ไม้สักทอง ไม้บำนาญเพื่อชีวิต

16 มกราคม 2556 ไม้ยืนต้น 0

ไม้สักทองเป็นไม้โตเร็วปานกลางและเป็นไม้เนื้อแข็ง ที่มีลักษณะพิเศษกว่าไม้ชนิดอื่น โดยเฉพาะเนื้อไม้ มอด ปลวก และแมลง ไม่ทำอันตราย เนื้อไม้มีสีเหลืองทอง ลวดลายสวยงาม เลื่อยไสกบตบแต่งง่าย จึงนิยมใช้ทำบ้านเรือนที่ต้องการความสวยงาม ในสมัยโบราณไม้สักทองหาง่าย ราคาไม่แพง การสร้างบ้านเรือน ใช้ไม้สักทองทำเสาเรือนด้วย เพราะมีความทนทาน สามารถอยู่ในดินได้เป็นเวลานานๆ ปัจจุบันไม้สักทองหายากและมีราคาแพง จึงต้องใช้ไม้สักทองอย่างประหยัด และคุ้มค่า โดยนำไม้สักทองมาเข้าเครื่องฝานเป็นแผ่นบางๆ เพื่อทำเป็นไม้อัดแทนการใช้ไม้สักทั้งแผ่น นอกจากนี้ ยังนำไม้ขนาดเล็ก เศษไม้ ปลายไม้ มาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ แกะสลัก ปาร์เก้ โมเสค วงกบ กรอบและบานประตูหน้าต่าง อย่างไรก็ตามในขณะที่ไม้สักทองในป่าธรรมชาติ กำลังจะหมดไป รัฐบาลก็มีนโยบาย ส่งเสริมให้เอกชนปลูกไม้สักทองจากสวนป่าที่ปลูกขึ้นมาใช้แทนกันได้ แม้ว่า ไม้สักที่ปลูกจะมีลวดลายไม่สวยงามเหมือนไม้สักทองในป่าธรรมชาติ แต่ก็มีความแข็งแรงทนทานเหมือนกัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tectona grandis L.f.
ชื่อวงศ์ : LABIATAE
ชื่อพื้นเมือง : สัก(ทั่วไป) , เคาะเยียโอ(ละว้า เชียงใหม่) , ปายี้(กาญจนบุรี),ปีฮือ ปีฮี เป้อยี(แม่ฮ่องสอน) , เส่บายี้(กำแพงเพชร)

ไม้สัก ปลวกและมอดไม่ทำอันตราย เพราะในเนื้อไม้สักมีสารเคมีพิเศษอยู่ชนิดหนึ่ง ชื่อ O-cresyl methyl ether สารเคมีชนิดนี้ค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ของกรมป่าไม้ มีคุณสมบัติ เมื่อทาหรืออาบไม้แล้วไม้จะมีความคงทนต่อ ปลวก แมลง เห็ดราได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ในไม้สักทอง ยังพบว่ามีทองคำปนอยู่ 0.5 ppm. (ไม้สักทอง 26 ต้น มีทองคำหนัก 1 บาท)
ไม้สัก เป็นไม้เนื้อแข็งตามมาตรฐานของกรมป่าไม้ จากการทดลองตามหลักวิชาการไม้สักมีความแข็งแรงสูงกว่า 1,000 กก./ตร.ซม. และมีความทนทานตามธรรมชาติ จากการทดลองนำส่วนที่เป็นแก่นของไม้สักไปทดลองปักดิน ปรากฏว่า มีความทนทานตามธรรมชาติเกินกว่า 10 ปี (ระหว่าง 11-18 ปี)

ลักษณะทั่วไป
ไม้สัก เป็นไม้ผลัดใบขนาดใหญ่ มีลำต้นเปลาตรง โคนต้นเป็นพูพอนเล็กน้อยกิ่งอ่อนเป็นรูปเหลี่ยม เรือนยอดเป็นทรงพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ ลำต้นมีความสูง ตั้งแต่ 20 เมตร ขึ้นไป

  • ลำต้น เปลือกหนา สีเทา หรือน้ำตาลอ่อนแกมเทา เรียบหรือแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามความยาวของลำต้น ลักษณะเนื้อไม้สักจะมีสีน้ำตาลทอง (เรียกว่าสักทอง) ถึงสีน้ำตาลแก่ และมักจะมีเส้นสีน้ำตาลแก่แทรก (เรียกว่าสักทองลายดำ) เนื้อไม้มีเสี้ยนตรงเนื้อหยาบ แข็งปานกลาง เลื่อยไสกบ ตกแต่งง่ายไม่ค่อยยืดหดหรือบิดงอง่ายเหมือนไม้ชนิดอื่น
  • ใบ เป็นแบบใบเดี่ยว แตกออกจากกิ่งเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน แต่ละคู่ตั้งฉากสลับ กันไปตามความยาวของกิ่ง (opposite decussate) รูปใบเป็นรูปรี (elliptic) หรือรูปไข่กลับ (obovate) ใบยาว 30-60 เซนติเมตร พื้นใบด้านบนและด้านล่างสากมือ ท้องใบสีเขียว ที่ท้องใบของใบอ่อนเมื่อขยี้แล้วจะมีสีแดงคล้ายเลือด ใบสักจะร่วงผลัดใบในฤดูแล้งประมาณเดือนพฤศจิกายน-มกราคม และจะแตกใบใหม่ประมาณเดือนเมษายน-มิถุนายน
  • ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศคือมีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมียในดอกเดียวกัน มีขนาดเล็กกลีบดอกสีขาวนวล ออกเป็นช่อขนาดใหญ่ บริเวณปลายกิ่ง สักจะออกช่อดอกช่อแรกที่ปลายยอดสุดของแกนลำต้นก่อนกิ่งอื่นๆ ต่อไปจึงจะเกิดดอกที่ปลายยอดของกิ่งดอกบานเพียง 1 วันหลังจากนั้นดอกที่ได้รับการผสมแล้วก็จะเปลี่ยนแปลงเป็นผลต่อไปในช่วงเดือนกรกฎาคมตุลาคม
  • ผลและเมล็ด เป็นรูปร่างค่อนข้างกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตรผลหนึ่งๆ จะมีเมล็ด 1-4 เมล็ด โดยทั่วไปมักจะเรียกผลสักว่า เมล็ดสัก ซึ่งเมื่อแก่จัดจะเป็นสีน้ำตาล ผลเริ่มแก่ในเดือนพฤศจิกายน-มกราคม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-2.0 เซนติเมตร เมล็ด มีลักษณะเป็นรูปทรงไข่ ขนาดยาวประมาณ 0.6 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร เรียงไปทางแนวตั้งของผลสัก แต่ละเมล็ดจะถูกห่อหุ้มด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดที่มีลักษณะบาง ๆ

