นักวิจัยฝ่ายเครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ สถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประดิษฐ์ เครื่องกะเทาะผลหมากแห้ง เพื่อทดแทนแรงงานคน ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2551
นายสุทธิพร เนียมหอม นักวิจัยเจ้าของผลงานกล่าวว่า หมากเป็นพืชที่มีศักยภาพเชิงเศรษฐกิจสูงผลหมากมีประโยชน์หลายอย่างสามารถนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรมสีและการฟอกหนัง ยารักษาโรค และการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศวิธีการทั่ว ๆ ไปในการทำให้หมากแห้งทั้งเมล็ด เริ่มจากเก็บหมากแก่ที่สุกคาต้นมาตากทั้งทลาย โดยตากบนลานปูน ข้างถนน หรือ ลานกว้าง ๆประมาณ 3 เดือน (มกราคม มีนาคม) หมากจึงจะร่อนพร้อมที่จะกะเทาะเปลือกออก เมื่อเอาเปลือกออกแล้วต้องตากเมล็ดหมากต่อไปอีก 2 3 วัน จนเห็นว่าเมล็ดหมากแห้งสนิทดีแล้วจึงนำส่งตลาดหรือผู้ส่งออกต่อไป ซึ่งในขั้นตอนการกะเทาะเปลือกหมากนี่เอง หากใช้แรงงานคนด้วยวิธีการทุบให้เปลือกหมากแตกและแคะเอาเมล็ดภายในออกจะทำได้วันละประมาณ 30 40 กิโลกรัม ได้ค่าแรง กิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งปรากฏว่าไม่รวมเร็วและทันต่อความต้องการของตลาดอีกทั้งแรงงานภาคการเกษตรก็ไม่เพียงพอ เกษตรกร ผู้ประกอบการเกษตรจึงต้องหันไปหาเครื่องจักรกลการเกษตรแทน ดังนั้น ตนจึงได้คิดค้นเครื่องกะเทาะผลหมากแห้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
เครื่องกะเทาะผลหมากแห้ง เป็นการออกแบบระบบการกะเทาะด้วยวิธีการใช้แรงเฉือนที่เกิดขึ้นในระหว่างการหมุนของล้อยางทำให้ผลหมากแห้งถูกแรงกดจนเปลือกแตกแต่แรงกดนี้จะไม่เกินจุดแตกหักของเมล็ดหมากและเปลือกจะถูกฉีกออกเพื่อให้เมล็ดสามารถหลุดออกจากเปลือกได้เมื่อเคลื่อนที่ผ่านแท่งเหล็กกลมขนาด 9.5 มิลลิเมตร ที่เชื่อมเรียงกันทุกระยะ 15 มิลลิเมตร เพื่อให้เกิดแรงเสียดทาน ซึ่งแรงกดและแรงเฉือนจะสามารถเพิ่มหรือลดได้โดยการบีบหรือคลายตะแกรงเหล็กที่สร้างไว้รอบขอบล้อยาง และเพื่อให้การปอกเปลือกกระทำได้ดีขึ้นจึงได้ออกแบบให้มีล้อยาง สองชุดวางเรียงกันโดยใช้มอเตอร์ตัวเดียวขับส่งกำลังผ่านทางสายพานและมู่เลย์ ซึ่งสามารถแบ่งส่วนประกอบของเครื่องต้นแบบที่ได้พัฒนาขึ้นมาเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ ถังใส่ผลหมากแห้ง ชุดปอกเปลือก
หมาก และชุดต้นกำลัง วิธีใช้งาน นำผลหมากแห้งที่ตากแห้งดีแล้ว ใส่เข้าถังป้อนทีละผลอย่างต่อเนื่องเมื่อผลหมากถูกกะเทาะแล้วจะออกทางด้านหน้าพร้อมเปลือก จากนั้นเกษตรกรสามารถแยกเอาเฉพาะเมล็ดออกจากเปลือกได้โดยง่าย ซึ่งเครื่องกะเทาะผลหมากแห้งต้นแบบนี้ได้ดำเนินการออกแบบสร้างทดสอบและประเมินผลได้สภาวะที่เหมาะสมในการกะเทาะผลหมากแห้งแบบคละขนาด โดยใช้รอบของล้อยาง 440 rpm, แรงดันลมยาง 20 ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว และระยะห่างของล้อยางกับตะแกรง 15 มิลลิเมตร ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพการกะเทาะ คือ ได้เปอร์เซ็นต์เมล็ดหมากเต็มเมล็ด 64.4 %, ได้เมล็ดหมากแตก 15.2 %, มีผลหมากที่ปอกไม่ออก 20.5 %, มีเปอร์เซ็นต์การผลิตเท่ากับ 76.9 % และสามารถปอกผลหมากแห้งได้ 110 กิโลกรัมต่อชั่วโมง โดยมีต้นทุนในการสร้างเครื่องปอกเปลือกหมากเพียง 25,000 บาท
นักวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องกะเทาะผลหมากแห้ง ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2547 และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2551 หัวข้อ เครื่องจักลพลังงาน และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเกษตรจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับมูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ซึ่งขณะนี้ได้ทำการจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเผยแพร่สู่สาธารณะชนที่สนใจทั่วไป ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายเครื่องจักรกลการเกษตร แห่งชาติสถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โทร. 034-351-397, 034-351-946
ป้ายคำ : เครื่องมือ