จากรากเหง้าแห่งบรรพบุรุษที่ดำรงชีพด้วยการเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงโลก เติบโต บ่มเพาะ ชีวิตที่ได้เรียนรู้และรับรู้ความทุกข์ยากของเกษตรกรที่ถูกความไม่รู้ และผลประโยชน์บังตา ให้มองเห็นคุณค่าของตนเองน้อยลงไป ด้วยคำยกยอให้เป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก แลกกับเงินตราเพื่อมาแปลเปลี่ยนเป็นสิ่งของต่างๆ อันเป็นเครื่องดำรงชีวิต ทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น สนับสนุนด้วยวิธีการทำการเกษตรแผนใหม่ พืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมี เครื่องจักร ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นต้นทุนราคาแพง จนในที่สุดยิ่งทำ ยิ่งได้เงินมาก แต่กลับมีหนี้สินล้นพ้นตัว และแลกมากับการทำลายสรรพชีวิต เพียงเพื่อให้ได้ผลผลิตมากๆ ตามคนอื่นๆ ในแบบเศรษฐกิจตาโต
จากเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงโลก พึ่งพาอาศัยสรรพสิ่งรอบดัว ดิน น้ำ อากาศ จุลชีพ สัตว์ แมลง และค่อยเป็นค่อยไป มาเป็นผู้ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก (เฉพาะชาวโลก) ทำเพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ทำลายสภาพแวดล้อม ชีวิตสัตว์ แมลง พืช และสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่ต้องการ แม้กระทั่งชีวิตของตนเองแบบไม่รู้ตัว ด้วยการใช้สารเคมี สารพิษต่าง ๆ ทำลายล้าง
ผมได้แต่เฝ้าดูชีวิตชาวเกษตรกร จากคนใกล้ชิดที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ ที่ทำไร่อ้อย ด้วยการใช้สารเคมีในทุกกระบวนการผลิต ฉีดยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ใส่ปุ๋ย อาหารบำรุงพืช บำรุงดิน ตามสูตรที่ทางราชการ นักวิชาการส่งเสริม ผลผลิตดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เมื่อต้องการผลผลิตมากขึ้นยิ่งต้องใช้สารเคมี ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ จนอาชีพเกษตรกรไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ จึงต้องหาอาชีพเสริมเพื่อเลี้ยงตัวในยามรอผลผลิต ออกดอกออกผล และผลักดันผมให้ออกจากการเป็นเกษตรกร ด้วยการพยายามส่งให้เรียนสูงๆ เพื่อให้มีอาชีพเป็นเจ้าคนนายคน
เลือดในกายเป็นสายเลือดเกษตรกร
เมื่อได้เรียนหนังสือตามระบบการศึกษาไทย ซึ่งพัฒนาการศึกษาเพื่อตอบสนองระบบ อันเป็นระบบทุนนิยมเสรี มุ่งพัฒนาคนไปเป็นแรงงานในระบบ แรงงานแบบที่เรียกว่า แรงงานฝีมือบ้าง แรงงานชั้นปัญญาชนบ้าง แต่ก็ยังคงเป็นคนขายแรงงานหรือลูกจ้างนั่นเอง เมื่อระบบการศึกษาถูกออกแบบให้เป็นเช่นนี้คงยากแก่การฉีกออกนอกกรอบคิด ผมจึงได้แต่ก้มหน้าก้มตาไขว่คว้าใบปริญญาตามความคาดหวังของครอบครัว แต่ด้วยความเป็นสายเลือดเกษตรกรมันยังไหลวนไปทั่วร่าง ทำให้ต้องหาแนวทางของตนเอง จนกระทั่งมีโอกาศได้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกฝน และหาคำตอบของชีวิตที่ชมรมพัฒนาชนบท ด้วยการออกค่ายอาสาฯ เรียนรู้ชีวิตชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และพบปัญหาเดียวกันกับตนเอง เข้าถึงอย่างไม่ยากนัก เข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ เมื่อเพียรค้นหาหนทางออกในระบบการศึกษาไม่พบ จึงมุ่งมาหาภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ด้วยการเดินทางไปเรียนรู้กับผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม พ่อผาย สร้อยสระกลาง และผู้รู้ในสายเกษตรมากมาย ก็ได้พบหลักการและหลักคิดของปราชญ์อันหลักแหลม ลุ่มลึก จนกระทั่งพอเห็นเส้นทาง อันน่าจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด
ผกผัน ต่อสู้ สู่เส้นทางของตนเอง
หลังจากรับใบปริญญา ก็เข้าสู่การทำงานหาเลี้ยงตนด้วยวิชาชีพที่เล่าเรียนมา และยังค้นหาแนวทางเพื่อกลับไปสู่ฐานเดิมของชีวิต ที่คิดว่าตนเองถูกผลักดันให้หลงทาง จากค่านิยมที่ฝังรากในสังคมไทยอย่างยาวนาน ค่านิยมที่เห็นคนทำงานหนักด้วยการใช้แรง เป็นบุคคลชั้นล่างของสังคม เห็นคนที่วันหนึ่งๆ นั่งเก้าอี้สั่งงานคนนั้นคนนี้เป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทั้งๆที่อาจจะทำอะไรไม่เป็นเลยด้วยซ้ำไป ผมวนเวียนอยู่ในกระแสจนเกือบจะหมดหนทางหลุดออกมา แต่แล้วภาพสะท้อนของสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลงเกิดมากขึ้นทุกขณะ รวมทั้งผลกรรมที่คนเราทำลายสรรพชีวิตก็ส่งผล ให้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ มากมาย ผมจึงกลับมาทบทวนและหาเส้นทาง อันน่าจะเป็นทางรอดทั้งกับตนเองและทุกๆคน จนพบแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นศาสตร์ของพระราชา ที่ได้สร้างเป็นรูปแบบและมีแนวทางอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีใหม่ การจัดการดิน น้ำ ป่า 3 อย่าง ประโยนช์ 4 อย่าง ฯลฯ ผมมีหลักยึด มีแนวทางเดินอย่างชัดเจน และเริ่มก้าวย่างจากผลึกความคิดนี้อย่างจริงจัง ด้วยการเริ่มสั่งสมภูมิปัญญาของแผ่นดิน อันเป็นรากฐานความรู้ของแผ่นดินไทยที่บรรพบุรุษสร้างและรักษาไว้ให้ลูกหลานอย่างเรา
นับถอยหลังสู่การพึ่งตนเองด้วยวิถีเกษตร
การดำเนินชีวิตด้วยกรอบคิดตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้เป็นเส้นทางที่สวนกระแส ทั้งกระแสสังคมและกระแสโลก ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในวังวนกระแสบริโภคนิยม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตในครั้งนี้ หลังจากที่ผมศึกษาแนวทางนี้อย่างทุ่มเท ก็ได้คำตอบ พร้อมกับความเชื่อมันและศรัทธา จึงได้เริ่มทดลองลงมือปฏิบัติ ขอใช้พื้นที่สวนของพ่อ สร้างสวน ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ให้เกิด พออยู่ พอกิน พ่อใช้ และพอร่มเย็น ขนต้นไม้จากกรุงเทพฯ ไปปลูกที่นครศรีธรรมราช เป็นเวลากว่า 4 ปี จนมีไม้ผลที่อยากกินทุกชนิด จุดเริ่มต้นเล็กๆ นี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตอีกครั้ง
ผมได้ตกลงกับครอบครัว ภรรยาและลูก ๆ ว่าเราจะกลับไปเป็นเกษตรกร อันเป็นอาชีพดั้งเดิมของปู่ย่าตายาย แต่เนื่องด้วยปณิธานที่ตั้งใจไว้ว่าจะตอบแทนเงินภาษีของประชาชนที่ทำให้ผมได้รับการศึกษา และมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน จึงต้องขอใช้เวลาในการตอบแทนสังคมด้วยภารกิจที่จะนำเทคโนโลยีที่อุตสาหะเรียนรู้ สั่งสมมา ไปเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้มีอำนาจ ในระบบทุนนิยมเสรี เวลาการนับถอยหลังสู่วิถีเกษตรจึงเริ่มขึ้น โดยมีการกำหนดอย่างชัดเจน (ระยะเวลานับถอยหลังดูด้านล่างได้ครับ) แต่ในขณะที่เวลาผ่านไป ผมไม่ได้หยุดที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นเกษตรกรเลย ยังลงมือ เรียนรู้ ปฏิบัติไปจนกว่าจะถึงวันเวลาที่จะเป็นเกษตรกรเต็มตัว เริ่มต้นด้วยการสั่งสมภูมิปัญญาแผ่นดิน
ว่าที่ฯ เกษตรกร เซมเบ้
10 กพ. 2556