อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถปลูกได้เกือบทุกภาคของประเทศ มีอายุเก็บเกี่ยว 10-12 เดือน เก็บผลผลิตได้ 2-3 ปี สภาพแวดล้อมพันธุ์และการบำรุงดูแลรักษาเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลิตและคุณภาพของอ้อยอ้อยสามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกประเภท ตั้งแต่ดินร่วนถึงดินร่วนปนทราย พื้นที่ปลูกควรเป็นที่ราบ ควรหลีกเลี่ยงการปลูกอ้อยในดินเหนียวจัด ดินทรายจัดและดินลูกรัง
ลักษณะภายนอกของอ้อย
ในการจำแนกพันธุ์อ้อยสิ่งจำเป็นที่จะต้องทราบก่อนก็คือส่วนต่าง ๆ ของอ้อยและศัพท์ทางวิชาการที่ใช้เรียกชื่อส่วนต่าง ๆ เหล่านั้น ความจริงนักพฤกษศาสตร์ทางอ้อยได้ศึกษาไว้โดยละเอียด แต่ลักษณะบางอย่างก็ไม่สะดวกที่จะใช้ศึกษาในไร่โดยชาวไร่ ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะลักษณะสำคัญที่ใช้ในการจำแนกพันธุ์เท่านั้น ลักษณะบางอย่างสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและรู้สึกได้ด้วยการสัมผัส แต่บางอย่าง เช่น ขนที่อยู่บนส่วนต่าง ๆ ของใบและตา อาจจำเป็นต้องใช้แว่นขยายเข้าช่วย ลักษณะเหล่านี้ ได้แก่
- ลำต้น ประกอบด้วยข้อและปล้องเป็นจำนวนมากเรียงติดต่อกัน ข้อ หมายถึง ส่วนที่อยู่ระหว่างรอยกาบถึงวงเจริญ ปล้อง คือ ส่วนตั้งแต่วงเจริญถึงรอยกาบที่อยู่เหนือขึ้นไป โดยทั่วไปมักเรียก สั้น ๆ ว่าปล้อง หมายถึง ความยาวจากรอยกาบหนึ่งถึงรอยกาบอีกอันหนึ่ง หรือกล่าวคืออย่างหนึ่งคือส่วนที่มีหนึ่งข้อกับหนึ่งปล้อง ลำต้นประกอบด้วยหลายปล้อง ซึ่งมีความยาวต่างกัน ตอนโคนสั้นมากและค่อย ๆ ยาวขึ้นจนถึงยาวที่สุด และลดลงเมื่อใกล้ยอด ความยาวของปล้องขึ้นอยู่กับพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ปล้องมี รูปร่างแตกต่างกันตามพันธุ์ เช่น ทรงกระบอก มัดข้าวต้ม โคนโป่ง ปลายโป่งและโค้ง รายละเอียดส่วน ต่าง ๆ ของข้อและปล้องตลอดจนลักษณะรูปร่างได้แสดงไว้ในรูปที่ 1 และ 2 การจัดเรียงของปล้องอาจเป็นเส้นตรง หรือซิกแซ็กก็ได้ ดังรูปที่ 3 ลำต้นประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1.1 ตา เกิดที่ข้อในบริเวณเกิดราก ปกติแต่ละข้อมีหนึ่งตาเกิดสลับกัน ในบางกรณีบางข้ออาจไม่มีตาหรือมีมากกว่าหนึ่งตาก็ได้ สี ขนาด และลักษณะของตา แตกต่างกันไปตามพันธุ์ ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป
1.2 วงเจริญ หรือวงแหวน คือส่วนที่มีลักษณะคล้ายวงแหวนเรียบอยู่เหนือบริเวณเกิดราก ไม่มีไขเกาะ การที่เรียกวงเจริญก็เพราะว่าส่วนนี้จะเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เช่น อ้อยล้ม ส่วนของวงเจริญด้านล่างจะยืดตัวมากกว่าด้านบน ทำให้ลำต้นตั้งขึ้น วงเจริญส่วนที่อยู่ตรงกับตาอาจโค้งขึ้นเหนือตา หรือผ่านไปทางด้านหลังของตาก็ได้ ดังรูปที่ 9
1.3 รอยกาบ เป็นรอยที่เกิดขึ้นหลังจากใบหลุดแล้ว การหลุดของกาบใบเป็นลักษณะประจำพันธุ์ บางพันธุ์กาบใบแห้งจะหลุดเอง บางพันธุ์ติดแน่นอยู่กับ ลำต้น ลักษณะต่าง ๆ ของรอยกาบ เช่น ความลาดเท และความยื่นของรอยกาบเป็นลักษณะประจำพันธุ์
1.4 ร่องตา เป็นร่องเกิดขึ้นที่ปล้องซึ่งอยู่ตรงและเหนือตาขึ้นไป บางพันธุ์อาจไม่มี พันธุ์ที่มีร่องนี้ อาจยาวหรือสั้น ตื้นหรือลึก ซึ่งเป็นลักษณะประจำพันธุ์
- ตา เป็นส่วนที่มีความสำคัญมากในการจำแนกพันธุ์ บางพันธุ์ตามีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์อื่นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนต่าง ๆของตาดูได้จากรูปที่ 4 ส่วนรูปของตาได้แสดงไว้ในรูปที่ 5 ลักษณะที่ควรสังเกตจากตามีดังนี้
