หนาดใหญ่ ปลูกไว้ทำยา

18 พฤษภาคม 2559 สมุนไพร 0

หนาดใหญ่เป็นไม้พุ่ม ลำต้นกลมมีขนนุ่มยาว เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา มีกลิ่นหอมของการบูร ใบรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายและโคนแหลม ขอบจักฟันเลื่อย มีขนนุ่มละเอียดปกคลุม ท้องใบขนยาวกว่า มีหูใบดอกเล็กเป็นพุ่มกระจุกกลม ออกเป็นช่อใหญ่ๆ ที่ปลายกิ่งและง่ามใบ ผลมีขนสีขาว มักปลูกไว้ทำยา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Blumea balsamifera DC.
ชื่อสามัญ : Ngai Camphor Tree.
ชื่อวงศ์ COMPOSITAE
ชื่ออื่น หนาด, พิมเสน, หนาดหลวง, คำพอง (เหนือ), จะบอ (ปัตตานี), ตั้งโฮงเช่า (จีน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
หนาดใหญ่เป็นพืชต้นสูง 1-3 เมตร มีขนอ่อนนุ่มสีเหลืองทั้งต้น ขยี้ดมมีกลิ่นหอมเย็น ใบออกสลับกัน ลักษณะรีใหญ่ยาว 10-17 ซ.ม. กว้าง 1.2-2.5 ซ.ม. ปลายใบแหลม ฐานใบเรียวเล็กลง ขอบใบมีรอยหยักใหญ่ ๆ ไม่เท่ากัน มีขนทั้งสองด้าน ดอกออกที่ปลายกิ่งเป็นช่อ มีกลีบเลี้ยงหลายชั้น ชั้นนอกสั้นกว่าชั้นใน กลีบดอกสีเหลือง ดอกย่อยรอบนอกเป็นดอกที่มีแต่เกสรตัวเมียอย่างเดียว ดอกบริเวณกลางช่อดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกติดกันเป็นหลอด ส่วนปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน ติดกับกลีบดอกเกสรตัวเมีย มีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน ปลายแยกเป็นเส้น 2 เส้น ผลเป็นเส้นเล็ก ๆ มี 10 เหลี่ยม ส่วนบนมีขนสีขาว ๆ หลายเส้น ช่วยให้ลอยไปตกได้ไกล ๆ ออกดอกในฤดูหนาว พบเกิดขึ้นเองตามท้องนาและหุบเขาทั่วไป

naddyaiyod naddyaiton

การเก็บมาใช้

  • ใช้ราก ใบและยอดอ่อน และพิมเสนที่กลั่นได้จากใบและยอดอ่อนเป็นยา
  • ใบและยอดอ่อน เก็บได้ตลอดปี ผึ่งลมให้แห้ง เก็บไว้ใช้ หรือกลั่นด้วยไอน้ำแยกเอาน้ำมันหอมระเหยออกมา ทำให้เย็นตกผลึกแยกเอาพิมเสนออกมาใช้ (เก็บใบและยอดอ่อนในฤดูหนาว จะให้น้ำมันหอมระเหยมากกว่าฤดูอื่น)
  • ลักษณะพิมเสนที่ดี เป็นแผ่นใหญ่ขนาด 5-15 ม.ม. หนา 2-3 ม.ม. สีขาว กลิ่นหอมเย็น รสเย็นซ่า
  • ราก ขุดราก ล้างให้สะอาด ใช้สด

สรรพคุณทางสมุนไพร
ใบ ต้มอาบแก้เม็ดผดผื่นคัน แก้ลมพิษ รสเมาร้อนหอมฉุน แก้การเกร็งของกล้ามเนื้อ ห้ามเลือด เจริญอาหาร แก้โรคไขข้ออักเสบ เป็นยาบำรุงหลังคอลด ขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้ปวดท้อง ขับลมในลำไส้แก้ธาตุพิการ แก้มุตกิด แก้เหน็บชา สูบแก้ริดสีดวงจมูก ต้มอาบบำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื่น แก้โรคหิด
ทั้งต้น รสเมาร้อนหอม แก้ไข้ แก้ลมแดด แก้เจ็บหน้าอก แก้ปวดท้อง แก้อหิวาตกโรค ขับพยาธิ ลดความดันเลือด ระงับประสาท
ราก รสร้อน ต้มดื่มแก้หวัด

