สะเดา เป็นไม้โตเร็ว เจริญได้ดีในแถบร้อน ที่มีปริมาณน้ำฝน ตั้งแต่ 400-1,200 มม. เป็นพืชทน อากาศแห้งแล้งได้ดี สามารถขึ้นได้ในดิน ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ แต่จะเจริญเติบโตเร็ว ในสภาพดินที่ไม่ชื้นแฉะ และปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 800 มม.
สะเดามีชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่นเช่น เดา สะเลียม แต่มีชื่อสามัญทั่วไปว่า neem สะเดามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica A. Juss ซี่งเป็นสะเดาที่รู้จักทั่วไปว่าสะเดาอินเดีย ส่วนสะเดาที่พบทั่วไปในประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica var.siamensis Valeton หรือสะเดาไทย นอกจากนี้ยังมีสะเดาอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปในแถบภาคใต้ของไทยและแหลมมาลายูในประเทศมาเลเซีย คือ เทียม สะเดาเทียมหรือสะเดาช้าง Azadirachta excels (Jack) Jacobs สะเดาเป็นไม้ยืนต้นวงศ์เดียวกันกับมะฮอกกะนี ลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างสะเดาไทย สะเดาอินเดียและสะเดาช้างอาจดูได้คร่าว ๆจากลักษณะขอบใบ สีใบ ขนาดของเมล็ด ตลอดจนช่วงระยะเวลาการออกดอก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis Valeton
ชื่อสามัญ : Siamese neem tree, Nim , Margosa, Quinine
วงศ์ : Meliaceae
ชื่ออื่น : กะเดา (ภาคใต้), จะตัง (ส่วย), สะเดา (ภาคกลาง), สะเลียม (ภาคเหนือ), สะเดาบ้าน (ทั่วไป)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบ สูงประมาณ 8-15 เมตร เส้นรอบวงของต้น 80-200 ซม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือคล้ายเจดีย์ต่ำแตกกิ่งก้านสาขา เปลือกของลำต้นสีน้ำตาลเทาหรือเทาปนดำ แตกระแหงเป็นร่องเล็กๆ หรือเป็นสะเก็ดเป็นร่องยาวตามต้น แต่เปลือกของกิ่งอ่อนเรียบ ยอดอ่อนที่แตกใหม่มีสีน้ำตาลแดง
- ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยฐานใบไม่เท่ากัน รูปใบหอกปลายสอบ ออกเรียงสลับรูปใบหอก กว้าง 3-4 ซม. ยาว 4-8 ซม. โคนใบมนไม่เท่ากัน ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน สะเดาจะผลิใบใหม่พร้อมกับผลิดอก
- ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งขณะแตกใบอ่อน ดอกสีขาวนวล กลีบเลี้ยงมี 5 แฉก โคนติดกัน กลีบดอกโคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก
- ผล รูปกลมรีอวบน้ำ ขนาด 0.8 – 1 ซม. ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว สุกเป็นสีเหลืองส้ม เมล็ดเดี่ยว รูปรี
สรรพคุณ :
- ดอก ยอดอ่อน – แก้พิษโลหิต กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ คันดุจมีตัวไต่อยู่ บำรุงธาตุ ขับลม ใช้เป็นอาหารผักได้ดี
- ขนอ่อน – ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวง แก้ปัสสาวะพิการ
- เปลือกต้น – แก้ไข้ เจริญอาหาร แก้ท้องเดิน บิดมูกเลือด
