ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่นปี 2556 หรือเกษตรกรเงินล้าน ผู้มีรายได้เฉลี่ยปีละ 3 ล้านบาท จากความสำเร็จในการปลูกเมล่อนคุณภาพสูงมากว่า 20 ปี บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ในจ.พระนครศรีอยุธยา เล่าถึงความคิดแรกเริ่มของการมุ่งสู่ภาคเกษตรตั้งแต่วัยเยาว์
ปี 2529
นายสุวิทย์ ไตรโชค เริ่มทดลองปลูกเป็นครั้งแรกที่อำเภอบางไทร โดยมีนางจินตนา ไตรโชค เป็นผู้ดูแลแปลงปลูก จำนวน 100 ต้นเป็นพันธุ์ sun lady ผิวสีขาวเหลือง เนื้อสีส้ม สุวิทย์ ซึ่งในเวลานั้นเป็นวิศวกรในบริษัทการบินไทย เริ่มใช้เวลาว่างจากงานช่วงเสาร์-อาทิตย์ปลูกเมล่อนเพราะเห็นว่าขายได้ราคาดี กระนั้น 5 ปีแรกของการลงทุนทำไร่ สุวิทย์ ก็ต้องล้มเหลว และขาดทุนต่อเนื่อง …แต่เขาไม่เคยยอมแพ้
เวลาว่างจากงานประจำ คือเวลาที่สุวิทย์ ใช้ศึกษาหาความรู้ เขาบินไปไกลถึงประเทศอิสราเอลเพื่อศึกษาระบบน้ำหยดที่ใช้ในแปลงพืช อ่านตำราด้านเกษตรและเข้าไปขอความรู้ทุกอย่างด้วยตนเองกับอาจารย์ด้านเกษตร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สุวิทย์นำความรู้ด้านวิศวกรรมที่ร่ำเรียนมาประยุกต์เข้ากับวิชาเกษตรจนสามารถพัฒนาระบบน้ำหยดที่ได้มาตรฐานและนำมาใช้เป็นเจ้าแรกในไทย ตลอดจนสามารถคิดสูตรการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับเมล่อนได้ด้วยตนเอง
ปี 2530
เพียงปีเดียวหลังจากนั้น เกษตรกรมากความรู้รายนี้สามารถทำกำไรจากการปลูกเมล่อนได้เป็นกอบเป็นกำชนิดที่เรียกว่า คืนทุนที่เคยขาดทุนตลอด 5 ปีแรกได้ทั้งหมด! นายสุวิทย์ ไตรโชค ขยายการปลูกเป็นการค้าและเพิ่มจำนวนพันธุ์มากขึ้น คือ แคนตาลูปพันธุ์ Hi Lineจากสหรัฐอเมริกา
และพันธุ์ Honey World จากไต้หวัน
ปี 2534
เริ่มตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแคนตาลูป เนื่องจากนายสุวิทย์ ไตรโชค ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกให้กับเกษตร ในหลาย
จังหวัดทำการตลาดขายส่งในซูเปอร์มาร์เกตหลายแห่ง
ปี 2537
กลุ่มเกษตรกรมีสมาชิกมากขึ้น จึงตั้ง BrandThai Fresh ขึ้น และเริ่มผลิตพันธุ์ Musk melon ซึ่งเป็นพันธุ์ญี่ปุ่น
ปี 2538- 2551
จัดการระบบการผลิตและระบบการตลาดอย่างสอดคล้องกัน มีการวางแผนการผลิต การตลาดล่วงหน้า บริหารกลุ่มเกษตรกรอย่าง
เป็นระบบ ผลิตส่งผู้ส่งออก Modern Tradeสายการบินโรงแรมร้านอาหารและร้านค้าปลีกภายใต้BrandThai Freshและ Navita
สุวิทย์ เผยว่า เคล็ดลับเงินล้านไม่ได้อยู่ที่การเน้นผลิตเมล่อนในปริมาณมากเพื่อขายเอาเงิน แต่ต้องเน้นการปลูกให้ได้คุณภาพที่ควบคุมได้จากการใช้เทคโนโลยีระบบน้ำและระบบปุ๋ยที่เขาพัฒนาขึ้น ทำให้พืชได้น้ำและธาตุอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้นเมล่อนของเขาแต่ละต้นต้องควบคุมให้มีผลเพียงผลเดียว เพื่อให้ได้รสที่หวานอร่อยที่สุด
ปัญหาของภาคเกษตรไทยคือ ผลิตแล้วตกสเปค ทั้งๆที่ผลผลิตทุกชนิดที่คุณภาพดีมีไม่พอขาย ตลาดต้องการของคุณภาพแต่ผลิตไม่พอ ส่วนผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานก็เกินความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาต่ำมาก สุดท้ายคือขาดทุน และถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ไม่มีประกันราคาหรือจำนำผลผลิตก็แย่
จริงๆเกษตรกรไทยไม่ใช่ไม่เก่ง เมื่อเทียบกับเกษตรกรอาเซียน เกษตรกรไทยเก่งที่สุด แต่ยังขาดความรู้เรื่องระบบน้ำ และการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม เคล็ดลับที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีเงินเป็นล้านและไม่เป็นหนี้ได้ จึงอยู่ที่ความรู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องพัฒนา
