หรน หมัดหลี เกษตรธาตุ ๔

นายหรน หมัดหลี ชาวตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน บิดามารดามีอาชีพเป็นหมอยาพื้นบ้าน ทำนา ทำสวน รับจ้างทั่วไป ทั้งตัดยาง ทำนา เลี้ยงไก่ และปลูกผัก โดยเฉพาะการทำสวนนั้นทำสวนแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า สวนสมรม ช่วงเวลาหลังเลิกเรียนใช้เวลาศึกษาศาสนา เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วเรียนต่อที่โรงเรียนปอเนาะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เรียนอยู่ 8 ปี จนมีความรู้ทางศาสนาแตกฉาน เมื่อจบแล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่ปอเนาะสุไหงติเบา ประเทศมาเลเซีย เรียนอยู่ 2 ปี บิดาถึงแก่กรรมจึงเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่งงานมีครอบครัวและเป็นครูสอนศาสนาที่บ้านท่าชะม่วงและที่โรงเรียนบุญเจิมประชานุเคราะห์วิทยา จากนั้นลาออกจากอาชีพครูกลับมาทำสวนและศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องสมุนไพรโดยใช้หลักวิชาการแพทย์แผนไทย

หรน หมัดหลี เป็นเกษตรกรผู้บุกเบิกการทำสวนเกษตรธาตุ 4 ซึ่ง ประกอบด้วย ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม และธาตุไฟ เป็นการเกษตรที่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติ ตอบโจทย์ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และยั่งยืนอย่างแท้จริง เช่น การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก แต่ขณะเดียวกันก็สามารถลดต้นทุนได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยกัน ปัจจุบันนายหรน หรือ ที่คนในชุมชนเรียกว่า ป๊ะหรนขยายพื้นที่ทำกินออกไปเป็นจำนวน 70 กว่าไร่ เฉพาะส่วนที่เป็นสวนผลไม้มี 4 แปลง ปลูกผลไม้ 19 ชนิดได้แก่ ทุเรียน จำปาดะ สะตอ ลางสาด ละมุด ฝรั่ง มังคุด เงาะ ละไม ลองกอง มะขาม กาแฟ มะนาว มะพร้าว ไผ่ตง ขนุน กระท้อน เนียง พริกไทย นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอีกมากมาย และไม้โตเร็วอย่าง เมี่ยงอาม และจวงหรือเทพธาโร
ปัจจุบันแนวทางการเกษตรธาตุ 4 เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ มีกลุ่มคนที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน หรือเข้าอบรมที่จัดขึ้นที่สวนเกษตรธาตุ 4 เสมอ
รางวัลเกียรติคุณที่ได้รับ

  • ปี พ.ศ.2536 คนดีศรีสังคม
  • ปี พ.ศ.2545 ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 2 ด้านเกษตรกรรมจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

และปีนี้เป็นปีแรกที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการสรรหาปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน 4 สาขา ตามคุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกในภาพรวม อาทิ ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และผลงานเกี่ยวกับด้านการเกษตรอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงมีประวัติและวิถีชีวิตที่มีคุณธรรม มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีจิตใจและการปฏิบัติตนที่แสดงถึงการอุทิศเวลา ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ต่อเกษตรกร แวดวงการเกษตรในชุมชน หน่วยงานราชการ ประชาชน และที่สำคัญคือมีผลการดำเนินงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างชัดเจน เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งจัดสวัสดิการให้แก่ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ในการที่จะเป็นส่วนสนับสนุนและสร้างโอกาสนำองค์ความรู้และประสบการณ์เผยแพร่สู่สังคม ซึ่ง กระบวนการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยปราชญ์เกษตรของแผ่นดินทั้ง 4 สาขา ได้แก่ สาขาปราชญฺ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ได้แก่ นายระพี สาคริก สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายประยงค์ รณรงค์ ทั้งนี้ การคัดเลือกในสาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้พิจารณาว่า นายหรน หมัดหลี สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน แต่นายหรน ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา ดังนั้น ในปีนี้จึงไม่เสนอผู้ใดขึ้นแต่งตั้งเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินในสาขาดังกล่าว

