วิทยาลัยชุมชนน่าน ได้ออกแบบโมเดล สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน ที่ได้แนวคิดจากศาสตร์พระราชาเรื่องหลักการต้นน้ำ(ป่าไม้) กลางน้ำ(เกษตรกรรม) และปลายน้ำ(ประมง) โดยมีกำหนดระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนการทำงาน ตลอดจนรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนปฏิบัติเพื่อนำไปใช้เป็นแผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งการทำงานภายใต้โมเดลนี้ จะแบ่งพื้นที่ภูเขาหัวโล้นออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนยอดดอย (ต้นน้ำ) ส่วนกลางดอย (กลางน้ำ) และส่วนเชิงดอย (ปลายน้ำ)
ศาสตร์พระราชา
ส่วนยอดดอย: ถือเป็นพื้นที่ที่ต้องเร่งแก้ไขด่วนที่สุด พื้นที่สีเขียวจะต้องเร่งสร้างเสริมให้เกิดขึ้นตามแผนการทำงาน โดยอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรเครือข่ายและเกษตรกรในพื้นที่ จากภาระงานที่ต้องปลูกป่าไม้ยืนต้นเพื่อเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกพืชไร่ให้เป็นพื้นที่ป่าตามหลักการศาสตร์พระราชา ต้นน้ำ คือ ป่าไม้ การทำงานในพื้นที่ส่วนนี้จึงเปรียบได้กับการสวมหมวกสีเขียวให้ภูเขาหัวโล้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การชักชวนให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชไร่มาปลูกไม้ยืนต้นเพื่อสร้างป่าอาจไม่สามารถทำได้ง่ายตามหลักการที่ควรจะเป็น เนื่องจากการทำไร่ข้าวโพดเป็นอาชีพสร้างรายได้ของครอบครัวเกษตรกร ทางออกในเรื่องนี้จึงควรเป็นวิธีที่ประนีประนอมโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตและข้อมูลทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน การให้ความรู้ถึงประโยชน์ของป่าไม้ที่ให้ผลโดยตรงต่อครอบครัวเกษตรกร และการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาในด้านรายได้เพื่อการยังชีพของครอบครัว จึงน่าจะเป็นกระบวนการที่สามารถนำมาปฏิบัติจริงเพื่อให้การทำงานในพื้นที่ส่วนนี้บรรลุจุดมุ่งหมายได้
ส่วนกลางดอย: พื้นที่ส่วนนี้กำหนดให้คงไว้เป็นส่วนพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ตามศาสตร์พระราชาถือเป็นพื้นที่ส่วน กลางน้ำ ที่ควรกันไว้สำหรับการกสิกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพดและยังขาดความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์และการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากพื้นที่ส่วนนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดชัน น้ำฝนที่ตกตามฤดูกาลจะไหลลงสู่แหล่งน้ำหมด ดังนั้น เมื่อถึงหน้าแล้งปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงพบได้บ่อย การช่วยเหลือเกษตรกรในด้านการให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูกพืชไร่ที่ถูกต้องและการบริหารจัดการน้ำจึงถือเป็นภาระงานที่สำคัญในลำดับต่อไป
ส่วนเชิงดอย: พื้นที่เชิงเขาเมื่อเทียบกับส่วนบนแล้วผืนดินจะเก็บกักน้ำได้มากกว่า กระแสน้ำที่ไหลบ่าจากบนดอยลงมาจะรวมกันเป็นสายน้ำ เล็กบ้างใหญ่บ้างทำให้เกิดลำน้ำ ลำห้วย หรือแม่น้ำ ไหลเป็นสายไปสู่พื้นที่ราบต่อเนื่องไปจนถึงภาคกลาง พื้นที่ส่วนนี้เปรียบได้กับส่วน ปลายน้ำ ควรจะอุดมสมบูรณ์กว่าส่วนอื่นและเป็นพื้นที่เหมาะกับการประมง หากระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมถูกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้วจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่พื้นที่ส่วนนี้ยังมีความลาดชันและเป็นลอนคลื่น อีกทั้งยังถูกใช้งานจากคนในชุมชนทั้งเพื่อการเกษตร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และการประมงน้ำจืด ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่น การปรับพื้นที่เพื่อใช้เป็นพื้นที่การเกษตรทำให้จำนวนไม้ยืนต้นมีไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น ปัญหาน้ำป่าหลากในฤดูฝนและน้ำแห้งขอดในฤดูแล้ง การใช้สารเคมีต่อเนื่องสะสมทำให้เกิดมลพิษต่อแหล่งน้ำ ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการประมงน้ำจืด การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ส่วนนี้จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อลดกำลังของกระแสน้ำหลากในฤดูฝน สร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็กและปลูกพืชชุ่มน้ำเพื่อรักษาดินให้อุ้มน้ำเป็นการแก้ปัญหาน้ำแล้งในฤดูร้อนอย่างยั่งยืน สนับสนุนส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์เพื่อลดการใช้สารเคมี เมื่อแหล่งน้ำสะอาดขึ้นและตะกอนดินที่ถูกกระแสน้ำพัดลงมาทับถมลดน้อยลง ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำรวมถึงปลาน้ำจืดสายพันธุ์ต่างๆจะเพิ่มมากขึ้นเป็นผลพวงต่อเนื่อง ท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้การประมงในพื้นที่ส่วนนี้เป็นผลดียิ่งขึ้น การทำงานในพื้นที่ส่วนนี้จึงเปรียบได้กับการสวมรองเท้าให้ภูเขานั่นเอง
ความคิดมาจากศาสตร์ของพระราชา มองอย่างเต็มระบบคือ มีต้นน้ำเป็นป่าไม้ มีกลางน้ำเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และปลายน้ำเป็นประมง เราประยุกต์มาจัดการพื้นที่บนภูเขา ให้ยอดภูเขาเป็นป่าไม้ เสมือนหมวกของภูเขา ให้กลางน้ำหรือกลางภูเขาเป็นพื้นที่ปลูกพืชผล และให้ตีนภูเขาเป็นประมง หรือแหล่งน้ำใช้สอย ขั้นตอนการเรียนรู้หรือดำเนินการตามโครงการ คือ กำหนดเวลาไว้ 5 ปี ปีที่ 1-3 เป็นปีปลูกต้นไม้ เริ่มจากแบ่งพื้นที่เขาหัวโล้นออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนยอดภูเขาปลูกต้นไม้ยืนต้นไว้ให้ความชุ่มชื้น ส่วนกลางภูเขาปลูกพืชผลตามต้องการ และล่างหรือจุดสวมรองเท้าให้กับภูเขา ก็เว้นพื้นที่ไว้ให้กับทางน้ำและใกล้แหล่งน้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์
เมื่อทำครบ 3 ปีแล้ว ปีที่ 4 และ 5 ชาวบ้านก็สามารถยืนอยู่ได้ด้วยพืชผลที่ปลูกไว้ ส่วนระหว่างปีที่ดำเนินการ วิทยาลัยชุมชนน่านจะให้เงินอุดหนุนไร่ละ 1,600 บาท เงินจำนวนนี้ได้รับการอุดหนุนจากคนปลายน้ำ เมื่อทำครบ 5 ปีแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการนอกจากได้พืชผลเก็บกิน ยังได้หน่วยกิตทางการศึกษาเพื่อนำไปใช้เรียนต่อได้ เท่ากับได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงนั่นเอง
โมเดล สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้นจังหวัดน่าน
ด้วยสภาพภูมิประเทศของจังหวัดน่านส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง พื้นที่ราบเพื่อการเกษตรมีน้อย ในขณะที่เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามการขยายตัวของชุมชน ระบบทุนนิยมขยายตามสภาพเศรษฐกิจ การทำการเกษตรเปลี่ยนรูปแบบ มีเครื่องทุนแรง สารเคมี พืชเชิงเดี่ยว รวมถึงแรงจูงใจจากนโยบายรัฐ ทำให้ปัญหาการรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปรากฏการณ์ที่ทุถกคนทุกฝ่ายยอบรับคือ ภูเขากลายเป็น เขาหัวโล้น
การแก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมจึงต้องศึกษาลงลึกโดยเริ่มจากระดับครัวเรือน ทั้งนี้เพื่อหาทางออกร่วมกันกับเกษตรกรในการประกอบอาชีพ โดยหลีกเลี่ยงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและให้มีการรุกพื้นที่ป่าให้น้อยที่สุด
จังหวัดน่าน และเครือข่ายคนน่านจัดการตนเองและหน่วยงานต่างๆ 47 หน่วยงาน ร่วมกันลงนามความร่วมมือในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาในการลดการทำลายป่าไม้บนพื้นที่สูงและทำให้ป่ากลับคืนมาโดยให้ทุกตำบลร่วมจัดการตนเองโดยออกข้อบัญญัติท้องถิ่นฯว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีตำบลร่วมปฏิบัติการในปี 2558 จำนวน 34 ตำบล
วิทยาลัยชุมชนน่านหนึ่งใน 47 หน่วยงานที่ลงนามMOU ได้รับมอบหมายให้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการจัดทำข้อบัญญัติฯ จนได้ทูลเกล้าถวายรายงานความสำเร็จในการจัดทำข้อบัญญัติต่อสมเด็จพระเทพฯ จำนวน 18 ตำบล เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา
การจัดทำข้อบัญญัติฯ เพื่อฟื้นคืนป่า พบว่าพื้นที่ที่เป็นเขาหัวโล้นคือ พื้นที่ทำกิน ดังนั้นวิทยาลัยชุมชนน่านจึงออกแบบการฟื้นฟูป่าในพื้นที่ทำกินที่เป็นเขาหัวโล้น โดยใช้ศาสตร์พระราชา ต้นน้ำ ป่าไม้ กลางน้ำการเกษตรและปลายน้ำประมงหรือการจัดการน้ำมาบูรณาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและให้ชื่อว่า สวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น
รูปแบบการดำเนินงาน
รูปแบบการฟื้นคืนป่าให้เขาหัวโล้น วิทยาลัยชุมชนน่านได้ออกแบบคือ สวมหมวกและใส่รองเท้า จะแบ่งพื้นที่ภูเขาหัวโล้นออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนยอดดอย (ต้นน้ำ) ส่วนกลางดอย (กลางน้ำ) และส่วนเชิงดอย (ปลายน้ำ)
ส่วนยอดดอย: ถือเป็นพื้นที่ที่ต้องเร่งแก้ไขด่วนที่สุด ให้เป็นพื้นที่สีเขียว ใช้กระบวนการปลูกป่าในใจคน ปลูกป่า3อย่างประโยชน์4อย่าง ให้เป็นวนเกษตร เรียกส่วนนี้ว่า สวมหมวก
ส่วนเชิงดอย: พื้นที่เชิงเขาต้องเร่งสร้างความชุมชื้นโดยการปลูกพืชชุ่มน้ำเช่นกล้วย หวาย ต๋าว หรือไม้ที่โตเร็วเพื่อเร่งให้เกิดการชะลอน้ำ สร้างแหล่งอาหาร เรียกส่วนนี้ว่า ใส่รองเท้า
ระยะการทำงาน
แผนการทำงานภายใต้โมเดลนี้ คณะทำงานตั้งเป้าหมายพื้นที่ปฏิบัติงานในเบื้องต้น 100 ไร่ เรียก 1 แปลง นำร่อง 1 ตำบล ต่อ 1 แปลง โดยแบ่งการทำงานออกได้เป็น 2 ระยะคือ
1. ระยะชดเชย (ช่วง 1 3 ปีแรก):การปฏิบัติงานในระยะนี้จะต้องอาศัยเงินทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเกษตรกรเป็นการชดเชยรายได้ที่เกษตรกรเสียไปจากการไม่ได้ปลูกพืชไร่ คิดเป็นจำนวนเงิน 1,600บาทต่อไร่ ต่อปี
2. ระยะตอบแทน (ช่วง ปีที่ 4 5): การปฏิบัติงานในระยะนี้เป็นระยะติดตามผลใช้หลักการธนาคารต้นไม้ หรือ Credit Carbonซึ่งเกษตรกรจะมีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนที่มาจากการคำนวณโดยใช้เส้นรอบวงของต้นไม้เหล่านั้น
ด้วยพันธกิจหลักและกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนา ของ วิทยาลัยชุมชนน่าน ที่มุ่งหวังพัฒนาท้องถิ่นให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมที่ยังคงสภาพระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม และคนในชุมชนได้มีคุณภาพชีวิต มีอาชีพการงาน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงได้ออกแบบหลักสูตรพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านอาชีพและคุณภาพชีวิต ในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ (รปศ.)รวมทั้งสิ้น 10 วิชา รายวิชาละ 60 ชั่วโมงโดยประมาณ สำหรับจัดการเรียนการสอนรูปแบบ Family Base Learning ให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมในโมเดลสวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่านโดยมีลำดับการเรียนรู้ตามลักษณะขั้นบันไดทั้งหมด 5 ขั้น เริ่มจาก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ถอดบทเรียน และขยายผล ใช้ระยะเวลาเรียนตลอดหลักสูตร 5 ปี ผู้เรียนจะเป็นสมาชิกของครอบครัวเกษตรกรในพื้นที่ที่กำหนดในเบื้องต้น 100 ไร่ หรือ 8 15 ครอบครัวโดยประมาณ เฉลี่ยครอบครัวหนึ่งจะมีสมาชิกประมาณ 4 5 คน สามารถจัดกลุ่มได้เป็น 1 ห้องเรียน ครูผู้สอนจะเป็นคนในท้องถิ่นที่มีความรู้ทักษะความชำนาญในด้านการเกษตร โดย วิทยาลัยชุมชนน่าน จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาครูผู้สอนค่าสอน หลักสูตรและรายวิชารวมถึงแผนการเรียนการสอน ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้เรียน
วิทยาลัยชุมชนน่าน ออกแบบโมเดลสวมหมวกใส่รองเท้าให้ภูเขาหัวโล้น จังหวัดน่าน พร้อมทั้งจัดการเรียนรู้ หลักสูตรพัฒนาทักษะและเสริมสร้างประสบการณ์ด้านอาชีพและคุณภาพชีวิตให้แก่ครอบครัวเกษตรกรเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาพื้นที่สีเขียวถูกทำลายอย่างรวดเร็วในเขตจังหวัดน่าน เป็นการทำงานสนองพระราชดำริของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องการรักษาผืนป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำของคนทั้งประเทศ และเพื่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง