หมักกล้วยแทนกรดฟอร์มิค สู่วิถีเกษตรอินทรีย์ในสวนยาง

19 กรกฏาคม 2556 วิชาเกษตรพึ่งตน 3

กรดฟอร์มิก เป็นสารที่เหมาะสมใช้ในการจับแข็งตัวยางพาราเพราะได้ยางที่มีคุณภาพ ปัจจุบันมีการนำน้ำหมักชีวภาพไปใช้ในการจับแข็งตัวของยางก้อนถ้วย ในภาคใต้เขาให้จับตัวเองตามธรรมชาติไม่ใช้กรด ดังนั้นการจับตัวของยางพารา กับ น้ำหมักชีวภาพ จึงไม่ใช่ความรู้ใหม่ และสารใดที่มีฤทธิ์เป็นกรดสามารถใช้จับตัวยางพาราได้

วัตถุดิบจากธรรมชาติสามารถนำมาสรรสร้างให้เกิดประโยชน์ได้ เพียงแค่คุณกล้าคิด และเต็มที่กับสิ่งที่ตั้งใจทำผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะได้ตรงตามที่อยากจะให้มันเป็น อย่างเช่นน้ำหมักกล้วยที่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ก็ผ่านการลองผิดลองถูกมานักต่อนัก

จากนโยบายการส่งเสริมการปลูกยางพารา เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ยางที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ส่งผลให้ปัจจุบันเกษตรกรหลายพื้นที่ในบ้านเราต่างหันมาปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ส่วนผลิตผลที่ได้จะมีคุณภาพ เก็บเกี่ยวกำไรได้มากน้อยเพียงใดอยู่ที่ การจัดการ และแนวทางลดต้นทุนการผลิต เหมือนอย่าง ลุงชูชีพ รักควงทอง เกษตรกรบ้านหนอง-กรรเกลา หมู่ 2 ต.ทางเกวียน อ.แกลง จ.ระยอง ที่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนหันมาทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งได้คิดค้นการใช้ น้ำกล้วยหมัก ทดแทนกรดฟอร์มิค หยอดให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อน

ลุงชูชีพ เปิดเผยว่า แต่เดิมนั้นมีอาชีพทำสวนทุเรียน หลังเก็บผลผลิตแล้ว จะเอาเคมีใส่ ซึ่งนับวันจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยที่ไม่รู้ว่าต้นพืชเอาไปใช้มากน้อย ไม่กี่ปีเริ่มเกิดความเสียหาย หน้าดินพังแข็งตัว สุดท้ายไม่เพียงแค่ดินเสื่อม แต่มันเป็นเหมือนจุดจบชีวิตชาวไร่ นับวันจะติดลบลงเรื่อยๆเพราะต้องเอาไปลงทุน

fomiclow

ต่อมาได้ปรับพื้นที่ทั้งหมด 13 ไร่ มาปลูกยางพารา และจากการที่คลุกคลีกับสารเคมีมาเกือบครึ่งชีวิตทำให้สุขภาพไม่ค่อยดีนัก จึงตั้งหลักทำเกษตรอินทรีย์ ในช่วงได้ขอเข้าอบรมที่ตำบลกระแสบนกับ ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกี่ยวกับการลดต้นทุนชีวิตซึ่งเริ่มจากครัวเรือน ลงมาที่ไร่สวน จุดนี้เองทำให้เกิดความคิดทำ น้ำกล้วยหมัก ใส่ในถ้วยน้ำยาง เพื่อเร่งให้เกิดการจับตัวแข็งแทน กรดฟอร์มิค

