อินจัน ลูกพลับท้องถิ่นบ้านเรา

22 เมษายน 2557 ไม้ผล 0

ต้นอินจันอยู่ในวงศ์เดียวกับลูกพลับสีส้มจากประเทศจีน มะพลับ ตะโก และ มะเกลือ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ผลิใบใหม่เร็ว เรือนยอดทรงพุ่มกลมทึบ หรือ รูปไข่ สูง 10-20 เมตร เป็นไม้ที่เติบโตช้า รวมทั้งการให้ดอกและผล อายุการปลูกสิบกว่าปีขึ้นไปจึงจะได้ชื่นชมดอกผล

อินจัน หรือ ลูกอิน ลูกจัน (อินจัน ภาษาอังกฤษ Gold Apple) จันอิน ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros decandra Lour. จัดอยู่ในวงศ์ Ebenaceae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับมะพลับ และมะเกลือ โดยอินจันก็เป็นพืชท้องถิ่นของบ้านเรา โดยผลไม้อินจันก็จะมีชื่อเรียกอื่นๆ อยู่หลายชื่อเหมือนกัน เช่น จัน, อิน, จันอินจันโอ, จันอิน, จันลูกหอม, จันท์ลูกหอม, จันขาว, ลูกจัน, ลูกอิน, จันอิน, ลูกจันทน์, ลูกจันทร์ ต้นจัน เป็นต้น นอกจากนี้ต้นจันอินยังเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดจันทบุรี และยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกด้วย

injanpol

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Diospyros decandra Lour.
วงศ์ : Ebenaceae
ชื่ออื่น : จันอิน จันโอ จันขาว จันลูกหอม อิน (ภาคกลาง)

ต้นจันอิน เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 10-20 เมตร เรือนยอดเป็นทรงกลมหรือทรงกระสวย หนาทึบ ลำต้นตรง เปลือกต้นเรียบสีน้ำตาลเข้มอมเทาหรือดำแตกเป็นสะเก็ด เนื้อไม้สีขาว ส่วนกิ่งอ่อนยอดอ่อนจะมีขนสีน้ำตาลปกคลุม และมีกิ่งก้านเหนียว
ใบอินจัน เป็นใบเดี่ยวสีเขียวเข้ม ออกเรียงสลับกัน ใบคล้ายรูปรี โคนใบมน ปลายใบสอบหรือแหลม แผ่นใบเรียบบางเป็นมันลื่น ขอบใบเรียบ ยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร

injanton

ดอกอินจัน ดอกมีสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก ช่อหนึ่งมีประมาณ 3 ดอก ตามส่วนต่างๆมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบเรียงเป็นรูปถ้วยแต่ไม่เชื่อมกัน ส่วนกลีบดอกมี 4-5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปเหยือกน้ำ ส่วนดอกเพศเมียจะออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามกิ่งเล็กๆ กลับดอกและกลีบเลี้ยงจะเหมือนดอกเพศผู้แต่ใบใหญ่กว่า

injanbai

ผลไม้อินจัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 4-8 เซนติเมตร ที่ผลจะมีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่จุก ผลอ่อนมีสีเขียว แต่เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีเหลือง เนื้อนุ่ม มีกลิ่นหอมและมีรสหวาน สามารถรับประทานได้ โดยผลอินจันจะมีอยู่สองแบบคือ ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแป้นไม่มีเมล็ดหรือมีเมล็ดลีบ ผลมีรอยบุ๋มตรงกลาง รสฝาดหวานมีกลิ่นหอม จะเรียกว่า ลูกจัน ส่วนผลที่มีลักษณะของผลเป็นรูปกลมและมีเมล็ด 2-3 เมล็ด ไม่มีรอยบุ๋ม มีรสฝาดหวาน จะเรียกว่า ลูกอิน โดยผลอินจันจะมีรสฝาด ต้องคลึงให้ช้ำก่อนรสฝาดจึงจะหายไป

injanking injanpon

ประโยชน์ของอินจัน
จากงานศึกษาวิจัยผลไม้ในไทยพบว่าน้ำผลไม้ไทยจากลูกอินจัน มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี
ผลไม้ชนิดนี้มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงได้

  • ช่วยบำรุงผิวพรรณ (แก่น)เมล็ดลูกอิน
  • ช่วยบำรุงกำลังให้สดชื่น (ผล,เนื้อไม้)
  • ช่วยแก้ลม แก้อาการอ่อนเพลีย (แก่น)
  • ช่วยบำรุงเลือดลม (เนื้อไม้)
  • ช่วยบำรุงหัวใจ (แก่น)
  • เนื้อไม้ใช้ปรุงเป็นยาบำรุงประสาท ทำให้เกิดปัญญา (เนื้อไม้)
  • ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ อาการกระสับกระส่าย (ผล)
  • ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (เนื้อไม้,แก่น)
  • ช่วยแก้อาการเหงื่อมาก (เนื้อไม้)
  • ช่วยแก้ไข้ (เนื้อไม้,หรือใช้แก่นนำไปต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น)
  • ช่วยแก้ไข้ที่มีผลต่อดี (แก่น)
  • ช่วยแก้กำเดา (แก่น)
  • ช่วยแก้อาการไข้ที่มีผลต่อตับและดี (เนื้อไม้)ดอกจัน
  • ช่วยแก้อาการไอ (แก่น)
  • ช่วยบำรุงตับและปอดให้เป็นปกติ (เนื้อไม้,แก่น)
  • ช่วยแก้ปอดตับพิการ (เนื้อไม้)
  • ช่วยแก้ตับพิการ (แก่น)
  • ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผล)
  • ช่วยแก้ดีพิการ (เนื้อไม้)
  • ช่วยขับพยาธิ (เนื้อไม้)

ผลสุก มีรสหวานและฝาดเล็กน้อย นิยมรับประทานเป็นผลไม้สด หรือนำไปแปรรูปเป็นของหวาน

injansook

เนื้อไม้แข็ง จึงมักถูกตัดนำมาทำเป็นฟืนเป็นถ่าน
เนื้อไม้อินจัน เป็นไม้ที่มีลวดลายสวยงาม ทำให้เป็นที่นิยมในการนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่ง แต่ในปัจจบันนี้จัดเป็นไม้หวงห้ามไปแล้ว เพราะหายากและใกล้ศูนย์พันธุ์

injanloog

แหล่งอ้างอิง : หนังสือผลไม้ 111 ชนิด คุณค่าอาหารและการกิน (นิดดา หงส์วิวัฒน์, ทวีทอง หงส์วิวัฒน์), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน (รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ)

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ไม้ผล

แสดงความคิดเห็น