2.1 ขนาด รูปร่าง และตำแหน่ง แตกต่างกันตามพันธุ์ บางพันธุ์มีตาขนาดใหญ่ บางพันธุ์มีตาขนาดเล็ก บางพันธุ์ตาโปนออกมา แต่บางพันธุ์ตาแบนมาก นอกจากนี้รูปร่างก็แตกต่างกัน ตั้งแต่ค่อนข้างกลมจนถึงคล้ายสามเหลี่ยม ส่วนตำแหน่งของตาคือระยะระหว่างรอยกาบกับฐานตาก็ แตกต่างกัน บางพันธุ์ตาอยู่ชิดหรือสอดเข้าไปในรอยกาบ แต่บางพันธุ์อยู่สูงขึ้นมา จนเกิดช่องว่างระหว่างฐานตากับรอยกาบ ลักษณะเหล่านี้จะต้องสังเกตให้ดี
2.2 กลุ่มขน นักพฤกษศาสตร์ใช้หมายเลขแทนชื่อกลุ่มขนที่อยู่บนส่วนต่าง ๆ ของอ้อย กลุ่มขนที่ตาได้แสดงไว้ในรูปที่ 11 จำนวน ความยาว ความแข็ง และสี ของขนเป็นลักษณะประจำพันธุ์
- ใบ
3.1 หูใบ คือส่วนยื่นที่เกิดขึ้นตรงส่วนปลายของกาบใบ ขนาดและรูปร่าง แตกต่างกันไปตามพันธุ์ หูใบอาจมีทั้งสองข้าง ข้างเดียว ยาวหรือสั้น หรือไม่มีเลยก็ได้ ในกรณีที่ข้างเดียวจะอยู่ด้านในเสมอ
3.2 ลิ้นใบ คือส่วนยื่นที่เกิดขึ้นตรงส่วนปลายของกาบใบตรงคอใบด้านใน มีลักษณะคล้ายลิ้น จึงเรียกว่าลิ้นใบ รูปร่างลักษณะของลิ้นใบแตกต่างกันตามพันธุ์
3.3 กลุ่มขนหลังกาบใบ ความยาวปริมาณและความแข็งของขนที่เกิดขึ้นบนส่วนต่าง ๆ ของกาบใบเป็นลักษณะประจำพันธุ์ แต่จะต้องสังเกตต่อไปว่าขนดังกล่าวร่วงหรือไม่ เพราะบางพันธุ์มีขนในขณะที่ใบอ่อน พอใบแก่ขนร่วงหลุดไปเอง
3.4 ดิวแล็ป ที่คอใบด้านนอกซึ่งมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมสองรูปพบกันที่ฐานของแกนใบ ดิวแล็ป ส่วนนี้ยืดหยุ่นได้ ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ใบเนื่องจากลม บางพันธุ์ดิวแล็ปเปราะฉีกขาดได้ง่าย เช่น พันธุ์ เอฟ.148 เป็นต้น ขนาด รูปร่าง และสี ตลอดจนปริมาณไขที่เกาะแตกต่างกันไปตามพันธุ์
พันธุ์
การเลือกพันธุ์
- ผลผลิตสูง และมีคุณภาพความหวานมากกว่า 10 ซีซีเอส
- ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง แส้ดำ กอตะไคร้ ทนทานต่อหนอนกอลายจุดใหญ่ หรือหนอนกอลายจุดเล็ก ศัตรูที่สำคัญในแต่ละแหล่งปลูก
- เจริญเติบโตดีเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ
- ไว้ตอได้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และผลผลิตไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของอ้อยปลูก
พันธุ์อ้อย
ในการปรับปรุงพันธุ์อ้อยมีหน่วยงานที่ดำเนินการหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัทมิตรผล การดำเนินงานจะเริ่มตั้งแต่การผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์และทดสอบพันธุ์ โดยการคัดเลือกในสภาพแวดล้อมในแหล่งปลูกอ้อยของประเทศไทย พันธุ์อ้อยที่ผ่านการปรับปรุงพันธุ์จะมีลักษณะ ผลผลิต องค์ประกอบผลผลิต และลักษณะทางการเกษตรที่ดีเด่น แตกต่างกันขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่ทดสอบ และคัดเลือกพันธุ์ ชาวไร่จึงจำเป็นต้องเลือกพันธุ์โดยอาศัยคำแนะนำจากเอกสารแนะนำพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตน
1. พันธ์รับรอง/แนะนำของกรมวิชาการเกษตร
อ้อยโรงงาน
- พันธุ์อู่ทอง 6 ลำต้นมีขนาดใหญ่ ปล้องรูปทรงกระบอก กาบใบสีม่วง ไม่มีขน ทรงกอตั้งสูง ออกดอกยาก อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน ผลผลิต 18.04 ตัน/ไร่ ซีซีเอส 13.59 ความสูง 299 ซม. ดินร่วนปนทราย เขตกึ่งชลประทาน
- พันธุ์มุกดาหาร ใบแคงตั้ง ปลายใบโค้ง กาบใบสีเขียวปนม่วง ปล้องรูปทรงกระบอก ทรงกอตั้งตรง ล้มง่าย อายุเก็บเกี่ยว 12-14 เดือน ผลผลิต 13.4 ตัน/ไร่ ความสูง 274 ซม.ดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนเหนียวปนทรายในจังหวัดมุกดาหารและกาฬสินธุ์