ภูมิปัญญา
ธาตุ 4 : จากจักรวาลสู่การเกษตรที่สมดุล
ความรู้เรื่องธาตุ 4 เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญที่คนไทยในอดีตนำมาอธิบายการเกิดและการแตกดับของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกและจักรวาล ถ้าธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่สมดุล สรรพสิ่งในธรรมชาติก็จะแปรปรวนเป็นภัยพิบัติ และตามหลักแพทย์แผนโบราณ ถ้าธาตุทั้ง 4 ในร่างกายของคนเราไม่สมดุล ก็จะเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย การักษาก็คือต้องปรับธาตุทั้ง 4 ในร่างกายให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุลตามปกติ
ธรรมชาติของต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน ประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ จะขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไม่ได้ มีมากบ้างน้อยบ้าง แต่หากธาตุสมดุลก็จะเจริญแข็งแรง
เมื่อค้นพบดังนี้จึงใช้ความรู้เรื่องธาตุ 4 มาเป็นหลักในการคัดพันธุ์ไม้ นำไม้ผลที่ มีลักษณะเข้ากันได้มาปลูกไว้ด้วยกันเพื่อให้เกิดการพึ่งพาอาศัยระหว่างไม้ต่าง ชนิด เมื่อไม้แต่ละชนิดไม่ทำลายกันเองแล้วก็ให้ดอกผลอุดมสมบูรณ์
วิธีการทดลองของป๊ะหรนว่าต้นไม้ใดเป็นธาตุประเภทใดมาก คือ ชิมทุกส่วนตามหลักแพทย์แผนโบราณ ได้แก่ ราก เปลือก ลำต้น ใบไม้ ผลไม้ ต้นไม้ส่วนใหญ่มีรสมากกว่าหนึ่งรสเสมอ ดังนั้นเมื่อเคี้ยวครั้งแรกจึงอาจจะได้รสฝาด อีกสักครู่อาจจะมีรสหวานหรือรสจืด หรือเผ็ดตามมา ถ้าชิมแล้วได้รสใดรสหนึ่งมาก ถือธาตุนั้นเป็นหลัก ไม้ที่มีรสฝาดแสดงว่ามีธาตุลม รสจืดเป็นธาตุน้ำ รสเผ็ดหรือร้อนเป็นธาตุไฟ และรสขมเป็นธาตุดิน พอจะแยกแยะออกได้ดังนี้

  • ธาตุน้ำ รสจืด เช่น มังคุด กล้วย จำปาดะ อ้อย มะม่วง ชมพู่
  • ธาตุดิน รสขม เช่น ละมุด สะตอ เหรียง ใบยาสูบ
  • ธาตุลม รสฝาด เช่น ลองกอง ลางสาด ผักเสี้ยนผี
  • ธาตุไฟ รสเผ็ด ร้อน เช่น ทุเรียน พริก ส้ม ฝนแสนห่า ไฟเดือนห้า พาหมี ยางพารา

แต่ไม่ใช่ว่า เราทราบว่าต้นไม้ชนิดไหนมีธาตุอะไรแล้วจะนำไปปลูกรวมกันได้เลย ยังต้องมีความรู้อีกหลายอย่างที่นำมาเชื่อมโยงและบูรณาการในการทำเกษตรธาตุ 4 เช่น

ความรู้เรื่องของดิน
ต้องดูว่าดินที่จะปลูกเหมาะสมกับพืชชนิดไหน เราไม่สามารถเปลี่ยนดินให้เหมาะสมกับพืชได้ แต่เราเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับดินได้ เช่น ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง รสชาติอร่อย ราคาดี แต่อาจจะปลูกในพื้นที่แล้วให้ผลผลิตได้ไม่ดีเท่ากับทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน เป็นต้น

การปลูกพืชโดยคำนึงถึงระบบรากพืช
มีการดัดแปลงพื้นที่การปลูก และกระบวนการปลูก โดยคำนึงถึงระบบรากเป็นหลัก เช่น มังคุด จะเป็นพืชที่มีระบบรากลึก การหาอาหารจะอยู่ลึกต่างกัน จึงได้นำไปปลูกร่วมกับทุเรียน ซึ่งมีระบบรากที่ตื้นแต่การหาอาหารของทุเรียนจะชอบหาอาหารบริเวณไกลจากต้นคือบริเวณ ปลายเงาของทรงพุ่มของพืช ซึ่งหากทดลองขุดดูจะเห็นได้อย่างชัดเจน สำหรับต้นลองกอง ลางสาด นั้นจะชอบกินอาหารบริเวณใกล้ๆ กับลำต้น ซึ่งไม้ผลเหล่านี้มีระบบรากฝอยอยู่มากดังนั้น เราไม่ต้องกังวลว่าหากปลูก ร่วมกันแล้วต้นไม้จะแย่งอาหารกัน

ความต่างระดับและทรงพุ่มของพืช
ต้องคำนึงถึงว่า เมื่อพืชเติบโตแล้วจะไม่แย่งพื้นที่ในอากาศกัน เช่น ในหลุมหนึ่งปลูกไม้ผลหลักของสวนลงไป 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน(ธาตุไฟ) ลางสาด(ธาตุลม) มังคุด (ธาตุน้ำและธาตุดิน) ไม้เมื่อโตเต็มที่แล้วทุเรียนจะอยู่สูงสุด ถัดมา คือ ลางสาด และมังคุดตามลำดับ ทรงพุ่มและเรือนยอดของไม้แต่ละชนิดจะไม่ติดหรือซ้อนกัน