sakpah

ในด้านการใช้ประโยชน์ไม้สัก ได้มีการแบ่งคุณลักษณะของไม้สักโดยพิจารณาจาก
สีของเนื้อไม้ การตกแต่ง ความแข็ง ความเหนียวของเนื้อไม้ออกเป็น 5 ชนิด คือ

  1. สักทอง เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลทอง เสี้ยนตรงตกแต่งง่าย
  2. สักหิน เนื้อไม้สีน้ำตาลหรือสีจาง ตกแต่งง่าย
  3. สักหยวก เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนหรือสีจาง ตกแต่งง่าย
  4. สักไข่ เนื้อไม้สีน้ำตาลเข้มปนเหลือง มีไขปนยากแก่การตกแต่งและทาสี
  5. สักขี้ควาย เนื้อไม้สีเขียวปนน้ำตาล น้ำตาลดำดูเป็นสีเลอะๆ ซึ่งลักษณะความแตกต่างของเนื้อไม้ดังกล่าวนี้ เป็นเพียงประสบการณ์ของผู้ทำไม้เท่านั้น ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีผลมาจากพันธุกรรม หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมที่มันขึ้นอยู่ เช่น ชนิดของป่า ดิน หิน ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ

พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูก
ไม้สัก มีถิ่นกำเนิดอยู่ในตอนใต้ของประเทศอินเดีย พม่า ไทย ลาว (ส่วนที่ติดภาคเหนือของไทย) และอินโดนีเซีย สำหรับประเทศไทยนั้น ไม้สักจะขึ้นอยู่เป็นส่วนใหญ่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ และบางส่วนของภาคกลางไม้สัก ชอบขึ้นตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา หรือตามพื้นราบแต่ดินระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง ซึ่งอาจจะเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินที่มีความลึกมากๆ โดยเฉพาะดินที่เกิดจากหินปูน ซึ่งแตกแยกผุพังจนกลายเป็นดินร่วนลึกไม้สักจะเจริญเติบโตดีมาก มักขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม ไม้สักล้วนๆ เป็นหย่อมๆ หรืออาจขึ้นปะปนอยู่กับไม้เบญจพรรณอื่นๆ เช่น ไม้แดงประดู่ มะค่าโมง ชิงชัน ตะแบก ฯลฯ โดยมีไม้ไผ่ชนิดต่างๆ เป็นไม้ชั้นล่าง

ไม้สัก เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ และบางส่วนของภาคกลางและตะวันตก คือ ในท้องที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สำพูน เชียงราย สำปาง แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และพิจิตรและมีบ้างเล็กน้อยในจังหวัด นครสวรรค์ อุทัยธานี และกาญจนบุรี
ไม้สัก ชอบขึ้นตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา แต่ในพื้นที่ราบที่น้ำไม่ขังไม้สักก็ขึ้นได้ดีเช่นเดียวกัน ในพื้นที่ที่เป็นดินปนทรายแต่น้ำไม่ขัง ไม้สักมักขึ้นเป็นหมู่ไม้สักล้วน ๆ และมีไม้ขนาดใหญ่ ไม้สักชอบพื้นที่ที่มีชั้นดินลึก การระบายน้ำดี ไม่ชอบดินแข็งและน้ำท่วมขัง
ไม้สัก ขึ้นได้ดีในดินที่เกิดจากหินหลายชนิด แต่ความเจริญงอกงามของไม้สักขึ้นอยู่กับความลึก การระบายน้ำ ความชื้น และความอุดมสมบูรณ์ ของดินนั้น ๆ โดยเฉพาะในดินที่เกิดจากหินปูนซึ่งแตกแยกผุผังจนกลายเป็นดินร่วนที่ลึก ไม้สักชอบมากและเจริญเติบโตดีมาก ไม้สักชอบดินที่มีความเป็นกลางและด่างเล็กน้อย ค่า pH ระหว่าง 6.5-7.5 ปริมาณน้ำฝน ระหว่าง 1,200-2,000 มม. ต่อปี ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่เกิน 700 เมตร และมีฤดูแล้งแยกจากฤดูฝนชัดเจนจะทำให้ไม้สักมีลวดลายสวยงาม

ปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตของไม้สัก ซึ่งอาจใช้เป็นแนวทางในการพิจารณา
คัดเลือกพื้นที่ในการปลูกไม้สักพอสรุปได้ดังนี้