- อู่ทอง 5 รูปร่างปล้อง ลำต้นเมื่อถูกแสงให้สีม่วงอมเขียว ทรงกอ ตั้งตรง ออกดอกปลายเดือนตุลาคม อายุเก็บเกี่ยว 10-11 เดือน ผลผลิตอ้อยตอ1 เฉลี่ย 10.95 ตัน/ไร่ อ้อยตอ 2 เฉลี่ย 8.87 ตัน/ไร่ ซีซีเอส อ้อยตอ1 เฉลี่ย 1.71 และอ้อยตอ2 เฉลี่ย 1.40 ความสูง 264 ซม.ดินร่วนปนทรายเขตใช้น้ำฝนภาคกลาง และภาคตะวันออก
- ขอนแก่น 1 ใบแผ่ตั้งสีเขียวเข้ม ลำอ้อยสีเหลืองอมเขียว รูปร่างปล้องคอด กลางป่อง ข้อโปน ทรงกอแคบ ตั้งตรง ไม่ล้มง่าย ออกดอกกลางเดือนธันวาคม อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน ผลผลิต 13-16 ตัน/ไร่ ความสูง 257 ซม.แหล่งปลูกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- อู่ทอง 4 ลำสีเขียวอมเหลืองหรือม่วง ขนาดลำปานกลาง มีขน กลางกาบใบ ทรงกอแผ่เล็กน้อย กว้าง หักล้มปานกลางออกดอกปลายเดือนพฤศจิกายน-กลางเดือนธันวาคม อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน ซีซีเอส 15.69 ผลผลิต 13-14 ตัน/ไร่ ความสูง 248 ซม. แหล่งปลูกภาคตะวันตกเฉพาะในดินร่วนปน ดินเหนียว
- อู่ทอง 3 ใบใหญ่ตั้ง ปลายแหลม กาบใบมีสีม่วงปนเขียว ลอกกาบใบค่อนข้างยาว ทรงกอตั้งตรง แคบ ไม่หักล้ม ออกดอกปลายเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม อายุเก็บเกี่ยว 10-12 เดือน ซีซีเอส 15.90 ผลผลิต 13-14 ต้น/ไร่ ความสูง 231 ซม.ดินร่วนปนทรายสภาพไร่ในภาคตะวันตกและ ภาคเหนือตอนล่าง
- อู่ทอง 2 ใบใหญ่ตั้ง ปลายแหลม กาบใบมีขนเล็กน้อย สะสมน้ำตาลเร็ว ออกดอกปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนธันวาคม ผลผลิต 14.0 ต้น/ไร่ ซีซีเอสมากกว่า 10 ความสูง 228 ซม.แหล่งปลูกเขตชลประทาน ภาคกลางและภาคตะวันตก
- อู่ทอง 1 ปล้องคอดกลาง ใบมีขนาดใหญ่ ทรงใบตั้งโค้งกลางใบกาบใบสีม่วง มีขนกาบใบเล็กน้อย ทรงกอตั้งตรง กว้าง ไม่หักล้ม ออกดอกปานกลาง อายุเก็บเกี่ยว 11-13 เดือน ผลผลิต 25.20 ต้น/ไร่ ซีซีเอส 11-12 ความสูง 250-350 ซม.แหล่งปลูก ภาคตะวันตก จังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุร นครปฐม
- ชัยนาท 1 ใบมีขนาดใหญ่ ปล้องยาว โคนโต สีน้ำตาลอมเขียว ทรงกอแคบ ล้มง่าย ออกดอกประมาณเดือนตุลาคม ผลผลิต 15-18 ต้น/ไร่ แหล่งปลูกภาคตะวันออก
อ้อยเคี้ยว
- สุพรรณบุรี 72 ใบขนาดกลางปลายโค้ ลำต้นสีเขียวอมเหลืองปล้องทรงกระบอก มีร่องเหนือตา ข้อคอดเล็กน้อย อายุเก็บเกี่ยว 9 เดือน ผลผลิตเนื้ออ้อย 6.3 ตันต่อไร่ ความสูง 270 ซม. แหล่งปลูกพื้นที่ดินร่วนเหนียว ดินร่วนปนทรายที่สามารถให้น้ำได้
- สุพรรณบุรี 50 ใบมีขนาดใหญ่ปลายใบโค้ง ลำต้นสีเขียว อมเหลือง ปล้องมีรูปร่างทรงกระบอกค่อนข้างยาว ออกดอก ช่วงเดือนธันวาคม อายุเก็ยเกี่ยว 8 เดือน ผลผลิตน้ำอ้อยสูง 4,913 ลิตรต่อไร่ แหล่งปลูกในเขตภาคกลางและภาคตะวันตก
2. พันธุ์ที่ได้จากงานวิจัยของกระทรวงอุตสาหกรรม
- พันธุ์ K 76-4 เป็นพันธุ์ที่ได้รับจากการผสมระหว่างพันธุ์ Co 798 กับพันธุ์ Co 775 ให้ผลผลิตอ้อยสด 14 ตันต่อไร่ ความหวาน 12 CCS การแตกกอปานกลาง มี 5-6 ลำต่อกอ ลำต้นตรงสีเหลืองอมเขียว เจริญเติบโตได้เร็ว ทนทานต่อโรคใบขาวและหนอนเจาะลำต้น
- พันธุ์ K 84-69 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ F 143 กับพันธุ์ ROC 1 ให้ผลผลิตอ้อยสด 12-15 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-13 CCS การแตกกอปานกลาง มี 5-6 ลำต่อกอ ลำต้นตรง สีเขียวมะกอก เจริญเติบโตเร็ว ลอกกาบค่อนข้างง่าย ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง และโรคแส้ดำ ปลูกในสภาพดินร่วนเหนียวดีกว่าร่วนทราย
