สาบเสือเป็นพืชล้มลุกขึ้นกลางแจ้ง เจริญงอกงามได้รวดเร็ว แตกกิ่งก้านสาขามากจนดูเป็นพุ่ม ใบเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนปกคลุมทั่วใบ ออกดอกเป็นช่อ ลักษณะเป็นกระจุก
ชื่อวิทยาศาตร์ Eupatorium odoratum L.
วงศ์ Compositae
ชื่อเดิม Chromolaena odorata (L.) King et Robins.
ชื่อสามัญ Bitter bush, Siam weed
วงศ์ Asteraceae(จัดอนุกรมวิธานใหม่)
ชื่ออื่น หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว หมาหลง บ้านร้าง หญ้าเสือหมอบ ( สุพรรณ – ราชบุรี – กาญจน์ ), รำเคย ( ระนอง ), ผักคราด, บ้านร้าง(ราชบุรี) , ยี่สุ่นเถื่อน (สุราษฎร์), ฝรั่งเหาะ, ฝรั่งรุกที่ (สุพรรณ) , หญ้าดอกขาว ( สุโขทัย – ระนอง ) , หญ้าเมืองวาย ( พายัพ ), พาทั้ง (เงี้ยว เชียงใหม่) , หญ้าดงรั้ง , หญ้าพระสิริไอสวรรค์ ( สระบุรี ), มุ้งกระต่าย (อุดร ) ,หญ้าลืมเมือง ( หนองคาย ),หญ้าเลาฮ้าง ( ขอนแก่น ) , สะพัง ( เลย ), หมาหลง ( ศรีราชา – ชลฯ) , นองเส้งเปรง ( กะเหรี่ยง เชียงใหม่) , ไช้ปู่กุย ( กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน ) , หญ้าเมืองฮ้าง ,หญ้าเหมือน ( อิสาน) , หญ้าฝรั่งเศส , เบญจมาศ ( ตราด ) , เซโพกวย ( กะเหรี่ยง เชียงใหม่ ) , มนทน ( เพชรบูรณ์ ) ; ปวยกีเช่า , เฮียงเจกลั้ง ( จีน )
ลักษณะ
สาบเสือ เป็นไม้ล้มลุก แตกกิ่งก้านสาขามากมายจนดูเป็นทรงพุ่ม สาบเสือมีอายุหลายปี ลำต้นและกิ่งก้านปกคลุม ด้วยขนอ่อนนุ่ม ก้านและใบเมื่อขยี้จะมีกลิ่นแรงคล้าย สาบเสือ สูง 1-2 เมตร ใบเดี่ยวออกจากลำต้น ที่ข้อ แบบตรงกันข้าม รูปรีค่อนข้างเป็นสามเหลี่ยมขอบใบ หยัก ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง เรียวสอบเข้าหากัน สีเขียวอ่อน เส้นใบเห็นชัดเจน 3 เส้น มีขนปกคลุม ผิวใบทั้งสองด้าน ดอกเป็นช่อ สีขาวหรือฟ้าอมม่วง ดอกย่อย 10-35 ดอก ดอกวงนอกบานก่อน กลีบดอก หลอมรวมกันเป็นหลอด ผลขนาดเล็ก รูปร่างเป็น ห้า เหลี่ยมสีน้ำตาลหรือดำ มีหนามแข็งบนเส้นของผล ส่วน ปลายผลมีขนสีขาว ช่วยพยุงให้ผลและเมล็ดปลิวตามลม
สาบเสือพบขึ้นทั่วไปทั้งในสภาพดินชื้นหรือ แห้ง แพร่กระจายในแหล่งปลูกพืชยืนต้นและที่รกร้าง ว่างเปล่า แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งใช้เป็นแหล่งอาหารของผึ้ง น้ำผึ้งมีคุณภาพดีช่วยรักษาโรคใช้ผสมยาโบราณ
สรรพคุณ
ก้านและใบ รสสุขุม ฉุนเล็กน้อย ใช้ฆ่าแมลง ห้ามเลือดแก้แผลที่แมลงบางชนิดกัดแล้วเลือดไหลไม่หยุด ใช้ใบสดตำพอกปากแผล หรือ อาจใช้ใบสดตำกับปูนกินหมากพอกแผลห้ามเลือดได้หรือใช้ใบสดขยี้ปิดปากแผลเลือดออกเล็กน้อยได้ดี
ผลทางเภสัชวิทยา
น้ำต้มสกัดจากใบและต้น มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เล็กที่แยกออกจากตัวของหนูตะเภา แต่ลดการบีบตัวของลำไส้เล็กที่แยกออกจากตัวของกระต่าย น้ำต้มสกัดและผลึกสารที่สกัดได้จากต้นนี้ ไม่มีผลอย่างเด่นชัดต่อมดลูกที่แยกออกจากตัวของกระต่าย หากนำไปฉีดเข้าช่องท้องของหนูเล็ก พบมีความเป็นพิษเพียงเล็กน้อย
สารเคมีที่พบ
ทั้งต้น มีน้ำมันระเหย ซึ่งประกอบด้วย Eupatol(22) , Coumarin ,d และ I – Eupatene(1), Lupeol , b – Amyrin และ Flavone Salvigenin (22)
