หิ่งเม่น พืชอาหารสัตว์ตามธรรมชาติ

25 พฤษภาคม 2559 ไม้พุ่มเตี้ย 0

ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1.5 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้าน มีขนละเอียดปกคลุมแนบไปกับลำต้นและกิ่งก้าน สีเขียวอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีม่วงเข้ม พบทั่วไปในแถบทวีปเอเชียเขตร้อน พบขึ้นอยู่ทั่วไปในสภาพพื้นที่โล่ง ชายป่า ดินร่วนปนเหนียวดินเหนียวที่มีเนื้อดินละเอียด ออกดอกและติดฝักช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Crotalaria pallida Aiton
วงศ์ LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ชื่ออื่นๆ หิ่งเม่น (Hing men) (เชียงใหม่) ฮ่งหาย ปอเทือง (ไทย)

ลักษณะ
หิ่งเม่นเป็นพืชล้มลุกเนื้ออ่อน อายุปีเดียว (annual) หรือข้ามปี (perennial) เป็นพุ่มสูง 50-120 ซม. แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นมักเป็นสีม่วง มีขนปกคลุมทุกส่วนของลำต้น

  • ใบ เป็นใบประกอบ ก้านใบยาว 4.5-6 ซม. ประกอบด้วย ใบย่อย 3 ใบ ออกจากตำแหน่งเดียวกัน ใบย่อยแต่ละใบมีก้านสั้น ใบกลางมีขนาดใหญ่กว่า 2 ใบที่อยู่ด้านข้าง ใบมีลักษณะกลมรี ยาว 3.5-7 ซม. กว้าง 2.5-4 ซม. โคนใบสอบขอบใบเรียบ ปลายใบอาจหยักเว้าตื้นๆ มีขนปกคลุมตามบริเวณก้านใบ และผิวด้านล่างของใบ
  • ดอก ออกเป็นช่อ (raceme) ที่ปลายยอดของต้น ช่อดอกยาว 15-30 ซม. ประกอบด้วยดอกย่อย 40-100 ดอก ดอกย่อยแต่ละดอก เมื่อยังอ่อนมีแผ่นสีเขียว (bract) เล็กๆ ติดอยู่ จะหลุดร่วง ไปเมื่อดอกเจริญเต็มที่แล้ว ก้านดอกย่อยสั้น 3-4 มม. กลีบเลี้ยงมีลักษณะติดกันเป็นหลอด ตรงปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ มีลายเส้นสีแดง 5 เส้นชัดเจน เกสรตัวผู้ 10 อัน โคนก้านเชื่อมติดกันแต่แยกตอนปลาย มีอับละอองเรณูทั้งยาวและสั้น เกสรตัวเมียถูกหุ้มไว้ด้วยก้านเกสรตัวผู้ ท่อรังไข่ยาว 5-7 มม. โค้งงอขึ้นเล็กน้อย ดอกบานจากโคนไปหาปลาย
  • ผล เป็นฝัก เมื่อแห้งมีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีฟาง ลักษณะพองลม รูปยาวแคบ ขนาดยาว 3-5 ซม. ปลายแหลม เมื่อแก่จะแตกตามยาว ภายในมีเมล็ดมาก สีน้ำตาลอ่อน รูปไต เป็นพืชที่มีระบบรากแก้ว
    ขยายพันธุ์ โดยอาศัยเมล็ด พบขึ้นริมทางที่รกร้างเป็นส่วนใหญ่

hingmenyod hingmendok hingmenfag

คุณค่าทางอาหาร
ส่วนยอดอ่อน ใบและก้านใบ ระยะเริ่มมีดอก มีค่า โปรตีน 23.94 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย 21.01 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 2.65 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 2.65 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วนADF 38.60 เปอร์เซ็นต์ NDF 47.67 เปอร์เซ็นต์ ลิกนิน 15.11เปอร์เซ็นต์

การใช้ประโยชน์ เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติ ของโค-กระบือ ยาพื้นบ้านล้านนา ใช้ราก ฝนน้ำกินครั้งละ 1 ถ้วยตะไล แก้อาเจียน ชาวเขาเผ่าแม้วและมูเซอ ใช้รากต้มน้ำดื่ม ขับปัสสาวะ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะ (วงศ์สถิตย์ และคณะ, 2539)

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้พุ่มเตี้ย

แสดงความคิดเห็น