สบู่ดำจัดเป็นพืชในวงศ์ Euphorbiaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับมันสำปะหลัง ยางพารา สบู่ดำมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Jatropha curcas L. ชื่อสามัญ คือ physic nut ทั้งนี้ คำว่า Jatropha มีรากศัพท์มาจาก ทางการแพทย์ของภาษากรีก 2 คำ คือ iatros แปลว่า หมอ และ trophe แปลว่า อาหาร ส่วนคำว่า curcas เป็นชื่อเรียกของสบู่ดำ บริเวณเมือง Malabar ในประเทศอินเดีย
นอกจากนี้ ยังมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศอีกด้วย เช่น purging nut(อังกฤษ) pourghere, pignon d’Inde (ฝรั่งเศส) purgeernoot (เนเธอร์แลนด์) purgueira (โปรตุเกส) fagiola d’India ( อิตาลี ) kadam ( เนปาล ) yu-lu-tzu (จีน) tubang-bakod (ฟิลิปปินส์) jarak budeg (อินโดนีเซีย) bagani (ไอเวอร์รีโคต) butuje (ไนจีเรีย) pinoncillo (เม็กซิโก) tempate (คอสตาริกา) mundubi-assu (บราซิล) pinol (เปรู) และ pinon (กัวเตมาลา) จึงเป็นที่น่าสังเกตได้ว่า ต้นสบู่ดำสามารถเจริญเติบโตได้เกือบทั่วโลก ทำให้มีชื่อเรียกแตกต่าง กันออกไป อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานกันว่า สบู่ดำเป็นพืชพื้นเมืองแถบทวีป อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และ แอฟริกาใต้ สำหรับในประเทศไทย คาดว่าถูกนำเข้ามาในช่วงศริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือช่วงปลายสมัย กรุงศรีอยุธยาโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกส รับซื้อเมล็ดไปคั้นน้ำมันสำหรับทำสบู่ หลังจากนั้น ได้มีการปลูกกันแพร่หลายในทุกภาคของประเทศไทย และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป
สาเหตุที่เรียกว่า ต้นสบู่ดำ หรือต้นสบู่เพราะมีน้ำยางสีขาวคล้ายสบู่ บริเวณลำต้นและกิ่ง ทางภาคเหนือเรียกว่า มะหุ่งฮั้ว ไท้-ยู หรือเกงยู ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า มะเยา มักเย้า หรือสีหลอด ส่วนภาคใต้เรียกว่า หงส์เทศ และภาษายาวีเรียกว่า ยาเฆาะ เป็นต้น
พันธุ์สบู่ดำ
พันธุ์ของสบู่ดำที่พบในประเทศไทย มี 3 พันธุ์ คือ
- พันธุ์สบู่ดำที่มีผลทรงกลม ขนาดของผลปานกลาง มีเปลือกหนาปานกลาง ปลูกกันทั่วไปในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
- พันธุ์สบู่ดำที่มีผลทรงกลม หรือรูปทรงของผลยาวกว่าพวกแรกเล็กน้อย ส่วนผลนั้นมีขนาดเท่ากัน แต่มีเปลือกหนากว่า ปลูกมากในภาคเหนือ
- พันธุ์สบู่ดำที่มีผลกลม แต่มีขนาดเล็กกว่า 2 พวกแรก ปลูก ในภาคเหนือ และภาคใต้
โดยพันธุ์เป็นพันธุ์พื้นบ้านใช้เรียกชื่อตามแหล่งปลูก เช่น พันธุ์สตูล มุกดาหาร น่าน เป็นต้น
พันธุ์ของสบู่ดำจากต่างประเทศ กรมวิชาการเกษตร ได้รับพันธุ์จากต่างประเทศ 3 พันธุ์คือ
- พันธุ์จากประเทศฟิลิปปินส์
- พันธุ์จากประเทศศรีลังกา
- พันธุ์จากประเทศมาเลเซีย
การขยายพันธุ์
ต้นสบู่ดำเป็นพืชที่ทนและปรับตัวเข้ากับสภาพแห้งแล้งได้ดี แม้มี ปริมาณน้ำฝนต่ำเพียง 300-1,000 มม.ต่อปี จึงทำให้เจริญได้ดี ใน แถบเขตร้อน หรือในพื้นที่ที่มีความสูงจนถึง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล หรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ จึงทำให้ต้นสบู่ดำสามารถ เจริญได้อย่างแพร่หลาย แม้ในพื้นที่มีสภาพไม่เหมาะสม ต้นสบู่ดำ สามารถให้ผลผลิตได้ตลอดปีประมาณ 2-4 กิโลกรัม/ต้น/ปี อย่างไรก็ตาม ต้นสบู่ดำอาจให้ผลผลิตสูงกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ อายุ สภาพแวดล้อม การจัดการ และวิธีการปลูก โดยสามารถให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ปีแรก และให้ผลผลิตสูงสุดเมื่ออายุประมาณ 3-5 ปี (Becker and Francis, 2000) ทั้งนี้สายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยมีลักษณะของผล 3 ลักษณะ คือ พันธุ์ที่มีผลกลมขนาดปานกลาง ผลกลมรีขนาดเล็ก และผลกลมขนาดปานกลางและเปลือกหนา การปรับปรุงพันธุ์อาจทำได้โดยใช้วิธีฉายรังสีแกมมาให้กับเมล็ดของต้นสบู่ดำ ซึ่งทำให้ต้นสบู่ดำมีลักษณะต้นเตี้ย ระยะเวลาออกดอกเร็วขึ้น และปริมาณ ผลผลิตต่อต้นสูง แต่มีขนาดของเมล็ดเล็กกว่าการไม่ฉายรังสี สำหรับวิธี ขยายพันธุ์อาจทำได้หลายวิธี ดังนี้
- เพาะเมล็ด วิธีการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดสามารถทำได้โดย เลือกเมล็ดจากฝักที่มีสีเหลืองแก่แกมสีน้ำตาล ซึ่งเป็นระยะแก่เต็มที่ ไม่มีระยะพักตัว จึงงอกได้ทันทีภายใน 10 วัน หลังจากเพาะในดิน ทั้งนี้ เมล็ดสบู่ดำที่แก่เต็มที่หรืออยู่ในสภาพเมล็ดแห้งจะพ้นจากระยะพักตัวในช่วงผลสุกจึงสามารถนำไปปลูกได้ทันที การงอกจะมีส่วนของใบเลี้ยงคู่ 2 ใบโผล่พ้นดินโดยการยืดตัวของส่วน ใต้ข้อใบเลี้ยง หลังจากนั้น ต้นกล้าจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งควรอนุบาลต้นกล้าให้มีอายุประมาณ 2-3 เดือน หรือมีความสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร ก่อนนำไปปลูกในแปลง เพราะช่วยให้ต้นกล้าสามารถ ปรับตัวกับสภาพแปลงได้ดีและเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเริ่มให้ ผลผลิตประมาณ 810 เดือน หลังปลูก สำหรับถุงเพาะหรือกระบะทราย ใช้อัตราส่วน ดิน:ทราย:แกลบ:ปุ๋ยคอก เท่ากับ 3:3:3:1
- การปักชำ ควรใช้ท่อนพันธุ์ที่มีสีเขียวปนน้ำตาลเล็กน้อย ซึ่งเป็นกิ่งที่ไม่อ่อนและแก่เกินไป ทำให้สามารถแตกรากได้ง่าย สำหรับความยาวกิ่งปักชำที่เหมาะสม คือ ประมาณ 30 เซนติเมตร โดยปักลงในถุงเพาะหรือกระบะทรายอัตราส่วนเช่นเดียวกับดินผสมเพาะเมล็ด และใช้เวลาปักชำประมาณ 2 เดือน จึงสามารถนำไปปลูกและ ให้ผลผลิตหลังปลูกประมาณ 68 เดือน
- การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถเลือกใช้จากส่วนของยอดอ่อน ใบ และก้านใบของต้นสบู่ดำ ปลูกเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์และชักนำได้ต้นอ่อนจำนวนหลาย ๆ ต้น จึงทำให้สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก
การปลูกและการดูแลรักษา
ระยะปลูกต้นสบู่ดำที่ปลูกในแปลงเกษตรกรได้แก่ 2×2 เมตร (400 ต้น/ไร่) ในบางประเทศนิยมปลูกพืชอื่นร่วมระหว่างแถว เพื่อได้รับร่มเงาและป้องกันอันตรายจากสัตว์ต่าง ๆ เช่น นก หรือแมลงศัตรู
ฤดูปลูกที่เหมาะสม คือ ในฤดูฝน ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อให้ตั้งตัวได้ในช่วงแรก หลังปลูกควรให้น้ำทุก ๆ 10-15 วัน ควบคู่กับการกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้น โดยการถากและคลุมโคนต้น ด้วยเศษซากพืชหรือแกลบ ซึ่งเป็นการช่วยรักษาความชื้นและเพิ่ม ธาตุอาหารในดิน
หลังจากปลูกประมาณ 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นอัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่อีกครั้งหลังการเก็บเกี่ยวครั้งแรก อย่างไรก็ตาม พบว่า ต้นสบู่ดำมีความต้องการปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทสเซียมในปริมาณ ที่สูงกว่าฟอสฟอรัส ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาทางลำต้นและผลผลิตของต้นสบู่ดำ ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานถึงปริมาณปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับการปลูกต้นสบู่ดำในประเทศไทย
ส่วนพื้นที่ปลูกควรเป็นพื้นที่ดอนหรือน้ำไม่ท่วมขัง และได้รับแสงแดดจัดตลอด ทั้งวัน
ภายหลังการปลูก ลำต้นจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ ต้นแตกกิ่งก้านมากขึ้น เพราะสะดวกในการเก็บเกี่ยว จากการศึกษา พบว่า ควรตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวครั้งที่ 2 หรือเมื่อมีอายุประมาณ 1 ปี ซึ่งในการพัฒนาการทางลำต้นในระยะนี้ สามารถตัดแต่งกิ่งได้ 3 ระดับ คือ ตัดแต่งกิ่งที่ข้อแยกที่ 1 ข้อแยกที่ 2 และข้อแยกที่ 3 ทั้งนี้ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายหลังการตัดแต่ง 6 สัปดาห์ การตัดแต่งกิ่งที่ข้อแยกที่ 1 จะทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากในฤดูฝน และสามารถติดดอกออกผลได้อีกครั้งในช่วงฤดูแล้งถัดไป เช่นเดียวกับการตัดแต่งกิ่งที่ข้อแยกที่ 2 แต่ให้ผลผลิตลดลง เพราะมีการทิ้งใบบางส่วนในช่วงฤดูแล้ง ขณะที่ต้นที่ตัดแต่งกิ่งที่ข้อแยกที่ 3 และต้นที่ไม่มีการตัดแต่งกิ่งจะให้ผลผลิตต่ำกว่า เพราะมีการทิ้งใบ เป็นจำนวนมากในช่วงฤดูแล้ง จึงแสดงให้เห็นว่า การตัดแต่งกิ่งต้น สบู่ดำที่ข้อแยกที่ 1 จะช่วยให้มีระยะพัฒนาการทางลำต้นยาวนานขึ้น และสามารถสร้างยอดหรือกิ่งใหม่เพิ่มขึ้นได้มากกว่าปกติ จึงทำให้มีผลผลิตสูงขึ้นเพราะการออกดอกและติดผลจะเกิดจากยอด หรือกิ่งใหม่ของต้นสบู่ดำ
โรคและแมลงศัตรู
- ไรขาว เป็นศัตรูสำคัญอันดับหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง จะดูดน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ ทำให้ใบหดเล็กลงกว่าปกติ ใบแห้งกร้าน ส่วนหยักของใบจะปิดงอและม้วนลงด้านล่าง เส้นใบนูนมากขึ้น ซึ่งมีผลทำสบู่ดำชะงักการเจริญเติบโต
- เพลี้ยไฟ เป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก ความยาวลำตัวประมาณ 1 มิลลิเมตร เคลื่อนไหวรวดเร็ว เพลี้ยไฟจะดูดน้ำเลี้ยงบริเวณรอยย่นของใบ ซอกใบ ที่ม้วนลง บริเวณเส้นใบและใต้ใบทำให้ใบกรอบแห้ง ขอบใบม้วนขึ้น ด้านบนบริเวณใต้ใบมีลักษณะคล้ายสีสนิมติดอยู่เมื่อมีการทำลายอย่างรุนแรง จะทำให้ใบไหม้เป็นจุดหรือกรอบแห้งทั้งใบ
- เพลี้ยหอย จะดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนต่าง ๆ ของสบู่ดำตั้งแต่ใบ ยอดอ่อน ก้านใบ ผลและลำต้น ทำให้ใบแห้งเหี่ยว ก้านใบผลและลำต้นแห้งตาย
- เพลี้ยจักจั่น ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ ทำให้ใบห่อลงข้างล่างหรือหงิกงอ ถ้าระบาดในระยะตับอ่อน จะทำให้สบู่ดำแคระแกรน ถ้าระบาดรุนแรงอาจทำให้สบู่ดำตายได้
- หนอนคืบละหุ่ง กัดกินใบสบู่ดำ
- ปลวกเข้าทำลายบริเวณโคนต้นสบู่ดำ ทำให้สบู่ดำแห้งตาย
- หนอนชอนใบ จะเข้าทำลายช่วงเริ่มปลูก หรือเป็นตัวอ่อน ทำให้ใบเป็น รูพรุน
- ไรแดง จะทำให้ใบร่วงเหลือง
- เพลี้ยแป้ง ค่อนข้างอันตราย เข้าดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณกิ่งและลำต้นอ่อน ของสบู่ดำ
การเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษาเมล็ด
ต้นสบู่ดำเป็นพืชที่ทยอยออกดอก จึงทำให้เก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน การเก็บเกี่ยวจึงควรเก็บผลผลิตทุก ๆ 2 สัปดาห์ ภายหลังการเก็บเกี่ยว ต้องนำผลไปตากแดดให้แห้งก่อนนำไปกะเทาะเปลือก เนื่องจากเป็นเมล็ดแห้ง (orthodox) จึงควรลดความชื้นของเมล็ดให้เหลือประมาณ 5-7 % โดยการตากแดดหรือผึ่งลม ซึ่งสามารถเก็บรักษาได้นานประมาณ 1 ปี ภายใต้อุณหภูมิห้องประมาณ 20 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม เมล็ดสบู่ดำมีองค์ประกอบของน้ำมันสูง จึงไม่ควรเก็บรักษานานเกินไป เพราะจะทำให้คุณภาพการงอกของเมล็ดลดลง
ประโยชน์ของสบู่ดำ
- ใบ ใบอ่อนสามารถนำมานึ่ง หรือต้มรับประทานได้อย่างปลอดภัย
- เปลือกไม้ สามารถนำมาสกัดเอาแทนนิน (Tannin) ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังได้
- ลำต้น ตัดเป็นท่อนต้มน้ำให้เด็กกินแก้ซาง ตาลขโมย ตัดเป็นท่อน แช่น้ำอาบแก้โรคพุพอง ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างและทำรั้วป้องกันสัตว์เลี้ยงเข้าทำลายผลผลิต ใช้เป็นฟืนและถ่าน
- ดอก เลี้ยงผึ้งเพื่อผลิตน้ำผึ้ง
- เมล็ด ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย กากเมล็ด ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจาก การหีบเอาน้ำมันไปใช้แล้ว จะนำมาอัดเป็นก้อน ส่วนนี้จะมีเคอร์ซิน (curcin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นพิษ เหมือนกับไรซิน (ricin) ในละหุ่ง
- ไม่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงสัตว์ แต่เหมาะที่จะนำไปทำปุ๋ยหรือนำไป ทำเป็นเชื้อเพลิงให้กับเครื่องสตีมเทอร์ไบน์ (Steam turbine) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
- ในเมล็ดสบู่ดำยังมีสารพิษรุนแรงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ คือ curcin, curcasin, phytosterols, resin และสารในกลุ่ม phorbol esters ทำให้มีผลต่อระบบทางเดินอาหารและการหายใจ จึงมีการสกัดสารจากเมล็ดไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสารชีวภาพกำจัดแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การลดการเข้าทำลายของหนอนเจาะต้นข้าว
