อินทนิลน้ำเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย พบขึ้นตามที่ราบลุ่มที่ชื้นแฉะทั่วไป และบริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ลำห้วย ในป่าเบญจพรรณชื้นและป่าดงดิบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ แต่พบมีมากตามป่าดงดิบในภาคใต้ นอกจากนี้ยังพบในป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืดในภาคใต้
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.
ชื่อโดยทั่วไป: Queens crape myrtle , Pride of India (ชื่อนี้บอกถิ่นที่มาของพืชชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี)
ชื่อวงศ์ : LYTHRACEAE
ชื่อตามภูมิภาค : ฉ่วงมู ฉ่องพนา (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ตะแบกดำ (กรุงเทพฯ) บางอบะซา (มลายู-ยะลา, นราธิวาส) บาเย บาเอ (มลายู-ปัตตานี) อินทนิล (ภาคกลาง, ใต้)
อินทนิลน้ำ [Lagerstroemia speciosa (Linn.) Pers.] เปลือกลำต้นสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน ค่อนข้างเรียบ อาจจะตกสะเก็ดเป็นแผ่นบาง ๆ บ้างเล็กน้อย ใบเกลี้ยงปลายใบเรียวแหลม ผลิใบอ่อนเต็มต้นพร้อมช่อดอก สังเกตได้ง่ายที่ตำแหน่งช่อดอกเป็นพุ่มทรงเจดีย์ชูตั้งขึ้นเหนือเรือนยอดโดยรอบขนาดของดอกบานกว้าง ๕-๘ เซนติเมตร ออกชิดกันเป็นกลุ่ม สีม่วงสด ม่วงอมชมพูจนถึงชมพู และสีจะซีดจางลงเล็กน้อยเมื่อดอกโรย ผลมีผิวขรุขระ สีคล้ายเนื้อไม้ ออกดอกช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม)
อินทนิลบก (L. macrocarpa Wall. ex Kurz) ลักษณะคล้ายอินทนิลน้ำมาก แต่ใบ ดอก และผลมีขนาดใหญ่กว่า ใบป้อมและกว้างกว่าใบอินทนิลน้ำ ปลายใบมนกว้างหรือแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกไม่ชูตั้งขึ้นเหนือเรือนยอด ขนาดของดอกบานกว้าง ๑๐-๑๓ เซนติเมตร แต่ละดอกจะชิดกันเป็นกลุ่ม ดอกสีม่วงอมชมพู และสีจะจางซีดลงเป็นสีขาวอมชมพู ออกดอกช่วงฤดูร้อน มีชื่ออื่น ๆ ว่า กาเสลา, จ้อล่อ, จะล่อ
ลักษณะของต้นอินทนิล
ลำต้น เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 5-20 เมตร ลำต้น ต้นเล็กมักคดงอ แต่พอใหญ่ขึ้นจะค่อยๆตรง โคนต้นไม้ไม่ค่อยพบพูพอน มักจะมีกิ่งใหญ่แตกจากลำต้นสูงเหนือพื้นดินขึ้นมาไม่มากนัก ดังนั้น เรือนยอดจึงแผ่กว้าง พุ่มแบบรูปร่มและคลุมส่วนโคนต้นเล็กน้อยเท่านั้น ผิวเปลือกนอกสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน และมักจะมีรอยด่างเป็นดวงสีขาวๆ ทั่วไป ผิวของเปลือกค่อนข้างเรียบ ไม่แตกเป็นร่องหรือเป็นรอยแผลเป็น เปลือกหนาประมาณ 1 ซม. เปลือกในออกสีม่วง
ระยะการเป็นดอก ผล ไม้อินทนิลน้ำจะเริ่มผลัดใบในปลายฤดูหนาว หรือต้นฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม ก่อนที่ใบจะร่วงหล่นจากต้นมันจะเปลี่ยนเป็นสีแดง สีเหลือง หรือสีแดงปนเหลืองเสียก่อน บางต้นก็ทิ้งใบจนหมดเหลือแต่กิ่งก้าน แต่ส่วนมากต้นที่พบขึ้นตามธรรมชาติ ใบอ่อนจะเริ่มผลิออกมาในขณะที่ใบแก่ยังร่วงไม่หมด ใบอ่อนจะผลิออกมาทดแทน ระหว่างเดือนมีนาคม พฤษภาคม ระยะนี้เองที่ช่อดอกเริ่มเต็มไปด้วยดอกสีม่วงสด ดอกจะบานติดต่อกันเรื่อยไปจนถึงเดือนมิถุนายน ผลจะแก่ในราวเดือนตุลาคมจนถึงธันวาคม พอผลแก่เต็มที่จึงแตกออกเพื่อโปรยเมล็ดในระหว่างพฤศจิกายนถึงมกราคม หรืออาจจะเลยไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้
ลักษณะเนื้อไม้
เมื่อยังใหม่อยู่เป็นสีแดงเรื่อ ๆ หรือชมพูอ่อน พอนานเข้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมแดง เสี้ยนตรง เนื้อค่อนข้างละเอียด เป็นมันเลื่อม แข็งปานกลาง เหนียว ทนทาน โดยเฉพาะการใช้ในน้ำ แห้งได้ดี เลื่อย ไสกบ ตบแต่งง่าย ขัดเงาได้งาม ความถ่วงจำเพาะ ประมาณ 0.64 (13%) เนื้อไม้มีความแข็ง ประมาณ 474 กก. ความแข็งแรงประมาณ 875 กก./ตร.ซม. ความเหนียวประมาณ 1.70 กม.-ม.
สรรพคุณทางด้านสมุนไพรไทย
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ที่นิยมปฏิบัติกันคือ การขยายพันธุ์โดยเมล็ด ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นยังไม่มีการนำมาใช้ปฏิบัติกัน
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเมล็ดคือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงมกราคม วิธีการเก็บผลใช้ตะขอตัดช่อผลลงมาก่อนที่จะแตก นำมาผึ่งแดดผลก็จะแตกและเมล็ดจะหลุดร่วงออกมา
คุณภาพของเมล็ด เมล็ดมีอัตราการงอกประมาณร้อยละ 60 80 % เมล็ดเก็บไว้ได้นาน โดยอัตราการงอกจะเพิ่มขึ้นตามลำดับตามระยะเวลาที่เก็บรักษา การเก็บรักษาเมล็ดควรคลุกยาฆ่าแมลงและเก็บไว้ในที่ปิดมิดชิด
การปฏิบัติต่อเมล็ดและการเพาะเมล็ด แช่เมล็ดในน้ำเย็น 2 4 ชม. เพาะโดยการหว่านเมล็ดลงแปลงเพาะใช้ดินร่วนกลบหนาประมาณ 0.5 ซม. เมล็ดจะงอกภายใน 10 20 วัน ขนาดของกล้าย้ายชำควรมีความสูง 4 6 ซม. ขนาดของกล้าย้ายปลูกสูงตั้งแต่ 30 ซม. อายุ 3 4 เดือน
การปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์
ไม้อินทนิลน้ำเป็นไม้ที่ค่อนข้างโตเร็วถ้าปลูกในที่เหมาะสม ถ้าปลูกในที่ชุ่มชื้นมากจะไม่ผลัดใบ ปัจจุบันนิยมปลูกกันทั่วไป จะออกดอกเมื่ออายุประมาณ 4 6 ปี การปลูกไม้อินทนิลน้ำส่วนมากจะปลูกเป็นไม้ริมทางและไม้ประดับเนื่องจากมีใบและดอกที่สวยงาม ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์ยังมีน้อยมาก
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๒, ธันวาคม ๒๕๓๒
ป้ายคำ : ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง