ส้มเขียวหวาน รสหวานอมเปรี้ยว

20 เมษายน 2558 ไม้ผล 0

ส้มเขียวหวาน… เป็นผลไม้ที่มีรสหวานอมเปรี้ยว มีวิตามินเอสูงมาก ตามด้วยวิตามินซีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากมาย ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน เสริมสร้างคอลลาเจนช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น ช่วยบรรเทาอาการกระหาย ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ป้องกันไม่ให้เกิดอาการของโรคไข้หวัดช่วยลดปริมาณของคอเลสเตอรอลในโลหิต และยังช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารภายในร่างกายเป็นไปอย่างปกติอีกด้วย

ชื่อวิทยาศาสตร์: Citrus reticulata Blanco
วงศ์: Rutaceae
ชื่อภาษาอังกฤษ: Tangerine/Mandarine orange
ชื่อเรียกตามท้องถิ่น: ส้มแก้วเกลียง สัมจันทบูร ส้มแป้นกระดาน ส้มแสงทอง ส้มจุก ส้มแป้นเกลี้ยง
สายพันธุ์ บางมด (พันธุ์ดั้งเดิม). เขียวดำเนิน (กลายพันธุ์มาจากบางมด).

ลักษณะ:
ส้มเขียวหวานเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 8เมตร ใบเป็นใบประกอบลดรูป มีใบย่อยใบเดียวเรียงสลับใบย่อยเป็นรูปไข่ กว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาว 5-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลมมีสีเขียวเป็นมัน มีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไป ก้านใบมีครีบเล็กๆ ดอกเป็นสีขาวออกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อสั้นๆ ตามซอกใบและปลายกิ่งมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ มีกลิ่นหอม ผลมีรูปกลมแป้นขนาด 3-5 เซนติเมตร (เส้นผ่านศูนย์กลาง) ผิวเรียบ มีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อแก่จัดมีสีเขียวอมเหลือง ผิวบาง ภายในมีลักษณะเป็นกลีบหลายกลีบแยกออกจากกันได้ง่าย ผนังของกลีบบาง เนื้อในมีสีส้มบรรจุอยู่ในถุงน้ำหวานขนาดเล็กจำนวนมาก เมล็ดเป็นรูปกลมรีสีขาว

somkeawwanpon

  • ต้น ไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือขนาดกลาง สูง 8 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก มีหนามตามกิ่งหรือไม่มี กิ่งที่แตกแขนงมักจะชูตั้งขึ้นและมีขนาดค่อนข้างเล็ก เรือนยอดกลม
  • ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว โคนใบไม่มีปีกหรือมีเล็กน้อย ใบสีเขียวเป็นมันมีต่อมน้ำมันอยู่ตามแผ่นใบ ใบมีรูปร่างแบบรูปไข่ปลายแหลม ขนาดของใบจะใหญ่กว่าใบมะนาว
  • ดอก มีขนาดเล็กสีขาวดอกมีกลิ่นหอม ออกเป็นดอกเดียวหรือเป็นกลุ่มตามง่ามใบ หรือบริเวณปลายยอด ที่แตกใหม่มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกสีขาว
  • ผล เป็นชนิดเบอร์รี่รูปทรงกลมแป้นเล็กน้อย ด้านปลายผลราบเป็นแอ่งตื้นๆ ฐานผลส่วนใหญ่มน บางสายพันธุ์อาจมีจุกขนาดเล็ก ผิวผลเรียบมีต่อมน้ำมันเป็นตุ่มตามผิวผลทั่วไป ผิวผลเมื่อแก่จัด มีสีเขียวอมเหลือง แต่ส้มที่ปลูกในเขตที่มีอากาศเย็นผิวผลจะมีสีเหลืองเปลือกบาง ล่อนกลีบแยก จากกันได้ง่ายมีประมาณ 11 กลีบ ผนังกลีบบาง ถุงน้ำหวานมีขนาดสั้น ฉ่ำน้ำ เนื้อมีสีส้ม ออกดอกเดือน มกราคม-กุมภาพันธุ์ และผลสุกเดือน ตุลาคม-ธันวาคม