- น้ำยางจากก้านใบ รักษาโรคปากนกกระจอก ห้ามเลือด แก้ปวดฟัน แก้ลิ้นเป็นฝ้าขาว โดยผสมกับน้ำนมมารดา ป้ายลิ้น หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น เบื่อปลา หรือเป็นของเล่น โดยเป่าน้ำยางสีขาวให้กลายเป็นฟองคล้ายฟองสบู่
- ราก ใช้เป็นยาขับถ่ายพยาธิ
น้ำมันเมล็ดของสบู่ดำ ประกอบไปด้วยน้ำมันประมาณ 35 40% เนื้อใน (kernels) ประมาณ 55 60% ดังนั้น น้ำมัน จึงเป็นผลผลิตที่สำคัญของสบู่ดำ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการ ดังนี้
- ทำเครื่องสำอาง และถนอมผิว น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช ้ทาแก้โรคผิวหนัง หรือผิวหนังอักเสบรวมทั้งสามารถบรรเทาอาการปวดข้อ อันเนื่องมาจากรูมาตอยด์ได้ด้วยกรดไลโนอิคในน้ำมันเมล็ดในของสบู่ดำ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 36% มีความน่าสนใจในการนำไปทำเป็นครีมถนอมผิว
- สารเคมีกำจัดศัตรูพืช น้ำมัน และสารสกัดจากน้ำมันของสบู่ดำ สามารถนำมาใช้กำจัดศัตรูพืชได้ โดยมีตัวอย่างในการนำไปใช้ ควบคุมแมลงศัตรูฝ้าย โดยเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้าย ศัตรูผัก มันฝรั่ง และข้าวโพด สารสกัดเมธานอล (Methanol extracts) จากสบู่ดำ ซึ่งประกอบด้วยสารพิษบางชนิด มีการทดลองนำมาใช้ในการควบคุม พยาธิในหอยที่นำมาบริโภค
- สบู่ กลีเซอรีนซึ่งเป็นผลพลอยได้จากไบโอดีเซล สามารถนำมาทำสบู่ได้ ขณะเดียวกันน้ำมันจากสบู่ดำล้วน ๆ ก็นำมาทำสบู่ได้เช่นกัน โดยมีการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรืออุตสาหกรรมในครัวเรือน ในหนังสือ Wphysic nutW เขียนโดย Joachim Heller ที่พิมพ์เผยแพร่โดย IPGRI เมื่อปี ค.ศ. 1996 ได้กล่าวถึง การใช้ประโยชน์จากสบู่ดำไว้ในทำนองเดียวกัน ดังนี้
-. ใช้ทำยา ในหนังสือดังกล่าวระบุว่าทุกส่วนของต้นสบู่ดำ รวมทั้งเมล็ด ใบ และเปลือกไม้ ทั้งสดและ นำมาสกัดหรือต้ม สามารถนำมาทำยาพื้นบ้าน และยารักษาสัตว์ได้ โดยน้ำมันของ สบู่ดำมีฤทธิ์เป็น ยาระบาย และโดยทั่วไปนิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง รวมทั้งใช้ ทาแก้ปวดในคนที่เป็นโรค รูมาติสซั่ม ใบนำมาต้มน้ำดื่มแก้ไอ และใช้ฆ่าเชื้อโรคภายหลัง การคลอด น้ำในเนื้อเยื่อของต้นสบู่ดำ นำมาใช้ห้ามเลือด
-. ใช้เป็นสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช และพาราสิตของหอย สารสกัดจากส่วนต่าง ๆ ของต้นสบู่ดำมีศักยภาพ ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะน้ำมันจากเมล็ด สารสกัดจากเมล็ด และฟอร์บอล เอสเตอร์ (Phorbol ester) จากน้ำมันสามารถนำมาควบคุมศัตรูพืชหลายชนิด ในหลายกรณีอย่างได้ผลดียิ่ง ทั้งในฝ้าย มันฝรั่ง พืชผัก ถั่วเขียว ข้าวโพด และข้าวฟ่าง น้ำที่สกัดจากใบของสบู่ดำ มีฤทธิ์ในการควบคุมเชื้อราที่เป็น พาหะนำโรคของพืชบางชนิด และมีผลการทดลองจากห้องปฏิบัติการ ระบุว่าเมล็ดสบู่ดำที่บดเป็นผงสามารถทำให้หอยมีปฏิกิริยา ต่อต้าน การอาศัยของพยาธิใบไม้ได้ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลระบุว่า ในออสเตรเลียจัดให้สบู่ดำเป็นวัชพืช เนื่องจากมีการแพร่ขยาย อย่างกว้างขวางทั่วโลก และเป็นพืชที่เมล็ดมีพิษ ซึ่งต้องมีการ ควบคุมการปลูก
