สบู่ธรรมชาติ

สบู่ธรรมชาติ คือ สบู่ที่เกิดจากกระบวนการ Saponification ของไขมันหรือน้ำมัน จากพืชและสัตว์ ที่ทำปฏิกิริยา กับ สารละลายด่าง (โซเดียมไฮดรอกไซด์) จะได้ผลิตภัณฑ์เป็นของแข็ง ลื่น มีฟอง สามารถละลาย และล้างออกด้วยน้ำ สบู่ธรรมชาติไม่ถูกสกัดเอากลีเซอรีนออก ไม่มีการเติมสารเคมี และไม่มีการเติม สารทำให้เกิดฟอง (detergent) แต่อาจเติม สมุนไพร หรือ น้ำมันหอมระเหย ลงไปเท่านั้น

ความเป็นมาของสบู่
สบู่ธรรมชาติ (soap) เกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมี ระหว่างสารละลายด่างโซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) กับน้ำมัน ซึ่งอาจเป็นน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ก็ได้ กระบวนการนี้เรียกว่า saponification ซึ่งทำให้ผลผลิตที่ได้กลายเป็นของแข็งลื่น มีฟอง ใช้ทำความสะอาดขจัดคราบสกปรกได้ดี

การผลิตสบู่ธรรมชาติ (Natural Soap Making)

หลักการพื้นฐานในการผลิตสบู่ธรรมชาติ
สบู่ผลิตขึ้นจากส่วนผสมพื้นฐาน 3 อย่าง คือ น้ำ ด่าง(โซดาไฟ) และไขมัน เมื่อด่างผสมกับน้ำ เป็นสารละลายด่างถูกนำไปผสมกับไขมัน ได้ผลผลิตเป็นสบู่ธรรมชาติซึ่งเป็นส่วนผสมของ สบู่ 5 ส่วนและกลีเซอรีน 1 ส่วน ในสบู่ธรรมชาติ กลีเซอรีนที่เกิดขึ้นจะยังคงอยู่ในสบู่ มีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มชื้น และทำให้ผิวพรรณนุ่มนวล ซึ่งกระบวนการที่จะแนะนำในการผลิตสบู่ธรรมชาติในที่นี้ เป็นกระบวนการผลิตแบบเย็น (cold process method ) ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการผลิตสบู่

คุณสมบัติของสบู่ คือ ใช้ทำความสะอาด ชำระล้างสิ่งสกปรก หรือช่วยลดแรงตึงผิว (surfactant)

ปฏิกิริยาการเกิดสบู่…

ไขมันหรือน้ำมัน + (ด่าง และ น้ำ) = สบู่ + กลีเซอรีน
Fat/oil (lye + water) = Soap + Glycerine


ส่วนผสมในการผลิตสบู่

  1. น้ำมัน (oils)
    น้ำมันแต่ละชนิดที่นำมาใช้ในการผลิตสบู่ จะให้คุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ทั้งลักษณะทางกายภาพและประสิทธิภาพในการทำความสะอาด

    • น้ำมันมะพร้าว จะให้สบู่ที่แข็งและมีฟองเป็นครีม แต่อาจจะทำให้ผิวแห้ง จึงต้องใช้น้ำมันอื่นๆร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น
    • น้ำมันปาล์ม เป็นน้ำมันหลักอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ในการผลิตสบู่ ให้สบู่เป็นก้อนแข็ง มีความคงทน ฟองมาก เป็นครีม ทนนานทำความสะอาดได้ดี
    • น้ำมันมะกอก ให้เนื้อสบู่ที่นุ่มนวลต่อผิวพรรณ มีสีออกเหลือง เนื้อสบู่ค่อนข้างนิ่ม ฟองเป็นครีมละเอียด อุดมด้วยวิตามินอีให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ
    • น้ำมันงา ให้สบู่สีขาวอมชมพูค่อนข้างนิ่ม ฟองนุ่มนวล ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ
    • น้ำมันถั่วเหลือง เป็นน้ำมันที่ใช้เป็นส่วนผสมในสบู่เพื่อเพิ่มความนุ่มนวล เพิ่มวิตามินอีและความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ เนื้อสบู่นิ่ม ฟองละเอียด แต่ฟองไม่มาก
    • น้ำมันรำข้าว ได้สบู่สีขาวอมเหลือง เนื้อสบู่นิ่ม ฟองน้อยละเอียด
    • น้ำมันเมล็ดทานตะวัน สบู่จะมีสีขาวอมเหลือง เนื้อสบู่ไม่สูงมาก ฟองไม่มาก เพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวพรรณ
    • น้ำมันข้าวโพด สบู่ที่ได้มีสีขาวอมเหลือง เนื้อสบู่ไม่แข็งมาก ฟองละเอียด
  2. ด่าง (lye) หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือโซดาไฟ
    ควรใช้ชนิดที่บริสุทธิ์ไม่มีสารอื่นเจือปน มิฉะนั้นจะมีผลต่อการผลิตสบู่ได้
  3. น้ำ
    น้ำที่เหมาะสมในการผลิตสบู่ควรเป็นน้ำฝนที่สะอาด หรือน้ำประปาที่สะอาด ไม่ควรเป็นน้ำกระด้าง
  4. ส่วนผสมอื่นๆ
    หลังจากกวนส่วนผสมต่างๆจนได้เนื้อสบู่แล้ว เราสามารถใช้ส่วนผสมอื่นๆเพิ่มเข้าไปเพื่อเพิ่มชนิดและคุณสมบัติพิเศษให้แก่สบู่ เช่น

    • นมแพะ อาจใช้นมแพะผสมกับโซดาไฟแทนน้ำ จะทำให้ได่สบู่ที่นุ่มนวลมาก มีฟองครีมมาก
    • กลีเซอรีล ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและปกป้องผิว
    • น้ำมันหอมระเหย ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคนิกจากนั้นยังช่วยเพิ่มกลิ่นหอมให้กับสบู่อีกด้วย น้ำมันหอมระเหยมักจะเข้มข้น จึงควรใช้ในปริมาณไม่มาก
    • สมุนไพร เพิ่มคุณสมบัติในด้าน ทนุถนอมผิวพรรณ รักษาโรคหรืออาการทางผิวหนัง

soapoil

อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสบู่

  • เทอร์โมมิเตอร์ 2 อัน
  • เครื่องชั่งน้ำหนัก
  • ถ้วย ช้อนตวง
  • ชามแก้วหรือชามสแตนเลส
  • เหยือกแก้วทนความร้อน
  • หม้อหรือชามสแตนเลสสำหรับกวนสบู่
  • ช้อนสแตนเลส พลาสติกแข็งหรือไม้สำหรับคน
  • ไม้พายยาว
  • แม่แบบสบู่ (พิมพ์)
  • ถุงมือยาง
  • แว่นตา (ถ้าจัดหาได้)
  • ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปาก (ถ้าจัดหาได้)

ข้อควรระวังในการผลิตสบู่

  • อย่าเทน้ำลงในด่าง(โซดาไฟ) อาจจะทำให้เกิดการประทุหรือระเบิดได้
  • อย่าใส่โซดาไฟไว้ในภาชนะที่เป็นสังกะสีหรืออลูมิเนียม
  • อย่าสูดไอระเหยของโซดาไฟ ควรทำการผลิตสบู่ในที่ๆอากาศถ่ายเทได้ดี

การตั้งสูตรสบู่
ก่อนการลงมือทำสบู่ เราต้องออกแบบสบู่หรือตั้งสูตรสบู่ขึ้นมาก่อน ว่าสบู่ที่เราต้องการผลิตขึ้นจะให้มีคุณสมบัติทั้งทางกายภาพและประสิทธิภาพในการใช้เป็นอย่างไร โดยพิจารณาจากประเด็นต่อไปนี้

