หอยหลอด หอยสองฝาคล้ายหลอดกาแฟ

16 มีนาคม 2560 สัตว์ 0

หอยหลอดจะฝังตัวตามแนวดิ่งในตะกอนดินโคลนปนทรายบริเวณปากแม่น้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า “ทรายขี้เป็ด” โดยอาศัยอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลตั้งแต่ 50 เมตรไปจนถึง 3 กิโลเมตรแล้วแต่ชนิด บริเวณที่มีหอยหลอดเป็นจำนวนมากในไทยคือดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากที่ดอนหอยหลอดแล้ว ยังพบตามชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันของจังหวัดอื่นด้วย ชนิด S. corneus, S. regularis, S. strictus และ S. thailandicus พบมากที่จังหวัดตราด จันทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม (ดอยหอยหลอด) และเพชรบุรี; ชนิด S. vagina พบมากที่จังหวัดตรัง ส่วนชนิด S. grandis และ S. exiguus พบที่จังหวัดสตูล แต่มีปริมาณน้อย

ชื่อสามัญ : Rozer ciam
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solen regularis Dunker, 1861

หอยหลอดเป็นหอยสองฝาชนิดหนึ่งที่มีการแพร่กระจายบริเวณปากแม่น้ำ ทั้งทางด้านชายฝั่งทะเลอันดามัน และชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในบริเวณพื้นที่ที่เป็นดินปนทราย หอยหลอดประกอบด้วยเปลือกที่ห่อหุ้มลำตัว เป็นรูปทรงกระบอกสีขาวอมเหลือง หรือสีเหลืองอ่อน ลักษณะเหมือนหลอดกาแฟ ส่วนปลายของเปลือกทั้งสองด้านมีช่องเปิดด้านหนึ่งเป็นเท้า และอีกด้านหนึ่งเป็นท่อน้ำ สำหรับกรองอาหารยื่นออกมา หอยหลอดจะชอบฝังตัวอยู่ในดิน อยู่ลึกจากผิวดินประมาณ 1-2 นิ้ว โดยจะขุดเป็นท่อขนาดเท่าลำตัวและวางตัวอยู่ในท่อในแนวตั้งหรือเอียงประมาณ 30 องศา โดยตัวหอยจะเคลื่อนที่ขึ้นลง อยู่ในท่อหรือรูนี้ ปกติหอยจะขึ้นมาอยู่บนผิวหน้าของดิน โดยยื่นลำตัวเหนือผิวดิน ประมาณ 1/3 ของลำตัวหอยหรืออาจจะอยู่บริเวณผิวดิน และเปิดช่องเพื่อกรองอาหาร และน้ำผ่านเข้าไปในตัว

หอยหลอดเป็นหอยทะเลกาบคู่ รูปร่างคล้ายหลอดกาแฟ ความยาว 7-8เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกสีน้ำตาลอ่น เนื้อสีขาวขุ่น ส่วนหัวนิ่ม ส่วนปลายเหนียว ชอบฝังตัวตามแนวดิ่งในตะกอนดิน โคลนปนทรายบริเวณปากแม่น้ำที่ชาวส้านเรียกว่าทรายขี้เป็ด บริเวณที่มีหอยหลอดเป็นจำนวนมากในประเทศไทย คือ ดอนหอยหลอดจังหวัดสุมทรสงคราม นอกจากที่ดอนหอยหลอดแล้ว ยังอาศัยอยู่ที่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดตราด จังหวัดสตูล รวมไปถึงประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย

การจับหอยหลอดจะใช้ปูนขาวหยอดลงไปในรู ทำให้หอยโผล่ขึ้นมาให้จับได้ง่าย ช่วงที่เหมาะสำหรับการจับมากที่สุดคือเดือนมรกราคม – พฤษภาคม เพราะตอนกลางวันน้ำจะลดลงมากทำให้สันดอนโผล่พ้นน้ำ เนื้อหอยหลอดนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท ทั้งทอดกรอบ ต้มยำ ผัดฉ่า ผัดกระเพรา ฯลฯ


ปัจจุบันหอยหลอดสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในที่เลี่ยงแต่ยังต้องพัฒนาการลูกหอยวัยอ่อนต่อไป เพราะหอยหลอดจะฝังตัวอยู่ใต้ทรายซึ่งยากแก่การจัดการ

ดอนหอยหลอด เป็นสันดอน ตั้งอยู่ปากแม่น้ำแม่กลองมีอาณาบริเวณกว้างประมาณ 3 กิโลเมตร ยาว 5 กิโลเมตร ตำบลบางจะเกร็จ ตำบลแหลใหญ่ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นสถานที่พบหอยหลอดจำนวนมากเกิดจากการตกระกอนของดินปนทราย(ชาวบ้านเรียกทรายขี้เป็ด)

แหล่งผลิตหอยหลอดที่ใหญ่ที่สุด
อยู่ที่ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ และมีที่ดอนอยู่ประมาณ 20,000 ไร่เศษ ซึ่งเป็นจุดที่มีหอยหลอดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในพื้นที่ดอนดังกล่าวจะมีน้ำขึ้น-ลงทุกวันในช่วงที่น้ำลง จะมองเห็นดินปนทราย และสัตว์น้ำหลากหลายชนิด โดยในแต่ละวัน จะมีทั้งชาวประมงและนักท่องเที่ยว ลงทำการเก็บหอย โดยการนำปูนขาวไปหยอดลงไปช่องหรือรูของหอยหลอด เมื่อหอยได้รับสิ่งแปลกปลอมซึ่งระคายเคืองและเป็นพิษ จะพ่นน้ำและพุ่งตัวออกจากรู ทำให้สามารถจับได้ง่าย


และเนื่องจากในปัจจุบัน มีการจับหอยหลอดกันมากอนาคตหากไม่มีการเพาะขยายพันธุ์และอนุรักษ์ หอยหลอดอาจสูญพันธุ์ได้ ด้วยเหตุนี้ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สมุทรสงคราม จึงได้ศึกษาขั้นตอนการเพาะขยายพันธุ์หอยหลอดขึ้นมา เพื่อนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ และการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้