  1. ไม้สักจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชุ่มชื้นมากกว่าที่แห้งแล้งปริมาณน้ำฝนที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตและมีเนื้อไม้งดงามของไม้สักอยู่ระหว่าง 1,000 2,000 มิลลิเมตรต่อปี และฝนไม่ทิ้งช่วงนานเกินไปในระหว่างฤดูการเจริญเติบโต นอกจากนี้จะต้องมีช่วงฤดูแล้งที่ชัดเจน 3-4 เดือน
  2. อุณหภูมิที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของไม้สักอยู่ระหว่าง 25 35 เซนติเมตร
  3. ไม้สักเป็นไม้ที่ชอบแสงสว่าง ความเข้มของแสงที่เหมาะสม คือ 75 95 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแสงกลางวันที่ได้รับเต็มที่ การปลูกไม้สักจึงไม่ควรปลูกในร่ม หรือใกล้ต้นไม้ใหญ่ซึ่งอาจบดบังแสงแดดแก่ต้นที่ปลูกได้
  4. ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไม้สัก คือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดี ไม่เป็นดินดาน ดินค่อนข้างลึก ดินร่วนปนทรายหรือเป็นดินที่เกิดจากการผุสลายของหินปูนและมีค่า pH ประมาณ 6.5 7.5 ส่วนดินที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกไม้สักคือ ดินเหนียว ดินลูกรัง ดินทราย และที่มีน้ำท่วมขัง
  5. สภาพภูมิประเทศที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของไม้สัก โดยทั่วไปจะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 700 เมตร เป็นพื้นที่ราบถึงลาดชันเล็กน้อยไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์

การขยายพันธุ์และการผลิตกล้าเพื่อปลูก
การขยายพันธุ์ไม้สักอาจกระทำได้ทั้งโดยวิธีใช้เมล็ดและวิธีไม่อาศัยเมล็ด การใช้เมล็ดขยายพันธุ์เป็นวิธีที่ใช้ปฏิบัติโดยทั่วไปในการปลูกสร้างสวนป่า เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและเหมาะสมสำหรับผลิตกล้าหรือเหง้าสักจำนวนมากๆ สิ่งที่ควรคำนึงก็คือ เมล็ดที่ใช้ควรเก็บมาจากแม่พันธุ์หรือแหล่งพันธุ์ที่มีลักษณะดี หรือได้รับการปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว เช่น แหล่งเก็บเมล็ดพันธุ์หรือสวนผลิตเมล็ดพันธุ์ เท่านั้น
การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด จะเริ่มต้นด้วยการเก็บหรือจัดหาเมล็ดพันธุ์มาเพาะหว่านในแปลงเพาะ ขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร หรือตามสภาพพื้นที่ โดยใช้เมล็ด 1 ลิตร ต่อพื้นที่แปลงเพาะ 1 ตารางเมตร โดยพยายามหว่านให้เมล็ดกระจายอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจจะหว่านเป็นแถวในร่องบนแปลงเพาะซึ่งห่างกันแถวละ 10 ซม. ก็ได้ แล้วกลบเมล็ดด้วยหน้าดิน หลังจากหว่านเสร็จก็มีการดูแลรักษาโดยการกำจัดวัชพืช ป้องกันโรคและแมลง ลิดใบ และใส่ปุ๋ยตามความจำเป็น

การผลิตเหง้าสัก
เมื่อกล้าไม้สักงอกและเจริญเติบโตอยู่ในแปลงเพาะเป็นเวลาประมาณ 1 ปี แล้วจึงถอนขึ้นมาตัดแต่งให้เป็นเหง้าโดยตัดส่วนของลำต้นออกให้เหลือตา 1-2 คู่ หรือยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร พร้อมทั้งตัดรากแขนงและปลายรากแก้วออก เหลือแต่ส่วนของรากแก้วยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ซึ่งเมื่อตัดแต่งแล้วจะเรียกว่า เหง้าสัก สำหรับใช้ในการปลูกต่อไป ขนาดของเหง้าที่เหมาะสมสำหรับปลูก ควรมีเส้นผ่าศูนย์กลางตรงคอรากประมาณ 1-2 เซนติเมตร สำหรับเหง้าขนาดเล็กควรนำไปปักชำในถุงพลาสติกเพื่อให้แตกเป็นต้นกล้า ก่อนแล้วจึงนำไปปลูกต่อไปการขยายพันธุ์โดยไม่อาศัยเมล็ดนั้นเป็นวิธีการที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก ต้องใช้เทคนิคและค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง วิธีนี้ประกอบด้วยการติดตา การปักชำ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) หากเป็นการขยายพันธุ์จากต้นที่ได้รับการคัดเลือกหรือผ่านขบวนการปรับปรุงพันธุ์มาแล้ว ก็จะได้กล้าไม้ที่มีลักษณะดีโตเร็ว และเมื่อนำไปปลูกจะเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอกันดี มีรูปทรงตามที่ต้องการ

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อน่าจะเป็นวิธีที่จะนำมาใช้ได้เหมาะสมที่สุดเพราะไม่เกิดปัญหาการไม่ยอมรับกันของต้นตอกับกิ่งหรือตาที่นำมาติดเช่นที่พบในการติดตตาและต่อกิ่ง และเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วกว่าการปักชำมาก นอกจากนี้สวนป่าที่ได้จะมีการเจริญเติบโตที่สม่ำเสมอเพราะถ่ายทอดลักษณะที่ดีจากแม่ไม้มาทั้งหมด แต่เมื่อทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้สักอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มจำนวนไม้สักพันธุ์ดีขึ้นเรื่อยๆ กลับพบว่ามีปัจจัยและอุปสรรคที่จะทำให้การดำเนินงานอาจล้มเหลวได้หลายประการ เช่น อาการผิดปกติต่างๆ ของเนื้อเยื่อระหว่างการเพาะเลี้ยง ตั้งแต่เริ่มต้นการทำความสะอาดเนื้อเยื่อ การขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนไปจนกระทั่งถึงการย้ายปลูก อีกทั้งการขยายพันธุ์ไม้ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น ต้องการความรู้ความสามารถเฉพาะบุคคล ประสบการณ์ ความละเอียดอ่อน ใช้เวลาในการศึกษาวิจัยก่อน และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับการขยายพันธุ์วิธีอื่น ๆ ดังนั้นผู้วางแผนการปลูกป่าจะต้องมีข้อมูลในการตัดสินใจ เลือกวิธีการขยายพันธุ์ไม้สักที่จะนำไปปลูกสร้างสวนป่าอย่างถูกต้องต่อไป

