เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

5 มีนาคม 2559 ศาสตร์พระราชา 1

เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา คือ ปรัชญาการทำงานเพื่อสังคมที่รวมพลังเป็นหนึ่งระหว่างปัญญา (สมอง) จิตวิญญาณ (หัวใจ) และทักษะการบริหารจัดการเพื่อบรรลุศานติ สมานฉันท์ และความเจริญที่ยั่งยืน
เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นยุทธศาสตร์พระราชทานให้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้เป็นแนวทางในการยึดถือปฏิบัติในการด าเนินงาน ซึ่งพระอัจฉริยะภาพนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงเป็นแบบอย่างให้แก่ เหล่าข้าราชการในใต้เบื้องพระยุคลบาท ได้ประจักษ์ถึงผลสัมฤทธิ์แห่งยุทธศาสตร์นี้มาเป็นเวลานานแล้ว

เข้าใจ
เข้าใจคือการเกิดปัญญารู้ความจริงทั้งหมด ทั้งในมิติภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สภาพสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต ปัญหา ความต้องการต่างๆ ของชุมชน ซึ่งต้องอาศัยการแสวงหาความรู้ เช่น การวิจัย เข้าไปพูดคุย คลุกคลีกับคนในพื้นที่ เก็บรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านจากคนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาจริงๆ ที่ผ่านมาดูเหมือนปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้จะยังอยู่ที่ระดับของการพยายามทำความเข้าใจปัญหาว่าเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ใครคือผู้อยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังของปัญหาดังกล่าว ซึ่งยังไม่มีคำตอบให้สังคมเข้าใจตรงกันอย่างชัดเจน

kawjaikawtk
ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ที่สังคมในวงกว้างรับรู้ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลการอธิบายตีความจาก “คนนอกพื้นที่” เช่น รัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อของรัฐ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) นักวิชาการ สื่ออิสระ เสียเป็นส่วนใหญ่
ส่วนข้อมูลการอธิบายตีความจาก “คนในพื้นที่” หรือประชาชนที่ประสบปัญหาโดยตรงยังมีเป็นส่วนน้อย ดังที่เรามักชินตากับภาพของนักวิชาการ ผู้รู้ต่างๆ ออกมาวิเคราะห์วิพากษ์ปัญหาภาคใต้ผ่านหน้าจอทีวี หน้าหนังสือพิมพ์
แต่แทบจะไม่เห็นประชาชนหรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาโดยตรงเล่าข้อเท็จจริงของปัญหา ความรู้สึก ความคิด ความเห็น และความต้องการของพวกเขาอย่างตรงไปตรงมาผ่านจอทีวีหรือหน้าหนังสือพิมพ์กันเลย
ดังนั้น ในเรื่องความ “เข้าใจ” เกี่ยวกับปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ จึงยังมีคำถามว่า รัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบายเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสังคมนอกพื้นที่เข้าใจปัญหาตรงกันกับคนในพื้นที่หรือไม่เพียงใด
ถ้าเข้าใจตรงกัน “ความเข้าใจซึ่งกันและกัน” ก็น่าจะมีมากขึ้น ความหวาดระแวงระหว่างกันน่าจะลดลงในระดับที่เห็นเป็นรูปธรรม
เข้าถึง มีความหมายหลายอย่างเช่น

เข้าถึง
เข้าถึงจิตใจหรือความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์ รู้สึกถึงความทุกข์ ความเจ็บปวด ความกลัว ความหวาดระแวง วิตกกังวล เป็นต้น ของพี่น้องที่ประสบปัญหา มีความรู้สึกร่วมทุกข์ และเกิดสำนึกร่วมฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ไปด้วยกัน