  • เนื้อสบู่ ต้องการแข็งมาก แข็งปานกลาง หรือค่อนข้างนิ่ม
  • สี ขาว ขาวขุ่น ขาวอมเหลือง เหลือง
  • ความคงทนของเนื้อสบู่ ทนนาน หรือละลายเร็ว
  • ปริมาณฟอง ฟองมาก ปานกลาง หรือฟองน้อย
  • ลักษณะฟอง ฟองโตอยู่นานหรือฟองละเอียด
  • ประสิทธิภาพในการทำความสะอาด
  • ความนุ่มนวลต่อผิวพรรณ
  • ชุ่มชื้นแก่ผิว ถูแล้วผิวแห้งหรือชุ่มชื้น พิจารณาจากวิตามินอี

1. ชนิดของน้ำมันกับคุณสมบัติทางกายภาพและประสิทธิภาพของสบู่
ชนิดน้ำมัน เนื้อสบู่ สี ความคงทน ปริมาณฟอง ลักษณะฟอง การทำความสะอาด ความนุ่มนวลต่อผิว ความชุ่มชื้นต่อผิว

ชนิดน้ำมัน เนื้อสบู่ สี ความคงทน ปริมาณฟอง ลักษณะฟอง การทำความสะอาด ความนุ่มนวลต่อผิว ความชุ่มชื้นต่อผิว
มะพร้าว แข็งกรอบ ขาว ทนนาน มาก โต อยู่นาน ดีมาก น้อย น้อย
ปาล์ม แข็ง ขาวนวล ทนนาน มาก อยู่นาน ดีมาก น้อย น้อย
มะกอก นิ่ม เหลือง ละลายเร็ว พอสมควร ละเอียดเป็นครีม ดี มาก มาก
งา นิ่ม ขาวนวล ละลายเร็ว พอสมควร ละเอียด ดี มาก มาก
ถั่วเหลือง นิ่ม ขาวอมเหลือง ปานกลาง พอควร ละเอียด พอใช้ พอควร พอควร
รำข้าว นิ่ม ขาวอมเหลือง ปานกลาง พอควร ละเอียด พอใช้ พอควร พอควร
ทานตะวัน นิ่ม ขาวอมเหลือง ปานกลาง พอควร ละเอียด พอใช้ พอควร พอควร
ข้าวโพด นิ่ม ขาวอมเหลือง ปานกลาง พอควร ละเอียด พอใช้ พอควร พอควร
ละหุ่ง นิ่มมาก ขาวอมเหลือง ละลายเร็ว มาก ละเอียด พอใช้ มาก มาก

 

คุณสมบัติต่างๆของสบู่นี้ ส่วนใหญ่จะขึ้นกับการเลือกชนิดของน้ำมันที่นำมาใช้ผลิตสบู่ ดังนั้นในการทำสบู่ก้อนหนึ่ง เราอาจเลือกใช้น้ำมันเพียงชนิดเดียวหรือใช้น้ำมัน 2-3 ชนิด หรือมากกว่ารวมกันได้ เพื่อให้ได้สบู่ที่มีคุณสมบัติตามที่เราต้องการ แล้วจึงกำหนดสัดส่วนของน้ำมันแต่ละชนิด โดยมีข้อแนะนำดังนี้

  • น้ำมันหลัก น้ำมันมะพร้าว ปาล์ม 50-70 %
  • น้ำมันรอง น้ำมันมะกอก งา ถั่วเหลือง รำข้าว ทานตะวัน เมล็ดข้าวโพด 30 50 %
  • น้ำมันเสริม ละหุ่ง จมูกข้าวสาลี ไม่เกิน 10 %

สำหรับปริมาณของน้ำมันที่ใช้ทำสบู่ขึ้นอยู่กับปริมาณสบู่ที่ต้องการ โดยน้ำมันที่ใช้ทำสบู่ 1 ส่วน เมื่อนำไปผสมกับน้ำด่าง จะได้เนื้อสบู่ 1.5 ส่วนโดยน้ำหนัก

