หญ้าอายุฤดูเดียวหรือหลายฤดู แตกกอ ใบรูปแถบ ลิ้นใบเป็นเยื่อปลายเป็นขน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงคล้ายช่อเชิงลด ทรงกระบอก ช่อแขนงสั้น แต่ละแขนงมีวงใบประดับเป็นหนามรูปตะขอ โคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วยและหุ้มกลุ่มช่อดอกย่อย ส่วนปลายแยกเป็นแฉก เนื้อหนา แข็ง แต่ละกลุ่มมีช่อดอกย่อย 1-8 ช่อ ช่อดอกย่อยมีดอกย่อย 2 ดอก กาบช่อย่อยยาวไม่เท่ากัน ดอกล่างเพศผู้หรือไม่มีเพศ ดอกบนสมบูรณ์เพศ กาบล่างและกาบบนเนื้อหนา สกุลหญ้าขี้ครอกมีสมาชิก 22-30 ชนิด ในไทยพบ 3 ชนิดได้แก่ หญ้าขี้ครอก Cenchrus brownii Roem. & Schult. หญ้าสอนกระจับ Cenchrus echinatus L. และ Cenchrus ciliaris L. ซึ่งเพิ่งมีการนำเข้ามาปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์
วงศ์ GRAMINEAE
Cenchrus echinatus Linn.
ชื่อสามัญ หญ้าสอนกระจับ (ประจวบคีรีขันธ์)., หญ้าขี้ครอก(กรุงเทพฯ)., หญ้าบุ้ง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
หญ้าสอนกระจับเป็นพืชอายุฤดูเดียว(annual) ชอบขึ้นตามที่ร่มเงา เจริญเติบโตดีในฤดูฝนทรงต้นเป็นกอค่อนข้างตั้ง สูง 72.8-91.52 เซนติเมตรแตกรากตามข้อที่แตะพื้นดินใบเป็นแบบรูปใบหอก(lanceolate)โคนใบป้านมน ปลายใบเรียวแหลม(acuminate) ใบยาว 16.27-24.87 เซนติเมตร กว้าง 1.5-2.2 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้ม ผิวใบค่อนข้างนุ่ม หน้าใบมีขนยาว 3-5 มิลลิเมตร ปกคลุมจำนวนปานกลางหลังใบไม่มีขนเส้นกลางใบ(midrib) ด้านหลังใบเป็นเส้นสันเล็กยาวจากโคนใบถึงกลางใบต่อจากนั้นเป็นเส้นเรียบไปถึงส่วนปลายใบจะมองไม่เห็นเส้นกลางใบเส้นใบ(vein)เห็นเป็นเส้นเล็กยาวขนานไปปลายใบ ขอบ ใบหยักแบบฟันเลื่อยถี่สั้นๆ(serrulate) ลิ้นใบ(ligule)เป็นแผ่นเยื่อขอบลุ่ยเป็น เส้นๆ (membranous frayed) กาบใบ(sheath) สีเขียวเข้ม บีบตัวเป็นสันแบนหุ้มลำต้นมีขนปกคลุมอยู่มาก กาบใบยาว 5.9-8.7 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียวปนม่วงแดง เรียบค่อนข้างมัน ลำต้นด้านนอกนูนกลม ด้านในเป็นร่องตื้นกว้าง มีขอบทั้งสองข้างขึ้นเป็นสัน ออกดอกในช่วงฤดูฝน ช่อดอกออกที่ปลายยอดแบบช่อเชิงลด(spike like raceme) ช่อดอกรวม(inflorescence)ยาว 18.9-37.3 เซนติเมตร ส่วนHeadยาว 7.23-16.5 เซนติเมตร ส่วนปลายยอดช่อดอกโค้งงอลงเล็กน้อยกลุ่มดอกย่อย(spikelet)อยู่รวมกันเป็นกลุ่มแน่นและมีก้านสั้นๆเกิดเรียงสลับอยู่รอบๆแกนช่อดอก ที่โคนก้านดอกมีขนแข็ง(bristle)หยาบ เหนียว ยาว 4-5 มิลลิเมตรอยู่จำนวนมาก โคนขนเหล่านี้แผ่ติดกันเกิดเป็นกระพุ้ง(involucre)แข็งรองรับกลุ่มดอก เมื่อดอกแก่ขนแข็งทำให้กลุ่มดอกสามารถติดไปกับวัสดุอื่นได้ ดอกอ่อนสีเขียว อับเรณู(anther)สีเหลืองเข้ม ก้านชูเกสร(filament)สีขาว ยอดเกสรเพศเมีย(stigma)สีม่วงเข้ม ดอกแก่สีน้ำตาลและร่วงทั้งชุด
แหล่งที่พบและเก็บรวบรวมพันธุ์ พบขึ้นกระจายอยู่ทั่วไปในสภาพพื้นที่ร่มเงา ที่ชุ่มชื้น ที่โล่ง พื้นที่ว่างเปล่า ดินทราย ดินเหนียว ดินลูกรัง
คุณค่าทางอาหาร
ระยะมีดอกอ่อนอายุประมาณ 50 วัน มีโปรตีน 7.37 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 0.84เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย 28.27 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 13.53 เปอร์เซ็นต์ คาร์โบไฮเดรท(NFE) 49.99 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วนADF 36.91เปอร์เซ็นต์ NDF 71.07 เปอร์เซ็นต์
ลิกนิน 4.62 เปอร์เซ็นต์
การใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติในช่วงต้นฤดูฝน สำหรับแทะเล็มของโค กระบือ
ป้ายคำ : หญ้า