kawjaikawtp
เข้าถึงคุณค่า หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เคารพอัตลักษณ์ทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิตของกันและกัน เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ คือยึดมั่นในความจริงที่ว่าไม่ว่ามนุษย์จะแตกต่างทางเชื้อชาติ สีผิว ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ แต่เราทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ศาสนาทุกศาสนาจะสอนในเรื่องนี้ เช่นศาสนาที่นับถือพระเจ้าถือว่ามนุษยชาติเป็นหนึ่งเดียวกัน ควรรักและช่วยเหลือกันและกัน เพราะเป็นบุตรของพระเจ้าองค์เดียวกัน ศาสนาพุทธถือว่ามนุษย์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกัน จึงควรเมตตาอาทรซึ่งกันและกัน ดังนั้น การเข้าถึงจึงเป็นเรื่องของหัวใจที่รู้ร้อนรู้หนาวต่อทุกข์สุขของเพื่อนมนุษย์ เป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่ซาบซึ้งเคารพในคุณค่า/ศักดิ์ศรีของมนุษย์ และมีสำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวไม่แบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา การเข้าถึงจึงเป็นพลังในการนำความเข้าใจที่ถูกต้องมาปรับใช้ให้เกิดการพัฒนาที่ก่อเกิดศานติ สมานฉันท์ และความเจริญที่ยั่งยืน
พัฒนา เป็นเรื่องของการใช้ทักษะการบริหารจัดการที่สามารถรวมเอาปัจจัยต่างๆ เช่น ทุน คน องค์ความรู้ เทคโนโลยี ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ มาทำให้สังคมดีขึ้นเจริญขึ้น แต่ความเจริญที่ยั่งยืนจะต้องไปด้วยกันกับศานติ สมานฉันท์
การพัฒนาที่สร้างความเจริญทางวัตถุ แต่ทำให้เกิดความไม่สงบสุขทางสังคม เกิดความแตก ความล่มสลายของชุมชนไม่ใช่การพัฒนาที่ถูกต้อง

พัฒนา
การพัฒนาที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นพื้นฐานและมีการเข้าถึงเป็นพลังขับเคลื่อน ทำให้เกิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของชุมชน
จึงนำไปสู่ความเจริญที่ยั่งยืนในบรรยากาศของศานติ สมานฉันท์ในการปาฐกถานำ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กล่าวว่า
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้หลักการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจช่วยเหลือพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตลอด 60 ปี ในการครองราชย์ของพระองค์”

kawjaikawtt
น่าเสียดายที่การพัฒนาของภาครัฐเท่าที่ผ่านมาไม่ได้ใช้แนวทางดังกล่าว จึงทำให้เกิดการพัฒนาที่ไปทำลายคุณค่าดั้งเดิม ทำให้คนแปลกแยกจากรากเหง้าของตนเองโดยเฉพาะรากเหง้าทางจิตวิญญาณ ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่เรียบง่าย เป็นการพัฒนาที่ไร้ทิศทาง ตอบไม่ได้ว่าจุดหมายปลายทางที่สังคมเราพึงบรรลุถึงคืออะไร ภาพของคนจนที่ฉายผ่านการทรงช่วยเหลือของในหลวงและพระราชินีด้วยแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” กลับเป็นภาพคนจนที่ดูงดงาม มีศักดิ์ศรี เชื่อมั่นในภูมิปัญญา วิถีชีวิต จิตวิญญาณ และวัฒนธรรมของตนเอง
ข้อเขียนของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในหนังสือชื่อ “หลักธรรม/ทำตามรอยพระยุคลบาท” ที่ว่า
“59 ปีที่ผ่านมานั้นได้ทรงแสดงให้ดูหมดทุกอย่าง ได้ทรงทำหมดทุกอย่าง ทรงคิดหมดทุกอย่าง เพื่อรักษาประเทศนี้ไว้…พวกเราพสกนิกรเห็นพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยมองพระเจ้าอยู่หัวเลย ชื่นชม แต่ไม่เคยทำตาม” น่าจะช่วยเตือนสติให้เราทุกคน ทุกภาคส่วน น้อมนำปรัชญา “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” อันลึกซึ้งมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้

ป้ายคำ :

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหมวด ศาสตร์พระราชา

แสดงความคิดเห็น