ไม้สมอพิเภกซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศไทย การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย สามารถขึ้นได้ในดินแถบทุกชนิด ดังนั้นในเรื่องพื้นที่ปลูกจึงไม่ค่อยมีปัญหาสำหรับไม้ชนิดนี้ การปลูกสมอพิเภกด้วยต้นกล้านั้น สามารถย้ายต้นกล้ามาปลูกได้โดยวิธีไม่มีดินหุ้มราก ขนาดของต้นกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูกควรมีอายุ 6-7 เดือน มีความสูงประมาณ 40 ซม. ก่อนย้ายปลูกควรลิดใบและราก การย้ายต้นไม้จากแปลงเพาะไปปลูกควรย้ายในขณะอากาศชุ่มชื้น แต่ไม่ควรย้ายขณะฝนตกหนัก เพาะดินอาจแฉะเกินไป ดินอาจแน่นอากาศถ่ายเทไม่ได้ สำหรับอัตราการเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์ไม้สมอพิเภกนั้นยังไม่มีการ ศึกษาและบันทึกข้อมูลไว้ ส่วนใหญ่แล้วจะปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ใช้สอย โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia bellerica Roxb.
วงศ์ Combretaceae
ชื่ออื่น ชิบะดู่ ลัน สมอแหน สะคู้ แหน แหนขาว แหนต้น
ลักษณะ
ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 15-35 เมตร ลำต้นเปลาตรง โคนต้นมักเป็นพูพอน เปลือกสีเทาอมน้ำตาลหรือเป็นสีดำๆ ด่างๆ เป็นแห่งๆ ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ไปตามยาวลำต้น เปลือกในสีเหลือง เรือนยอดกลมแผ่กว้างและค่อนข้างทึบ กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนประปราย ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ติดเวียนกันเป็นกลุ่มตามปลายๆ กิ่ง ทรงใบรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 9-15 ซม. ยาว 13-19 ซม. โคนใบสอบมาสู่ก้านใบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายใบผายกว้าง ปลายสุดจะหยัดคอดเป็นติ่งแหลมสั้นๆ เส้นแขนงใบโค้งอ่อน มี 6-10 คู่ เส้นใบแบบเส้นร่างแหเห็นชัดทางด้านท้องใบ เนื้อใบค่อนข้างหนา หลังใบเขียวเข้มและมีขนสีน้ำตาลกระจายทั่วไป ท้องใบสีจางหรือสีเทามีขนนุ่มๆ คลุม แต่ทั้งสองด้านขนจะหลุดร่วงไปเมื่อใบแก่จัด ขอบใบเรียบ ก้านใบยาว 4-6 ซม. บริเวณกึ่งกลางก้านจะมีต่อมหรือตุ่มหูด หนึ่งคู่ ดอก เล็ก สีขาวอมเหลือง ออกเป็นช่อเดี่ยวๆ แบบหางกระรอก ที่ง่ามใบหรือรอยแผลใบตามกิ่ง ปลายช่อจะห้อยย้อยลง ช่อยาว 10-15 ซม. ดอกเพศผู้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามปลายๆ ช่อ ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะอยู่ตามโคนช่อ กลีบฐานดอก มี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยเล็กๆ ทั้งหมดมีขนทั่วไป เกสรเพศผู้มี 10 อัน เรียงซ้อนกันอยู่สองแถว รังไข่ ค่อนข้างแป้น ภายในมีช่องเดียวและมีไข่อ่อน 2 หน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว ผล กลมหรือกลมรีๆ แข็ง ผิวนอกปกคลุมด้วยขนสีน้ำตาลหนาแน่น ออกรวมกันเป็นพวงโตๆ
การกระจายพันธุ์ มีการกระจายอยู่ทั่วไปในป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ที่ใกล้ระดับน้ำทะเลไปจนถึง 500 เมตร จะทิ้งใบในช่วงสั้น ๆ ในเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม และใบอ่อนจะขึ้นมาใหม่พร้อมกับตาดอกในเดือนมีนาคม-เมษายน
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์สมอพิเภกสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศ โดยการเพาะเมล็ด และการขยายพันธุ์โดยวิธีไม่อาศัยเพศ โดยการปักชำและตอนกิ่ง ในการขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเมล็ด ควรเก็บประมาณช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม วิธีการเก็บเมล็ด ใช้วิธีเก็บผลที่ร่วงหล่นใหม่ ๆ ผลแก่จะมีสีน้ำตาลเข้ม คุณภาพของเมล็ด เมล็ดที่เก็บใหม่ ๆ จะมีอัตราการงอก 85% เมล็ดที่เก็บไว้นานจะมีเปอร์เซ็นต์การงอกลดลง