- – ทำสบู่ ในสมัยก่อน ใช้น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำในการผลิตสบู่ เนื่องจากมีการปลูกและสกัดน้ำมัน จากเมล็ดเป็นจำนวนมากในแหลม Verde ปัจจุบันในประเทศมาลี ก็มีการผลิตสบู่ จากน้ำมันสบู่ดำใช้กันอย่างแพร่หลาย ในท้องถิ่น โดยการนำน้ำมันมาต้ม กับโซดา
มีการทดลองในห้องปฏิบัติการของบริษัท ตาตา ออยล์ มิลล์ จำกัด (Tata oil Mills Co.Ltd.,) ในเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย โดยการนำส่วนผสมที่ประกอบด้วยน้ำมันสบู่ดำที่มีส่วนผสม ของไฮโดรเจน (Hydrogenated Physic nut) 75% น้ำมันสบู่ดำบริสุทธิ์ 15% และ น้ำมะพร้าว 10% ผลิตเป็นสบู่ที่มีฟองมีค่าความเป็นกลาง ใช้สำหรับทำความสะอาดร่างกาย
พิษวิทยาของสบู่ดำ
จากการสืบค้นและรวบรวมข้อมูลของสถาบันการแพทย์แผนไทยพบว่าทุกส่วนของสบู่ดำมีความเป็นพิษ ซึ่งส่วนใหญ่พบกับสัตว์ทดลอง ดังนี้
- ใบ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและฆ่าพยาธิโดยยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียกลุ่ม Staphylococcus, Bacilius และ Mcrococous
ยาง (sap) ที่ความเข้มข้น 50 เปอร์เซ็นต์ และ 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถฆ่าไข่พยาธิไส้เดือนดและพยาธิปากขอ และยับยั้งการเจริญของ ลูกน้ำยุง และยางจะมีความเป็นพิษสูงมากต่อหนูถีบจักรเมื่อเข้าทางปาก หรือฉีดเข้าร่องท้อง
- กิ่งก้าน หรือส่วนต้น จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง cytopathic effect ของเชื้อ HV โดยมีพิษต่ำ
- ผล ทดสอบกับปลาคาร์พ พบว่าพิษของ phorbol ester ทำให้ปลา เจริญเติบโตช้าลง มีมูกในอุจจาระและไม่กินอาหาร แต่ถ้าหยุดให้ phorbol ester ปลาจะกลับมาเจริญเป็นปกติ ได้ทดสอบกับตัวอ่อนในครรภ์ของหนู พบว่าผลสบู่ดำทำให้หนูแท้งได้
- เมล็ด สารพิษในเมล็ดคือ curcin มีฤทธิ์ต่อสัตว์หลายชนิดและมนุษย์ดังนี้
– ฤทธิ์กับหนู พบว่าสารพิษ curcin มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโปรตีน แต่ในทางกลับกันพบว่าในเมล็ดสบู่ดำ มีสารบางชนิดซึ่งมีฤทธิ์เป็น tumor promoter กล่าวคือไม่เป็นสารก่อมะเร็ง แต่สามารถกระตุ้นให้เซลล์ที่มี ยีนผิดปกติเนื่องจากของสารก่อมะเร็ง แบ่งตัวอย่างรวดเร็วและอาจพัฒนา เจริญเป็นก้อนมะเร็งได้ พิษเฉียบพลันของเมล็ดสบู่ดำ
– พิษกับหนู เมื่อให้ทางปากในหนูถีบจักร พบว่าทำให้หนูตาย เนื่องจากการคั่งในหลอดเลือด และ/หรือ เลือดออกในลำไส้ใหญ่ ปอด
– พิษกับลูกไก่ พบว่าเมื่อนำเมล็ดมาผสมอาหารให้ลูกไก่กิน ทำให้ลูกไก่โตช้า ตับและไตโต
– พิษในสัตว์ เช่น แกะ แพะ ทำให้ท้องเสีย ขาดน้ำ ไม่กินอาหาร และมีเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร ปอด ไต หัวใจผิดปกติ มีเลือกออกหลายแห่งในร่างกาย