ลุงชีพเล่าให้ฟังว่า ตั้งใจปลูกต้นยางพาราไว้เพื่อกรีดหน้ายางขาย สมัยก่อนก็เคยใช้นำกรดที่มีพวกสารเคมีเหมือนกันคนอื่น แต่พอมาคิดทบทวนสารเคมีที่ใช้ไปก็สะสมทำลายทั้งต้น และทำลายหน้าดิน หากคิดจะปลูกอะไรก็ขึ้นได้ยาก จึงตั้งใจแน่วแน่คิดทำน้ำหมักมาใช้แทนน้ำกรดอย่างจริงจัง ลองผิดลองถูกเรื่อยมา เริ่มจากผลไม้รสเปรี้ยวผลสีเหลืองเป็นทุนหลัก และมาจบลงที่ผลกล้วยสุกงอม โดยที่ไม่ต้องไปหาซื้อหยิบใช้จากในสวนได้เลย แกะเปลือกบีบให้เละ ใส่น้ำตาลทรายแดง คลุกเคล้า ขยำให้เข้ากัน นำไปหมักประมาณ 1 เดือน และเติมน้ำใส่ไป ทิ้งพักไว้อีก 2 เดือน จนเริ่มใสก็สามารถนำไปผสมกับน้ำใช้ใส่ในถ้วยยาง คนเล็กน้อยเพื่อทดสอบความแข็งตัว ยืดหยุ่นจับตัวกันเป็นอันใช้ได้ หากปล่อยทิ้งไว้สักพักจะพบว่าประสิทธิภาพน้ำหมักกล้วยดีเยี่ยมเท่าน้ำกรด ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้ประสิทธิผลที่ปลอดภัยไร้สารเคมี

การผลิตยางก้อนถ้วยจะมีอยู่ 2 วิธี คือ หยอดน้ำกรดฟอร์มิคเจือจาง 10 เปอร์เซ็นต์ลงในถ้วยน้ำยางปล่อยให้จับตัวตามธรรมชาติ กับหยอดน้ำกรดลงในถ้วยน้ำยางแล้วคน วิธีนี้นอกจากคนกรีดจะเสียสุขภาพจากกลิ่นน้ำกรดแล้ว หากไม่ระวังอาจพลาดทำให้น้ำกรดฯกระเด็นใส่ต้นแล้วส่งผลให้น้ำหน้ายางตายได้

fomicyang

fomicyangkon

fomicyanghang
ที่มาภาพ : http://www.bansuanporpeang.com/node/24850

ลุงชูชีพ บอกว่า…ใช้เวลาคิดสูตรสัดส่วนอยู่นานเกือบปี เอาทั้งมันสำปะหลัง กล้วย น้ำตาลโบลาด น้ำอ้อยต้มเหล้ามาหมัก ที่ได้ผลสุดก็คือ กล้วยสุกงอมปริมาณ 3 กก. น้ำตาล 1 กก. ขยำให้เละ ปิดฝาทิ้งไว้นาน 1 เดือน แล้วจึงใส่น้ำ 5 ลิตร ทิ้งไว้อีก 2 เดือน เริ่มเป็นฝ้าขาว มีกลิ่นเปรี้ยว กระทั่งเดือนที่ 3 น้ำจะมีความใสเป็นอันใช้ได้ หรือหากตักเก็บไว้ยิ่งนานยิ่งดี ส่วนกากที่ก้นถังสามารถนำไปใส่ต้นไม้เป็นปุ๋ยอย่างดีได้ ในการใช้นั้น แต่ละถ้วยการใส่ไม่เท่ากัน เพราะน้ำยางแต่ละต้นข้นใส ปริมาณที่ออกมามากน้อยไม่เท่ากัน การสังเกตคือ พอใช้ไม้คนเริ่มหนืดมือก็พอ

วิธีการทำน้ำหมักกล้วยเริ่มจากนำกล้วยชนิดใดก็ได้ แต่ต้องเป็นกล้วยที่สุกงอมประมาณ 3 กิโลกรัม น้ำตาลทรายแดงไม่ฟอกขาว 1 กิโลกรัม และน้ำ 5 ลิตร สำหรับผู้ที่เพิ่งฝึกทำครั้งแรก อัตราส่วนควรใช้ 3:1:5 แต่หากมีความชำนาญในการหมักแล้วค่อยใช้น้ำจำนวน 10 ลิตร หรือในอัตราส่วน 3:1:10 นำกล้วยและน้ำตาลทรายแดงมาผสมลงในภาชนะสะอาดแล้วขยำไปเรื่อยๆ จนเข้ากันดี แล้วนำไปหมักไว้ในถังหมัก 1 เดือน แล้วค่อยใส่น้ำตามลงไป คนให้ทั่วแล้วหมักต่ออีก 3 เดือน จะได้ผลเร็วและยิ่งทิ้งไว้นานยิ่งเข้มข้น แต่หากใส่น้ำผสมไปพร้อมกันกว่าจะได้ผลและนำไปใช้ได้ช้า หลังจากใส่น้ำแล้วหมักทิ้งไว้ต่ออีก 3 เดือนจะมีฝ้าขาวขึ้นและจะมีความเปรี้ยวสามารถนำมาใช้ได้ ส่วนกากกล้วยที่เหลือจากการหมักจะนำมาทำปุ๋ยบำรุงต้นยางได้อีกต่อหนึ่ง

“ผมพยายามหาวิธีการผลิตยางพาราโดยไม่ทำลายดิน ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกว่าจะคิดค้นได้มาเป็นน้ำหมักต้นกล้วยก็ใช้เวลาเป็นปี และหลังจากที่ใช้วิธีการดังกล่าวมาใช้ เมื่อนำผลผลิตไปเทียบกับตอนที่สารเคมีปรากฏว่าคุณภาพยางดีกว่า”
นอกจากนำมาผสมเพื่อเร่งการจับตัวของยางแล้ว น้ำหมักกล้วยยังสามารถนำมาทาหน้ายางเพื่อป้องกันโรคเชื้อรา และโรคหน้ายางตาย โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกบ่อยๆ ที่เชื้อราขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการรักษาหน้ายางให้มีคุณภาพอยู่เสมอจะทำให้อายุในการเก็บเกี่ยวน้ำยางพารานานขึ้น อีกทั้งเมื่อยางไม่สามารถกรีดได้แล้วยังสามารถขายต้นยางได้ราคาอีกด้วย

การใช้น้ำกล้วยหมักอินทรีย์ แม้จะหยดลงดินหรือโดนหน้ายางก็ไม่เป็นผล เพราะเป็นจุลินทรีย์จากธรรมชาติ ดังนั้น จึงเป็นปุ๋ยให้กับต้นยาง วิธีนี้นอกจากเป็นการลดต้นทุนการผลิต ยางถ้วยยังมีน้ำหนักดีไม่มีฟองอากาศ เป็นที่ต้องการของพ่อค้า ส่งผลให้ขายได้ราคาสูงกว่าการใช้น้ำกรดฯหยอด ไม่นานเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกเดียวกันเริ่มเข้ามาขอเรียนรู้สูตร สอนเป็นรายบุคคลนั้นได้ แต่เสียเวลา ทาง ธ.ก.ส.จึงให้ไปเป็นวิทยากรสอนเทคนิคต่างๆที่ ศูนย์การเรียนรู้บ้านหนองน้ำขุ่น…

คุณชูชีพ รักพวงทอง การทำน้ำหมักกล้วย
ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
ติดต่อ 080-1023525

ป้ายคำ : ,

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด วิชาเกษตรพึ่งตน

3 ความคิดเห็น

  1. เอกราช พัสนันท์
    บันทึก พฤศจิกายน 17, 2556 ใน 11:12

    ดีมากเรยค่าา

  2. manong
    บันทึก ธันวาคม 16, 2556 ใน 09:21

    ที่มาของภาพ เอามาช่วยแปะไว้แล้วนะคะ ตอน copy มา แสนง่ายดาย แต่ตอนให้เครดิต ทำไม copy ลิ้งค์มาด้วยไม่ได้ เผื่อบางคนอยากติดตาม เรายินดีให้ใช้ภาพถ้าให้เครดิตที่มาของภาพอย่างถูกต้อง แม้ว่าภพของเราจะไม่มีลายน้ำก็ตาม http://www.bansuanporpeang.com/node/24850

  3. บันทึก ธันวาคม 16, 2556 ใน 22:09

    เพิ่ม Link ภาพแล้วครับ ขอบคุณครับ สำหรับคำแนะนำ 😉

แสดงความคิดเห็น