2. ด่างและการคำนวณน้ำหนักด่าง
หลังจากได้ชนิดของน้ำมันที่จะใช้ทำสบู่แล้วกำหนดปริมาณและสัดส่วนของน้ำมันแต่ละชนิดแล้วจึงนำไปคำนวณหาปริมาณด่างและน้ำที่ต้องใช้ในการทำปฏิกิริยาตามขั้นตอนของการคำนวณสูตรสบู่ โดยด่างที่จะใช้นั้นคือโซดาไฟ (โซเดียมไฮดรอกไซด์) ส่วนปริมาณของด่างที่จะใช้นั้น ขึ้นอยู่กับค่า Saponification ของน้ำมันแต่ละชนิด Saponification คือปริมาณของด่างที่ทำปฏิกิริยาพอดีกับไขมัน (หนัก 1 กรัม)

ตารางค่า Saponification หรือปริมาณของด่าง (NaOH)
ที่ทำปฏิกิริยาพอดีกับไขมันชนิดต่างๆ (ไขมันหนัก 1 กรัม)
ไขมัน หรือ น้ำมัน หนัก 1 กรัม โซเดียมไฮดรอกไซด์ (โซดาไฟ) กรัม

ไขมันวัว 0.1292
ไขมันหมู 0.1276
น้ำมันมะพร้าว 0.1692
น้ำมันปาล์ม 0.1306
น้ำมันมะกอก 0.1246
น้ำมันงา 0.1266
น้ำมันรำข้าว 0.1233
น้ำมันเมล็ดทานตะวัน 0.1256
น้ำมันถั่วเหลือง 0.1246
น้ำมันข้าวโพด 0.126
น้ำมันละหุ่ง 0.1183
ขี้ผึ้ง 0.0617

 

ตัวอย่าง
สมมุติว่ากำหนดสูตรสบู่ ประกอบด้วยน้ำมันชนิดต่าง คือ น้ำมันมะพร้าว 300 กรัม + น้ำมันปาล์ม 300 กรัม + น้ำมันงา 400 กรัม จะคำนวณหาน้ำหนักด่างได้ ดังนี้

  • น้ำมันมะพร้าว 300 กรัม ใช้ NaOH = 0.1692 x 300 = 50.76 กรัม
  • น้ำมันปาล์ม 300 กรัม ใช้ NaOH = 0.1306 x 300 = 39.18 กรัม
  • น้ำมันงา 400 กรัม ใช้ NaOH = 0.1266 x 400 = 50.64 กรัม

ดังนั้นน้ำมันทั้ง 3 ชนิด(มะพร้าว 300 กรัม + ปาล์ม 300 กรัม + งา 400 กรัม)รวมกันเป็นน้ำมันทั้งหมด 1000 กรัม จะต้องใช้โซดาไฟเท่ากับ 50.76 + 39.18 + 50.64 = 140.58 กรัม

3.น้ำและการคำนวณหาปริมาณ
ปริมาณของน้ำที่ใช้ในการละลายด่าง หาได้จากสูตรดังต่อไปนี้
น้ำหนักน้ำ = ( น้ำหนักด่าง x 2.33 )
จากตัวอย่าง น้ำหนักด่างที่หาได้ = 140.58 กรัม
น้ำหนักน้ำ = ( 140.58 x 2.33 )
= 327.5514 หรือประมาณ 327.55 กรัม

