หญ้าหวานเป็นพืชที่ให้ความหวานโดยธรรมชาติ ใบหญ้าหวานสด สกัดด้วยน้ำได้สารหวานแห้งประมาณร้อยละหนึ่ง ซึ่งสารหวานนี้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 150 – 300 เท่า และทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส จึงไม่สลายตัวหรือเปลี่ยนสภาพจากความร้อนในการปรุงอาหาร
สารให้ความหวานจากหญ้าหวานเป็นสารสกัดที่มาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นความหวานที่ปราศจากแคลอรี่ และไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลในร่างกาย เพราะเมื่อรับประทาน ร่างกายสามารถขับออกมาได้ทันทีไม่มีการสะสม จึงเหมาะกับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ที่เป็นเบาหวาน ที่ยังต้องการรสหวานในอาหารและเครื่องดื่ม
รูปแบบของหญ้าหวานที่คนนิยมรับประทานกันมี 2 แบบคือ นำใบหญ้าหวานมาผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อเติมรสหวานเป็นชาสมุนไพร ยาชงสมุนไพรต่างๆ หรืออาจใช้ในรูปของสารสกัดจากหญ้าหวานเป็นผงสำเร็จรูปบรรจุซองสำหรับเติมลงในชา กาแฟ หรืออาหารต่างๆ
หญ้าหวาน หรือ Stevia เป็นพืชพื้นเมืองของบราซิลและปารากวัย มีการค้นพบ โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกาใต้ เมื่อปี ค.ศ.1887 โดยมีชาวพื้นเมืองปารากวัย ใช้สารหวานนี้ผสมกับชากินมากว่า 1,500 ปี ต่อมาญี่ปุ่นนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1982 ในประเทศไทยเพิ่งมีการนำมาปลูกเมื่อปี พ.ศ.2518 เขตที่ปลูกกันมากได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา แต่ปลูกได้ผลดีที่สุดที่น่าน ภาคเหนือเป็นพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม เนื่องจากหญ้าหวานชอบอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 20-26 องศาเซลเซียส
ลักษณะโดยทั่วไป เป็นไม้ล้มลุกอายุประมาณ 3 ปี เป็นพุ่มเตี้ย สูง 30-90 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว รูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก มีรสหวาน มีดอกช่อสีขาว สรรพคุณ ใช้แทนน้ำตาล โดยใช้ใบแห้งใส่แทนน้ำตาล (หญ้าหวานเป็นพืชที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาล 10-15 เท่า สารสกัดจากหญ้าหวาน สตีวิโอไซด์ มีความหวานกว่าน้ำตาล 100-300 เท่า แต่ไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงาน สามารถใช้แทนน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือโรคไขมันในเส้นเลือดสูง (ไม่ทำให้อ้วน)
หญ้าหวานมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia Rebaudiana Bertoni หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Stevia อยู่ในวงศ์ Asteraceae (Compositae) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ตามแนวพรมแดนระหว่างประเทศบราซิลและปารากวัย ซึ่งชาวปารากวัยมีการใช้ใบหญ้าหวานผสมกับชาดื่มมานานกว่า 1500 ปีแล้ว หญ้าหวานชอบอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 20 – 26 องศาเซลเซียส และขึ้นได้ดีเมื่อปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 – 700 เมตร มีการนำมาปลูกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมคือทางภาคเหนือ และบริเวณเขาใหญ่ หญ้าหวานเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กสูงประมาณ 30 – 90 เซนติเมตร ใบเดี่ยว รูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก มีดอกช่อสีขาว ลักษณะคล้ายต้นโหระพา หากมีการปลูกไว้ในบริเวณบ้านเป็นพืชผักสวนครัวจะมีประโยชน์มาก เพราะใบสดหรือตากแห้งต้มกับน้ำก็จะให้สารหวานใช้ปรุงอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างดี ขอแนะนำให้หาพันธ์มาปลูกกันเถอะ
นอกจากนี้มีงานวิจัยพบว่ากากหญ้าหวานที่ผ่านการสกัดสารหวาน(ที่พัฒนาเป็นผงแห้งบรรจุซองสำหรับเติมลงในชา กาแฟ หรืออาหาร) ยังคงมีความหวาน สามารถใช้ทดแทนน้ำตาลในการให้ความหวานในเครื่องดื่มชาชงได้ ซึ่งบรรจุเป็นถุงสำเร็จพร้อมชงดื่มได้ทุกช่วงเวลา ดื่มได้ง่าย ช่วยดับกระหาย จากการประเมินความพึงพอใจผลิตภัณฑ์จากกากหญ้าหวาน ผสมอัญชัน มะลิ กระเจี๊ยบแดง และเตยหอม พบว่าชากากหญ้าหวานผสมมะลิซึ่งประกอบด้วยกากหญ้าหวาน 250 มิลลิกรัม และ มะลิ 80 มิลลิกรัม เป็นสูตรที่มีสี กลิ่น และรสชาติเป็นที่น่าพึงพอใจที่สุด ซึ่งการพัฒนาหาสูตรผสมที่ถูกใจเฉพาะบุคคลก็ทำได้ง่าย
ที่มา
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/107/
ป้ายคำ : สมุนไพร