สภาพดินฟ้าอากาศ ไม้สมอพิเภกซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศไทย การกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย สามารถขึ้นได้ในดินแถบทุกชนิด ดังนั้นในเรื่องพื้นที่ปลูกจึงไม่ค่อยมีปัญหาสำหรับไม้ชนิดนี้ การปลูกสมอพิเภกด้วยต้นกล้านั้น สามารถย้ายต้นกล้ามาปลูกได้โดยวิธีไม่มีดินหุ้มราก ขนาดของต้นกล้าที่เหมาะสมในการย้ายปลูกควรมีอายุ 6-7 เดือน มีความสูงประมาณ 40 ซม. ก่อนย้ายปลูกควรลิดใบและราก การย้ายต้นไม้จากแปลงเพาะไปปลูกควรย้ายในขณะอากาศชุ่มชื้น แต่ไม่ควรย้ายขณะฝนตกหนัก เพาะดินอาจแฉะเกินไป ดินอาจแน่นอากาศถ่ายเทไม่ได้ สำหรับอัตราการเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์ไม้สมอพิเภกนั้นยังไม่มีการศึกษาและบันทึกข้อมูลไว้ ส่วนใหญ่แล้วจะปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ใช้สอย โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพร
การปลูก
นำเมล็ดที่เก็บได้มาเพาะลงในแปลงเพาะที่เตรียมไว้ ใช้ดินร่วนกลบหนาประมาณ 0.5 นิ้ว เมล็ดจะเริ่มงอกประมาณ 45 วัน หลังจากเพาะ การผสมพันธุ์แบบปักชำและตอนกิ่งทำกันน้อย เนื่องจากความต้องการกล้าไม้ชนิดนี้ยังมีไม่มากนัก
ลักษณะทางกายภาพและเคมีที่ดี:
ปริมาณความชื้นไม่เกิน 11% w/w ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 5% w/w ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 0.6% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล ไม่น้อยกว่า 17% w/w ปริมาณสารสกัดเอทานอล(70%) ไม่น้อยกว่า 29% w/w สารสกัดน้ำ ไม่น้อยกว่า 24% w/w ปริมาณแทนนินไม่น้อยกว่า 16% w/w
สรรพคุณ:
ตำรายาไทย: ผลอ่อน แก้ไข้เพื่อเสมหะ และไข้เจือลม เป็นยาระบาย ยาถ่าย ผลแก่ แก้เสมหะจุกคอ ทำให้ชุ่มคอ แก้โรคตา แก้ธาตุกำเริบ บำรุงธาตุ แก้ไข้ แก้ริดสีดวง แก้ท้องร่วงท้องเดิน รักษาโรคท้องมาน เมล็ดใน แก้บิด แก้บิดมูกเลือด
ประเทศพม่า: ใช้ผลแห้งรักษาอาการไอ และโรคตา ในอินโดจีนใช้เป็นยาฝาดสมาน และยาบำรุง ผลสดเป็นยาถ่าย
ตำรายาไทย สมอพิเภกจัดอยู่ใน พิกัดตรีผลา คือการจำกัดจำนวนผลไม้ 3 อย่าง มี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม สรรพคุณแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกองสมุฎฐาน พิกัดตรีสมอ คือการจำกัดจำนวนสมอ 3 อย่างมี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกสมอเทศ สรรพคุณแก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้ ผายธาตุ รู้ถ่ายรู้ปิดเอง
นอกจากนี้บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) ปรากฏการใช้สมอพิเภกในยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) มีส่วนประกอบของสมอพิเภกร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับยาหอมนวโกฐ มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (หลังจากฟื้นไข้แล้วยังมีอาการ เช่น คลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย)
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา
องค์ประกอบทางเคมี
chebulagic acid, ellagic acid, gallic acid, chebulagic acid
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
สารสกัดผลด้วยเอทานอลเพิ่มการขับน้ำดีในสุนัข ทำให้ความดันโลหิตลดลงจนอาจถึงตายได้ แต่สารสกัดด้วยน้ำมีผลน้อยต่อการขับน้ำดี และทำให้ความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย
การศึกษาทางพิษวิทยา
การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดผลด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,515 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ และเมื่อให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เท่ากับ 6.156 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ที่มา
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล, ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4.477-479 หน้า
ฐานข้อมูลเครื่องยาไทยอีสาน คณะ เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ป้ายคำ : สมุนไพร