สรรพคุณ:
ผลส้มสด 100 กรัม จะมีเบต้าแคโรทีน 82 ไมโครกรัม และวิตามินซี 42 มิลลิกรัม จึงใช้รักษาและป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน เปลือกผลแห้งจะมีน้ำมันหอมระเหยซึ่งประกอบด้วย ซิตรัล เจอรานิออล และไลนาโลออล ซึ่งน้ำมันหอมระเหยนี้สามารถสกัดออกมาเพื่อใช้แต่งกลิ่นยาและมีฤทธิ์ขับลม นอกจากนี้เปลือกผลแห้งเมื่อนำมาจุดไฟจะมีกลิ่นหอมและสามารถไล่ยุงได้ดี
ส้มเขียวหวาน… ช่วยเป็นยาระบายอ่อนๆ ในเปลือกผิวส้มมีน้ำมันหอมระเหยช่วยแก้วิงเวียนศีรษะ
ส้มเขียวหวาน… ช่วยบำรุงผิวพรรณให้สวยเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลผิวเกลี้ยงเกลา และสดชื่น ขจัดความหมองคล้ำ และชะลดการเกิดริ้วรอย นิยมกินผลสด นำมาทำเป็นเครื่องดื่ม และเป็นส่วนผสมในการบำรุงผิวภายนอก

การขยายพันธุ์ ทำโดยใช้ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง หรือใช้เมล็ด

ขั้นตอนการปลูก

  1. วัดระยะปลูกและกำหนดจุดปลูก โดยแถวปลูกควรอยู่บริเวณกึ่งกลางแปลงแต่ละแปลง
  2. ขุดหลุมขนาด 50 x 50 x 50 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกกับดินที่ขุดขึ้นมา อัตราต้นละ 10 กิโลกรัม
  3. แหวกดินทำหลุมให้มีขนาดโดกว่าถุงหรือกระถางที่เลี้ยงต้นพันธุ์
  4. ฉีกถุงออก โดยก่อนฉีกถุงให้ใช้มือบีบดินในถุงให้แยกออกจากกัน
  5. เขย่าวัสดุปลูกที่ติดอยู่กับรากออกให้หมด ใช้กรรไกรตัดรากแก้วส่วนที่ขดงอออก พร้อมทั้งตัดส่วนยอดและใบออกบ้าง เพื่อให้เกิดการสมดุลย์กับรากที่เหลือ
  6. วางต้นพันธุ์ลงในหลุม จัดรากฝอยที่มีอยู่เป็นชั้นๆ แล้วแผ่รากในแต่ละชั้นออกรอบข้าง
  7. ใช้ดินกลบรากไล่ขึ้นมาเป็นชั้น โดยให้รากฝอยชั้นบนสุดอยู่ต่ำกว่าระดับดินบนประมาณ 1 เซนติเมตร
  8. ใช้ดินผสมปุ๋ยหมักอัตราส่วน 1 : 1 กลบโคนเป็นรูปกระทะคว่ำกว้างประมาณ 1 เมตร และสูงประมาณ 20 เซนติเมตร
  9. ผูกต้นติดกับหลักป้องกันการโยกคลอนแล้วรดน้ำให้ชุ่ม

somkeawwanklasomkeawwanlek somkeawwanpom

การให้น้ำในสวนส้มมีหลักการดังนี้

  1. ควรให้น้ำทันทีประมาณ 5-10 แกลลอน เมื่อปลูกเสร็จ และให้น้ำอีกครั้งภายใน 2-3 วันหลังจากครั้งแรก
  2. หลังจากนั้นให้น้ำทุกๆ 2-5 วัน จนกว่าส้มจะตั้งตัวได้ ข้อสำคัญอย่าปล่อยให้ต้นส้มอดน้ำจนต้นเฉา
  3. วิธีการให้น้ำ อาจใช้สายยางระบบน้ำหยด มินิสปริเกอร์ หรือเรือพ่นน้ำ หรือบิ๊กกัน ตามความเหมาะสม

ส้มเขียวหวานคุณภาพดีมิใช่เกิดจากสภาพพื้นที่ลักจืดลักเต็มเป็นหลักแต่เป็นผลงานทางธรรมชาติของเพลี้ยไก่แจ้ นั่นคือ เมื่อผลอายุ 7-8 เดือน (ก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน) แล้วมีเพลี้ยไก่แจ้ระบาด ปล่อยให้เพลี้ยไก่แจ้เข้าทำลายผลส้มไปก่อน 3-4 วัน แล้วจึงใช้สารสกัดสมุนไพรชนิดสารออกฤทธิ์รุนแรงเฉียบพลัน (เทียบเท่ายาน็อก) ฉีดทำลายล้างเพลี้ยไก้แจ้เสีย จากนั้นบำรุงต่อไปตามปกติ ผิวเปลือกส้มเขียวหวานก็จะกร้านพร้อมกับคุณภาพรสชาติดีเยี่ยมเหมือนส้มบางมดได้เช่นกัน

