ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะการมีความรู้เพียงน้อยนิด อาจพิชิตความจน หากดำรงตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คุณสุชล กล่าวทิ้งท้าย

soonsalapeetai soonsalapeeob

สนใจต้องการนำแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้กับชุมชนท้องถิ่น หรือหมู่คณะที่ต้องการเข้าเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงชุมชนบ้านสารภี ติดต่อได้ที่ คุณสุชล สุขเกษม โทรศัพท์ (086) 178-4157

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด แหล่งเรียนรู้

แสดงความคิดเห็น