ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโคกพยอม ต.เกาะสะบ้า อ.เทพา จ.สงขลา คือตัวอย่างของศูนย์เรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จจากความร่วมมือกันของสมาชิกในชุมชนเดียวกัน จนกระทั่งได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทาง การพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ เนื่องจาก อ.เทพา เป็น 1 ใน 4 อำเภอของสงขลาที่อยู่ติดกับชายแดนภาคใต้ ลักษณะของศูนย์เรียนรู้ที่ทำได้เด่นชัด ได้แก่ การปลูกพืชผักสวนครัว พัฒนาปรับปรุงดิน การปลูกผักไร้ดิน หรือ ไฮโดรโฟนิกส์
ชุมชนบ้านโคกพยอม เป็นชุมชนที่มีขนาดเล็กมีอยู่ 113 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา และมีอาชีพเสริมคือ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเดิมพื้นที่แห่งนี้มีปัญหาดินเปรี้ยว และขาดแคลนน้ำ ทำให้การประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่มักประสบปัญหาและมีคุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าที่ควร จนกระทั่งปี 2540 กรมพัฒนาที่ดิน โดย สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 ได้เข้ามาสนับสนุนการขุดสระน้ำชุมชนและสร้างถังน้ำบนเขาเพื่อดึงน้ำจากสระน้ำขึ้นไปใช้เพื่อทำการเกษตรให้กับหมู่บ้านของเรา พร้อมกันนั้นยัง ได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน และสนับสนุนปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด น้ำหมักชีวภาพ หญ้าแฝก สารปรับปรุงดินโดโลไมค์ ต่อมาตนได้เข้าไปรับการอบรมความรู้เรื่องการพัฒนาที่ดินจากสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ในฐานะหมอดินหมู่บ้านและได้เลื่อนขั้นเป็น หมอดินตำบล ปัจจุบันเป็นหมอดินอำเภอเทพา ก็ได้นำความรู้ที่ได้รับมาถ่ายทอดสู่เกษตรกรในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จากนั้นปี 2553 ได้รวมกลุ่มคนในชุมชนจำนวน 26 คน เพื่อดำเนินการเป็น ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ด้วยงบสนับ สนุนจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วน หน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) โดยใช้พื้นที่สาธารณะของชุมชนจำนวน 4 ไร่ ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด ไก่ ทำปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายให้กับครัวเรือนในชุมชนบ้านโคกพยอม ซึ่งมีการผลัดเวรกันมาทำงานหลังเสร็จสิ้นการทำอาชีพหลักคือการ กรีดยาง ก็จะเข้ามาเรียนรู้ทำการเกษตรพอเพียงแบบปลอดสารเคมี
การดำเนินการของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากกรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ทำให้ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ไม่เพียงแต่ เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในชุมชนบ้านโคกพยอมเท่านั้น แต่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ทำให้มี ผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมเกือบทุกวัน ซึ่งภายในศูนย์ฯ จะมีฐานการเรียนรู้ให้ผู้สนใจเข้ามา ศึกษาด้วยกัน 8 ฐาน ประกอบด้วย
ฐานที่ 1 การเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยลาน
ฐานที่ 2 การปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์
ฐานที่ 3 การทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากสารเร่ง พด.1 ผสมกับแกลบ มูลสัตว์ ขี้ค้างคาว รำข้าวละเอียด แกลบดำ กากน้ำตาล และน้ำ
ฐานที่ 4 การปลูกผักแบบสวนกระแส เป็นการปลูกผัก ไม่ว่าจะเป็นตะไคร้ ผักหวาน ข่า โดยการตัดบริเวณลำต้นให้สั้นประมาณ 2 นิ้ว ปลูกแค่ต้นเดียว สามารถแตกกิ่งได้ 50 ต้น ดีกว่าปลูกทั้งต้น ส่วนผักหวานให้ปักต้นตามแนวนอนมันจะแตกแขนงไปได้ทุกข้อ ดีกว่าปลูกแบบยืน
ฐานที่ 5 การปลูกผักแบบเอื้ออารีอยู่ที่สูง เป็นการนำวัสดุเหลือใช้อย่างจานพัดลมเก่า ๆ มาเป็นวัสดุปลูกผักได้หลากหลายชนิด
ฐานที่ 6 การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์
ฐานที่ 7 การปลูกผักแบบไฮโซ โผล่หัวเอาตัวรอด เป็นการปลูกผักแบบกลับหัว ซึ่งต้องเลือกพันธุ์ผักที่มีต้นยาวประมาณหนึ่งศอก เช่น พริก มะเขือ เอาพันธุ์ผักห้อยหัวลงแล้วเอาส่วนรากยัดใส่ก้นกระถาง ใส่ขุยมะพร้าวทับลงไปในกระถาง ส่วนด้านบนก็สามารถปลูกผักอีกชนิดได้ด้วย ทำให้ได้ผัก 2 ชนิดในกระถางเดียว
ฐานที่ 8 การปลูกผักแบบสายใยรัก ปลูกถั่วพูต้นเดียวได้ 500 ฝัก คือปลูกถั่วพูต้นเดียว พอโตเริ่มมีเถาเลื้อยให้ทำซุ้มโดยเอาไม้เสาหลักปักไว้ใกล้ ๆ ต้นถั่วพู 1 เสา ผูกเชือกจากเสาเป็นสายใยหลาย ๆ สาย เพื่อให้เถา ถั่วพูเลื้อยไปตามเชือก ข้อดีคือสายใยจะทำ ให้ถั่วพูออกฝักดีกว่าไม่ทำสายใย
หากใครสนใจสามารถไปเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้พร้อมทั้งซื้อผลผลิตของแต่ละครัวเรือนที่ปลอดภัยจากสารพิษ ติดต่อได้ที่ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโคกพยอม หมู่ 5 ต.เกาะสะบา อ.เทพา จ.สงขลา เบอร์โทรศัพท์ 09-1462-8100
ป้ายคำ : ศูนย์เรียนรู้