หมากผู้หมากเมีย จัดเป็นไม้ประดับชนิดหนึ่งที่เป็นทรงพุ่ม ซึ่งมีลักษณะสีสันของใบสวยงามหลากหลายสีสัน ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-3 เมตร เป็นข้อถี่ๆ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงเวียนสลับรอบลำต้น แผ่นใบมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ใบรูปหอกเรียวยาว แต่ที่เป็นจุดเด่นคือสีของใบที่มีสีสันสวยงามหลากหลาย เช่น สีม่วง สีน้ำตาล สีเขียวอ่อน สีแดง สีชมพู เป็นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cordyline frutiosa (L.) Gopp.
วงศ์ : AGAVACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูง 1-3 ม.ลักษณะของลำต้นตั้งตรง ไม่มีกิ่งก้านสาขามากนัก
- ใบ ใบเรียงเวียนสลับบริเวณส่วนยอดของลำต้น ใบเดี่ยว รูปยาวรี กว้าง 5-10 ซม. ยาว 12-20 ซม. ปลายใบแหลม ผิวใบมีสีแดงเขียวหรือสีแดงม่วง ก้านใบยาว
- ดอก ดอกช่อยาวประมาณ 30 ซม. ออกบริเวณส่วนยอดของลำต้น ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 6 กลีบ ดอกมีเป็นสีม่วงแดงหรือสีชมพูสลับด้วยสีเหลือง ดอกมีขนาดยาวประมาณ 1 ซม.
- ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม ฉ่ำน้ำ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 ซม. ภายในมีเมล็ด 1-3 เมล็ด
สรรพคุณของหมากผู้หมากเมีย
- รากมีสรรพคุณเป็นยาฟอกเลือด ด้วยการใช้รากสดครั้งละ 30-60 กรัม ถ้ารากแห้งให้ใช้เพียงครั้งละ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- ใช้ เป็นยาแก้พิษกาฬ (พิษที่เกิดจากการติดเชื้อ) หรือนำมาต้มหรือแช่น้ำอาบแก้ไข้หัว (ไข้ร่วมกับผื่นหรือตุ่ม เช่น หัด เหือด อีสุกอีใส) (ใบ)
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ไข้กำเดา ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัวต่าง ๆ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ (ใบ)
- ใบสดใช้ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไอ ไอเป็นเลือด หรือจะใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือดก็ได้ ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบสดประมาณ 60-100 กรัม หรือรากสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ,ดอก,ราก)
- ช่วยแก้โลหิตกำเดา ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-60 กรัม ถ้าแห้งใช้ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (ใบ)
- ดอกใช้เป็นยาแก้วัณโรคปอด ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 ใบ นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบสด 60-100 กรัม หรือใช้รากสด 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ,ดอก,ราก)
- รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด แก้ท้องเสีย แก้ลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน (ราก)
- ใบใช้เป็นยาแก้อาการเจ็บกระเพาะอาหารหรือปวดกระเพาะ แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเบือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน (ใบ) ส่วนตำรายาแก้บิดถ่ายเป็นมูกอีกตำรับ ระบุให้ใช้ใบสด 30-40 กรัม เปลือกลูกทับทิมแห้ง 10 กรัม ผักเบี้ยใหญ่สด 30 กรัม และดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ)
- ใช้แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบสด 60-100 กรัม ถ้าเป็นรากสดให้ใช้ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- ใช้แก้ประจำเดือนมามากเกินควร ด้วยการใช้ดอกสดครั้งละ 30-60 กรัม ส่วนดอกแห้งใช้เพียงครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ดอก)
- ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน หรือจะใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินก็ได้ ส่วนอีกตำรับระบุให้ใช้ใบสด 60-100 กรัม หรือรากสด 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ใบ,ดอก,ราก)
- ใช้เป็นยาแก้ถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูรับประทาน (ใบ)
- ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน (ดอก)
- ใบมีรสจืดมันเย็น มีสรรพคุณช่วยล้อมตับดับพิษ ใช้เป็นยาขับพิษ (ใบ)
- ใบสดนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นบาดแผล (ใบ)
- ใบและดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้เป็นยาพอกห้ามเลือด (ใบ,ดอก)
- ใบนำมาต้มกับน้ำอาบช่วยแก้อาการคันตามผิวหนังหรือเม็ดผดผื่นคันตามผิวหนัง หรือจะใช้ใบร่วมกับใบหมากและใบมะยมก็ได้ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดบวมอักเสบ ด้วยการใช้ดอกสดนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น ส่วนรากก็มีสรรพคุณแก้ปวดบวมอักเสบได้เช่นเดียวกับดอก (ดอก)
- ช่วยแก้ฟกช้ำดำเขียว (ราก)
การเพาะขยายพันธุ์
พันธุ์ที่ใช้สำหรับการปลูกในปัจจุบันมีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งต่างมีเอกลักษณ์โดดเด่น และความสวยงามแตกต่างกัน ได้แก่ เพชรชมพู เพชรบัลลังก์ทอง เพชรดารา เพชรน้ำหนึ่ง เพชรสายรุ้ง เพชรไพลิน ไก่เยาว์ลักษณ์ ชมพูศรี ชมพูพาน สไบทอง เป็นต้น
การเพาะขยายพันธุ์นิยมใช้วิธีต่างๆ ได้แก่
- การปักชำ เป็นวิธีการใช้ส่วนลำต้นที่ตัดจากต้นแม่ที่มีกิ่งหรือเหง้ามาก แล้วนำมาปักชำในแปลงเพาะชำหรือในกระถางชำ
- การตอน เป็นวิธีการตอนในกิ่งพันธุ์จากต้นแม่ เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์โดยใช้ต้นแม่พันธุ์ที่มีกิ่งหรือเหง้าจำนวนมาก รากหลังการตอนจะงอกประมาณ 3-4 สัปดาห์
- การแยกเหง้า เป็นวิธีที่ค่อนข้างสะดวก และรวดเร็ว ด้วยการขุดแยกเหง้าที่แตกออกมาจากต้นแม่ แล้วนำมาแยกปลูกในกระถาง
- การเพาะเมล็ด เป็นวิธีการเพาะโดยใช้เมล็ดจากต้นแก่ มาเพาะในกระถางหรือถุงพลาสติก วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากต้องใช้เวลานานกว่าหมากผู้หมากเมียจะออกดอก และติดเมล็ดให้เห็น โดยจะออกดอกในต้นที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป
การปลูก
หมากผู้หมากเมียสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน หน้าดินลึก ดินไม่แน่น ดินมีความชื้นสูง โดยเฉพาะดินที่มีเศษใบไม้ กิ่งไม้ปกคลุม ชอบเสียงรำไร มักขึ้นอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ได้ดี
การเตรียมดิน
หมากผู้หมากเมีย เป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุย และมีอินทรีย์วัตถุ ดังนั้น ดินที่ปลูกทั้งในแปลงจัดสวน และในกระถางควรใช้ดินร่วน หรือ ดินร่วนปนทรายหรือดินเหนียว ผสมกับมูลสัตว์หรือเศษใบไม้หรือวัสดุอื่น เช่น กากมะพร้าวบด แกลบ เป็นต้น อัตราส่วนที่ใช้ผสมระหว่างดินกับอินทรีย์วัตถุ 1:1 หรือ 2:1
วิธีการปลูกในกระถาง
การปลูกในกะถาง อาจเป็นกระถางดินเผาหรือกระถางพลาสติก โดยเจาะรูระบายน้ำด้านล่าง พร้อมด้วยถาดรองก้นกระถาง การปลูกจะใช้กิ่งพันธุ์จากการตอน การปักชำหรือแยกเหง้าที่ติดแล้ว 1 กิ่ง/กระถาง และควรใส่เศษใบไม้หรือวัสดุอินทรีย์คลุมหน้ากระถางไว้เสมอ สำหรับตำแหน่งวางกระถางควรวางในที่ร่ม แสงแดดส่องถึงเล็กน้อย
วิธีการปลูกในสวน
การปลูกในแปลงจัดสวน มักใช้หมากผู้หมากเมียเป็นไม้ระดับล่าง โดยให้ไม้ชนิดอื่นที่ต้นสูงกว่าให้เป็นร่มเงา ระยะปลูกในแปลง ประมาณ 50X50 ซม.
การดูแลรักษา
การให้น้ำ หมากผู้หมากเมียเป็นพืชที่ไม่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องมีความชื้นในดินที่เพียงพออยู่เสมอ การให้น้ำควรให้เพียงวันละครั้งก็เพียงพอ ซึ่งที่สำคัญ คือ จุดวางกระถางหรือแปลงปลูกต้องไม่ถูกแดดส่องถึงพื้นตลอดทั้งวัน