ต้นแบบคนกล้าคืนถิ่นอย่าง ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ผู้ก่อตั้งวนเกษตรเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว กล่าวคำแรกว่า เขาไม่ใช่คนกล้า แต่เป็น ครูสอนคนกล้าให้กลับบ้าน ดร.เกริก หรือ ลุงเกริก ตัดสินใจหันหลังให้กรุงเทพฯ
ดร.เกริก หรือ ลุงเกริก ตัดสินใจหันหลังให้กรุงเทพฯ และทิ้งเงินเดือนเกือบแสนเมื่อปี 2550 และเริ่มทำวนเกษตรหรือสวนป่าในปีถัดมา ด้วยเงินตั้งต้น 2,800 บาท พร้อมที่ดิน 99 ไร่ ที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้ ลุงเกริกเริ่มหารายได้จากการไปหากิ่งไม้ในป่านำมาเผาทำถ่านและกลั่นน้ำส้มควันไม้ขาย เดือนแรกเผาถ่านได้ 200 กระสอบ ทำน้ำส้มควันไม้ได้ 400 ลิตร ขายได้เงินหลายหมื่นบาท จากนั้นก็เริ่มทำเกษตรแบบผสมผสาน กระทั่งปัจจุบันได้เปิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้
มันเป็นพื้นที่บ่มเพาะ เป็นศูนย์การปฏิบัติงาน เป็นที่ทำงานของผม และเป็นที่ทำงานของคนที่อยากทำเกษตรจริงๆ จังๆ ไปลงมือทำจริงๆ อาจใช้เวลาหนึ่งเดือนสองเดือนหรือหนึ่งปีแล้วแต่ เขาจะไปอยู่กินนอนที่นั่นเลย ไปคลุกคลีตีโมงกับมันจนทำสำเร็จ
ศูนย์การปฏิบัติงานที่ลุงเกริกกล่าวถึงแบ่งเป็นวิชาเพาะกล้าพันธุ์ไม้ ปลูกต้นไม้ ทำปุ๋ยอินทรีย์ ตัดแต่งกิ่งเพื่อนำกิ่งไปทำถ่านและน้ำส้มควันไม้ แปรรูปไม้ขนาดใหญ่ ทำนา และปลูกอ้อยปลูกมัน คนที่ต้องการทำจะมาใช้ชีวิตอยู่ที่สวนป่า โดยจะได้เงินใช้จ่ายวันละ 200 บาท แต่ผลผลิตที่ทำได้จนถึงวันสุดท้ายต้องแบ่งคนละครึ่งกับลุงเกริก
คนที่มาฝึกงานกับผมทั้งคนในโครงการคนกล้าคืนถิ่นและจากจังหวัดใกล้เคียง ตอนนี้น่าจะมีประมาณ 120 คน เราจะมีที่พักให้แบบธรรมชาติที่สุด มีข้าวให้เพราะเรามีโรงสี แต่ละวันจะมีตารางเวลาว่าต้องทำอะไรบ้าง และทุกเย็นจะมานั่งคุยกันว่าเจอปัญหาอะไร ผมเชื่อมั่นว่าใครที่ทำอะไรซ้ำๆ 30 ครั้งติดต่อกันมันจะเป็นนิสัยที่ดี และถ้าทำไปเรื่อยๆ ถึง 1 ปี มันจะเป็นสันดานที่ดี พอเรียนจบเขาก็จะมีความรู้กลับไปทำในที่ดินของตัวเอง มีเงินทุนจากการขายผลผลิตที่เขาทำได้ ทำให้เขากล้าที่จะคืนถิ่นจริงๆ
ลุงเกริกจบปริญญาเอก สาขาวนเกษตร (Agroforestry)จากประเทศฟิลิปปินส์ แต่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวที่เป็นเกษตรกรมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นอาชีพที่หลายคนเหยียดหยาม แต่สำหรับเขา เกษตรกรเป็นอาชีพที่มั่นคงและมั่งคั่งที่สุดแล้วในบรรดาอาชีพทั้งหลาย เพียงแต่สังคมไทยไม่ยอมรับ
คนจะอดตายทันทีถ้าชาวนาไม่ผลิตข้าว
ลุงเกริกกล่าว ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ใครเป็นเกษตรกรได้ต้องรวยนะ เพราะเกษตรกรต้องมีที่ดิน ในอังกฤษมีใครมีที่ดินบ้างถ้าไม่ใช่เชื้อพระวงศ์ ในญี่ปุ่นคนยากจนเท่านั้นที่อยู่ในเมือง แต่คนรวยจะมีบ้านในชนบท ดังนั้นเราจะส่งเสริมการเกษตรได้ต้องเริ่มจากการศึกษา เริ่มตั้งแต่ ม.3 จนถึงมหาวิทยาลัย เรียนเรื่องเกษตรจริงจังเลย 6-8 ปี และต้องเป็นเกษตรแบบผสมผสานอย่างที่ในหลวงทรงทำ ไม่ใช่เกษตรเชิงเดี่ยวแบบฝรั่ง
ลุงเกริกยังกล่าวด้วยว่า การพัฒนาวิชาเกษตรกรรมในประเทศไทยเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน รวมถึงกระทรวงการคลัง ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการเพื่อให้เกษตรกรมีพื้นที่ทำกินและต้องพัฒนาเทคนิคการทำเกษตรกรรม ทั้งนี้เกษตรกรก็ไม่ควรรอเงินจากรัฐแต่ต้องพึ่งตนเองให้ได้ เกษตรกรจะก้าวหน้าหรือไม่ ต้องวางแผนให้เป็น ตั้งแต่การวางผังพื้นที่ วางแผนชีวิต อย่างลุงเกริกใช้เวลาวางแผนตัวเอง 3 ปีก่อนที่จะกลับไปทำเกษตร
ถ้าถามว่า ดร. เกริกเป็นใคร เป็นคนปลูกป่า เป็นนักวิชาการ หรือเป็นเกษตรกร ผมบอกเลยว่า ผมเป็นเกษตรกรที่ภูมิใจในอาชีพนี้มาก ทุกวันนี้ตัวเองเอาความสุขเป็นที่ตั้ง ไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้งอีกต่อไป สังคมทุกวันนี้ คนขาดความเอาใจใส่ต่อกัน เอาแต่คิดว่าต้องเรียนจบสูงๆมีบ้านหลังใหญ่ มีเงินเยอะๆ จนลืมมองคนรอบข้างว่าเป็นอย่างไร ลืมว่าตัวเองจะมีชีวิตรอดในวันพรุ่งนี้ไหม ซึ่งผมเองเคยเป็น ในหลวงสอนแต่เรื่องดีๆทั้งนั้น สอนให้ขยัน พอพียง ให้เรารู้จักวางแผนว่าอะไรคือความพอดีสำหรับตน ปัจจัย 4 พอหรือยังเจ็บไข้ได้ป่วยมีพอไหมที่ไม่ต้องไปกู้ยืมใครมารักษา จะอาชีพอะไรแล้วแต่แค่ใช้ชีวิตให้มันพอ เก็บออมยังไงให้พอ ในหลวงสอนให้เราเก็บออมก่อน แล้วค่อยเอาไปใช้ ทุกวันนี้เราได้แค่ฟัง แค่รับรู้ แต่ไม่เอามาใช้
คนที่ไม่มีที่ดินก็ทำงานเก็บเงินไปก่อน สักวันก็จะซื้อที่ได้ ส่วนคนมีที่ดินแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอะไรยิ่งได้เปรียบเขา แค่ต้องไปศึกษาว่าต้องทำอะไร ดูว่าคนอื่นทำอะไรกันแล้วนำมาประยุกต์ว่าเราจะทำแบบนั้นได้ไหม อันไหนทำได้ทำก่อน ผมจะคิดเสมอว่าใครจะเป็นเกษตรกรหรืออาชีพใดๆ ก็ตาม อย่ามองในสิ่งที่ตัวเองต้องการ อย่ามองในสิ่งที่ตัวเองขาด เช่น ไม่มีที่ดินทำไม่ได้ ไม่มีเงินทำไม่ได้ ไม่มีความสามารถทำไม่ได้ จนลืมมองว่าตัวเองมีอะไร ถ้าทำในสิ่งที่ตัวเองมี เช่น ตอนนี้ตัวเองมีเงินแต่ยังไม่มากพอไปซื้อที่ดิน ก็ไปเช่าที่เขาได้ไหม ไร่ละพันบาท แค่หนึ่งไร่ก็เริ่มเผาถ่านได้แล้ว ถ้าคนที่คิดจะทำจริงๆ เขาจะหาหนทางและวิธีการเจอเอง
เมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรมแต่กลับมีไม่กี่คนที่ทำเกษตรกรรมอย่างชาญฉลาด ดร.เกริก แสดงทัศนะว่า เพราะคนฉลาดมักไปเป็นลูกจ้างอยู่ในเมือง มันทำให้คนในชนบททำตามยถากรรมอยู่อย่างนั้น ภาคการเกษตรจึงยังไม่เจริญ เพราะฉะนั้นถ้าคนกล้าคนเก่งคนฉลาดในเมืองกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ชนบททุกแห่งก็จะเจริญเท่าเทียมกับในเมือง และการพัฒนาจากรัฐก็จะไปถึงชนบทด้วย
ถ้าเขาเป็นนักบริหารในเมืองมาก่อน พอเขากลับบ้านเขาจะเก่งกว่าเกษตรกรแม้ไม่มีความรู้เรื่องการเกษตรเลย แต่เขาจะมีความรู้เรื่องการพัฒนาตน ทำให้หมู่บ้านของเขาเจริญพัฒนาได้ โน้มน้าวเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคนในหมู่บ้านได้ ตามโครงการคนกล้าคืนถิ่นตั้งเป้าหมายอยากให้มีคนคืนถิ่นหนึ่งล้านคน ซึ่งถ้าทำได้จริงจะทำให้คนอีกสี่สิบล้านคนพัฒนาตามไปได้ภายในเวลา 5 ปี
ผู้ที่มีความตั้งใจทำเกษตรกรรมสามารถไปทำจริงกับลุงเกริกได้ที่วนเกษตรเขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว แต่สำหรับผู้ที่อยากดูงาน เขาขอปฏิเสธเพราะการเกษตรเป็นเรื่องของการปฏิบัติไม่ใช่ทฤษฎี ช่องทางการติดต่อสามารถติดต่อผ่านเฟซบุ๊กคนกล้าคืนถิ่น www.facebook.com/konglakuentin หรือสำนักงานเกษตรอำเภอเขาฉกรรจ์ โทร. 037-561-107