การเตรียมพื้นที่ปลูก การปลูก และการดูแลรักษา
การคัดเลือกพื้นที่
การคัดเลือกพื้นที่สำหรับปลูกไม้สัก ควรพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของไม้สัก ตามที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกให้มากที่สุด

การเตรียมพื้นที่
การปลูกสักในเชิงธุรกิจ ควรเตรียมพื้นที่ปลูกโดยใช้เครื่องจักรกล เช่นรถแทรกเตอร์ เกรดปรับที่และไถบุกเบิก 1 ครั้ง และไถพรวนสลับอีก 1 ครั้ง หากพื้นที่มีขนาดใหญ่ ควรแบ่งออกเป็นแปลงย่อย แปลงละประมาณ 50-100 ไร่ โดยเกรดเป็นทางตรวจการรอบๆ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและการดูแลรักษาเมื่อเตรียมที่เสร็จแล้ว ทำการปักหลักหมายปลูก โดยใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกขนาดความยาวประมาณ 0.50-1.00 เมตร ปักตามระยะที่กำหนดไว้ระยะปลูกที่เหมาะสมหากสภาพพื้นที่ดีมากอาจปลูกระยะ 4 x 4 เมตร (100 ต้น/ไร่) สภาพดีปานกลาง ควรปลูกระยะ 3 x 3 เมตร (178 ต้น/ไร่) หรือ 2 x 4 เมตร (200 ต้น/ไร่) ส่วนในสภาพพื้นที่ไม่ค่อยดี ควรปลูกให้ถี่หน่อย คือ 2 x 2 เมตร (400 ต้น/ไร่)

การปลูก
การปลูกสัก มีวิธีปลูกและจัดการจะแตกต่างกับการทำการเกษตร หรือสวนผลไม้สวนสักต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตนานกว่าการทำการเกษตร สวนสักมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเนื้อไม้ ราคาไม้ขึ้นกับคุณภาพ ขนาด และอายุของต้นไม้ สิ่งสำคัญในการพิจารณาปลูกสัก คือ ความเหมาะสมของพื้นที่ การจัดการ รูปแบบการปลูก ขนาดของพื้นที่ ค่าใช้จ่ายในการลงทุน ควรวางแผนให้เป็นระบบรอบหมุนเวียน ให้ตัดไม้ได้อย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับปลูกสักที่จะให้ผลดีที่สุด คือ ช่วงต้นฤดูฝนหลังจากที่มีฝนตกหนักและดินชุ่มชื้นเพียงพอ (เดือนพฤษภาคม) หลังจากปลูกแล้วหากเกิดฝนทิ้งช่วง ก็ควรรดน้ำช่วย จะทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดตายสูงและมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง วิธีการปลูกด้วยเหง้า กระทำโดยใช้เหล็กชะแลงกระทุ้งดินให้เป็นรูลึกเท่าความยาวของเหง้าสัก แล้วนำเหง้าที่เตรียมไว้เลียบลงไปให้พอดี กับระดับดิน หรือต่ำกว่าผิวดินเล็กน้อยใช้ชะแลงอัดดินข้างรูปลูกให้แน่น เพื่อให้เหง้าฝังแน่นกระชับอยู่ในดิน วิธีปลูกด้วยเหง้านี้เป็นวิธีที่ง่าย เสียค่าใช้จ่ายถูกและยังทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตดีด้วย เพราะในเหง้าสักมีการสะสมอาหารไว้สำหรับการเจริญเติบโต

การปลูกด้วยเหง้าควรคัดเลือกเหง้าที่มีขนาดเท่ากันปลูกในบริเวณเดียวกัน เพื่อให้ต้นไม้เติบโตอย่างสม่ำเสมอมากที่สุดการปลูกด้วยกล้าชำถุง เหมาะสำหรับการปลูกในพื้นที่ไม่มากนัก หากได้มีการคัดเลือกกล้าเป็นอย่างดี ก็จะได้ต้นสักที่เจริญเติบโตเร็ว และสม่ำเสมอเช่นกัน การปลูกสักด้วยกล้านี้ควรขุดหลุมปลูก ขนาด 20 x 20 x 20 เซนติเมตร รองก้นหลุม ด้วยปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเคมี ผสมกับหน้าดิน และเศษใบไม้ หรือวัชพืช กล้าไม้ที่นำไปปลูกควรมีขนาดสูงไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร และได้รับการทำให้แกร่งเป็นอย่างดีแล้ว เมื่อปลูกแล้วอัดดินรอบๆ โคนต้นให้แน่น หากทำการรดน้ำด้วยในช่วงฝนทิ้งช่วงก็จะทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีขึ้น

พื้นที่ปลูกไม้สัก และทำการเกษตร
การวางแผนการปลูกสักให้เป็นระบบรอบหมุนเวียนปลูกและตัดฟันกำหนดอายุตัดฟันสัก ประมาณ 25-30 ปี ทำการแบ่งพื้นที่เป็น 8-10 แปลง ปีที่ 1 ปลูกแปลงที่ 1 ทำการปลูกเพิ่มในแต่ละปี จนครบเต็มพื้นที่ในปีที่ 8-10 ปี ปีต่อมากลับมาทำการตัดขยายระยะแปลงที่ 1 หรือที่ปลูกไว้ปีที่ 1 ที่สามารถตัดต่อเนื่อง ในแปลงถัดไปทุกๆ ปี หลังจากตัดขยายระยะสามารถปล่อยให้มีการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้
ปัญหาการตัดสางขยายระยะ ของผู้ปลูกสวนป่า มีดังนี้