- ก้านใบ – แก้ไข้ ทำยารักษาไข้มาลาเรีย
- กระพี้ – แก้ถุงน้ำดีอักเสบ
- ยาง – ดับพิษร้อน
- แก่น – แก้อาเจียน ขับเสมหะ
- ราก – แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ ซึ่งเกาะแน่นอยู่ในทรวงอก
- ใบ,ผล – ใช้เป็นยาฆ่าแมลง บำรุงธาตุ
- ผล มีสารรสขม – ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ และยาระบาย แก้โรคหัวใจเดินผิดปกติ
- เปลือกราก – เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง
- น้ำมันจากเมล็ด – ใช้รักษาโรคผิวหนัง และยาฆ่าแมลง
ส่วนที่ใช้ : ดอกช่อดอก ขนอ่อน ยอด เปลือก ก้านใบ กระพี้ ยาง แก่น ราก ใบ ผล ต้น เปลือกราก น้ำมันจากเมล็ด
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
เป็นยาขมเจริญอาหาร
ช่อดอกไม่จำกัด ลวกน้ำร้อน จิ้มน้ำปลาหวาน หรือน้ำพริก หรือใช้เปลือกสด ประมาณ 1 ฝ่ามือ ต้มน้ำ 2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1/2 ถ้วยแก้ว
ใช้เป็นยาฆ่าแมลง
สะเดาให้สารสกัดชื่อ Azadirachin ใช้ฆ่าแมลงโดยสูตร สะเดาสด 4 กิโลกรัม ข่าแก่ 4 กิโลกรัม ตะไคร้หอม 4 กิโลกรัม นำแต่ละอย่างมาบดหรือตำให้ละเอียด หมักกับน้ำ 20 ลิตร 1 คืน น้ำน้ำยาที่กรองได้มา 1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ใช้ฉีดฆ่าแมลงในสวนผลไม้ และสวนผักได้ดี โดยไม่มีพิษและอันตราย
สารเคมี :
- ผล มีสารขมชื่อ bakayanin
- ช่อดอก มีสารพวกไกลโคไซด์ ชื่อ nimbasterin 0.005% และน้ำมันหอมระเหยที่มีรสเผ็ดจัดอยู่ 0.5% นอกนั้นพบ nimbecetin, nimbesterol, กรดไขมัน และสารที่มีรสขม
- เมล็ด มีน้ำมันขมชื่อ margosic acid 45% หรือบางที่เรียก Nim Oil และสารขมชื่อ nimbin, nimbidin Nim Oil มี nimbidin เป็นส่วนมากและเป็นตัวออกฤทธิ์มีกำมะถันอยู่ด้วย
การขยายพันธุ์
ใช้วิธีเพาะเมล็ด ซึ่งสามารถทำได้จำนวนมาก เพราะปริมาณของ ผลสะเดามีมากในทุก ๆ ปี แต่ไม่สามารถเก็บเมล็ดไว้ได้นาน เพราะเมล็ดจะสูญเสียเปอร์เซ็นต์ความงอกงามได้เร็วมาก หลังจาก เก็บผล สุกมาและเอาเนื้อออกหมดแล้วล้างเมล็ดให้สะอาด นำไปเพาะทันที จะงอก ได้ดีมาก เมื่อสะเดาเจริญเติบโตจะติดผลเมื่ออายุ 5 ปีขึ้นไป และให้ผลผลิต เต็มที่เมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไปปริมาณของผลสะเดาจะอยู่ระหว่าง 10-50 กก./ต้น/ ปี
ชนิดของสะเดา
สะเดา แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
- สะเดาอินเดีย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟีนเลื่อย ปลายของฟันเลื่อยแหลมโคนใบเบี้ยว ปลายใบแหลมเรียวแคบมากคล้ายเส้นขร ผลสุกในเดือน ก.ค.-ส.ค.
- สะเดาไทย มีลักษณะของใบหยักเป็นฟันเลื่อย แต่ปลายของฟันเลื่อยทู่ โคนใบเบี้ยวแต่กว้างกว่า ปลายใบแหลม ผลสุกในเดือน เม.ย.- พ.ค.
- สะเดาช้าง หรือต้นเทียม ไม้เทียม ขอบใบจะเรียบ หรือปัดขึ้นลงเล็กน้อย โคนใบเบี้ยว ปลายเป็นติ่งแหลม ขนาดใบและผลใหญ่กว่า 2 ชนิดแรก ผลสุกในเดือน พ.ค.- ส.ค.
** ต้นสะเดาอินเดีย และสะเดาไทย เป็นชนิด (species) เดียวกัน แต่ต่างพันธุ์ (variety) ส่วนสะเดาช้างหรือต้นเทียม ไม้เทียม จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับสะเดาไทย และสะเดาอินเดีย แต่คนละชนิด (species) สะเดาทั้ง 3 ชนิด นี้จะมีลักษณะ ใบและต้นแตกต่าง กันดังกล่าวมาแล้ว
ประโยชน์ของสะเดา
- เนื้อไม้ เหมาะสำหรับนำไปก่อสร้างบ้านเรือน ทำเสา เข็ม และ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ รวมทั้งเป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดี
- เป็นอาหารและพืชสมุนไพร เช่น ในดอก และยอดอ่อน ใช้เป็นอาหาร และยาเจริญอาหาร ดอกแก้พิษเลือดกำเดา บำรุงธาตุ ผลแก้โรคหัวใจ ยางดับพิษร้อน เปลือกแก้ไข้มาลาเรีย และเป็นยาสมานแผล ผลอ่อนใช้ถ่ายพยาธิ เมล็ดใช้รักษาโรคเบาหวาน
- เป็นสารป้องกันและกำจัดแมลง สะเดามีสารชนิดหนึ่งชื่อ กะซ้าหอยแรคติหน สามารถนำมาสกัด เป็นสารป้องกันกำจัดแมลงได้ พบมากที่สุดในส่วนของเมล็ด
- ปลูกเพื่อเป็นแนวกันลมและให้ร่ม เนื่องจากมีใบหนาทึบ รากลึก ทนแล้ง ทนดินเค็ม และผลัดใบในเวลาสั้น
- อื่นๆ เช่น น้ำมันจากเมล็ดสะเดาใช้ทำเชื้อเพลิงจุดตะเกียง เปลือกมีสารแทนนิน ใช้ในอุตสาหะกรรมฟอกหนัง กากสะเดาใช้เป็นปุ๋ย ผสมเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น
การปลูกสะเดา
- การเตรียมพื้นที่ ไถพรวนปรับพื้นที่ให้เรียบ เก็บเศษไม้และวัชพืช สุมเผาใน ช่วงฤดูร้อน แล้วปักหลักกำหนดระยะปลูก
- ระยะปลูก ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการปลูก เช่น ต้องการไม้ขนาดเล็ก ใช้ระยะปลุก 12 หรือ 22 เมตร ต้องการไม้ใหญ่ สำหรับใช้ในการก่อสร้างและ ทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ระยะปลูก 24 หรือ 44 เมตร ต้องการเมล็ดไปทำสารฆ่าแมลง ใช้ระยะปลูก 66 เมตร แต่เพื่อไม่ให้เสียพื้นที่ อาจปลูกระยะถี่ก่อน เมื่อเรือนยอด เบียดชิดกันจึงตัดสะเดาบางส่วนไปใช้ประโยชน์ ให้ต้นสะเดาที่เหลือ มีระยะห่างตาม วัตถุประสงค์การปลูกต่อไป
- หลุมปลูก ขนาดที่เหมาะสม คือ กว้างxยาวxลึก ประมาณ 2525×25 ซม.
- วิธีปลูก หลังจากขุดหลุมปลูกแล้ว ตากดินประมาณ 1 สัปดาห์เพื่อฆ่าเชื้อโรค ในดิน แล้วจึงใส่ปุ่ยร็อคฟอสเฟส รองก้นหลุม อัตรา 150-200 กรัมต่อหลุม หรือครึ่งกระป๋องนม แล้วนำกล้าไม้ที่เตรียมไว้ ย้ายลงปลูก ขนาดกล้าไม้ที่ เหมาะสมควรสูง 8-12 นิ้ว อายุประมาณ 4-5 เดือน ฤดูปลูก ควรเป็นฤดูฝน โดยเลือกปลูกหลังจากวันที่ฝนตกหนัก ฉีกถุงพลาสติกใส่กล้าออก วางกล้าลงตรง กลางหลุม กลบดินและกดรอบๆ โคนต้นให้แน่น
ฤดูการออกดอก : ออกดอกระหว่างเดือนธ.ค. มี.ค.
การดูแลรักษา
- การกำจัดวัชพืช ในปีแรกจำเป์นต้องเอาใจใส่กำจัดวัชพืชออกบ้าง เพื่อไม่ให้สูงคลุมเบียดบังแย่งแสง และอาหาร ต้นสะเดา
- การใส่ปุ๋ย เมื่อกล้าไม้ที่ปลูกตั้งตัวแล้ว ควรเร่งการเจริญเติบโตด้วยการใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อน กาแฟ โดยการ พรวนดินรอบโคนต้น แล้วปุ๋ยตาม
- การริดกิ่ง หากต้องการให้สะเดามีลำต้นตรงเปลา ใช้ประโยชน์ในการแปรรูปได้มากขึ้น ควรหมั่นริดกิ่งอยู่ สม่ำเสมอ
- การป้องกันไฟ ควรทำแนวกันไฟกว้างประมาณ 6-8 เมตร รอบแปลงปลูก เพื่อป้องกันไฟไหม้ ในฤดูแล้ง
การเก็บเกี่ยวผลสะเดา
สะเดาจะเริ่มติดผลเมื่ออายุ 3-5 ปี ให้ทำการเก็บผลสะเดาสุกจากต้นหรือผลที่ ร่วงใหม่ๆ รีบนำมาแยกเนื้อหุ้มผลออกจากเมล็ด แล้วล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำ เมล็ดไปตากแดด 1-2 วัน แล้วนำไป ผึ่งลมในที่ร่มจนแห้งสนิท จึงค่อยบรรจุใส่ภาชนะ ที่มีอากาศถ่ายเท ได้ดี เช่นกระสอบป่าน ถุงตาข่ายไนล่อน เป็นต้น เก็บไว้ในที่แห้งเย็น ไม่อับชื้น เพื่อป้องกันเชื้อรา