– พิษที่พบในเด็ก ที่รับประทานเมล็ดสบู่ดำได้แก่ อาการกระสับกระส่าย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน และขาดน้ำ
– พิษที่พบในผู้ใหญ่ กรณีที่เป็นสายพันธุ์ที่มีสารเป็นพิษสูง หากรับประทานเพียงแค่ 3 เมล็ด ก็เป็นอันตรายแก่ระบบทางเดินอาหาร แต่บางพันธุ์รับประทานถึง 50 เมล็ดก็ไม่เป็นอันตราย
- ราก ฤทธิ์ต้านอักเสบ ผงรากเมื่อทาบนใบหูของหนูถีบจักร จะช่วยต้านอักเสบ จากการถูกสาร TPA ได้ และสารสกัดด้วยเมธานอลของผงราก เมื่อให้ทางปากจะต้านอักเสบของอุ้งเท่าหนูที่ได้รับสาร carrageenan
- ยาง ยางสบู่ดำทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น (พบในคน) แต่ถ้าเจือจางมาก ๆ จะทำให้เลือดไม่แข็งตัว
- ไม่ระบุส่วน ฤทธิ์ต้านการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ พบว่าสบู่ดำมีฤทธิ์ในการลด in vitroinvasion และเคลื่อนที่ และการหลั่งสาร เอ็นไซม์ matrix metallo proteinase ของเซลล์
แหล่งข้อมูล
- กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์ไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย ปี 2548
- กองเกษตรวิศวกรรม. 2527. พลังงานจากน้ำมันพืช. ฝ่ายฝึกอบรมเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ.
- จเร สดากร. 2527. สบู่ดำพืชศักยภาพสูงเพื่อพลังงานทดแทนของประเทศไทย. วารสารวิชาการเกษตร 2 : 67-72.
- จรูญ ค้อมคำพันธุ์ และโยซิฟูมิ ทาเคดะ. 2547. น้ำมันสบู่ดำกับเครื่องยนต์ดีเซล. กสิกร (3) : 74-78.
- ไชยส่องอาชีพ.2548.สบู่ดำพืชพลังงานที่กำลังมาแรง.เทคโนโลยีชาวบ้าน(18):64-65
- ระพีพันธ์ ภาสบุตร สุขสันต์ สุทธิผลไพบูลย์ ไพจิตร จันทรวงศ์ วีระศักดิ์ อนัมบุตร มาลี ประภาวัต วิไล กาญจนภูมิ และอรวรรณ หวังดีธรรม. 2525. การใช้น้ำมันสบู่ดำเดินเครื่องยนต์ดีเซล. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพฯ.
- วิมลรัตน์ ศุกรินทร์ วิไลรัตน์ กุลพัชรานุรักษ์ Okabe, T. และ มณเฑียร โสมภีร์. 2531. การศึกษาปุ๋ยอัตราต่าง ๆ กันที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตสบู่ดำ. ข้อมูลงานวิจัย ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร.
- วิมลรัตน์ ศุกรินทร์ มณเฑียร โสมภีร์ Goco, H. และ นาค โพธิ์แท่น. 2533. การปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มผลผลิตของสบู่ดำโดยการฉายรังสีแกมมา. ข้อมูลงานวิจัย ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร.
- สมบัติ ชิณะวงศ์. 2548. สบู่ดำพืชทดแทนพลังงานที่มีศักยภาพ. คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม. Available: 158.108.200.11/blacksoap/blacksoap.pdf
- สุรพงษ์ เจริญรัถ.2548.สบู่ดำพืชพลังงานที่กำลังมาแรง.เทคโนโลยีชาวบ้าน (18):56-57
- สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.2536.ไม้ดอกและไม้ประดับเฉลิมพระเกียรติ.บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด.300 น.
- เอื้อมพร วีสมหมาย.2544.พฤกษาพัน.พิมพ์ครั้งที่ 2.โรงพิมพ์ เอช เอน กรุ๊ป จำกัด. 456