  1. ข้อจำกัดด้านตลาดและใช้ประโยชน์ของไม้ตัดสางขยายระยะครั้งแรก เนื่องจากเป็นไม้ขนาดเล็ก มีราคาต่ำ
  2. ปัญหาการเลือกซื้อไม้ของพ่อค้า ผู้ปลูกสวนป่าปล่อยให้พ่อค้าเข้าไปคัดเลือกตัดไม้เอง ซึ่งจะเลือกเฉพาะไม้ที่มีลักษณะดี และขนาดใหญ่ออก เหลือแต่ไม้ที่มีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ มีการเติบโตช้า ทำให้ผลผลิตที่จะได้ในอนาคต ไม่คุ้มค่าการลงทุน
  3. ผู้ปลูกขาดความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับการเติบโตของต้นไม้กับความหนาแน่นของต้นไม้ ทำให้เกษตรกรไม่ตัดสางขยายระยะ ปล่อยให้ขึ้นหนาแน่นแข่งขันตามธรรมชาติ

การบำรุงรักษา
การบำรุงรักษาต้นสักที่ปลูกแล้ว ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องโดย เฉพาะในช่วงแรกๆเพื่อให้ต้นไม้มีการเจริญเติบโตดี รอดตายสูง ปราศจากโรคและแมลงทำลาย การบำรุงรักษาสวนไม้สักประกอบด้วย