- พันธุ์ K 87-200 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ ROC 1 กับพันธุ์ CP 63-588 ให้ผลิตอ้อยสด 12-14 ตันต่อไร่ ความหวาน 13 CCS การแตกกอน้อย ไว้ตอค่อนข้างดี ออกดอกเล็กน้อย ลำต้นตรงสีเขียวมะกอก ทรงกอแคบ ลำต้นตั้งตรง ต้านทานต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง และโรคแส้ดำ ลอกกาบใบง่าย ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคกอตะไคร้และโรคใบขาว
- พันธุ์ K 88-92 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์อู่ทอง 1 กับพันธุ์ PL 310 ผลผลิตอ้อยสด 15 ตันต่อไร่ ความหวาน 12 CCS การแตกกอปานกลาง ลำต้นขนาดปานกลางถึงใหญ่ การไว้ตอดี ออกดอกเล็กน้อย ลำต้นตรงสีเขียวมะกอก ต้านทานต่อโรคแส้ดำ ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง เจริญเติบโตเร็ว ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรครากเน่าและโรคใบขาว
- พันธุ์ K 90-77 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ K 83-74 กับพันธุ์อู่ทอง 1 ผลผลิตอ้อยสด 12-20 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-15 CCS การแตกกอปานกลาง ไว้ตอได้ดี ไม่ออกดอก ลำต้นสีเขียวเข้ม เมื่อถูกแสงจะเป็นสีม่วง ทรงกอค่อนข้างกว้าง เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งได้ดี ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคตะไคร้ โรคยอดเน่า และโรคแส้ดำ ต้านทานปานกลางต่อหนอนเจาะยอดและหนอนเจาะลำต้น ข้อควรระวัง ลอกกาบใบได้ค่อนข้างยาก
- พันธุ์ K 92-80 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ K 84-200 กับพันธุ์ K 76-4 ผลผลิตอ้อยสด 16-19 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดีมาก ไม่ออกดอก ลำสีเหลืองอมเขียว ทรงกอค่อนข้างกว้าง เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งปานกลาง ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้ โรคราสนิม โรคแส้ดำ และหนอนเจาะลำต้น ข้อควรระวัง งอกช้า อ่อนแอต่อโรคใบจุดเหลือง โรคยอดบิดและโรคใบจุดวงแหวน หักล้มง่าย กาบใบร่วงหลุดยาก
- พันธุ์ K 92-213 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ K 84-200 กับพันธุ์ K 84-74 ผลผลิตอ้อยสด 15-18 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ออกดอกเล็กน้อย ลำสีเขียวอมเหลือง งอกเร็ว ทนแล้งปานกลาง ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้และโรคแส้ดำ ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคใบจุดเหลือง โรคยอดบิดและโรคใบจุดวงแหวน การหักล้มปานกลาง กาบใบร่วงหลุดยาก ควรปลูกในเขตชลประทาน
- พันธุ์ K 93-219 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์อู่ทอง 1 กับพันธุ์อีเหี่ยว ผลผลิตอ้อยสด 16-21 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-14 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ไม่ออกดอก ลำต้นสีเขียว งอกเร็ว เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งปานกลาง ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้ โรคใบจุดเหลือง โรคราสนิม และโรคแส้ดำ ต้านทานต่อหนอนเจาะลำต้น เก็บเกี่ยวอายุ 12 เดือน ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคใบจุดเหลือง การหักล้มปานกลาง กาบใบร่วงหลุดยาก
- พันธุ์ K 93-347 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์อู่ทอง 1 กับพันธุ์ K 84-200 ผลผลิตอ้อยสด 16-20 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ไม่ออกดอก ลำสีเขียวอมเหลือง งอกเร็ว เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้ และโรคแส้ดำ อายุเก็บเกี่ยว 12 เดือน ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคใบจุดเหลือง การหักล้มปานกลาง กาบใบร่วงหลุดยาก
