หอมแดงกลิ่นฉุน มากสรรพคุณ

17 มิถุนายน 2556 ไม้ใต้ดิน 0

หอมแดงได้รับความนิยมในการบริโภคมาก เห็นได้จากทุกครัวไทยจะต้องมีหอมแดงเตรียมไว้เสมอ หอมแดงเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารไทยแทบทุกชนิด ทั้งประเภทแกงเผ็ด แกงเลียง ต้มยำ หลน ยำ ลาบ น้ำพริกต่างๆ เครื่องเคียงข้าวซอย หรือในขนมหวาน ด้วยเพราะเหตุผลที่หอมแดงช่วยดับกลิ่นคาว เพิ่มรสชาติของอาหาร

ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium ascalonicum L.
ชื่อวงศ์ Alliaceae
ชื่อสามัญ : Shallot
ชื่ออื่น: หอมแกง (ภาคกลาง ภาคใต้) หอมไทย หอมเล็ก หอมหัว (ภาคกลาง) หอมหัวขาว หอมบัว หอมปั่ว (พายัพ) ผักบั่ว (อีสาน)

ลักษณะ : พืชที่มีลำต้นสั้นและฝังอยู่ใต้ดิน ขนาดสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กาบใบพองออกเพื่อสะสมอาหาร ลักษณะเป็นช่อคล้ายร่ม ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีขาวอมม่วงมีกลีบดอก 6 กลีบ ออกดอกในช่วงฤดูหนาว

homdanghang
ลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน รูปไข่ สีแดงหรือสีขาว กว้าง 1-4 ซม. ยาว 1.5-5 ซม. เป็นโคนใบสะสมอาหาร พองออกเรียงซ้อนกันเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม มีเยื่อสีแดงอมม่วงบางๆหุ้ม เนื้อภายในสีม่วงอ่อน ลำต้นเป็นเหง้าเล็กๆติดที่ฐานใบ หัวหนึ่งมี 1-2 กลีบ หัวมีกลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน
หอมแดงหรือหอมหัวเล็ก เป็นพืชไวแสง ช่วงเวลากลางวันสั้น การลงหัวของแต่ละพันธุ์ไม่เท่ากัน หอมแดงพื้นเมืองไทยจะลงหัวได้ดีที่ช่วงแสงของวัน ประมาณ 11 ชั่วโมง มีลำต้นสั้นและฝังอยู่ใต้ดิน ขนาดสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กาบใบพองออกเพื่อสะสมอาหาร ลักษณะเป็นช่อคล้ายร่ม ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก กลีบดอกสีขาวอมม่วงมีกลีบดอก 6 กลีบ ออกดอกในช่วงฤดูหนาว

homdanghow

ประโยชน์ทางอาหาร : คนไทยนิยมนำหอมแดง มาเป็นส่วนประกอบเครื่องแกงเผ็ด เป็นส่วนประกอบของไข่เจียวหมูสับ ซุปหางวัว รับประทานสดโดยฝานเป็นแว่นบางๆ รับประทานร่วมกับแหนมสด เมี่ยงคำ ปลาเค็มทอดบีบมะนาว หอมแดงซอย กับพริกขี้หนูสวนหั่นฝอย เป็นส่วนประกอบของน้ำพริกกะปิ หอมแดงเผาตำผสมกับน้ำพริกปลาร้า น้ำพริกปลาทู น้ำพริกกุ้งสด และเป็นส่วนประกอบของหลนทุกอย่าง เป็นส่วนประกอบของขนมหวาน เช่น หอมแดงซอยเจียว ใส่ในข้าวเหนียวหน้าปลาแห้ง ขนมหม้อแกงถั่ว และไข่ลูกเขย ( อาหารคาวหวาน ) ฯลฯ

สรรพคุณทางยา : หัวหอม มีรสฉุน ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยย่อยและเจริญอาหาร แก้บวมน้ำ แก้อาการอักเสบต่าง ๆ ขับพยาธิ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น เมล็ด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้กินเนื้อสัตว์เป็นพิษ ร่างกายซุบผอม (ใช้เมล็ดแห้ง 5-10 กรัมต้มน้ำดื่ม) ตำรายาไทยใช้หัวหอมแดง ผสมรวมกับเหง้าเปราะหอมสุมหัวเด็ก แก้หวัดคัดจมูก และกินเป็นยาขับลม หอมแดงมีสารเคอร์ซิติน และสารฟลาโวนอยด์ (quercetin และ flavonoid glycosides) อาจป้องกันโรคมะเร็งได้
นอกจากนี้ หอมแดงยังมีคุณสมบัติ เป็นยารักษาโรค ใช้ลดไข้และรักษาแผลได้ โดยเอาหัวหอมแดงมาซอยเป็นแว่นๆ ผสมกับน้ำมันมะพร้าวและเกลือ ต้มให้เดือด แล้วนำมาพอกแผล นอกจากนั้นหอมแดง ยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และยับยั้งเส้นเลือดอุดตัน ด้วยการบริโภคสด หรือประกอบอาหาร หรือบริโภคชนิดผง

ข้อควรระวัง : ถ้ากินหัวหอมจำนวนมากมายเป็นประจำ อาจทำให้หลงลืมง่าย ผมหงอก มีกลิ่นตัว ฟันเสีย ตาฝ้ามัว และประสาทเสียได้