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์เกษตรเงินล้าน และมีทรัพย์สินคือที่ดินอันเป็นผลกำไรจากการปลูกเมล่อนกว่า 400 ไร่ แต่ สุวิทย์ ไตรโชค ก็ยังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เขาใช้เงินวันหนึ่งไม่มากไปกว่าวันละ 200 บาท และยังคงวิถีชาวไร่ลงแปลงทุกวันเพื่อดูแลผลเมล่อนแต่ละต้นของตนอย่างทะนุถนอม
เคล็ดลับความสำเร็จอีกอย่างที่ปราชญ์เงินล้านผู้นี้อาจไม่ได้บอก คือ ความรักในวิถีเกษตรที่เรียบง่าย แม้จะร่ำรวยเพียงใดก็ยังมีใจเป็น เกษตรกร
ปลูกแตงเมล่อนได้ผล เพราะวางแผนการปลูกดี
โครงการเกษตรก้าวหน้าที่ทางธนาคารกรุงเทพได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 โดยจะสิ้นสุดโครงการเมื่อปี 2548 โดยเจตนาของโครงการคือต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีกระบวนการผลิตที่สามารถรักษาคุณภาพผลผลิตตามความต้องการของตลาดและปลอดภัยจากสารพิษ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและเพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรสามารถยกระดับเข้าสู่กรอบกติกาการค้าสากลที่ต้องมีระบบและมาตรฐานเข้มงวดกับคุณภาพสินค้า ความปลอดภัยของผู้บริโภคและการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยการลงทุนของเกษตรกรในเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมซึ่งให้ผลตอบ แทนคุ้มกับการลงทุนและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงด้วย
คุณสุวิทย์ ไตรโชค เป็นเกษตรกรอีกผู้หนึ่ง แต่อยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บ.ไทยเฟรช และประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแคนตาลูประบบ GAP แห่งประเทศไทย ซึ่งคุณสุวิทย์เข้ามามีสัมพันธภาพกับธนาคารกรุงเทพโดยการได้รับสินเชื่อจากทางธนาคารและได้อำนวยสินเชื่อให้กับสมาชิกเพื่อขยายเครือข่ายให้กว้างขวางมากขึ้น
สุวิทย์ จบปริญญตรีจาก ม.พระจอมเกล้าธนบุรี เริ่มปลูกแตงเมล่อนที่อยุธยาเมื่อ 13 ปีมาแล้วเพราะเห็นว่าเป็นผลไม้ราคาดี ปลูกอยู่หลายพันธุ์ เช่น จิงหยวน โอนิชิ เพิร์ล เมล่อน เป็นต้น แต่ช่วงแรก ๆ ไม่ประสบความสำเร็จจึงพยายามพัฒนาเทคนิคการผลิตให้ดีขึ้น โดยวางแผนล่วงหน้าก่อนปลูกจริง นอกจากนั้นยังพยายามแสวงหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ ๆ นำมาทดลองปลูก จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ด้วยสิ่งที่ทำต่อไปนี้คือ ระบบน้ำ ได้ศึกษาระบบให้น้ำแบบประหยัดของอิสราเอลและอเมริกา และอาศัยความรู้ทางวิศวกรรมมาออกแบบโปรแกรมคำนวณระบบน้ำหยด ซึ่งผ่านการทดลองจนได้ผลดี ในเรื่องของการให้ปุ๋ยร่วมกับน้ำ ได้ประกอบอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็นด้วยตนเอง นอกจากนั้น ยังสามารถคำนวณความต้องการปุ๋ยของแตงเมล่อนในช่วงระยะเวลาต่าง ๆ อย่างแม่นยำทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น รสชาติก็หวานสม่ำเสมอและสามารถช่วยควบคุมให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการผลิตในปัจจุบันใช้ระบบเครือข่ายของเกษตรกร เริ่มจากผู้สนใจที่เห็นการปลูกแล้วเข้ามาถามเรื่องเทคนิคการปลูกจนในที่สุดกลายเป็นเครือข่ายในการผลิตและการตลาด โดยสมาชิกของเครือข่ายจะมีการประชุมปรึกษาหารือวางแผนการผลิตร่วมกันว่าสมาชิกคนไหนจะปลูกเมื่อไหร่ โดยจะวางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้า 2 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 50 ราย ซึ่งผลผลิตเฉพาะแตงเมล่อนแล้วประมาณ 10 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากรวมการจำหน่ายระบบน้ำด้วยก็ประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี…ซึ่งปัจจุบันนี้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายแต่อย่างใด…
ป้ายคำ : ปราชญ์