ขั้นตอนการเพาะขยายพันธุ์
โดยรวบรวมพ่อแม่พันธุ์หอยจากดอนหอยหลอด ด้วยการหยอดปูนขาว และรีบนำหอยมาใส่ในน้ำทะเล เพื่อให้คายปูนขาวออก ลำเลียงเข้าสถานีแล้วคัดขนาดพ่อแม่พันธุ์ ที่มีขนาดตั้งแต่ 4 เซนติเมตร ขึ้นไปใส่ในถังไฟเบอร์กลาส ขนาด 0.5×1.8×0.4 เซนติเมตรเพื่อเพาะพันธุ์
การเพาะพันธุ์นี้จะใช้วิธีกระตุ้นด้วยอุณหภูมิ ที่แตกต่างกันโดยการทำน้ำทะเลให้อุ่นด้วยเครื่องทำน้ำอุ่น ให้ได้อุณหภูมิ ประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส แล้วผ่านเข้าไปในถังไฟเบอร์กลาส ที่ใช้เพาะพันธุ์นานประมาณ 20-30 นาที แล้วจึงปล่อยน้ำทะเลอุณหภูมิปกติประมาณ 26-30 องศาเซลเซียสเข้าไปในถังเพาะพันธุ์ สลับปล่อยน้ำอุ่นและน้ำอุณหภูมิปกติประมาณ 2-4 ครั้ง ถ้าพ่อแม่สมบูรณ์เต็มที่จะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ออกมา หอยจะปล่อยไข่และน้ำเชื้อออกมาผสมกันภายนอกตัว ซึ่งจะรอจนกว่าหอยปล่อยไข่และน้ำเชื้อออกมาหมด จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที เพื่อให้ไข่ และน้ำเชื้อผสมกัน แล้วจึงกรอง โดยใช้ผ้ากรองขนาด 30 ไมครอน สุ่มนับจำนวนไข่ลงถังอนุบาล ซึ่งจะใช้ถังไฟเบอร์กลาส ขนาด 1 ตัน ทรงกรวยที่ใส่น้ำทะเลที่ผ่านการฆ่าเชื้อความเค็มน้ำประมาณ 25-27 ส่วน ในน้ำอุณหภูมิ 25-26 องศาเซลเซียส pH ประมาณ 8 โดยให้มีความหนาแน่นประมาณ 1-2 ฟอง/มิลลิเมตร ไข่หอยหลอดจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 56-80 ไมครอน เมื่อไข่ได้รับการผสมจะเริ่มแบ่งเซลล์และเปลี่ยนแปลงรูปร่าง โดยเข้าสู่ระยะ Trochopliore ใน 4 ชั่วโมง และพัฒนาไปสู่ระยะ D-Shape ใน 5 ชั่วโมง ซึ่งในระยะนี้ลูกหอยจะว่ายน้ำ และเริ่มลงเกาะพื้นเข้าสู่ระยะ Setting ในวันที่ 7 หรือ 8 หลังจากนั้นจะมีการพัฒนารูปร่างไปเรื่อย ๆ ประมาณ 30 วัน จะเป็นระยะ Juvenile ที่มีลักษณะเหมือนพ่อแม่พันธุ์ การทดลองครั้งที่ผ่านมาทางสถานีได้หอยมา จำนวน 860,000 ฟองไข่เริ่มแบ่งตัว เข้าสู่ระยะ D-Shape ภายใน 5 ชั่วโมง มีขนาดประมาณ 96×122 ไมครอน จำนวน 600,000 ตัว อัตรารอดตาย 70.58 เปอร์เซ็นต์ ไข่พัฒนาเข้าสู่ระยะ Setting ภายใน 8 วัน มีขนาดประมาณ 184×224 ไมครอน จำนวน 60,000 ตัว อัตรารอดตาย 7.05 เปอร์เซ็นต์ และพัฒนาจนมีรูปร่างเหมือนตัวเต็มวัย ภายใน 30 วัน มีขนาดประมาณ 520×1,040 ไมครอน เหลือรอดอยู่ 6,000 ตัว อัตรารอดตาย 0.70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในช่วงแรก ๆ ลูกหอยจะไม่กินอาหาร แต่เมื่ออายุได้ 1 วัน หรือเข้า D-Shape ก็เริ่มให้กินอาหาร อาหารที่ใช้เลี้ยงหอยวัยอ่อนนี้ จะให้สาหร่ายสีน้ำตาล ชนิด Isochrysis galbana ขนาด ประมาณ 6-8 ไมครอน ในอัตรา 10,000 เซลล์/มิลลิเมตร และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้น ให้เพียงพอเมื่อลูกหอยเข้าสู่ระยะ Setting จะให้สาหร่าย Tetraselmis sp. เสริมด้วย โดยจะให้อาหารวันละ 2 ครั้งเช้าและเย็น แล้วจะเปลี่ยนถ่ายน้ำเว้นวัน โดยใช้สายยางดูดผ่านตะแกรง ที่มีขนาดต่าง ๆ กัน ขึ้นอยู่กับขนาดของลูกหอย พร้อม ๆ กับสุ่มตัวอย่างมาวัดขนาด และนับจำนวนเพื่อศึกษาการเจริญเติบโต และอัตราการรอดตาย

อนุบาลลูกหอยได้ 3 เดือน
เมื่อลูกหอยที่เพาะขยายพันธุ์อายุได้ 30 วัน ก็มีการทดลองเลี้ยงให้เป็นหอยขุนและพ่อแม่พันธุ์รุ่นต่อไป โดยนำมาเลี้ยงในถังไฟเบอร์ฯ ขนาด 2 ตารางเมตร ก้นถังรองด้วยดินปนทราย สูงประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดูดน้ำเข้ามาให้มีระดับสูง 2-3 เซนติเมตร ภายในถังไฟเบอร์ฯ ดังกล่าวจะมีการติดตั้งท่อออกซิเจนไว้ด้วยโดยปล่อยลูกหอยลงเลี้ยงในอัตราหนาแน่น 48,000 ตัว ต่อพื้นที่ 2 ตารางเมตร แต่เลี้ยงได้ 3 เดือน ก็ต้องยกเลิกเพราะว่าหอยทยอยตายไปเรื่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ หอยที่เหลือส่วนหนึ่งทางสถานีนำไปปล่อยลงสู่ธรรมชาติที่ดอนหอยหลอด

ปัจจุบันนี้การเพาะเลี้ยงหอยหลอดประสบความสำเร็จเฉพาะขั้นตอนการเพาะขยายพันธุ์เท่านั้น ส่วนการอนุบาลและการเลี้ยงขุน ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย
การทดลองครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรก ที่สามารถทำให้หอยหลอดวางไข่และปล่อยน้ำเชื้อจนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นลูกหอยได้อย่างสมบูรณ์ในห้องปฏิบัติการ ลูกหอยอยู่ได้นานที่สุด 54 วัน ซึ่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสมุทรสงคราม จะได้ทดลองหาเทคนิคในการอนุบาล และการเลี้ยงลูกหอยให้อยู่รอดและเจริญเติบโตได้ในขั้นต่อไปจากผลการทดลองในครั้งนี้พอจะประมวลผลหลักใหญ่ได้ ดังนี้

  1. ความสมบูรณ์ของพ่อแม่พันธุ์หอยหลอด เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกในหอยบางชนิด เช่น หอยนางรมวางไข่เกือบตลอดปี จึงอาจจะเพาะพันธุ์ได้ทั้งปี แต่ในหอยชนิดอื่นจะต้องเพาะพันธุ์ในช่วงไข่แก่เท่านั้น สำหรับหอยหลอดบริเวณบ้านบางบ่อ และบริเวณปากแม่น้ำแม่กลองมีการวางเซลล์สืบพันธุ์มากในเดือนพฤศจิกายนและพฤษภาคมประมาณ 39.0 และ 64.0 เปอร์เซ็นต์ กับเดือนสิงหาคม ประมาณ 58.8-28.0 เปอร์เซ็นต์
  2. เทคนิคในการกระตุ้นให้หอยปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ ที่ใช้ได้ผลและเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายต่อการทดลองมากที่สุด คือการใช้อุณหภูมิที่แตกต่างกันในการกระตุ้น หรือการเพิ่ม-ลด อุณหภูมิโดยกะทันหัน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลดีกับการทดลองในครั้งนี้
  3. เป็นเรื่องสำคัญในการเพาะหอย ในครั้งนี้อาหารที่เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงลูกหอยคือ สาหร่ายสีน้ำตาล ชนิด Isochrysis galbana ซึ่งมีขนาด 6-8 ไมครอน เป็นส่วนใหญ่ เมื่อลูกหอยเข้าสู่ระยะตกเกาะ (Setting) จึงให้ Tetraselmis sp. ซึ่งมีขนาด 10-14 ไมครอน
  4. ความสะอาดของน้ำทะเลเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน น้ำทะเลที่ใช้เพาะพันธุ์หอยจะต้องเป็นน้ำทะเลที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว ซึ่งควรเป็นน้ำกรองผ่านเครื่องกรองน้ำ (Sand Filter) เพื่อให้ใสแล้วจึงผ่านแสงอัลตราไวโอเลต แต่ในการทดลองครั้งนี้น้ำที่ใช้ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ผ่านแสงอัลตราไวโอเลต และสถานที่สำหรับเพาะพันธุ์หอยหลอดไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมได้เท่าที่ควร และเนื่องจากเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ปลากะพงขาว จึงทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อโรค ฝุ่นละออง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผลต่อการอนุบาลลูกหอยหลอดได้ในระยะเวลาเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น
  5. เทคนิควิธีการเลี้ยงลูกหอยวัยอ่อน ยังต้องพัฒนาอีกมากเพราะหอยหลอดจะฝังตัวในดินปนทรายซึ่งยากต่อการจัดการ

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด สัตว์

แสดงความคิดเห็น