- พันธุ์ K 95-84 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ K 90-79 กับพันธุ์ K 84-200 ผลผลิตอ้อยสด 16-20 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-14 CCS การแตกกอปานกลาง ลำขนาดใหญ่ (4.1-4.3 ซม.) การไว้ตอดี ไม่ออกดอก ลำสีเขียวมะกอกอมเหลือง เจริญเติมโตเร็ว ทนแล้งปานกลาง ลอกกาบใบง่าย ต้านทานปานกลางต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง โรคกอตะไคร้ โรคราสนิม และโรคแส้ดำ ต้านทานปานกลางต่อหนอนเจาะลำต้น ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคใบขาวและโรคยอดบิด
3. พันธุ์ที่ได้จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมเปิดของอ้อยพันธุ์ Kwt # 7 ผลผลิตอ้อยสด 13-16 ตันต่อไร่ ความหวาน 12-14 CCS การแตกกอปานกลาง มี 5-6 ลำต่อกอ ไว้ตอได้ดี ออกดอกเล็กน้อยถึงปานกลาง ลำต้นสีเขียวเข้ม หากถูกแสงแดดจะเป็นสีม่วงขนาดลำค่อนข้างเล็ก เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้งได้ดี เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนหรือร่วนทรายที่ระบายน้ำได้ดี ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดงและสารกำจัดวัชพืชบางชนิด
- พันธุ์กำแพงแสน 89-200 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ IAC 52-326 กับพันธุ์ Co 331 ผลผลิตอ้อยสด 15-16 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอดี มี 6-8 ลำต่อกอ ขนาดลำปานกลาง ไว้ตอได้ค่อนข้างดี ออกดอกเล็กน้อยถึงปานกลาง ลำต้นตรง สีเขียวอมเหลือง เจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง เก็บเกี่ยวอายุ 10-12 เดือน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนและร่วนทราย ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง
- พันธุ์กำแพงแสน 92-0447 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ F 146 กับพันธุ์ B 34164 ผลผลิตอ้อยสด 14-16 ตันต่อไร่ ความหวาน 10-12 CCS การแตกกอปานกลาง ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ออกดอกเล็กน้อย ลำต้นโตเร็ว สีเหลืองอมเขียว เจริญเติบโตเร็ว ค่อนข้างทนแล้ง อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง
- พันธุ์กำแพงแสน 91-1336 เป็นพันธุ์ที่ได้จากการผสมเปิด ของอ้อยพันธุ์ F 146 ผลผลิตอ้อยสด 15-17 ตันต่อไร่ ความหวาน 11-13 CCS การแตกกอดี ขนาดลำปานกลาง การไว้ตอดี ออกดอกปานกลาง ลำต้นซิกแซ็ก สีเขียวอมเหลือง เจริญเติบโตเร็ว ค่อนข้างทนแล้ง อายุเก็บเกี่ยว 11-12 เดือน ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคเหี่ยวเน่าแดง
เทคโนโลยีการผลิต
การเลือกพื้นที่ปลูกอ้อย
พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกอ้อย ควรเป็นที่ดอน หรือที่ลุ่ม ไม่มี น้ำท่วมขัง สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,500 เมตร ห่างไกลจาก แหล่งมลพิษ การคมนาคมสะดวก อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลไม่เกิน 60 กิโลเมตร
การเตรียมดิน
การปลูกอ้อย 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 3-4 ปี หรือมากกว่า ดังนั้น การเตรียมดินปลูกจะมีผลต่อ ผลผลิตของอ้อย ตลอดระยะเวลาที่ไว้ตอ โดยทั่วไปหลังจากตัดอ้อยตอปีสุดท้ายแล้ว เกษตรกรมักจะเผาเศษซากอ้อยและตออ้อยเก่าทิ้ง เพื่อสะดวกต่อ การเตรียมดิน เพราะเศษซากอ้อยจะทำให้ล้อรถแทรกเตอร์ลื่น หมุนฟรี และมักจะม้วนติดพันกับผานไถ ทำให้ทำงานได้ไม่สะดวก จาก การทดลองใช้จอบหมุนสับเศษซากใบอ้อยแทนการเผา พบว่า สามารถ ช่วยอนุรักษ์อินทรียวัตถุในดินได้เป็นอย่างดี
ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี ได้พัฒนาผานจักรสับเศษซากอ้อย คลุกเคล้าลงดินใช้ได้ผลดี และประหยัดกว่าการใช้จอบหมุน หลังจากไถกลบเศษซากอ้อยลงดินแล้ว ควรมีการปรับหน้าดิน ให้เรียบและมีความลาดเอียงเล็กน้อย (ไม่เกิน 0.3 เปอร์เซนต์) เพื่อสะดวกในการให้น้ำและระบายน้ำออกจากแปลงกรณีฝนตกหนัก และป้องกันน้ำขังอ้อยเป็นหย่อมๆ เมื่อปรับพื้นที่แล้ว ถ้าเป็นแปลง ที่มีชั้นดินดาน ควรมีการใช้ไถระเบิดดินดาน ไถลึกประมาณ 75 เซนติเมตร โดยไถเป็นตาหมากรุก หลังจากนั้น จึงใช้ไถจาน (3 ผาน หรือ 4 ผาน ตามกำลังของแทรกเตอร์) และพรวนตามปกติ แล้วจึงยกร่องปลูกหรือ ถ้าจะปลูกโดยใช้เครื่องปลูกก็ไม่ต้องยกร่อง
ข้อควรระวังในการเตรียมดิน
- ควรไถเตรียมดิน ขณะดินมีความชื้นพอเหมาะไม่แห้ง หรือเปียกเกินไป
- ควรเตรียมดินโดยใช้ไถจานสลับกับไถหัวหมู เพื่อไม่ให้ความลึก ของรอยไถอยู่ในระดับเดิมตลอด และการใช้ไถจานตลอด จะทำให้เกิด ชั้นดินดานได้ง่าย
- ไม่ควรไถพรวนดินจนดินละเอียดเป็นฝุ่น เพราะดินละเอียด เมื่อถูกฝนหรือ มีการให้น้ำจะถูกชะล้างลงไปอุดอยู่ตามช่องว่างระหว่างเม็ดดิน ทำให้การระบายน้ำและอากาศไม่ดี
การเตรียมท่อนพันธุ์
- ควรมาจากแปลงพันธุ์ที่มีความสม่ำเสมอ ตรงตามพันธุ์ ปราศจาก โรคและแมลง มีอายุที่เหมาะสม คือประมาณ 8-10 เดือน
- เกษตรกรควรทำแปลงพันธุ์อ้อยไว้ใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ในการซื้อพันธุ์อ้อย และเป็นการวางแผนการปลูกอ้อยที่ถูกต้อง
- มีการป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่ถูกต้อง เช่น มีการชุบน้ำร้อน 50 องศาเซลเซียส 2 ชั่วโมง หรือ 52 องศาเซลเซียส ครึ่งชั่วโมง เพื่อป้องกัน โรคใบด่าง โรคตอแคระแกร็น โรคกลิ่นสับปะรด ลดการเป็นโรคใบขาว และโรคกอตะไคร้ อย่างไรก็ตาม ท่อนพันธุ์ที่จะชุบน้ำร้อนควรมีอายุประมาณ 8-10 เดือน เพราะว่า ถ้าใช้ท่อนพันธุ์อายุน้อยกว่า 8 เดือน เปอร์เซ็นต์ ความงอกของอ้อยจะลดลง
- การใช้ปุ๋ยไนโตรเจนอัตรา 10-20 กก./ไร่ ก่อนการตัดอ้อย ไปทำพันธุ์ 1 เดือน ช่วยทำให้อ้อยมีความงอก และความแข็งแรงของ หน่ออ้อยดีขึ้น
- อ้อยจากแปลงพันธุ์ 1 ไร่ (อายุ 8-10 เดือน) สามารถ ปลูกขยายได้ 10 ไร่
ฤดูปลูก
การปลูกอ้อยในปัจจุบัน สามารถแบ่งตามฤดูปลูกได้เป็น 2 ประเภท
- 1การปลูกอ้อยต้นฝน ซึ่งยังแบ่งเป็น 2 เขต คือ
– ในเขตชลประทาน (20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกอ้อย ทั้งประเทศ) ส่วนใหญ่จะปลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน
– ในเขตอาศัยน้ำฝน ส่วนใหญ่จะปลูกในช่วงเดือน เมษายนถึงมิถุนายน
- การปลูกอ้อยปลายฝน (การปลูกอ้อยข้ามแล้ง) สามารถทำได้ เฉพาะในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ที่มีปริมาณและการกระจายของฝนดี และดินเป็นดินทรายหรือดินร่วนปนทราย การปลูกอ้อยประเภทนี้จะปลูกประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงธันวาคม
วิธีปลูก
การปลูกอ้อยต้นฝนในเขตชลประทาน
พื้นที่ปลูกอ้อยประเภทนี้มีประมาณ 1 ล้านไร่ ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ใน เขตภาคกลาง และภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการให้ผลผลิต อ้อยสูง ถ้ามีการจัดการที่ดี และตั้งเป้าหมายไว้ว่า ผลผลิตอ้อยในเขตนี ้ไม่ควรต่ำกว่า 15 ตันต่อไร่ การปลูกอ้อยในเขตนี้ มีการปรับเปลี่ยนวิธีปลูก เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลเกษตร เช่น เครื่องปลูก เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องกำจัดวัชพืช และรถเก็บเกี่ยว เป็นต้น