  1. การแผ้วถางวัชพืช ควรกำจัดวัชพืชให้โล่งเตียนตลอดเวลา เพื่อลดการแก่งแย่งธาตุอาหารในดิน และเบียดบังแสงแดดซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโต และยังช่วยป้องกันไฟป่าอันอาจจะเกิดขึ้นในฤดูแล้งได้ด้วย
  2. การใส่ปุ๋ย ในพื้นที่ที่มีดินเลว ควรใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะแรกๆโดยใส่ปุ๋ย ใส่ต้นไม้ปีละ 1-2 ครั้ง โดยปีแรกใส่ครั้งละ 25 กรัม/ต้น ปีที่ 2 50 กรัม/ต้น ปีที่ 3 75 กรัม/ต้น ปีที่ 4-5 ประมาณ100 กรัม/ต้น ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักด้วย ก็จะทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น
  3. การป้องกันไฟป่า โดยทำทางตรวจการและแนวป้องกันไฟรอบๆ แปลง และควบคุมวัชพืชซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในบริเวณสวนให้โล่งเตียนตลอดฤดูแล้ง เพราะหากเกิดไฟป่าในสวนสักจะทำให้ต้นไม้ที่ยังเล็กอยู่ได้รับความเสียหายได้
  4. การป้องกันโรคและแมลง โรคระบาดในแปลงเพาะสักส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยจะปรากฎทั้งนี้เพราะแปลงเพาะสักเป็นแปลงเพาะแบบเปิด (open nursery) ได้รับแสงสว่างอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในสภาพที่ร้อนชื้น (hot and humid) หรือในสภาวะที่การระบายน้ำของดินไม่ดีหรือในกรณีที่มีการนำเอาดินติดเชื้อมาใส่กล้าสักโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะแรกงอก หรือระยะเริ่มตั้งตัวอาจถูกทำลายโดยโรคเน่าคอดิน (damping-off) ได้ซึ่งลำต้นและรากจะถูกทำลายโดยเชื้อรา (fungi) ที่ระดับดินทำให้เหี่ยวเฉาตาย ซึ่งการรักษาอาจทำโดยทำลายกล้าในแปลงที่เกิดการระบาดสัตว์และแมลงทำลายแปลงเพาะเมล็ดสักและกล้าสักก็นับได้ว่า มีความสำคัญต่อการเพาะเตรียมกล้าสัก สัตว์ประเภทกัดแทะ (rodents) จะมาขุดคุ้ยกินเมล็ดสักที่หว่านในแปลง และกัดแทะเหง้าสักที่สะสมอาหาร ส่วนแมลงทำลายกล้าสักส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกกินใบหรือทำลายใบ (defoliator) ได้แก่ ตัวหนอนพวกผีเสื้อพวก Hyblaea puera ซึ่งจะกัดกินใบอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้อาจมีพวกตั๊กแตนทำลายใบ และไรแดง (red spider) ซึ่งจะดูดน้ำเลี้ยง(cell sap) ของใบและยอดอ่อนทำให้ใบเป็นสีเหลืองปนน้ำตาล ลดความสามารถในการปรุงอาหารทำให้กล้าไม้หยุดการเจริญเติบโต แมลงอีกจำพวก หนึ่งซึ่งทำอันตรายต่อกล้าสัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูแล้ง ได้แก่พวกปลวก(termites) ซึ่งจะกัดกินรากแก้ว (tap-root) ของกล้าสักเป็นอาหารทำให้กล้าสักเสียหายล้มตายได้ ซึ่งบางครั้งดูแล้วอาจไม่ทราบสาเหตุถึงการตายของกล้าสักเลย ถ้าไม่มีการถอนรากแก้วมาดูซึ่งการกำจัดแมลงต่าง ๆ ดังกล่าวอาจมีการฉีดพ่นยาฆ่าแมลง (insecticides) เมื่อกล้าสักถูกทำลายมอดป่าเจาะไม้สัก (Teak beehole borer: Xyleutes ceramicus Walker)เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนเจาะลำต้น (stem borer) ซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของไม้สัก โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย (ถนอม และคณะ, 2509 และ ฉวีวรรณ, 2533ก)และในสวนป่าจะถูกรบกวนมากกว่าป่าธรรมชาติ (Akinson, 1937) โดยตัวหนอนเจาะไชไม้สักสดยืนต้น แม้ว่าจะไม่ทำให้ต้นไม้ตาย แต่ก็เกิดรอยตำหนิถาวรที่เรียกว่า รูมอดป่า(beehole) ภายในเนื้อไม้ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และมีความยาวประมาณ 10 นิ้ว (Beeson, 1961) ไม้สักที่ถูกมอดป่าเจาะจะมีคุณภาพ และราคาตกอย่างมากซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของผู้บริโภค ดังนั้นวีธีการที่ดีที่สุดคือการปลูกสักผสมไม้ชนิดอื่นซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการระบาดของมอดป่าเจาะต้นสักได้ หรืออาจมีการควบคุมโดยการใช้สารเคมีหรือใช้สารจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ ควบคุม แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แนวทางในการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ได้มีการศึกษาวิจัยกันเรื่อยมาจนกระทั้งปีงบประมาณ 2535 จึงมีการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกผสมสัก ซึ่งสวนป่าขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ดำเนินการปลูกไว้เมื่อ พ.ศ.2527 โดยมีหลักการเพื่อลดปริมาณอาหาร และเพิ่มความหลากหลายของแมลง ตัวห้ำ ตัวเบียน เพื่อให้สามารถควบคุมกันเองได้ภายในสิ่งแวดล้อมนั้น
  5. การลิดกิ่ง (pruning) การลิดกิ่ง เป็นการตัดกิ่งที่อยู่ช่วงล่างของลำต้นเพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพของลำต้นของต้นไม้ส่วนใหญ่ที่เป็นท่อนซุงให้ตรงเปลาปราศจากตาการลิดกิ่งต้นสักควรใช้เลื่อย เพื่อการลิดกิ่งโดยเฉพาะตัดกิ่ง ให้รอยตัดเสมอกับผิวของลำต้นแล้วใช้สีขาวหรือปูนขาวป้ายรอยตัดนั้น เพื่อป้องกันเชื้อราเข้าทำลาย ควรเริ่มการลิดกิ่งตั้งแต่ ปีที่ 2 ไปเรื่อยๆ แต่ในระยะแรกนี้ควรเป็นกิจกรรม ร่วมกับการแผ้วถางวัชพืชจากโรงงานปีที่ 4 จึงเริ่มลิดกิ่งอย่างจริงจัง โดยตัดกิ่งล่างๆ ออกไม่เกินร้อยละ 30 หรือ 1 ใน 3 ส่วนของเรือนยอด จากนั้นควรกระทำในช่วงปีที่ 6-9 อีกครั้งหนึ่ง ในปีใดปีหนึ่ง ตามความเหมาะสมของอัตราความเจริญเติบโต การลิดกิ่งควรกระทำจนถึงระดับความสูง 5 เมตรซึ่งเป็นความยาวของซุงท่อนแรก ผลการลิดกิ่งจะปรากฏเมื่อถึงคราวต้นสักโตได้ขนาดตัดมาใช้ประโยชน์ โดยที่ซุงท่อนแรกจะปราศจากตาขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มชั้นคุณภาพของท่อนซุงอันเป็นการเพิ่มทั้งคุณค่าและราคาแก่ไม้ ค่าลงทุนลิดกิ่งต้นหนึ่งเพียงส่วนน้อยแต่ราคาที่เพิ่มขึ้นของไม้ต้นนั้นเพิ่มเป็นหลายเท่าตามลักษณะคุณภาพไม้
  6. ไฟป่าและการป้องกัน ไฟป่าในฤดูแล้งทำความเสียหายให้แก่ต้นสักมากสวนสักที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี ควรระวังไฟไหม้เพราะจะมีผลให้ต้นสักชะงักความเจริญเติบโตแตกกิ่งก้านสาขามาก รูปทรงลำต้นไม่สวยงาม วิธีป้องกันคือ หลังจากถางวัชพืชแล้ว ควรรีบกวาดให้ออกห่างจากต้นสักและทยอยทำการชิงเผากำจัดวัชพืชที่เป็นเชื้อไฟ (prescribeburning) ไปเรื่อยๆ โดยควรหลีกเลี่ยงการชิงเผาในตอนกลางวันเพราะอากาศร้อนไฟจะไหม้รุนแรง และอาจลุกลามทำความเสียหายแก่ต้นสักได้

sakbai

การคัดเลือกแม่ไม้สักทอง
การคัดเลือกแม่ไม้ (Plus tree) เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการปรับปรุงพันธุ์ไม้สักทอง ผลจากการคัดเลือกแม่ไม้ จะทำให้ได้สายพันธุ์ของไม้ ที่มีคุณลักษณะดี สำหรับนำไปใช้ในการขยายพันธุ์ ทั้งจากการเพาะด้วยเมล็ดโดยการสร้างสวนเมล็ดพันธุ์ หรือการผลิตกล้าไม้คุณภาพดีแบบ ไม่อาศัยเพศ เช่น การตัดกิ่งปักชำ และ การะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การมีแม่ไม้ทีดีนั้นอาจเป็นหลักประกันได้ว่า จะให้เมล็ดหรือกล้าไม้ที่ดีสำหรับการ ปลูกสร้างสวนป่าเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มผลผลิตเนื้อไม้ต่อหน่วยเนื้อที่ได้
การคัดเลือกแม่ไม้สักทองมีหลักในการพิจารณาอยู่หลายประการ ทั้งการพิจารณาจากลักษณะภายนอก (Phenotypes) และลักษณะภายใน (Genotypes) ลักษณะภายนอกสามารถพิจารณาได้ทันที ตามหลักวิชาการใช้วิธีประเมินค่าลักษณะต่าง ๆ ของต้นไม้ โดยการให้คะแนน ส่วนลักษณะภายในพิจารณาได้ยากเพราะจะต้องมีการโค่นต้นไม้หรือเลื่อยแปรรูปเสียก่อนจึงจะพิจารณาได้ ซึ่งหมายความว่าจะต้องเสียแม่ไม้ที่ให้เมล็ด ไป แต่ถ้าเป็นการตัดกิ่งปักชำ หรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อโค่นแม่ไม้แล้วสามารถใช้หน่อจากต้นตอได้
การคัดเลือกแม่ไม้สักทองในประเทศไทย มีลักษณะในการพิจารณากว้าง ๆ ดังนี้

