ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยเกษตรธาตุ 4 บ้านบนควน ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา โดยนายหรน หมัดหลี
วิธีการที่จะรู้ได้ว่าต้นไม้แต่ละชนิด มีธาตุประเภทใดมาก คือ นำส่วนใดส่วนหนึ่งของลำต้นมาเคี้ยว ซึ่งต้นไม้ส่วนใหญ่จะมีรสมากกว่าหนึ่งรส เช่น ในการเคี้ยวครั้งแรกจะได้รสฝาด แต่เมื่อเคี้ยวไปสักพักจะออกรสหวานหรือจืด เป็นต้น สำหรับไม้ที่มีรสฝาดเท่ากับมีธาตุลม รสจืดจะเป็นธาตุน้ำ รสเผ็ดหรือร้อนจะเป็นธาตุไฟ เช่น ยางพาราจะมีธาตุไฟมาก และกล้วยจะมีธาตุน้ำมาก เป็นต้น
แน่นอนว่าต้นไม้แต่ละชนิดจะมีธาตุที่ ต่างกัน บนพื้นฐานของความเชื่อที่ว่า พืชทุกชนิดประกอบด้วยทั้งธาตุ 4 แต่จะมีไม่เท่ากัน และถ้ามีธาตุตรงกันข้ามกันก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี เพราะพืชแต่ละชนิดมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เช่น พืชที่มีธาตุน้ำมากจะต้องปลูกร่วมกับพืชที่มีธาตุไฟมาก เพื่อให้เกิดดุลยภาพ และทำให้พืชแต่ละชนิดออกดอกออกผลเต็มที่
เกษตรธาตุ 4 เป็นเกษตรธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ส่งผลดีต่อสุขภาพ ธรรมชาติ และผู้บริโภคอย่างยั่งนืน
ทำอะไรให้ทำแบบคนจน อย่าทำเหมือนคนรวย เป็นคำที่ป๊ะหรนได้ทิ้งไว้ให้กับลูกหลานก่อนที่จะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
เกษตรธาตุ 4 หรือที่รู้จักกันว่า การปลูกพืชยืนต้นประเภทไม้ผล 3 ชนิดในหลุมเดียวกัน นำร่องโดยการปลูกกล้วยก่อน เมื่อพืชยืนต้นทั้ง 3 ชนิดโตขึ้น มันจะช่วยกันยึดต้นไว้ ไม่ให้ล้มง่าย เมื่อมีลมแรง หรือช่วยในการค้ำยัน ไม่ทำให้ดินถูกชะล้างได้ง่าย
ภูมิปัญญาด้านการทำเกษตรธาตุ 4 นิยามเกษตรธาตุ 4 คือ คน พืช สัตว์ มีธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มากน้อยต่างกัน การทำเกษตรธาตุ 4 จะต้องมีความรู้เรื่องธาตุและสามารถแยกแยะความเหมาะสมของพืชที่จะนำมาปลูกในหลุมเดียวกันและดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา
ปรัชญาเกษตรธาตุ 4 เราต้องทำด้วยตนเอง ทำให้ปริมาณที่น้อยๆ ทำเพื่อพอกินและมีความสุข เราต้องทำไปข้างหน้า อย่า ทำถอยหลังและก็ไม่ต้องลงทุนมากไม่ต้องรีบร้อน ทำแล้วมีความสุข ไม่ต้องคิดไปถึงค่าอาหาร ค่าปุ๋ย ค่าแรง หรือแม้แต่ค่าหนี้ มีเงินเราก็กิน ไม่มีเงินเราก็กิน
ความรู้เรื่องธาตุ และธาตุของต้นไม้แต่ละชนิด
เทคนิคการเกษตรธาตุ 4
การขยายพันธุ์พืช
ปลูก ด้วยเมล็ดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เนื่องจากเราจะได้ต้นที่สมบูรณ์ อข็งแรงทนต่อโรคทนต่อสภาพภูมิอากาศ ระบบรากก็สมบูรณ์ และที่สำคัญก็คือประหยัดเงิน ซึ่งบางครั้งเราอาจจะได้ต้นพันธ์ที่ดีกว่า ต้นแม่ในการที่จะเอาเมล็ดมาปลูกควรเอามาปลูกให้หลายเม็ด หรือหลากหลาย ถ้าหากเราปลูกเพียงไม่กี่เมล็ดบางครั้งอาจตายไป
การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบรากพืช
มี การดัดแปลงพื้นที่การปลูก และกระบวนการปลูก โดยคำนึงถึงระบบรากเป็นหลัก เช่น มังคุด จะเป็นพืชที่มีระบบราก การหาอาหารจะอยู่ลึกต่างกับพืชชนิดอื่น จึงได้นำไปปลูกร่วมกับทุเรียน ซึ่งมีระบบรากที่ตื้นแต่การหาอาหารของทุเรียนจะชอบหาอาหารบริเวณไกลจากต้น คือ บริเวณปลายเงาของทรงพุ่มของพืช ซึ่งหากทดลองขุดดูจะเห็นได้อย่างชัดเจน สำหรับต้นลองกอง ลางสาด นั้นจะชอบกินอาหารบริเวณใกล้ๆกับลำต้น ซึ่งไม้ผลเหล่านี้มีระบบรากฝอยอยู่มากดังนั้นเราไม่ต้องกังวลเลยว่าหากปลูก ร่วมกันแล้วต้นไม้มันจะแย่งอาหารกัน
วิถีชีวิตในเกษตรธาตุ 4
การ เกษตรในปัจจุบัน ถ้าเราปลุกต้นใดแบบเดี่ยวๆหรือเชิงเดี่ยว ถ้ามันตายก็จะตายไปเลย การปลูกใหม่ก็โตไม่ทัน แต่ถ้าเราปลูกแบบรวมหรือหลุมเดียว 3-4 ต้น ต้นหนึ่งตายยังเหลืออีก 2 ต้น ซึ่งหากเรานำสวนเหล่านั้นมาเทียบกับสวนเกษตรธาตุ4 ไม้จะอายุยืนกว่าและได้ผลผลิตที่คุ้มค่่ากว่าและลงทุนน้อยกว่า แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่ต้องออกเงินเลยไม่เหมือนกับการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวซึ่งจะต้องใช้ทุนเยอะ มาก เกษตรธาตุ 4 นั้น สำคัญเราต้องทำทุกวัน วันละนิด แบบพอดี เน้นความสุข เน้นการพึ่งพาตนเอง แบบพอเพียง และที่สำคัญในการปลูกพืช เราจะต้องดูลักษณะของพื้นที่เป็นหลักว่าควรจะเพิ่มเติมหรือลด อะไร
การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบธาตุ 4
มีความ เชื่อว่าไม้ทุกชนิดมีธาตุ ทั้ง 4 อยู่ในตัว แต่จะมีธาตุใดธาตุหนึ่งในแต่ละต้นมากน้อยแตกต่างกัน เช่น ต้นมังคุด มีธาตุดินกับธาตุน้ำมาก ธาตุไฟและธาตุลมน้อย ยางพารา มีธาตุไฟมาก ต้นกล้วยมีธาตุน้ำมาก เป็นต้น จากการทดลองเอาไม้ผลชนิดต่างๆมาทดลองปลูกรวมกันในสวนพบว่า ต้นไม้ที่มีธาตุเหมือนกัน ไม่ควรปลูกร่วมกันแต่ถ้าจะปลูกร่วมกันต้องเอาไม้ผลอย่างอื่นมาร่วมด้วย หรือไม้ผลที่มีธาตุต่างกันมาร่วมกันได้ เช่น ถ้ามีธาตุไฟมาก ก็นำพืชที่มีธาตุนำ้มาปลูกใกล้กันเพื่อได้พึ่งพาต่อกัน ทำให้ออกดอกออกผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ข้อสังเกตสำหรับการปลูกพืชอย่างนี้คือ ระยะห่างระหว่างช่วงกิ่งที่ให้ดอกผลหรือระยะเวลาการออดดอกผล ซึ่งก็มีหลักเกณฑ์สำคัญ 2 ประการ คือ
1. ความต่างระดับของพืช ในหลุมหนึ่งจะปลูกไม้ผลหลักของสวนลงไป 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลางสาด มังคุด ไม้เมื่อโตเต็มที่แล้วทุเรียนจะอยู่สูงสุด ถัดมา คือ ลางสาด และมังคุดตามลำดับ
2. การให้ดอกผลของพืช ไม้ผลทั่วไปออกผล 2 ลักษณะ ลักษณะแรกจะให้ผลบริเวณปลายกิ่ง อาทิ มังคุด เงาะ สะตอ บางชนิดให้ผลบริเวณลำต้นหรือกิ่ง อาทิ ทุเรียน จำปาดะ ลางสาด การนำไม้ผลในลักษณะแรกมาปลูกรวมกันต้องจัดระยะให้เหมาะสม โดยต้องไม่ให้ทรงพุ่มของไม้แต่ละชนิดอยู่ติดหรือซ้อนกัน ส่วนไม้ที่ให้ผลบริเวณลำต้นหรือกิ่งสามารถปลูกต้นติดกันได้
วิธีคิดอย่างนี้เป็นการประหยัดพื้นที่ ประหยัดงบประมาณ และต้องการปลูกหลายอย่างในหลุมเดียวกัน ไม่ต้องลงทุนมากเพราะจะมีการปลูกด้วยเมล็ด และไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เพราะพืชแต่ละชนิดจะเกื้อกูลกันอย่างมีความสมดุล ซึ่งวิธีการเหล่านี้ช่วยในเรื่องของราย ได้ เพราะจะมีกินตลอดทั้งปี ครบทุกฤดูกาล ที่มีไม้ยืนต้นเป็นต้นหลัก และมีพืชล้มลุก เช่น พริก ข้าวโพด มันขี้หนู ฯลฯ
อย่างที่ป๊ะหรนได้สั่งสอนไว้แล้วว่า ปุ๋ยอยู่ที่จอบและพร้า นี่คือสิ่งที่ต้องคิดต่อว่าจะต้องทำอย่างไรให้มีกินทั้งปี