ตำรายาไทยและยาพื้นบ้าน: ใช้ ใบ มีกลิ่นหอมฉุน มีรสเมาร้อน แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เป็นยาห้ามเลือด ยาเจริญอาหาร แก้โรคไขข้ออักเสบ เป็นยาบำรุงหลังคลอด แก้ไข้ ลดความดันโลหิต ขับพยาธิ ระงับประสาท ขับลม แก้จุกเสียดแน่นเฟ้อ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ ขับเสมหะ แก้มุตกิด ใบและยอดอ่อน กลั่นด้วยไอน้ำ จะได้พิมเสนตกผลึกออกมา นำมาทำเป็นยากิน แก้ปวดท้อง ท้องร่วง หรือใช้ขับลม ใช้ภายนอกเป็นผงใส่บาดแผล แก้แผลอักเสบ แก้กลากเกลื้อน และแผลฟกช้ำ ใบและยอดอ่อน ต้มกินเป็นยาแก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ ปวดท้อง ขับเสมหะ แก้ริดสีดวงจมูก ขับลมในลำไส้ ขับพยาธิ แก้บิด บำรุงกำลัง หรือใช้ภายนอก บดเป็นผงผสมสุรา ใช้พอกหรือทาแผลฟกช้ำ ฝีบวมอักเสบ แผลฝีหนอง บาดแผลสด ห้ามเลือด แก้ปวดหลังเอว ปวดข้อ และแก้กลากเกลื้อน ใบสด หั่นเป็นฝอยเหมือนยาเส้น ตากแดดพอหมาดๆ มวนกับยาฉุน สูบ แก้ริดสีดวงจมูก (โรคติดเชื้อที่เกิดในจมูก ทำให้หายใจขัด มีฝีหนองในจมูก โพรงจมูกอักเสบ) ยาชงของ ใบ เป็นยาบำรุงธาตุ ขับลม ขับเหงื่อ ขับเสมหะ และระดู ใช้ผสมในน้ำอาบสมุนไพรหลังคลอด บำรุงผิวหนังให้ชุ่มชื้น แก้หิด สิ่งสกัดจาก ใบ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ขยายเส้นเลือด ขับปัสสาวะ ใช้ในเมื่อมีอาการตื่นเต้น นอนไม่หลับ ทั้งต้น รสเมาร้อนหอม แก้ไข้ แก้ลมแดด แก้เจ็บหน้าอก แก้ปวดท้อง แก้อหิวาตกโรค ขับพยาธิ ลดความดันเลือด ระงับประสาท

naddyaiking

ยาพื้นบ้าน: ใช้ ใบ บดผสมกับต้นข่อย แก่นก้ามปู พิมเสน และการบูร มวนด้วยใบตองแห้งสูบ รักษาโรคหืด ในใบพบสาร cryptomeridion มีฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น กล้ามเนื้อหลอดลม
หมอยาพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี: ใช้ ลำต้นและใบ เข้ายากับใบเปล้าใหญ่ และใบมะขาม ต้มน้ำอาบ แก้วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย
ยาพื้นบ้านนครราชสีมา: ใช้ ใบ รักษาโรคเรื้อน โดยตำใบให้ละเอียด ใส่ด่างทับทิมและน้ำพอประมาณ นำมาปิดบริเวณที่เป็นแผล

ประเทศจีน: ใช้ ใบ ขับลม ขับพยาธิ และทำให้แท้ง
การแพทย์แผนไทย: ใช้ ใบหนาด ในสูตรยาอบสมุนไพร มีสรรพคุณแก้โรคผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย โดยตัวอย่างสมุนไพรแห้งที่ใช้ในการอบ ได้แก่ ยอดผักบุ้ง ใบมะกรูด ใบมะขาม ใบส้มป่อย ต้นตะไคร้ หัวไพล ใบพลับพลึง การบูร ขมิ้นชัน และใบหนาด เป็นสูตรยาอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพ มีสรรพคุณ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการวิงเวียนศีรษะ และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต บำรุงผิวพรรณ

ที่มา
ฐานข้อมูลเครื่องยาไทยอีสาน คณะ เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สมุนไพร

แสดงความคิดเห็น