  1. อายุของต้นไม้
    ไม้สักทองที่สามารถนำมาทำเป็นแม่ไม้ได้นั้น ควรมีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี ทั้งนี้ เพราะไม้สักทองที่ปลูก จะนำไปใช้ประโยชน์เมื่อมีอายุ ประมาณ 15 ปี ไม่ควรเลือกไม้สักทองที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี เป็นแม่ไม้ ถึงแม้ว่าจะมีขนาดโตตามที่กำหนดไว้ก็ตาม เพราะกล้าไม้ที่ได้จากแม่ไม้ที่มีอายุ น้อยจะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร
  2. ลักษณะของลำต้น
    ลักษณะภายนอกที่สำคัญประการแรก ในการคัดเลือกไม้สักทอง เพื่อใช้ทำแม่ไม้ ควรคัดเลือกลักษณะของลำต้น ต้องเปลาตรง ไม่บิด คดงอ และกิ่งก้านไม่มาก กล่าวคือ มี clear bole ยาวกว่าต้นอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากวัตถุประสงค์ในการปลูกไม้สักทอง เพื่อใช้ประโยชน์จากลำต้น ไม้สักทองที่มีลำต้นเปลาตรง จะขายได้ราคาแพงกว่าไม้สักทองที่ลำต้นคดงอ
  3. ขนาดของลำต้น
    ลักษณะภายนอกที่ควรพิจารณาอันดับต่อไป ก็คือ ขนาดของลำต้น ควรคัดเลือกต้นที่มีขนาดใหญ่กว่าต้นอื่น ๆ ในชั้นอายุเดียวกันซึ่ง ควรมีความโตทางเส้นรอบวงเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 7.0 ซ.ม. การคัดเลือกแม่ไม้สักทองโดยพิจารณาความโตเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจาก ต้นไม้ขนาดใหญ่ ย่อมให้ปริมาตรเนื้อไม้ต่อเนื้อที่สูงกว่า และไม้สักทองที่มีความเจริญเติบโตดี จะสามารถถ่ายทอดลักษณะความเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรงไปยังรุ่น ต่อ ๆ ไปด้วย
  4. เรือนยอด
    รูปทรงเรือนยอดต้องเป็นพุ่ม ได้สัดส่วนกับความสูง รัศมีความกว้างของทรงพุ่มรอบเรือนยอดเท่ากัน น้ำหนักเรือนยอดไม่ถ่วงไป ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ต้นไม้โค่นล้มได้ง่ายเมื่อเกิดลมพัดแรง
  5. ลักษณะและคุณภาพของเนื้อไม้
    วัตถุประสงค์ในการปลูกไม้สักทองนั้น นอกจากต้องการต้นไม้ที่รูปทรงดีและโตเร็วแล้ว ยังมีความต้องการเนื้อไม้สักทองที่มีลวดลาย สวยงามด้วย ดังนั้น ต้นสักที่มีลวดลายสวยงามจึงเป็นที่ต้องการและควรคัดเลือกไว้เป็นแม่ไม้
  6. ความต้านทานโรคและแมลง
    ปัจจุบัน ปรากฏว่า สวนสักทองของทางราชการและเอกชนที่ปลูกไว้แล้วมีโรคและแมลงรบกวนเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสียหาย ที่บริเวณ ลำต้น ใบ กิ่งก้าน เปลือกหรือส่วนอื่น ๆ ดังนั้น การคัดเลือกแม่ไม้ไว้ทำพันธุ์ ต้องไม่ปรากฏว่ามีร่องรอยของโรคและแมลงรบกวนตามส่วน ต่าง ๆ ของลำต้นดังกล่าวแล้ว
  7. ความสามารถในการแตกหน่อ
    ความสามารถในการแตกหน่อของไม้สักทอง จะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการโค่นต้นไม้เสียก่อน แต่ก็เป็นผลดีในการปรับปรุงพันธุ์ การขยายพันธุ์โดยวิธีแตกหน่อในรุ่นต่อไป และการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แม่ไม้สักทองควรจะต้องมีการแตกหน่อที่ดีและให้หน่อที่ สมบูรณ์ด้วย
  8. ความสามารถในการแตกรากของกิ่งปักชำ
    ลักษณะในข้อนี้ มีความจำเป็นสำหรับการเตรียมกล้าไม้สักทองแบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นการใหม่ที่กำลังได้รับการพัฒนาเพื่อการ ปลูกสร้างสวนสักทอง ที่มีประสิทธิภาพในอนาคต การทดสอบความสามารถของแม่ไม้ในข้อนี้ จำเป็นต้องมีการทดลองเก็บข้อมูลไว้สำหรับการ ปรับปรุงพันธุ์
  9. ความสามารถในการถ่ายทอดและดำรงพันธุ์
    แม่พันธุ์ที่ดีต้องให้ลูกไม้ที่มีลักษณะเด่นเหมือนแม่พันธุ์นั้นกล้าไม้รุ่นต่อ ๆ ไปต้องไม่กลายพันธุ์ง่าย สามารถถ่ายทอดลักษณะที่ดี ได้ตลอดไป ลักษณะเช่นนี้จะทราบได้ต้องใช้เวลาในการศึกษาทดลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะตัดสินใจได้