- ถ้าใช้คนปลูกจะยกร่องกว้าง 1.4-1.5 เมตร (เดิมใช้ 1.3 เมตร) วางพันธุ์อ้อยเป็นลำโดยใช้ลำเดี่ยวเกยกันครึ่งลำ หรือ 2 ลำคู่ ตามลักษณะการแตกกอของพันธุ์อ้อยที่ใช้ ตัวอย่าง เช่น ถ้าใช้อ้อยพันธุ์ K 84-200 ซึ่งมีการแตกกอน้อย ควรปลูก 2 ลำคู่ หลังจากวางพันธุ์อ้อย ควรใช้จอบสับลำอ้อยเป็น 2-3 ส่วน แล้วกลบด้วยดินหนาประมาณ 5 เซนติเมตร
- ถ้าใช้เครื่องปลูก หลังจากเตรียมดินแล้ว ไม่ต้องยกร่อง จะใช้ เครื่องปลูกติดท้ายแทรกเตอร์ โดยจะมีตัวเปิดร่อง และช่องสำหรับใส่ พันธุ์อ้อยเป็นลำ และมีตัวตัดลำอ้อยเป็นท่อนลงในร่อง และมีตัวกลบดิน ตามหลัง และสามารถดัดแปลงให้สามารถใส่ปุ๋ยรองพื้น พร้อมปลูกได้เลย ปัจจุบันมีการใช้เครื่องปลูกทั้งแบบเดี่ยวและแถวคู่ โดยจะปลูกแถวเดี่ยว ระยะแถว 1.4-1.5 เมตร ในกรณีนี้ใช้พันธุ์อ้อยที่แตกกอมาก และจะ ปลูกแถวคู่ระยะแถว 1.4-1.5 เมตร ระยะระหว่างคู่แถว 30-40 เซนติเมตร ในกรณีใช้พันธุ์อ้อยที่แตกกอน้อย ปัจจุบันในประเทศ ออสเตรเลียมีการใช้เครื่องปลูกอ้อยเป็นท่อน (billet planter) โดยใช้รถตัดอ้อยตัดพันธุ์อ้อยเป็นท่อน แล้วนำมาใส่เครื่องปลูกที่สามารถ เปิดร่องและโรยท่อนพันธุ์อ้อยแล้วกลบ เหมือนปลูกพืชที่ใช้เมล็ดอย่างอื่น เช่น ข้าวโพด หรือถั่วต่าง ๆ
การปลูกอ้อยต้นฝนในเขตอาศัยน้ำฝน
พื้นที่ปลูกอ้อยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภทนี้ และเป็นพื้นที่ที่มีความ แปรปรวนในเรื่องผลผลิตสูง และผลผลิตเฉลี่ยของอ้อยต่ำกว่า 10 ตันต่อไร่ มีสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปริมาณและการกระจายตัวของฝนไม่ดี และดินส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การใส่ปุ๋ยก็จะมีความเสี่ยงสูงและ หาจังหวะการใส่ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพสูงยาก (ถ้าดินไม่มีความชื้น พืชก็ดูดปุ๋ยที่ใส่ไปใช้ไม่ได้)
แนวทางที่จะพัฒนาผลผลิตอ้อยในเขตนี้ก็คือ ต้องพยายามหาแหล่งน้ำ (น้ำใต้ดิน,ขุดสระเก็บกักน้ำ) เพื่อให้น้ำอ้อยได้ในช่วงวิกฤตและที่สำคัญ คือ ถ้ามีน้ำสามารถปลูกอ้อยได้เร็วโดยไม่ต้องรอฝน (ปลูกได้ก่อนสิ้นเดือน พฤษภาคม) ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของอ้อยในเขตนี้ได้ เพราะอ้อยที่ปลูกล่า (หลังเดือนพฤษภาคม) ทั้งผลผลิต และคุณภาพจะต่ำ เพราะอายุอ้อยยังน้อยช่วงตัดเข้าโรงงาน วิธีการปลูกอ้อยในเขตนี้จะคล้ายกับ ในเขตชลประทาน จะแตกต่างก็เพียงระยะห่างระหว่างร่องในบางพื้นที่จะใช ้แคบกว่า คือ ประมาณ 0.9-1.2 เมตร เพราะอ้อยในเขตนี้จะแตกกอ น้อยกว่าการลดระยะแถวลง ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนลำเก็บเกี่ยว อ้อยต่อพื้นที่ได้ และปัจจุบันเกษตรกรในหลายพื้นที่ (เช่น อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) เปลี่ยนมาปลูกอ้อย แถวคู่ โดยใช้ระยะระหว่างคู่แถว 1.4-1.5 เมตร และระยะในคู่แถว 30-40 เซนติเมตร และได้ผลผลิตใกล้เคียงกับการปลูกแถวแคบ แต่การจัดการในไร่อ้อยจะสะดวกกว่า เพราะใช้เครื่องจักรเข้าทำงานได้
การปลูกอ้อยปลายฝน (ปลูกข้ามแล้ง)
เป็นการปลูกอ้อยโดยอาศัยความชื้นในดินช่วงปลายฤดูฝน เพื่อให้อ้อยงอกและเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ ไปจนกว่าอ้อยจะ ได้รับน้ำฝนต้นฤดู เป็นวิธีการปลูกอ้อยที่ใช้ได้ผลในเขตปลูกอ้อย อาศัยน้ำฝนบางพื้นที่ที่ดินเป็นดินทราย หรือร่วนปนทราย และที่สำคัญ จะต้องมีปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,200 มิลลิเมตรต่อปี และมีการ กระจายตัวดี โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดู (กุมภาพันธ์ ถึงเมษายน) จะต้องมีปริมาณฝนที่พอเพียงกับการเจริญเติบโตของอ้อยในช่วงแรก การเตรียมดินปลูกจะต้องไถเตรียมดินหลายครั้ง จนหน้าดินร่วนซุย (เพื่อตัด capillary pore) เป็นการรักษาความชื้นในดินชั้นล่าง หลังจาก เตรียมดิน ควรรีบยกร่องและปลูกให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทันกับความชื้น และควรยกร่องปลูกวันต่อวัน