จากองค์ความรู้ของป๊ะหรนทำให้มีผู้สนใจ เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ นอกเหนือจากนิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ประชาชนจากทั่วประเทศ และมีสื่อที่สนใจ มาขอเรียนรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอโดยมีรูปแบบ การสอนและการกำหนดองค์ความรู้ทั้งการบรรยาย สัมมนาและจัดการอบรม ให้กับผู้ที่สนใจเรียนรู้เข้าศึกษา ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็จะนำไปผยแพร่สิ่งนี้ต่อ
แม้วันนี้ป๊ะหรนจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ แต่คำสอนและวิธีการเกษตรธาตุ 4 ยังคงอยู่กับลูกหลานที่เดินตามทางตามคำสอนของป๊ะหรนและเผยแพร่ ความรู้ต่อๆ กันอย่างแพร่หลาย ทั้งจังหวัดสงขลาและบุคคลที่เข้ามาศึกษาอย่างต่อเนื่องจนเป็เครือข่ายศูนย์ การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทยเกษตรธาตุ 4 ในทุกวันนี้
นับว่าเป็นตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จทั้งในส่วนของการทำเกษตรกรรมตามหลัก ทฤษฎีใหม่จนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงขยายผลองค์ความรู้ของตนคืนสู่สังคม ด้วยการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ในหลักสูตรที่เน้นเรื่องการเกษตรธาตุ 4 และแนวคิดจากหลักศาสนาอิสลาม ผสมผสานกับประสบการณ์ของปราชญ์ฯ หรน หมัดหลี ทั้งด้านสมุนไพร การปลูกพืชหลายชนิดในหลุมเดียวกัน และสร้างสวนในลักษณะป่าไม้ โดยกิจกรรมของศูนย์ปราชญ์ฯ แห่งนี้ แบ่งออกเป็น 9 ภูมิปัญญาหลัก ได้แก่
1) การทำเกษตรธาตุ 4 ที่ให้ความรู้เรื่องธาตุและธาตุของต้นไม้แต่ละชนิด การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบธาตุ 4 ควบคู่กับการคำนึงถึงความต่างระดับของพืช
2) การทำเกษตร 4 ย. คือ ยั่งยืน ต่อชีวิต ยั่งยืนต่อต้นน้ำ ยั่งยืนต่อดิน และยั่งยืนต่อผลผลิต
3) ด้านปุ๋ยหมักและการใช้แนวทางชีวภาพ
4) การแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการนำสมุนไพรพื้นบ้านมาแปรรูปใช้ทั้งในครัวเรือน และจำหน่ายตามท้องตลาด
5) ด้านจักสาน โดยใช้พืชที่มีอยู่ในท้องที่ คือ ไม้ไผ่ ต้นคลุ้ม ใบเตย
6) ด้านพฤษศาสตร์ชุมชน ให้ความรู้เรื่องพืชชุมชน พืชข้างบ้าน การขยายพันธุ์พืชทั่วไปที่มีประโยชน์และมีอยู่ในชุมชน การสร้างมูลค่าเพิ่มจากพืช ที่ปลูก
7) ด้านการจัดการป่า สอนให้รู้กฎระเบียบและการจัดการป่าในรูปแบบชุมชน
8) ภูมิปัญญาเรื่องผึ้ง และ
9) การออมทรัพย์ การบริหารงาน บริหารเงิน ให้เป็นระบบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างพอเพียง
ซึ่งภูมิปัญญาทั้ง 9 ด้าน จะทำให้เกษตรกรรายย่อยรู้จักและตระหนักถึงทรัพยากรอันมีค่าในชุมชนที่ในอดีตถูกละเลยด้วยการทำเกษตรเชิงเดี่ยว พร้อมทั้งหันกลับมามองศักยภาพและกำหนดเป้าหมายความต้องการของตนเองให้ชัดเจนว่าจะใช้ความรู้ที่อบรมมา นำพาตัวเองให้หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำด้วยการทำเกษตรแบบยั่งยืนด้วยวิธีผสมผสาน ที่เน้นเพื่อทำกิน เหลือจึงนำไปขาย ปลูกทุกอย่างที่กินได้ และให้ประโยชน์ 5 ด้าน คือ เป็นยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และพลังงาน
ป้ายคำ : เกษตรธาตุ 4