ใบ มี Ceryl alcohol ; a-,b-,g- Sitosterol (23) , Anisic acid , Trihydric alcohol (C25 H34O5,m.p.278-280ฐC) , Tannin , น้ำตาล (24) ,Isosakuranetin , Odoratin , (2/ – hydroxy – 4 , 4/ , 5/ ,6/ – tetramethoxychalcone) , Acacetin (25)
การแพร่กระจาย
ขึ้นทั่วไปทั้งในสภาพดินชื้นหรือ แห้ง แพร่กระจายในแหล่งปลูกพืชยืนต้นและที่รกร้าง ว่างเปล่า และตามที่มีแสงแดดมากๆ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
คนเหนือเรียกหญ้าแมงวาย คนอีสานเรียกหมาหลง เวลาขึ้นตรงไหนก็แพร่หลายจนเป็นต้นเป็นกอติด ๆ กันหนาแน่น หมาเข้าไปยังหาทางออกไม่ได้ จึงเรียกหมาหลง ส่วนที่เรียกแมงวายก็เพราะมีสารที่กำจัดแมลงได้ สังเกตดูเถอะ ไม่มีแมลงตัวไหนที่กินใบไม้ชนิดนี้ ส่วนชื่อสาบเสือนั้นเกิดจากกลิ่นของใบ แต่เคยเข้าใกล้เสือก็ไม่เห็นว่ามันจะเหมือนกลิ่นเสือตรงไหน ฟาร์มผึ้งชอบสาบเสือมาก หากพบดงสาบเสืออยู่ตรงไหนเขาจะนำรังผึ้งไปวางไว้ในบริเวณนั้น จึงได้น้ำผึ้งกลิ่นดอกสาบเสือ ซึ่งไม่เหม็นเหมือนใบของมัน
ตัวยาสำคัญของสมุนไพรชนิดนี้อยู่ที่ใบ เพราะใบของสาบเสือมีสารสำคัญ คือ กรดอะนิสิก และฟลาโวนอยด์หลายชนิด เช่น ไอโซซากูรานิติน และโอโดราติน รวมทั้งน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วยสารยูพาทอล คูมาริน โดยสารสำคัญเหล่านี้จะไปออกฤทธิ์ที่ผนังเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดหดตัว และยังมีฤทธิ์ไปกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถห้ามเลือดได้
สาบเสือมีสรรพคุณในการรักษาแผลและห้ามเลือดได้ดีมาก ใครโดนมีดบาดจนเลือดไหล ลองขยี้ใบสาบเสือโปะที่บาดแผลดูเถอะ เลือดจะหยุดทันที และแผลจะแห้งหายเร็ววัน เพราะเหตุนี้จึงมีชาวบ้านบางคนทดลองเอาใบสาบเสือมาคั้นเอาแต่น้ำดื่มกินลงไป แผลในกระเพาะอาหารก็หายเร็ววันเช่นกัน แต่ก็ต้องทนกลิ่นฉุนของมัน และคงไม่ได้ดื่มครั้งเดียวหรอกครับ ทางที่ดีคั้นเอาน้ำใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ ดื่มก่อนอาหารวันละ 3-4 ครั้ง คงหายเร็ววันแน่นอน
สาบเสือมีสารสำคัญคือ พีนีน คูมาริน เนบโธควิโนน ลิโมนีน ยูพาทอล ฟาโวน คาไดอีน แคมเฟอร์ ซึ่งสารเหล่านี้มีประสิทธิภาพในการไล่แมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ เช่น เพลี้ยอ่อน หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก และแมลงศัตรูในโรงเก็บ ป้องกันโรคเชื้อราและแบคทีเรีย
วิธีการใช้ นำเอาใบและต้นมาผึ่งลมให้แห้ง บดเป็นผง แช่น้ำ 400 กรัม/น้ำ 3 ลิตร ถ้าใบอย่างเดียว 400 กรัม/น้ำ 8 ลิตร กวนตั้งทิ้งไว้ค้างคืน กรองเอากากออกนำมาฉีดพ่นทุก 7 วัน ป้องกันและไล่หนอนกระทู้ผัก หนอนใยผัก ถ้าหมักด้วยเหล้าขาว 24 ชม.(500กรัม/เหล้า 1 ลิตร) หมักค้างคืนกรองมาใช้กำจัดเชื้อราและแบคทีเรีย นอกจากนี้ ใบสด 10 กรัม ผสมกับใบแห้ง 30 กรัมบดให้ละเอียด แล้วนำมาคลุกถั่วเขียว 100 กรัม สามารถป้องกันกำจัดแมลงด้วงถั่วเขียวและมอดข้าวสารได้
ที่มา
ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์
หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5
เต็ม สมิตินันทน์,2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้, กรุงเทพฯ.
วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, 2548. พจนานุกรมสมุนไพรไทย. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6. รวมสาส์น (1977) จำกัด. กรุงเทพ ฯ.
ป้ายคำ : สมุนไพร