พันธุ์ที่นิยมปลูกมากได้แก่

  • พันธุ์ศรีสะเกษ มีลักษณะเด่นคือ เปลือกนอกหนาสีม่วงแดง หัวกลมป้อม กลิ่นฉุน รสหวาน ใบสีเขียวเข้ม มีนวลจับเล็กน้อย นิยมปลูกมากในจังหวัดศรีสะเกษ
  • พันธุ์เชียงใหม่ มีลักษณะเด่นที่เปลือกบาง สีส้มอ่อน หัวกลมรี กลิ่นไม่ฉุนจัดมีส่วนสูงมากกว่า ส่วนกว้าง รสหวาน หัวจะแยกเป็นกลีบชัดเจน ไม่มีเปลือกหุ้ม ใบสีเขียว มีนวลจับเล็กน้อย นิยมปลูกมากในจังหวัดอุตรดิตถ์ เชียงใหม่
  • พันธุ์พื้นเมือง มีลักษณะเด่นที่เปลือกสีขาวหรือขาวอมเหลือง กลิ่นไม่ฉุน รสหวาน

การเตรียมดิน
หอมแดงมีระบบรากตื้น ชอบดินร่วน มีการระบายน้ำดี แปลงปลูกควรไถพรวนหรือขุดด้วยจอบพลิกดินตากแดดไว้ก่อน 2-3 วัน แล้วย่อยดินให้เป็นก้อนเล็ก อย่าให้ละเอียดมากเพราะจะทำให้ดินแน่น หอมลงหัวยากควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยมูลสัตว์ลงไปคลุกเคล้าให้ทั่ว เก็บเศษวัชพืช หรือรากหญ้าอื่นๆ ออกให้หมดแล้วรองพื้นก่อนปลูกด้วยปุ๋ยอินทรีย์

homdangplang

การเตรียมพันธุ์หอม
หัวหอมพันธุ์ที่จะใช้ปลูกควรเตรียมไว้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน เพราะหัวหอมที่จะใช้ปลูกควรมีระยะพักตัวอยู่สักระยะหนึ่ง แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 6 เดือน เพราะระยะนี้หอมจะเริ่มแดงยอดอ่อนสีเขียวพ้นหัวเก่ามาแล้ว ให้นำหัวหอมพันธุ์มาตัดแต่งทำความสะอาด ตัดเล็มรากเก่า และใบแห้งทิ้งให้หมด หากเห็นว่ายอดอ่อนยาวอาจตัดทิ้งเสียสัก 1 ใน 10 เพื่อเร่งให้งอกไวเมื่อปลูกแล้ว ในพื้นที่ปลู 1 ไร่จะใช้หัวหอมพันธุ์ประมาณ 200 กิโลกรัม ก่อนปลูกหากเห็นว่าหัวหอมพันธุ์เป็นโรคราดำ หรือมีเน่าปะปนมา ต้องฉีดพ่นหรือจุ่มน้ำสารละลายป้องกันกำจัดเชื้อราจำพวกมาเนบ หรือซีเนบ ตามอัตราที่กำหนดในฉลาก และผึ่งลมให้แห้งก่อนนำไปปลูก

วิธีการปลูก

  1. การปลูกด้วยหัวพันธุ์ เป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมกันมานาน แต่ต้นทุนการผลิตสูง หัวพันธุ์ต้องผ่านการฟักตัวไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะนำมาปลูกได้
  2. การปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ เป็นวิธีที่เกษตรกรสามารถประหยัดค่าพันธุ์ลงได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ หัวพันธุ์ แต่เกษตรกรต้องเพิ่มเวลาเพาะกล้าก่อนย้ายปลูกอีก 45 วัน
    ระยะปลูก 15 x 15 เซนติเมตร
    จำนวนต้น / ไร่ 70,000 ต้น / ไร่

การดูแลรักษา
# การใส่ปุ๋ย

  • ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อัตรา 3 – 5 ตันต่อไร่ โดยการหว่านให้ทั่วแปลงก่อนปลูก แล้วพรวนดินกลบ

การให้น้ำ

  • ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หอมแดงต้องการน้ำตลอดฤดูปลูก 250 – 400 มล. ให้น้ำทั้งเช้าและเย็น
  • หัวเริ่มแก่ต้องลดการให้น้ำลง เพราะระยะนี้ต้นหอมต้องการดินและอากาศแห้ง

การปฎิบัติอื่น ๆ

  • การคลุมดิน วัสดุที่ใช้คือ ฟางแห้ง หญ้าแห้ง เปลือกถั่วลิสง หรือแกลบดิน เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและรักษาความชื้นของผิวดินไว้

homdangton

การเก็บรักษา
หอมแดงมัดจุก อาจจะแขวนในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก อาจจะอยู่ในรูปหอมแดงแห้งในถุงตาข่าย ควรจะเก็บในสภาพที่แห้ง โปร่ง หากได้รับความชื้นอาจเกิดเชื้อรา และมีการสร้างหน่อและรากได้

การเก็บหอมแดงไว้ทำพันธุ์
หอมแดงที่แก่จัดหากเก็บรักษาดีจะฝ่อแห้งเสียหาย เพียง 35-40% ควรคัดเลือกหอมแดงที่จะใช้ทำพันธุ์ แยกออกมาต่างหากจากส่วนที่จะขาย และฉีดพ่นยากันรา เช่น เบนเลท ให้ทั่ว และนำไปผึ่งลมจนแห้งสนิทจึงนำไปเก็บรักษาไว้ทำพันธุ์ (ไม่ควรนำมารับประทาน) จะช่วยป้องกันไม่ให้หอมแดงเน่าเสียหายง่าย

homdangkeb

homdangsod

homdangpag

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ใต้ดิน

แสดงความคิดเห็น