ขั้นตอนการผลิตสบู่ธรรมชาติ

  1. ตั้งสูตรสบู่โดยกำหนดชนิดและปริมาณของน้ำมัน หาปริมาณด่าง และคำนวณหาน้ำหนักน้ำ
  2. ชั่งน้ำตามน้ำหนักที่คำนวณได้แล้วเทลงในชามแก้วหรือชามสแตนเลส แล้วชั่งด่างตามน้ำหนักที่คำนวณได้ เทลงในน้ำ ใช้ช้อนสแตนเลสคนจนด่างละลายจนหมด ขั้นตอนนี้จะเกิดความร้อนขึ้น อุณหภูมิของน้ำด่างจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 80-90 องศาเซลเซียส ตั้งทิ้งไว้ให้เหลืออุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียส โดยการใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดดู
  3. ชั่งน้ำมันแต่ละชนิดตามน้ำหนักที่ต้องการแล้วเทลงรวมกันในชามหรือหม้อสแตนเลส นำไปอุ่นให้น้ำมันมีอุณหภูมิ 40-45 องศาเซลเซียส
  4. ค่อยๆเทสารละลายด่างลงในน้ำมัน ใช้ไม้พายกวนส่วนผสมไปเรื่อย นานอย่างน้อย 30 นาทีหรือมากกว่านั้นตามชนิดของน้ำมันที่นำมาใช้ สบู่จะเริ่มจับตัวเหนียวข้นคล้ายนมข้นหรือครีมสลัด
  5. ในขั้นตอนนี้หากต้องการใส่กลิ่น(น้ำหอมหรือน้ำมันหอมระเหย) สี หรือสมุนไพร(ผง) ให้ใส่ในขั้นตอนนี้เลย โดยน้ำมันหอมระเหยใส่ประมาณ 2-3% ของน้ำหนักสบู่ สมุนไพรผง ประมาณ 1 % ของน้ำหนักสบู่
  6. เทสบู่ที่กวนได้ลงในแบบหรือแม่พิมพ์ ตั้งทิ้งไว้ 1-2 วันสบู่จะจับตัวเป็นก้อนแข็ง จึงเอาออกจากแบบ ตัดเป็นก้อนตามขนาดที่ต้องการ เก็บต่อไปอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จึงนำไปใช้หรือจำหน่ายต่อไป

soapstepk

ตัวอย่างสูตรพื้นฐานสำหรับการผลิตสบู่ธรรมชาติ

สูตรที่ 1

  • น้ำ 130 กรัม
  • โซดาไฟ 56 กรัม
  • น้ำมันมะพร้าว 120 กรัม
  • น้ำมันปาล์ม 80 กรัม
  • น้ำมันมะกอก 200 กรัม

สบู่สูตรนี้เป็นสบู่สีขาวขุ่น แข็ง ให้ฟองมาก สามารถนำไปปรับปรุงเป็นสบู่ล้างหน้า สบู่อาบน้ำถูตัว สบู่สมุนไพร โดยการเติมส่วนผสมอื่นๆลงๆไป หลังจากนำออกจากพิมพ์ ตั้งทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์จึงนำไปใช้

สูตรที่ 2

  • น้ำ 105 กรัม
  • โซดาไฟ 45 กรัม
  • น้ำมันมะพร้าว 120 กรัม
  • น้ำมันปาล์ม 60 กรัม
  • น้ำมันละหุ่ง 10 กรัม
  • น้ำมันมะกอกหรืองา 80 กรัม
  • น้ำมันจมูกข้าวสาลี 40 กรัม

สบู่สูตรนี้เหมาะสำหรับผิวที่แพ้ง่าย จึงเหมาะสมที่จะนำไปปรับปรุงเป็นสบู่บำรุงผิวพรรณ เพิ่มความชุ่มชื้น สบู่ล้างหน้า หรือสบู่เด็ก สบู่สูตรนี้ให้ฟองมาก นุ่มนวลเป็นครีม มีสีเหลืองอ่อน หลังจากนำออกจากพิมพ์ ตั้งทิ้งไว้ 2 – 4 สัปดาห์จึงนำไปใช้

สูตรที่ 3

  • น้ำ 140 กรัม
  • โซดาไฟ 60 กรัม
  • น้ำมันมะพร้าว 200 กรัม
  • น้ำมันปาล์ม 60 กรัม
  • น้ำมันมะกอก 140 กรัม