ข้อจำกัดของไม้สัก
การปลูกไม้สักอาจจะมีข้อจำกัดบางประการ ดังต่อไปนี้

  1. ด้านสภาพพื้นที่ ไม้สักไม่ชอบพื้นที่ลุ่ม ที่ชื้นแฉะ มีน้ำท่วมขัง ดินระบายน้ำไม่ดีเช่น ดินเหนียว ดินลูกรัง ดินดาน และดินที่เป็นทรายจัดหรือดินตื้นมากๆ
  2. ด้านสภาพแวดล้อม ไม้สักจะเจริญเติบโตไม่ดีในที่แห้งแล้ง หรือมีฝนตกไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงฤดูการเจริญเติบโต
  3. การปลูกไม้สักล้วนๆ เป็นผืนใหญ่ๆ อาจก่อให้เกิดโรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่าย เช่น หนอนกินใบสักและมอดป่าเจาะไม้สัก เป็นต้น

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ได้กำหนดสักเป็น ไม้หวงห้ามประเภท ก ไม่ว่าจะขึ้นที่ใด เมื่อจะทำการตัด ต้องมีการขออนุญาตและค่าภาคหลวง ซึ่งเมื่อรัฐบาลได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนปลูกสวนป่า จึงได้ออกกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535 เพื่อให้ผู้ปลูกสวนป่า สามารถตัดไม้สัก เพื่อความสะดวก และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่มีระเบียบ และขั้นตอนในการปฏิบัติ โดยการขึ้นทะเบียนสวนป่าการแจ้งตัด การจัดทำบัญชีไม้ พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535 ประชาชนสามารถปลูกต้นสักในที่ของตนเองที่มีกรรมสิทธิ์ได้ สำหรับการตัดไม้สัก หรือการทำไม้ออก ผู้ปลูกต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535 โดยการนำที่ดินที่ปลูกไม้สักไปขึ้นทะเบียนสวนป่า กรมป่าไม้จะออกหนังสือรับรองการเป็นสวนป่า และให้ผู้ปลูกจัดทำรายการบัญชีไม้ (สป.15) ไว้ควบคุมการตัดไม้และใช้สำหรับแสดงเมื่อนำไม้เคลื่อนท พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ ประกาศมาใช้เพื่อป้องกัน และปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยควบคุมการมีไว้ในครอบครอง และการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ภาคเอกชนสามารถมีครอบครองได้ โดยขออนุญาต และขึ้นทะเบียนเลื่อย-โซ่ยนต์ กับพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐในแต่ละจังหวัด ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการขออนุญาตระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลูกสัก ได้แก่
1) พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484
2) พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.2535
3) พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์

การใช้ประโยชน์ไม้สัก
ไม้สักเป็นไม้ที่เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แทบทุกรูปแบบตามอายุและขนาดของไม้ที่ตัดออกมาจำหน่าย ตั้งแต่ไม้ซุงขนาดใหญ่ เพื่อแปรรูปใช้ในการก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ ไม้ปาร์เก้ ไม้อัด ไม้แกะสลัก ต่อเรือ ฯลฯ ไม้ซุงขนาดเล็กลงมาที่ได้จากการตัดสางขยายระยะในสวนป่า ปีที่ 11 สามารถนำมาทำบ้านไม้ซุง (log home) ได้อย่างสวยงามและคงทนหรือนำมาผ่าซีกทำเป็นไม้โมเสค วงกบประตู หน้าต่างได้ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก เนื่องจากไม้สักมีเนื้อไม้สวยงาม เห็นเส้นวงปีชัดเจน เนื้อไม้แข็งปานกลาง เลื่อยใสกบตกแต่งได้ง่าย มีค่าความหนาแน่น 642 กก./ลบ.ม. ค่าความถ่วงจำเพาะ 0.62 ค่าความร้อน 5,094 แคลลอรี่/กรัม

ข้อเสนอแนะ

  1. ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของไม้สักมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของดินและการเตรียมพื้นที่ควรทำให้ประณีตที่สุด
  2. ในที่แห้งแล้ง ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล ควรมีระบบการรดน้ำด้วย
  3. การปลูกสักในที่ดินผืนใหญ่ ควรแบ่งแปลงปลูกออกเป็นแปลงย่อยๆ โดยปลูกไม้มีค่าชนิดอื่นๆ เป็นแนวกั้น เพื่อลดความรุนแรงจากโรคและแมลงทำอันตราย
  4. ควรนำระบบวนเกษตรมาใช้ด้วย เพราะนอกจากจะช่วยให้ต้นสักเจริญเติบโตดีขึ้นแล้ว ยังสามารถได้รับผลผลิตจากพืชเกษตรที่ปลูกควบอีกทางหนึ่งด้วย
  5. ค่าใช้จ่ายในการลงทุน การปลูกสักให้ผลตอบแทนคุ้มการลงทุน จำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิต หรือให้มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนน้อยที่สุด ควรกำหนดกิจกรรมเกี่ยวกับการปลูกและบำรุงเท่าที่จำเป็น การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกับการเติบโตของสัก จะทำให้ได้ผลผลิตคุ้มค่าการลงทุน และลดต้นทุนการบำรุงดูแล

 

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ยืนต้น

แสดงความคิดเห็น