พันธุ์อ้อยที่ใช้ปลูกข้ามแล้ง จะเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างแก่ คือ อายุประมาณ 8-10 เดือน เกษตรกรนิยมปลูกอ้อยแบบทั้งลำ โดยจะชักร่องให้ลึก ระยะแถว 1.0-1.3 เมตร และวางลำอ้อยในร่องแล้วใช้จอบสับลำอ้อยเป็น 2-3 ส่วน กลบดินหนาประมาณ 10-15 เซนติเมตร และใช้เท้าเหยียบดิน ที่กลบให้แน่นพอประมาณ เพื่อให้ท่อนพันธุ์อ้อยสัมผัสกับดินชื้นมากที่สุด ปัจจุบันมีการใช้เครื่องปลูกในพื้นที่นี้มากขึ้น โดยจะตั้งเครื่องปลูกให้ลึก กว่าปกติ
ข้อดีของการปลูกอ้อยด้วยวิธีนี้ คือ
- อ้อยที่ปลูกโดยวิธีนี้จะมีอายุไม่น้อยกว่า 12 เดือน ในช่วงตัดอ้อยเข้าโรงงาน ทำให้ทั้งผลผลิตและคุณภาพ (ความหวาน) ดีกว่าอ้อยที่ปลูกต้นฝน
- ปัญหาเรื่องวัชพืชรบกวนอ้อยในช่วงแรกจะน้อย เพราะหน้าดิน จะแห้งอยู่ตลอดเวลา ในช่วงแรกของการเจริญเติบโต
ข้อเสียของการปลูกอ้อยวิธีนี้ คือ
- ถ้ามีฝนตกหลังปลูกหรือช่วงอ้อยยังเล็ก จะทำให้หน้าดินแน่น อ้อยเจริญเติบโตไม่ดี จำเป็นต้องมีการคราดหน้าดิน เพื่อไม่ให้หน้าดิน แน่นรัดหน่ออ้อย
- ในบางปีฝนต้นฤดูน้อย หรือมาล่า อาจทำให้อ้อยเสียหายได้
การปลูกซ่อม
การปลูกอ้อยเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงนั้น อ้อยปลูกจะต้องมีหลุมขาดหาย น้อยที่สุด และหลุมที่ขาดหายต่อเนื่องกันเกิน 1 หลุม อ้อยหลุมข้างเคียงจะ ไม่สามารถชดเชยผลผลิตได้ ดังนั้น ถ้ามีหลุมขาดหายต่อเนื่องกันมาก ควรมีการปลูกซ่อม และจะต้องปลูกซ่อมภายใน 20 วันหลังปลูก เพื่อให้อ้อยที่ปลูกซ่อมเจริญเติบโตทันอ้อยปลูกปกติ
สำหรับในอ้อยตอ ไม่แนะนำให้ปลูกซ่อม เพราะอ้อยที่ปลูกซ่อม ในอ้อยตอจะมีเปอร์เซ็นต์รอดน้อย และถึงจะรอดก็ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากถูก กออ้อยข้างเคียงบังแสง ดังนั้น ในอ้อยตอที่มีหลุมตายหรือขาดหายมาก เกินกว่าที่หลุมข้างเคียงจะแตกกอชดเชยได้ ก็ควรจะรื้อตอและปลูกใหม่
การดูแลรักษา
อ้อยมีระยะการเจริญเติบโต 4 ระยะ คือ
- ระยะงอก เริ่มปลูก 1.5 เดือน ( 3-6 สัปดาห์) อ้อยใช้อาหารจากท่อนพันธุ์และความชื้นในดินปุ๋ยรองพื้นช่วยให้รากแข็งแรง
- ระยะแตกหน่อ อ้อยอายุ 1.5 – 3 เดือน ต้องการน้ำและปุ๋ยไนโตรเจนมาก เพื่อช่วยให้แตกกอและหน่อเติบโต
- ระยะย่างปล้อง อ้อยอายุ 4-5 เดือน ระยะที่กำหนดขนาดและน้ำหนักของลำอ้อยเป็นช่วงที่อ้อยเจริญเติบโตเร็วที่สุด จึงต้องการปัจจัยต่างๆ เพื่อการเจริญเติบโตทั้งแสงแดด อุณหภูมิ น้ำและปุ๋ย
- ระยะสุกแก่ เมื่ออ้อยอายุ 8 เดือน เก็บเกี่ยวจะเป็นระยะสมน้ำตาลไม่ควรใส่ปุ๋ย
การบำรุงตออ้อย
- ทำการตัดแต่งตออ้อยหลังจากตัดทันที หรือเสร็จภายใน 15 วัน ถ้าตัดอ้อยชิดดิน ก็ไม่ต้องตัดแต่งตออ้อย ทำให้ประหยัดเงินและเวลา
- ใช้พรวนเอนกประสงค์ 1-2 ครั้ง ระหว่างแถวอ้อยเพื่อตัดและคลุกใบ หรือใช้คราดคราดใบอ้อยจาก 3แถวมารวมไว้แถวเดียว เพื่อพรวนดินได้สะดวก
- ใช้ริปเปอร์หรือไถสิ่วลงระหว่างแถวอ้อย เพื่อระเบิดดินดาน ต้องระมัดระวังในเรื่องความชื้นในดินด้วย
- การใส่ปุ๋ย ควรใส่มากกว่าอ้อยปลูก ใช้สูตรเช่นเดียวกับอ้อยปลูก
- ในแปลงที่ไม่เผาใบอ้อยและตัดอ้อยชิดดิน ก็จะปล่อยทิ้งไว้ตามธรรมชาติ และเริ่มดายหญ้าใส่ปุ๋ยเมื่อเข้าฤดูฝน
- การไว้ตออ้อยได้นานแค่ไหนขึ้นกับหลุมตายของอ้อยว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้ามีหลุมตายมาก ก็จะรื้อปลูกใหม่
แหล่งข้อมูล กรมวิชาการเกษตร