somkeawwansuan

  • ออกดอกติดผลได้ตลอดปีแบบไม่มีรุ่น หรือทุกฤดูกาล และทุกสภาพอากาศ ตราบเท่าที่ต้นได้รับการปฏิบัติบำรุงจนมีความสมบูรณ์อยู่เสมอ
  • ออกดอกติดผลจากซอกใบปลายกิ่งที่เกิดใหม่ในรุ่นนั้น ให้ผลดกเป็นช่อและมีความดกมากกว่าส้มอื่นๆทุกชนิด ออกดอกติดผลที่ชายพุ่มด้านข้างมากกว่าชายพุ่มด้านบนและไม่ออกดอกติดผลจากกิ่งในทรงพุ่ม เป็นดอกสมบูรณ์เพศที่ผสมกันเอง หรือต่างดอกในต้นเดียวกัน หรือต่างดอกต่างต้นได้ดี
  • เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างไม่สมบูรณ์เกิดจากขาดสารอาหาร/ฮอร์โมนหรือสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม (อากาศร้อนหรือฝนตกชุก) แล้วผสมกันแล้วพัฒนาเป็นผลจะเป็นผลไม่สมบูรณ์ ไม่โต รูปทรงบิดเบี้ยว
  • อายุดอกจากเริ่มออกถึงดอกบาน 20-25 วัน ระยะดอกบานผสมติดถึงผลแก่เก็บเกี่ยว8 เดือน
  • ผลที่ติดเป็นพวงสามารถเก็บไว้ทั้งหมดได้โดยไม่ต้องซอยผลออก จากนั้นบำรุงทั้งทางใบและทางรากให้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะได้ผลคุณภาพดีทั้งพวงและทุกพวงภายในต้น
  • ระหว่างมีดอกผลอยู่บนต้นจะมียอดอ่อนแทงออกมาใหม่เสมอ ไม่ควรปล่อยให้ยอดใหม่เจริญเติบโตจนเป็นกิ่งขนาดใหญ่โดยเฉพาะยอดใหม่ในทรงพุ่มเพราะจะทำให้ทรงพุ่มแน่นทึบ แต่ให้เด็ดทิ้งตั้งแต่เริ่มแทงออกมาใหม่ๆลักษณะยังเป็นยอดผักหวาน ส่วนยอดแตกใหม่ที่ชายพุ่มอาจจะพิจารณาเก็บไว้บ้างก็ได้สำหรับให้ช่วยสังเคราะห์แสงสร้างอาหาร
  • ช่วงติดผลหากได้รับไนโตรเจนมากเกินไปจะทำให้เปลือกหนา จุกสูง รกมาก กากมาก เป็นผลที่ด้อยคุณภาพ
  • อายุต้น 2-5 ปีแรกที่เริ่มให้ผลผลิตอาจจะไม่ดีนัก แต่เมื่อต้นอายุมากขึ้นหรือเป็นต้นสาวแล้วจะให้ผลผลิตดี
  • ลำต้นเปล้าเดี่ยวๆหรือกิ่งง่ามแรกสูงจากพื้น 50-80 ซม.จะให้ผลผลิตดีกว่าต้นที่ลำเปล้าสั้นหรือกิ่งง่ามแรกอยู่ต่ำ แนะนำให้ตัดแต่งกิ่งจัดรูปทรงพุ่มให้มีลำเปล้าสูงๆตั้งแต่ต้นเริ่มให้ผลผลิตปีแรกๆ รูปทรงต้นก็อยู่อย่างนั้นตลอดไป
  • ส้มเขียวหวานเสียบยอดบนตอมะกรูด. มะขวิด. หรือส้มจากต่างประเทศทุกสายพันธุ์ เมื่อต้นโตขึ้นส่วนตอจะใหญ่แต่ส่วนต้นเขียวหวานจะไม่โตตาม ทำให้เกิดอาการ “ตีนช้าง” (ตอใหญ่-ต้นเล็ก) ซึ่งต้นส้มเขียวหวานที่เสียบบนตอไม้ดังกล่าวจะให้ผลผลิตดีเพียง 3-5 ปีแรก หลังจากนั้นจะให้ผลผลิตลดลงทั้งความดกและคุณภาพ

