ต้นสาเก มีสายพันธุ์มากกว่า 120 สายพันธุ์ มีการเพาะปลูกกันมานานมากกว่า 3,000 ปีแล้ว ซึ่งในเกาะมาวีและเกาะกาวาย คือแหล่งสะสมต้นสาเกสายพันธุ์ต่างๆ ไว้หลายสายพันธุ์ โดยปลูกเอาไว้ให้ชมกันมากที่สุดในโลก สาเกเป็นไม้ผลที่ออกลูกดก (ในหนึ่งฤดูต้นสาเกอาจออกผลราว 200 ผล) แต่ที่นิยมปลูกในบ้านเราคือ สาเกพันธุ์ข้าวเหนียว
สาเก จัดเป็นไม้ที่มีความสูงต้นประมาณ 15 – 20 m. ทรงพุ่ม 8-9 เมตร มีรูปทรงต้นที่แผ่เห็นกิ่งก้าน ลำต้นมีสีน้ำตาล ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่ ใบเป็นหยักรอยลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันและหนา มีก้านใบเด่นชัด พุ่มใบสวยงาม ควรตัดแต่งทรงพุ่มบ่อยๆ ดอก ดอกสาเกมีสีเหลืองออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อดอก ช่อดอกตัวผู้ยาว 30 cm. รูปลักษณะคล้ายกระบอง และห้อยลง ส่วนช่อดอกตัวเมีย มีรูปกลม และออกดอกตลอดทั้งปี ผล ผลสาเกมีลักษณะเกือบกลม ผลมีสีเขียวอมเหลือง กว้าง 15 – 20 cm. ภายในมีเนื้อและไม่มีเมล็ด ผลรับประทานได้และนำมาทำขนมได้ ขยายพันธุ์โดยการปัก
ชื่อพื้นเมือง สาเก หรือ ขนุนสำปะลอ
ภาษาอังกฤษ เบรดฟรุตทรี (Bread Fruit Tree) หรือ เบรดนัททรี (Bread nut Tree)
ชื่อวิทยาศาสตร์ อาโทคาร์ปัส อัลติลิส (Artocarpus altilis Forsb.)
วงศ์ มอราซีอี้ (MORACEAE) มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่โพลีนีเซีย
ลักษณะของสาเก
ต้นสาเก เป็นไม้ยืนต้นมีความสูงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลปนเทา ทุกส่วนของสาเกจะมียาวขาวๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำราก โดยสายพันธุ์ที่ปลูกในบ้านเรานั้น จะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ สาเกพันธุ์ข้าวเหนียว (ผลใหญ่ ผลสุกเนื้อเหนียว นิยมปลูกทั่วไป หรือปลูกไว้ทำขนมสาเก), และสาเกพันธุ์ข้าวเจ้า (ผลเล็กกว่า เนื้อหยาบร่วน ไม่เป็นที่นิยมปลูก และไม่ค่อยนำมารับประทานมากนัก)
- ใบสาเก ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกัน ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ ใบมีสีเขียวเข้ม ใบใหญ่และหนา มีรอยหยักหรือร่องลึกเกือบถึงก้านกลางใบ (คล้ายใบมะละกอ) ก้านใบเห็นเด่นชัด
- ดอกสาเก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกมีสีเหลือง ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้มีลักษณะคล้ายกระบอง และห้อยลง มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกตัวเมียมีลักษณะกลม แต่จะแยกกันคนละดอก และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
- ผลสาเก ลักษณะของผลกลมรี ผลมีสีเขียวอมเหลือง ลูกคล้ายขนุน แต่จะลูกเล็กกว่า มีความกว้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนเนื้อในเป็นสีเหลืองซีดหรือขาวและไม่มีเมล็ด (แต่มีสายพันธุ์หนึ่งที่มีเมล็ด จะเรียกว่า ขนุนสำปะลอ)
คุณค่าทางโภชนาการของสาเก ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 103 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 27.12 กรัม
- น้ำตาล 11 กรัม
- เส้นใย 4.9 กรัม
- ไขมัน 0.23 กรัม
- โปรตีน 1.07 กรัม
- น้ำ 70.65 กรัม
- ลูทีน และซีแซนทีน 22 ไมโครกรัม
- วิตามินบี1 0.11 มิลลิกรัม 10%
- วิตามินบี2 0.03 มิลลิกรัม 3%
- วิตามินบี3 0.9 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี6 0.457 มิลลิกรัม 9%
- วิตามินบี9 14 ไมโครกรัม 4%
- โคลีน 9.8 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินซี 29 มิลลิกรัม 35%
- วิตามินอี 0.1 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินเค 0.5 ไมโครกรัม 0%
- ธาตุแคลเซียม 17 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุเหล็ก 0.54 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุแมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุแมงกานีส 0.06 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุโพแทสเซียม 490 มิลลิกรัม 10%
- ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม 0%
- ธาตุสังกะสี 0.12 มิลลิกรัม 1%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
สรรพคุณของสาเก
- ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต (ผล)
- สรรพคุณ สาเกช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ (ผล)
- สาเก สรรพคุณช่วยปรับสมดุลในร่างกาย (เปลือกต้น)
- ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาย่างไฟจนแห้งแล้วนำมาต้มกินแต่น้ำ (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นสาเก ใช้ทำเป็นยาปรับประสาททำให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียด ทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวย (เปลือกต้น)
- ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน กระดูกผุในหญิงวัยหมดประจำเดือน (ผล)
- รากสาเก มีรสเบื่อเมา ใช้เป็นยารักษากามโรค ด้วยการนำรากมาฝนผสมกับน้ำดื่มครั้งละไม่เกิน 1 แก้วตะไล วันละครั้ง อาการจะค่อยๆทุเลาลงและหายเป็นปกติในที่สุด (ราก)
- สรรพคุณของสาเก ยางจากทุกส่วนของต้นสาเก สามารถนำมาใช้ในการรักษากลากเกลื้อน และหิดได้ (ยาง)
- ช่วยยับยั้งการสร้างเมลานิน สารสกัดจากเนื้อไม้สาเกมีผลยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งมีความแรงเท่ากับกรดโคจิก (Kojic acid) โดยได้ทำการทดลองกับผิวหนังของหนูตะเภาสีน้ำตาลที่มีสีผิวคล้ำเนื่องจากแสง UV-B ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจากเนื้อไม้สาเกสามารถทำให้สีผิวของหนูจางลงได้โดนไม่ก่อให้เกิดอาการอักเสบผิวหนังและไม่มีผลก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อเซลล์
ประโยชน์ของสาเก
- ผลไม้สาเกสาเกเชื่อม มีวิตามินหลายชนิด ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โดยช่วยเพิ่มระดับไขมันชนิดดี (HDL) และช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL)
- เส้นใยอาหารจากสาเก ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลในร่างกาย มันจึงช่วยควบคุมโรคเบาหวานได้
- ช่วยในการทำงานของลำไส้และระบบขับถ่าย ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ ช่วยกำจัดสิ่งตกค้างในลำไส้ และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- เนื้อของสาเกให้พลังงานสูง มีแคลเซียมและวิตามินเอที่ตำเป็นต่อร่างกาย
- ต้นสาเก นิยมปลูกตามบ้านจัดสรรทั่วไปเพื่อเป็นไม้ประดับและใช้เป็นร่มเงา
- ผลสาเกสามารถนำมาย่าง ต้ม อบ หรือนำมาเชื่อมได้ ใช้ทำเป็นขนมสาเก เช่น แกงบวด สาเกเชื่อม เป็นต้น
- มีการนำสาเกไปป่นเป็นแป้ง เพื่อนำมาใช้ทำเป็นขนมปังกรอบ
- สำหรับชาวอินโดนีเซียจะนิยมนำสาเกไปอบกรอบใช้รับประทานเป็นอาหารว่าง
- ประโยชน์สาเก ยางของต้นสาเกนิยมนำมาใช้เป็นชันยาเรือ
- ดอกสาเก สามารถใช่ไล่ยุงได้
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำเครื่องประดับ และทำเป็นสิ่งปลูกสร้าง หรือนำมาสร้างบ้านได้
- สาเกสามารถนำมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิว ใช้ทำเป็นสารทำให้ผิวขาว (Skin whitening agent)
แหล่งอ้างอิง : ผลสาเกหนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์), เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, เว็บไซต์ lifestyle.iloveindia.com