การให้ดอกผลของพืช
ไม้ผลทั่วไปออกผล 2 ลักษณะ ลักษณะแรกจะให้ผลบริเวณปลายกิ่ง อาทิ มังคุด เงาะ สะตอ ลักษณะที่สองให้ผลบริเวณลำต้นหรือกิ่ง อาทิ ทุเรียน จำปาดะ ลองกอง ลางสาด การนำไม้ผลในลักษณะแรกมาปลูกรวมกันต้องจัดระยะให้เหมาะสม โดยต้องไม่ให้ทรงพุ่มของไม้แต่ละชนิดอยู่ติดหรือซ้อนกัน ส่วนไม้ที่ให้ผลบริเวณลำต้นหรือกิ่งสามารถปลูกต้นติดกันได้ ทุเรียน ลางสาด มังคุด ให้ผลที่แตกต่างกัน เมื่อปลูกรวมกันจึงไม่กระทบต่อการให้ผล

ไม้ผลทุกชนิดของป๊ะหรนจะปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งจะโตช้าเมื่อเทียบกับการปลูกด้วยวิธีอื่น แต่จะมีระบบรากที่แข็งแรงและโตเร็วเมื่อเวลาผ่านไปถึงช่วงปีที่สาม การปลูกจะยึดเอาพืชที่มีธาตุเย็นเป็นหลัก แล้วเติมด้วยธาตุที่เหลือ เช่น ช่วงแรกจะปลูกกล้วยลงไปก่อน กล้วยเป็นพืชธาตุน้ำไม่มีอันตรายต่อพืชอื่นทุกชนิด โตเร็วและให้ร่มเงาแก่ไม้ผลในช่วงแรกของการเจริญเติบโต การปลูกด้วยเมล็ดก็ไม่ต้องใช้จอบ เพียงใช้พร้าขุดหลุมให้ฝังเมล็ดได้ เมื่อเมล็ดงอกก็คอยดูแลไม่ให้มีไม้เลื้อยขึ้นปกคลุม เครื่องมือทำสวนในปีแรกจึงมีแค่พร้า ปีที่สองจึงใช้จอบขยายหลุมให้กับต้นไม้ การดูแลต้นไม้ในสวนเกษตรธาตุ 4 จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ตัดกิ่ง เพราะกิ่งไม้ที่อยู่บนก็จะบังแดด กรองแสงให้ต้นที่อยู่ด้านล่าง ส่วนกิ่งล่างๆจะช่วยคลุมโคนต้นไม่ไห้ร้อนเกิน ถ้ากิ่งไหนถึงเวลาที่จะผลัดก็จะร่วงหล่นไป ธรรมชาติจะจัดการเอง ส่วนการไถพรวนดินและการถางหญ้าจะทำเท่าที่จำเป็น คือ ไถพรวนดินเฉพาะในจุดที่แข็งเกินไป ถ้าดินดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องไถ การถางหญ้าจะทำแบบ เดือนยี่เดือนสามอย่าถางหญ้าออก เข้าเดือนหกเดือนเจ็ดแล้วค่อยถาง เพราะตั้งแต่เดือนยี่เป็นต้นไปจะเริ่มเข้าหน้าร้อน จึงควรปล่อยให้หญ้าในสวนคลุมดินให้มีความชุ่มชื้นและไม่ร้อนจนเกินไป จนถึงเดือนหกเดือนเจ็ดฝนเริ่มตกแล้วจึงถางหญ้าออก หญ้าที่ถางออกก็จะกลายเป็นปุ๋ยต่อไป ส่วนยากำจัดแมลงก็ไม่มีการใช้ในสวนเกษตรธาตุ 4 แต่จะใช้วิธีทางธรรมชาติกำจัดศัตรูพืชแทน เช่น ต้นมังคุด จะมียางชนิดหนึ่งออกตามบริเวณลำต้น และยางชนิดนี้มีสารบางอย่างที่ทำให้แมลงศัตรูพืชไม่เข้าใกล้ต้นมังคุด ซึ่งส่งผลดีต่อต้นไม้ที่อยู่ใกล้ต้นมังคุดด้วย คือ ทำให้แมลงลดน้อยลง ส่วนวิธีอื่นๆก็มี การใช้ตัวห้ำบางชนิดมากำจัดแมลงศัตรูพืชโดยไม่ทำร้ายต้นไม้ เช่น ด้วงเต่า แมลงหางหนีบ ตัวมวน หรือ การปลูกพืชไม้ดอกสีสดเพื่อล่อแมลงให้ออกห่างจากไม้ผล เช่น ดอกหน้าวัว ดอกดาวเรือง ซึ่งได้ผลดีมากในระดับหนึ่งทีเดียว

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ปราชญ์ของแผ่นดิน

แสดงความคิดเห็น