somkeawwanton

การปฏิบัติบำรุงต่อส้มเขียวหวาน

  • เดือน พ.ย.- ธ.ค. ล้างต้น ตัดแต่งกิ่ง เรียกใบอ่อ
  • เดือน ม.ค.- ก.พ. สะสมอาหารเพื่อการออกดอก
  • เดือน มี.ค. (ต้นเดือน) ปรับ ซี/เอ็น เรโช
  • เดือน มี.ค. (ปลายเดือน) เปิดตาดอก
  • เดือน เม.ย. บำรุงดอก
  • เดือน พ.ค.-มิ.ย. บำรุงผลเล็ก
  • เดือน ก.ค.-ต.ค. บำรุงผลกลาง
  • เดือน พ.ย.. บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว
  • เดือน ธ.ค.-ม.ค. (ต้นเดือน) เก็บเกี่ยว

หรือ……….

  • ล้างต้น-ตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อน 2 เดือน
  • สะสมอาหารเพื่อการออกดอก 2 เดือน
  • ปรับ ซี/เอ็น เรโช 15 วัน
  • เปิดตาดอก 15 วัน
  • บำรุงดอก (ตูม-บาน) 1 เดือน
  • บำรุงผลเล็ก 2 เดือน
  • บำรุงผลกลาง 5 เดือน
  • บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว 1 เดือน

somkeawwanpolsomkeawwansoog

เพิ่มเติม

  • เมื่อต้องการเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนใด ให้นับเวลาย้อนหลังจากเดือนเก็บเกี่ยวมาถึงวันล้างต้น-ตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อน โดยทำเครื่องหมายบนปฏิทินเลยก็ได้ ทั้งนี้ระยะเวลาปฏิบัติบำรุงรวมทั้งสิ้น 13-14 เดือน/ 1 รุ่นการผลิต
  • ในระบบธรรมชาติไม่สามารถกำหนดจำนวนวัน/เดือนหรือตัวเลขแบบตายตัวลงไปได้ เนื่องจาก ปัจจัยพื้นฐานการเกษตร (ดิน-น้ำ-แสงแดด/อุณหภูมิ/ฤดูกาล-สารอาหาร-สายพันธุ์-โรค) มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ตัวเลขทุกอย่างเป็นไปในลักษณะโดยประมาณเท่านั้น ดังนั้น ในการวางแผนจะต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ด้วยทุกครั้ง และอย่าตั้งความหวังว่าทุกอย่างที่วางแผนไว้จะต้องดำเนินไปอย่างราบรื่นความสำเร็จทุกขั้นตอนเสมอไป
  • เทคนิคการบำรุงต้นแบบให้มีสารอาหารกินตลอด 24 ชม.ต่อเนื่องจนถึงปีที่ 3 ต้นส้มจะมีความสมบูรณ์อย่างมาก จะส่งผลให้ต้นตอบสนองต่อการบำรุงต้นในช่วงต่างๆดีและแน่นอน
  • ช่วงเวลาต้นเดือนหรือปลายเดือนให้พิจารณาตามความเหมาะสม โดยมีอายุผลตั้งแต่ผลติดถึงเก็บเกี่ยว (8 เดือน) เป็นตัวกำหนด
  • หากต้องการให้ส้มเขียวหวานออกช่วงเทศกาลอื่น (สารทจีน เชงเม้ง ไหว้พระจันทร์)ก็ให้คำนวณในลักษณะเดียวกันโดยการนับถอยหลังจากเดือนเก็บเกี่ยวผลผลิตมาถึงวันเริ่มล้างต้น ตัดแต่งกิ่งและเรียกใบอ่อน (12-13 เดือน) แล้วลงมือปฏิบัติด้วยหลักการเดียวกัน…..หรือเริ่มลงมือตัดแต่งกิ่ง-เรียกใบอ่อนเดือนใดของปีนี้ ก็จะได้ผลแก่เก็บเกี่ยวในเดือนเดียวกันของปีรุ่งขึ้นนั่นเอง
  • วิธีบำรุงให้ ผลแก่ก่อนกำหนด หรือ ผลแก่ช้ากว่ากำหนด 20-30 วัน ก็ถือว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้
  • ข้อยุ่งยากก็คือช่วงปรับ ซี/เอ็น เรโช ซึ่งจะต้องงดการให้น้ำเด็ดขาดนั้น
    หากตรงกับช่วงหน้าฝนจะทำให้การปฏิบัติยุ่งยากมากหรือทำการงดน้ำไม่ได้เลย

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น