สบู่ที่ได้จากสูตรนี้จะเป็นสบู่แข็ง มีสีขาวและให้ฟองมาก เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีผิวธรรมดาและผิวมัน หลังจากนำออกจากพิมพ์ ตั้งทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์จึงนำไปใช้

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

การผลิตสบู่นมแพะ Goat milk Soap
น้ำนมแพะนั้นอุดมสมบูรณ์ไปด้วยโปรตีน วิตามินและเกลือแร่ ซึ่งช่วยบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกายของเราได้ทั้งภายนอกและภายใน น้ำนมแพะถูกใช้ในการบำรุงรักษาผิวพรรณให้ชุ่มชื้น สดใส สวยงามมานานแล้ว
ในวงการเครื่องสำอางจะถือว่า น้ำนมแพะเป็นไลโปโซมธรรมชาติ ( Natural Liposomes) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยนำเอาความชุ่มชื้น โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ซึมสู่ชั้นผิวหนังชั้นล่างได้ง่ายและดีขึ้น น้ำนมแพะจึงเป็นสารจากธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ เช่น สบู่ ครีม โลชั่น เป็นต้น
สบู่น้ำนมแพะ จึงเป็นสบู่ที่อุดมด้วยโปรตีนให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เป็นสบู่ที่อ่อนละมุน นุ่มนวลต่อผิว เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีผิวบอบบางและแพ้ง่าย เนื่องจากกรด caprytic ในน้ำนมแพะจะช่วยให้สบู่มีค่า pH ที่ต่ำ จึงเป็นสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว
สบู่น้ำนมแพะเป็นการใช้น้ำนมแพะเป็นตัวทำละลายด่างแทนน้ำในกรรมวิธีการทำสบู่ธรรมชาติ เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันพืช จำได้สบู่ที่มีสีขาวขุ่นหรือสีเหลืองอมน้ำตาล เป็นสบู่ที่น่าใช้ อุดมด้วยฟองครีมและมีฟองคงทน

ส่วนผสม

  • น้ำมันมะพร้าว 120 กรัม
  • น้ำมันปาล์ม 40 กรัม
  • น้ำมันมะกอก 240 กรัม
  • น้ำนมแพะ 160 กรัม
  • โซดาไฟ 59 กรัม

วิธีทำ

  1. ผสมน้ำมันรวมกันแล้วอุ่นให้ได้อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส
  2. ผสมนมแพะกับด่าง (เทโซดาไฟลงในนมแพะ) คนให้ละลาย จะได้น้ำด่างสีส้ม
  3. เทน้ำนมด่างลงในน้ำมัน คนไปเรื่อยๆประมาณ 30 นาทีจนสบู่จับตัวเหนียวข้น จึงเทลงแบบ
  4. ทิ้งไว้ 1-2 วัน เอาออกจากพิมพ์ หลังจากนำออกจากพิมพ์ ตั้งทิ้งไว้ 6-8 สัปดาห์จึงนำไปใช้

สบู่สูตรนี้จะเป็นสีขาวขุ่นออกสีน้ำตาล ให้ฟองที่นุ่มนวลทนนาน สบู่สูตรนี้ใช้นมแพะแทนน้ำในการละลายด่าง ให้คอยสังเกตสีของส่วนผสมขณะที่จะจับตัวเป็นสบู่ ช่วงแรกจะมีสีขาวขุ่น จากนั้นจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม

รวบรวมโดย วรพจน์ คงแก้ว ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ทุ่งสง

แหล่งข้อมูล
หนังสือ “สะอาดและสวยด้วย สบู่ธรรมชาติ”โดยคมสัน หุตะแพทย์ สำนักพิมพ์เกษตรกรรมธรรมชาติ

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ของใช้ในชีวิตประจำวัน

1 ความคิดเห็น

  1. Koki Kokilar
    บันทึก ตุลาคม 12, 2558 ใน 15:48

    ขอบพระคุณค่ะ ได้ความรู้เยอะเลย และขออนุญาตแชร์บทความนะคะ

แสดงความคิดเห็น